“ไหบางใบที่รูปทรงบิดเบี้ยว คนอื่น
อาจมองว่ามันใช้งานไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ แต่คนเล่นของเก่าเขาจะมองว่ามันสวยงามจากความผิดพลาดระหว่างเผา แถมยังมีแค่ใบเดียวด้วย”

Start
265 views
15 mins read

“ผมเป็นคนฝั่งธนบุรี จำได้ว่าสมัยตอนเป็นเด็ก มันมีตึกร้างแถวบ้านโดนน้ำท่วม หลังจากน้ำลดแล้ว ผมกับเพื่อนก็เข้าไปหาของเก่าที่เหลือในตึกนั้น เมื่อก่อนตึกนั้นเคยเป็นบ่อนการพนันของคนจีน ก็เลยเจอ ‘ปี้’ ที่มีลักษณะเหมือนกระเบื้องที่นายบ่อนใช้แทนเงินสมัยก่อน รวมถึงเศษสตางค์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ไปจนถึงเงินพดด้วง เห็นแล้วแปลกตาดีเลยเก็บไว้ ซึ่งก็มีเถ้าแก่คนจีนมาหลอกเอาขนมมาแลกด้วยนะ ผมก็ยอมแลกเพราะอยากกินขนม มารู้ทีหลังว่าของที่เราเก็บได้มันมีค่ากว่าขนมเยอะ (หัวเราะ)

หลังเรียนจบผมย้ายมาทำงานการไฟฟ้าที่จังหวัดพิษณุโลกราวปี พ.ศ. 2513 ความที่เราชอบเก็บชอบดูของเก่าตั้งแต่เด็ก พอมีรายได้ ก็จะแบ่งเงินเดือนส่วนหนึ่งไปซื้อของเก่า ตอนแรกๆ เก็บโดยไม่คิดอะไรหรอก อันไหนสวยก็ซื้อเก็บ จนมีคนที่เขาสะสมมาก่อนมาสอนให้ดูของ ก็เลยศึกษามาตั้งแต่นั้น อาศัยการถามและจดจำ เพราะสมัยก่อนไม่มีตำราและอินเทอร์เน็ทเอาไว้ตรวจสอบ จากที่คิดว่าจะเก็บสะสมเรื่อยๆ ก็มีการขายออก หาเงินมาซื้อของเก่าชิ้นใหม่ หมุนเวียนไปแบบนี้

เริ่มจากเงินโบราณก่อน แล้วมาพระเครื่อง จากนั้นก็เป็นพวกเฟอร์นิเจอร์เก่าๆ หรือโปสเตอร์หนัง เพราะต้องบอกอย่างนี้ ส่วนใหญ่นักสะสมพระเครื่องเขาจะหาพระ โดยการไปเลือกที่บ้านของคนที่มีพระเครื่องเลย พอไปถึงบ้าน เขาก็จะเห็นของเก่าๆ ในนั้น ส่วนมากก็เหมือนซื้อแถมมาด้วยเพื่อจะเอาไปบวกราคาขายต่อ ตลาดพระเครื่องสมัยก่อนจึงมีของเก่าพ่วงมาขายด้วย

ถ้าเทียบกับเมืองใกล้เคียง พิษณุโลกจะมีตลาดพระที่ใหญ่กว่าที่อื่น เพราะเรามีพระพุทธชินราชเป็นตัวชูโรง มีพระเครื่องหลายๆ รุ่นจากวัดดังในเมืองด้วย ตลาดพระเราจึงดึงดูดเซียนพระจากหลายจังหวัดให้เข้ามาเยี่ยมเยือน

ส่วนผมที่อยู่พิษณุโลกอยู่แล้ว ถ้ามีวันหยุดวันไหน ก็จะนัดกับเพื่อนขับรถไปตลาดพระเครื่องของจังหวัดใกล้ๆ อย่างกำแพงเพชร สุโขทัย หรือนครสวรรค์ที่มีชุมชนพระเครื่องที่วัดโพธาราม รวมถึงไปดูงานประกวดพระตามเมืองต่างๆ แล้วเจอของเก่าที่ไหนน่าสนใจ ผมก็ซื้อกลับมาด้วย

