ในพื้นที่เทคโนธานี บนถนนเลียบคลองห้า ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อันเป็นที่ตั้งขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) อาจเปรียบได้เป็นจัตุรัสพิพิธภัณฑ์ในแง่ที่ว่าประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์หลายแห่งภายในอาณาบริเวณเดียวกันที่เดินถึงกันได้ชนิดเข้าพิพิธภัณฑ์นี้ออกพิพิธภัณฑ์นั้นจนเผลอแป๊บเดียวหมดวัน โดยพิพิธภัณฑ์ของอพวช. ซึ่งเปิดให้เยี่ยมชมที่เทคโนธานีนั้น คือพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา, พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ และพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า โดยมีจัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ในใจกลางกรุงเทพฯ ที่เดอะ สตรีท รัชดา และภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ และโคราช เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ครอบคลุมหลายพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจให้ทุกคนสนุกกับการค้นพบความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ และเรียนรู้ตลอดชีวิตในด้านมนุษย์ ธรรมชาติ และศิลปะวิทยาการ
อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์นั้นโดดเด่นมาก เรียกกันว่า “ตึกลูกเต๋า” โดยเฉลิมชัย ห่อนาค รองผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยในขณะนั้น (โครงการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์จัดตั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติในวาระมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในปี พ.ศ. 2535 เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2543) เป็นหัวหน้าคณะออกแบบ ได้สร้างสรรค์ความแปลกใหม่ของรูปทรงอาคารเชิงเรขาคณิตมาใช้ในงานสถาปัตยกรรม และโครงสร้างทางวิศวกรรม โดยนำมุมแหลมของรูปทรงลูกบาศก์มาเป็นฐาน ใช้ลูกบาศก์ 3 ลูก พิงกันอย่างมีเสถียรภาพ มีฐานรับน้ำหนักเพียง 3 จุดๆ ละ 4,200 ตัน โครงสร้างอาคารเป็นโครงเหล็กป้องกันสนิม ผนังอาคารเป็นแผ่นเหล็กเคลือบผิวด้วยเซรามิก มีคุณสมบัติคงทนถาวร ไม่ต้องทาสีตลอดอายุการใช้งาน เป็นฉนวนป้องกันความร้อนซึ่งช่วยประหยัดพลังงานในการควบคุมอุณหภูมิภายในอาคารซึ่งสูงประมาณ 45 เมตร
ภายในอาคาร 6 ชั้นของพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ จัดแสดงนิทรรศการตั้งแต่ประวัตินักวิทยาศาสตร์รุ่นบุกเบิก นิทรรศการไฟฟ้า อาคารจำลองพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์รูปทรงลูกบาศก์ 3 ลูก โรงภาพยนตร์ดาราศาสตร์ มีฐานให้ผู้ชมได้ทดลองทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน เดินเข้าอุโมงค์พลังงาน โรงภาพยนตร์พลังงาน 4 มิติ สำรวจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย เรียนรู้เรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก เทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน ได้เห็นหุ่นยนต์ นวัตกรรมทางการเดินทาง สาธารณสุข และเทคโนโลยีนาโน ซึ่งต้องบอกว่าจัดแสดงได้น่าสนใจ ไม่ยากต่อความเข้าใจนัก ระบบอินเทอร์แอ็กทิฟกระตุ้นให้ผู้ชมมีปฏิสัมพันธ์ ทดลอง เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
ส่วนอาคาร 2 ชั้นใกล้กันคือพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา นำเสนอเรื่องการกำเนิดโลก การกำเนิดสิ่งมีชีวิต วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต และความหลากหลายทางชีวภาพ ที่บอกเล่าจุดเริ่มต้นนับแต่การระเบิดครั้งใหญ่ในเอกภพ สู่กำเนิดสรรพสิ่งในเวลาต่อมา ภาพสื่อผสมของบิ๊กแบง ปรากฏการณ์สู่การกำเนิดเอกภพ ระบบสุริยะ และโลก เรียนรู้คุณสมบัติ 9 ประการที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องมี เดินทางผ่านอุโมงค์แห่งกาลเวลา สู่วิวัฒนาการของโลกและสิ่งมีชีวิตตลอดหลายพันล้านปี ที่ในท้ายที่สุดแบ่งได้เป็น 5 อาณาจักรใหญ่แห่งโลกสิ่งมีชีวิต คืออาณาจักรแบคทีเรีย อาณาจักรโปรติสตา อาณาจักรเห็ดรา อาณาจักรสัตว์ และอาณาจักรพืช โดยมีไฮไลต์การชมอยู่ที่อุทยานโลกล้านปี และห้องแสดงเขาสัตว์ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้บุกเบิกการอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทย จัดแสดงเขาสัตว์หายากใกล้สูญพันธุ์จากไทยและต่างประเทศกว่า 30 ชนิด โดยเฉพาะเขากูปรี เขาควายป่า และเขาสมัน สัตว์เคี้ยวเอื้องที่มีเขาสวยงาม ขนาดเล็กกว่ากวางป่า มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทยเท่านั้น และเคยพบอาศัยชุกชุมในพื้นที่ทุ่งหลวงรังสิต
เมื่อโลกปัจจุบันคือสังคมดิจิทัล พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศนำเสนอความรู้ ประโยชน์ ความสำคัญของเทคโนโลยีการสื่อสาร และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศอย่างเหมาะสม โดยเล่าเรื่องวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการสื่อสารตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ถึงยุคปัจจุบัน ได้เห็นถึงวิวัฒนาการของเทคโนโลยีสารสนเทศอันเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญที่ช่วยผลักดันให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นแห่งการสื่อสารที่มนุษย์พยายามคิดหาวิธีการ เครื่องมือต่างๆ มาใช้สื่อสาร โดยไม่อาจรู้ได้ว่า สิ่งที่คิดค้น กลายเป็นก้าวแรกสู่เทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนโลกไปแบบก้าวกระโดด มาถึงการสื่อสารยุคอิเล็กทรอนิกส์ ที่เกิดขึ้นหลังการค้นพบไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ทำให้พัฒนาอุปกรณ์สื่อสารให้มีคุณภาพมากขึ้นทั้งภาพและเสียง ได้เห็นโทรศัพท์ยุคแรกๆ ที่ต้องใช้มือหมุนตัวเลข เรียนรู้การทำงานของภาพ เสียง สีให้มาปรากฏในจอโทรทัศน์ ระบบการคำนวณที่ทำให้มนุษย์คาดการณ์เหตุในอนาคต เช่น ภัยพิบัติ การเคลื่อนที่ของวัตถุในอวกาศ และศาสตร์การคำนวณที่ก่อเกิดประดิษฐกรรมเปลี่ยนโลกที่ชื่อว่า “คอมพิวเตอร์” ซึ่งก็จะได้เห็นเครื่องคอมพิวเตอร์ยุคแรกๆ ที่ใช้ระบบคำนวณแบบแรงมนุษย์สู่ระบบอัตโนมัติ สุดท้ายคือการรู้จักประโยชน์ของเทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์ในด้านต่างๆ ทั้งการแพทย์ การศึกษา การคมนาคม การสื่อสาร ซึ่งเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่เหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้วในยุคนี้ เด็กรุ่นหลังจะได้เห็นเครื่องมือยุคบุกเบิกจากที่พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศนี้เอง
พิพิธภัณฑ์แห่งล่าสุดของอพวช. ที่ได้รับความนิยมทันทีนับแต่เปิดให้เข้าชมเมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 คือพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า โครงการที่ริเริ่มในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นัยว่าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในระดับอาเซียน และนำเสนอเนื้อหาได้ครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่ง จัดแสดงวิวัฒนาการของโลกและสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศ และความหลากหลายทางชีวภาพในแต่ละภูมิภาคของโลกรวมถึงประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การมีจิตสำนึกในการรักษา อนุรักษ์ระบบนิเวศ และเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรู้เท่าทัน
ผู้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าจะรู้สึกตื่นตาตื่นใจทันใดเมื่อก้าวเข้าสู่ส่วนแสดงนิทรรศการที่อลังการอยู่ภายในหอที่จัดหรี่ไฟให้ไม่สว่างนักเพื่อขับแสง สี เสียงของเรื่องราวแต่ละหัวข้อจัดแสดงให้โดดเด่นและดึงดูดผู้ชมให้เข้ามามีส่วนร่วม กดดูจออินเทอร์แอ็กทิฟ เล่นเกม ตั้งคำถาม ตอบข้อสงสัย และสัมผัสประสบการณ์ในแบบต่างๆ โดยนิทรรศการประกอบด้วย 3 ส่วนคือ ส่วนบ้านของเรา กำเนิดโลกและสิ่งมีชีวิต ส่วนชีวิตของเรา ชีวนิเวศแบบต่างๆ บนโลก และส่วนในหลวงของเรา ศาสตร์พระราชาสู่การอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน ผู้เข้าชมได้เรียนรู้ตั้งแต่ชีวิตบนโลกเริ่มต้นขึ้นจากการเป็นสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียว ผ่านปรากฏการณ์ วิวัฒนาการ การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หลายครั้ง แม้จะมีหุ่นไดโนเสาร์เคลื่อนไหวให้ตื่นเต้น แต่เราก็เรียนรู้ว่ายังมีซากดึกดำบรรพ์อื่น ๆ อีกที่บอกเล่าความเป็นมาของโลกและสิ่งมีชีวิต ได้เห็นวิวัฒนาการทางกายภาพ บรรพบุรุษของมนุษย์ กระดูกของสัตว์ต่าง ๆ ที่แสดงการปรับตัวและอยู่รอดตามสภาพแวดล้อมของโลกที่แตกต่าง ก่อนจะนำไปสู่ส่วนจัดแสดงระบบนิเวศที่มีองค์ประกอบทางกายภาพและชีวภาพอยู่ร่วมกันภายในชีวนิเวศ (Biome) ตั้งแต่เขตขั้วโลกใต้ ขั้วโลกเหนือ ทุนดรา ไทกา ทะเลทราย เขตอบอุ่น เขตร้อน รวมทั้งเขตภูมินิเวศของประเทศไทย โดยดึงจุดเด่นของแต่ละเขตชีวนิเวศมาจัดแสดงอย่างน่าสนใจ อย่างการเดินผ่านอุโมงค์ลมความเร็ว 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเข้าสู่เขตสภาพอากาศรุนแรงของขั้วโลกใต้ ขณะที่สภาพอากาศรุนแรงของทะเลทราย ก็แสดงวิถีชีวิตภายในเต็นท์พักของชาวเบดูอินที่ให้ผู้เยี่ยมชมได้ (ทำที) นั่งดื่มน้ำชา และมีห้องฉายภาพยนตร์ 4D บรรยากาศทะเลทราย ส่วนเขตภูมินิเวศของไทย ก็จำลองป่าดิบเขา ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น ป่าพรุ และพื้นที่ชุ่มน้ำอันเป็นระบบนิเวศดั้งเดิมของทุ่งรังสิต มาให้เดินชมชนิดอาจเปียกนิดๆ จากละอองน้ำของน้ำตกจำลองที่มีจุดชมวิวมุมสูงให้ได้ถ่ายภาพ
ส่วนในหลวงของเรา นำเสนอหลักการคิด วิธีการทรงงาน และกระบวนการค้นหาคำตอบตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานแนวทางแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง องค์ความรู้ด้านดิน น้ำ ป่า และคน (อาชีพ) ที่สามารถนำมาปฏิบัติให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ยั่งยืน และเห็นผลได้จริง โดยมีห้องชมภาพยนตร์ที่ฉายบทสัมภาษณ์ของสถานีบีบีซี และมีอุปกรณ์ VR ให้สวมดูภารกิจฝนหลวงที่เครื่องบินขึ้นไปโปรยสารทำให้เกิดฝนตกเพื่อใช้ในการเกษตรของประชาชน โดยทั้งหมดทั้งมวลของการจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าไม่เพียงให้ความรู้ความเข้าใจ ยังทิ้งคำถาม สร้างความตระหนักรู้ถึงปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศ ภาวะโลกร้อนที่วิกฤติขึ้นเรื่อยๆ ภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ของพื้นที่และสิ่งมีชีวิต รวมถึงปัญหาขยะพลาสติก ที่ล้วนเป็นผลกระทบต่อระบบนิเวศจากการกระทำของมนุษย์
อ่านรายละเอียดของกลุ่มพิพิธภัณฑ์ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เพิ่มเติมได้ที่ https://www.nsm.or.th/nsm/
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…