สำหรับตลาดของเก่าที่ใหญ่ที่สุดแถวนี้ไม่ใช่พิษณุโลกครับ เป็นหมู่บ้านโป่งศรี อำเภอเมือง จังหวัดแพร่ ซึ่งสมัยนั้นเป็นตลาดของเก่าที่ใหญ่ที่สุดในประเทศก็ว่าได้ ที่นั่นเขาจะมีแม่เลี้ยงอยู่คนหนึ่งที่คอยให้เงินกู้คนในหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านหาวิธีการใช้หนี้แม่เลี้ยงด้วยการรวมตัวกันเหมารถไปหาของเก่าตามต่างจังหวัด ไปตามหมู่บ้านต่างๆ และแยกกันไปถามเจ้าของบ้านว่ามีของเก่าอะไรอยากขายไหม ซึ่งก็รับซื้อหมดตั้งแต่ทองคำ ฟันทอง ต่างหู ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหญ่ๆ กระทั่งจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์

พอซื้อของได้เต็มคันรถ เขาก็ตีรถกลับ แต่ก็อาจแวะเมืองระหว่างทางที่เขาเห็นว่ามีคนที่สนใจซื้อของเก่าด้วยเหมือนกัน ก็เอาไปเสนอขายก่อนเพื่อจะได้ทำกำไรส่วนหนึ่ง พอกลับถึงบ้านโป่งศรี แม่เลี้ยงเขาก็จะมาดูว่าได้อะไรมาบ้าง ถ้าแม่เลี้ยงสนใจ แม่เลี้ยงก็จะหักจากหนี้ที่ให้กู้มา แล้วแม่เลี้ยงก็เอาของที่ได้ไปวางขาย

เวลาผมจะหาของเก่า ที่แรกๆ ที่จะไปก็คือบ้านโป่งศรีนี่แหละ แต่แน่นอน ราคาเขาอาจจะสูงกว่าที่ผมตระเวนไปหาตามบ้านเอง แต่อย่างน้อยมันก็ถูกคัดเลือกมาดีแล้ว

พอใกล้ๆ เกษียณจากงานการไฟฟ้า ความที่ผมได้คุมงานต่อสายไฟฟ้าเข้าตลาดไนท์บาซาร์ที่เทศบาลสร้าง เขาก็เลยถามผมว่าสนใจจะเซ้งล็อคสักล็อคเพื่อขายของไหม ผมก็ว่าดี เพราะมีของเก่าสะสมอยู่เยอะ และเผื่ออนาคตลูกผมอาจจะขายของอย่างอื่นด้วย ก็เลยตัดสินใจเซ้ง

ผมขายของเก่าที่ไนท์บาซาร์ตั้งแต่ปี 2545 ขายหลายอย่างมาก ตะเกียงเจ้าพายุ งาช้าง โปสเตอร์หนัง นาฬิกาทำมือ แผ่นเสียง และอื่นๆ สมัยที่ผมขายที่นั่น ไนท์บาซาร์ได้รับความนิยมอย่างมาก เหมือนเป็นแหล่งพักผ่อนของคนพิษณุโลกตอนเย็น วัยรุ่นมาซื้อเสื้อผ้า คนวัยทำงานมาหาอะไรกิน รวมถึงคนเล่นของเก่า ก็มารวมตัวกันที่นี่ เรียกว่าขายได้เรื่อยๆ เป็นรายได้เสริมที่ดีเลย จนราวๆ ปี 2561 ผมเกษียณจากราชการมาได้พักใหญ่แล้ว และรู้สึกอิ่มตัว เลยปล่อยล็อคให้เขาเช่า

ทุกวันนี้ก็ยังสะสมของเก่าอยู่ แต่ก็เก็บไว้ที่บ้าน ก็จะมีทั้งลูกค้าขาประจำและขาจรที่ได้รับการบอกต่อ เขาก็โทรมาถามเลยว่าช่วงนี้ผมมีอะไรบ้าง ถ้ามีอย่างที่เขาอยากได้ เขาก็ขับรถแวะมาดู

มันเพลินดีครับ เพราะไม่เพียงจะได้เรียนรู้เรื่องราวที่เชื่อมโยงกับของชิ้นนั้นๆ ที่เราสะสม ถ้าคุณมีหัวศิลปะด้วย การสะสมของเก่าจะกลายเป็นความสนุก ไหบางใบที่รูปทรงบิดเบี้ยว คนอื่นอาจมองว่ามันใช้งานไม่ได้ ไม่มีประโยชน์ แต่คนเล่นของเก่าเขาจะมองว่ามันสวยงามจากความผิดพลาดระหว่างเผา แถมยังมีแค่ใบเดียวด้วย มันก็มีค่าขึ้นมา หรือพวกงานกลึงไม้ งานแกะสลักเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำจากมือและไม่มีคนทำแล้ว พอได้เป็นเจ้าของ ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้ช่างมีคุณค่าทางใจ”

ธัมมรส พลายมณี
ข้าราชการเกษียณและนักสะสมของเก่า

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย