เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศให้เทศบาลเมืองพะเยาเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของยูเนสโก (UNESCO Global Network of Learning Cities) พร้อมกับเมืองสุโขทัย และหาดใหญ่ อันเป็นผลจากความร่วมมือในการยื่นเอกสารระหว่างมหาวิทยาลัยพะเยาและองค์การบริหารส่วนจังหวัดพะเยาเมื่อปลายปีที่แล้ว
นอกจาก 3 เมืองแห่งการเรียนรู้ใหม่หมาดที่ได้รับการประกาศไป ปัจจุบันประเทศไทยเรามีเมืองที่เป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้อีก 4 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา
ทั้งนี้ ถ้าเทียบกับทั้ง 7 เมืองแห่งการเรียนรู้ของบ้านเรา เทศบาลเมืองพะเยาที่มีพื้นที่อยู่ราว 9 ตารางกิโลเมตร และมีประชากรไม่ถึง 20,000 คน เป็นเมืองที่มีขนาดเล็กกว่าใครเพื่อน จนแทบจะจินตนาการไม่ออกเลยว่า ด้วยขนาดกะทัดรัดเพียงนี้ พะเยาจะมีแหล่งเรียนรู้อะไรมากมายถึงได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ต้นแบบระดับสากล
ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของจังหวัดเชียงราย และวางตัวอยู่ทางขอบทิศตะวันออกของกว๊านพะเยาซึ่งเป็นทะเลสาบที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวเมืองเกินสองเท่า เมืองพะเยาได้รับการจดจำในฐานะเมืองริมกว๊านอันเงียบสงบ ผู้คนมีวิถีชีวิตเรียบง่าย และเต็มไปด้วยวัดเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์มาหลายศตวรรษ
แม้จะมีความเงียบสงบเหมาะแก่การพักผ่อน มีรากฐานทางศิลปวัฒนธรรม และมีกว๊านที่เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเป็นจุดเด่น กระนั้นในอีกมุม พะเยาก็หาได้ดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ในท้องที่ปักหลักทำมาหากินที่บ้านเกิด เมืองขาดแรงจูงใจในการลงทุนขนาดใหญ่ และประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
อีกทั้ง การระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 ที่นำมาสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจลากยาวมาถึงปัจจุบัน ย้ำเตือนให้เห็นถึงจุดอ่อนของเมืองดังที่ว่า ผู้คนที่เคยมีรายได้น้อยอยู่แล้วก็มีรายได้ลดลงเข้าไปใหญ่ หลายคนจำต้องตกงาน และโอกาสในการหางานของคนรุ่นใหม่ก็ลดน้อย
กระนั้น วิกฤตดังกล่าวก็หาได้มีแต่ความสิ้นหวัง คนรุ่นใหม่ในเมืองหลายคนกลับบ้านมาก่อร่างสร้างธุรกิจขนาดเล็ก เสริมกำลังกับคนรุ่นใหม่ที่ถางเส้นทางไว้ก่อนแล้ว ขณะเดียวกันเมื่อมหาวิทยาลัยพะเยาได้รับทุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อขับเคลื่อนให้พะเยาเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ก็นำ pain point ดังกล่าวมาสร้างโอกาส ด้วยการหนุนเสริมการพัฒนาทักษะทางอาชีพใหม่ๆ แก่ผู้คนในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเปราะบางและผู้ด้อยโอกาส
จากธุรกิจขนาดเล็กของชาวบ้านที่กระจายตัวรอบกว๊านก็เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชนอันเข้มแข็ง รวมถึงพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่กลายมาเป็นจุดขายใหม่ทางการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปี 2564 ที่ อบจ. พะเยา เข้าร่วมขับเคลื่อนโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยพะเยา จากพื้นที่เล็กๆ ในเขตเทศบาล แหล่งเรียนรู้ที่เคยมีอยู่แล้วและไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ก็ได้รับการฉายแสงสปอร์ตไลท์สุกสกาวทั้งจังหวัด และจากพื้นที่เรียนรู้เพียง 6 แห่งในปีแรก (2563) ปัจจุบันจังหวัดพะเยามีแหล่งเรียนรู้อย่างเป็นทางการทั้งสิ้น 26 แห่ง
และอาจด้วยกลไกการขับเคลื่อนและพลวัตเช่นนี้เองที่ทำให้เมืองเล็กๆ อย่างพะเยาสมควรอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติประวัติในฐานะต้นแบบเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับสากล
WeCitizens พาผู้อ่านเที่ยวชมเมืองพะเยาผ่าน 7 พื้นที่รอบกว๊านที่สะท้อนความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้และวิถีชีวิตร่วมสมัยของชาวพะเยา จากความอุดมสมบูรณ์ของทะเลสาบ สู่ภูมิปัญญาสร้างสรรค์ และมรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรมและอาหารการกิน เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชั้นเรียนสาธารณะประจำเมือง ที่พร้อมเปิดให้ทุกคนได้เรียนรู้ตลอดชีวิต
กว๊านพะเยา
ด้วยพื้นที่กว่า 20 ตารางกิโลเมตร กว๊านพะเยาและพื้นที่โดยรอบไม่เพียงเป็นทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ แต่ยังเกี่ยวพันกับชีวิตผู้คนในเมืองแทบทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นแลนด์มาร์คทางการท่องเที่ยวของเมือง ศูนย์กลางศรัทธาจากวัดติโลกอารามบนเกาะกลางน้ำ ห้องครัวชั้นเลิศจากปลาที่แหวกว่ายในทะเลสาบหลายสิบสายพันธุ์ ไปจนถึงแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และสถานที่จัดกิจกรรมประจำเมือง
การได้มานั่งเรือหรือเพียงเดินเล่นริมกว๊าน ไม่เพียงจะได้เห็นทิวทัศน์อันงดงามที่มีดอยหลวงและดอยหนอกเป็นฉากหลังตระการตา แต่ยังได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนทุกเพศวัยตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ตั้งแต่ชาวประมงที่มาตกปลา ผู้คนในเมืองที่มาพักผ่อนริมชายฝั่ง ไปจนถึงคนรุ่นใหม่ที่มาจัดกิจกรรมกลางน้ำ เช่นที่ พันธกานต์ กันต์โฉม แห่ง Lakeland Camp ริเริ่มกิจกรรมพายเรือคายัคและซับบอร์ด (sup board) เปลี่ยนภูมิทัศน์ของกว๊านที่หลายคนคุ้นเคยให้มีชีวิตชีวาและสร้างสรรค์
https://www.facebook.com/profile.php?id=100067619026485
นิทานบ้านต้นไม้
ตั้งอยู่บนถนนราชวงศ์ ถนนใจกลางเมืองที่เชื่อมพื้นที่กว๊านพะเยาสู่ชุมชนเมืองเก่า นิทานบ้านต้นไม้ ไม่เพียงเป็นร้านอาหารและคาเฟ่สุดชิค หากสวนอันร่มรื่นด้านหลังยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ของกลุ่ม Phayao Lovers ที่นำโดย บงกช กาญจนรัตนากร และเพ็ญพิศุทธิ์ พวงสุวรรณ ชักชวนคนในเมืองมาทำร่วมเวิร์คช็อปสนุกๆ หมุนเวียนไปตามวาระในแทบทุกสุดสัปดาห์ ทั้งงานหัตถกรรม วาดสีน้ำ ปั้นเซรามิก การแสดงดนตรี ไปจนถึงจัดตลาดนัดสินค้าทำมือ จนแพร่ขยายไปสู่การจัดถนนคนเดินอันแสนน่ารักอย่าง ‘กาดราชวงศ์ถนนต้นไม้’ ตลาดนัดต้นไม้บนถนนราชวงศ์ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกิจกรรมของคนรุ่นใหม่เข้ากับเมืองแห่งนี้
https://www.facebook.com/nithanbaantonmai/
PYE Space
พื้นที่ศิลปะร่วมสมัยแห่งเดียวของเมืองพะเยา ตั้งอยู่บนถนนรอบเวียงประตูชัย ขับเคลื่อนโดย ปวินท์ ระมิงค์วงศ์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา จัดแสดงนิทรรศการศิลปะของทั้งอาจารย์ นักศึกษา และศิลปินไทยและต่างชาติ รวมถึงจัดฉายภาพยนตร์นอกกระแส และงานเสวนาด้านศิลปะและการออกแบบแล้วแต่วาระ
ทั้งนี้ PYE Space ยังนับได้ว่าเป็นฐานบัญชาการกิจกรรมสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ในพื้นที่อื่นๆ ในตัวเมือง เช่นในปี 2563 ที่ปวินท์กับทีมงานได้เปลี่ยนโรงภาพยนตร์ร้างอย่างเมืองทองรามา ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งในฐานะพื้นที่จัดเทศกาลสร้างสรรค์อันแสนคึกคัก หรือเทศกาล Phayao Arts & Creative Festival ที่เปลี่ยนพื้นที่ชั้นสองของตลาดอาร์เขต ตลาดสดใจกลางเมืองให้กลายเป็นพื้นที่แสดงงานศิลปะ (จนทุกวันนี้พื้นที่ดังกล่าวก็ยังจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง) เป็นต้น
https://www.facebook.com/pyespacethailand
ปลาส้มไร้ก้างแม่ทองปอน
ตั้งอยู่ในตำบลบ้านตุ่น ไม่ไกลจากท่าเรือโบราณบ้านทุ่งกิ่ว ฝั่งตะวันตกของกว๊านพะเยา ที่นี่ไม่เพียงเป็นโรงงานผลิตและจำหน่ายปลาส้มไร้ก้างตรา ‘แม่ทองปอน’ แบรนด์ปลาส้มขึ้นชื่อของจังหวัดพะเยา หากยังเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้กรรมวิธีการผลิตปลาส้ม อาหารพื้นถิ่นที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตชาวบ้านริมกว๊านมาหลายทศวรรษ นำชมโดย แม่ทองปอน จำรัส เจ้าของตำรับตัวจริง
https://www.facebook.com/PraSomThongPon/
บ้านดินคำปู้จู้ Live & Learn Mud House
หนึ่งในพื้นที่การเรียนรู้ต้นแบบแห่งแรกๆ ของเมืองที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วประเทศให้เดินทางมาพะเยาเพื่อลงคอร์สเรียนที่นี่ เปิดสอนคอร์สการทำบ้านดินประยุกต์ที่สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้จริง แถมยังอยู่สบายด้วย ยืนยันจากผู้ใช้งานจริงอย่าง ครูจุ้ย-ชลดา และครูโชะ-ศักดิ์ชัย เวยื่อ สองสามีภรรยาที่เป็นครูโรงเรียนเทศบาล ผู้ก่อตั้งและใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ นอกจากทำบ้านดิน ทั้งคู่ยังสอนการทำเซรามิก การทำเตาดิน ไปจนถึงการอบพิซซ่าและทำอาหารจากเตาดินอีกต่อหนึ่งด้วย! ทั้งนี้ บ้านดินคำปู้จู้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้นำร่องของโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ตั้งแต่ปีแรกจนถึงปัจจุบัน
https://www.facebook.com/koompoojue/
สวนนนดา
สวนสมุนไพรของสามีภรรยาข้าราชการเกษียณ สมบูรณ์ เรืองงาม และสุทัศน์ เรืองงาม ทั้งคู่เปิดสวนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรปลอดภัย การทำอาหารพื้นถิ่นจากสวนครัวในรั้วบ้าน ไปจนถึงการทำสบู่สมุนไพร ซึ่งเปิดให้ผู้เรียนได้ชมสวน เรียนรู้วิถีการกินอยู่กับธรรมชาติอย่างยั่งยืน และมีโอกาสเก็บวัตถุดิบสมุนไพรจากในสวนมาเรียนรู้วิธีแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์และอาหารที่หลากหลาย
https://www.facebook.com/suannonnada/
บ้านสวนศิริสุข
บ้านสวนศิริสุขเป็นที่ตั้งของกลุ่มจานใบไม้ศิริสุขของ สุดา พัวศิริ และณรงค์ พัวศิริ เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจใหม่ หรือ BCG Model จากการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติและหมุนเวียนทรัพยากรพร้อมเพิ่มมูลค่า ทั้งการทำภาชนะใส่อาหารจากใบไม้ การเพ้นท์ลายเสื้อจากใบไม้ ไปจนถึงงานเย็บปักถักร้อยและการทำตุง โดยคอร์สเรียนทั้งหมดเปิดสอนภายในอาคารท่ามกลางสวนร่มรื่น
ทั้งนี้ บ้านสวนศิริสุขยังตั้งอยู่ในหมู่บ้านเกษตรพัฒนาซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ่อสิบสอง แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติและประวัติศาสตร์ที่สำคัญของพะเยา รวมถึงวัดห้วยผาเกี๋ยง วัดที่มีประติมากรรมพุทธศิลป์แกะสลักบนหน้าผาหินอันแสนอลังการ การมาเยือนพื้นที่การเรียนรู้ที่นี่ จึงยังได้แวะชมแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามถึงสองต่อ
หมายเหตุ: บ้านสวนศิริสุข สวนนนดา บ้านดินคำปู้จู้และนิทานบ้านต้นไม้ เป็น 4 ใน 25 พื้นที่การเรียนรู้ในโครงการพะเยาเมืองแห่งการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยพะเยา สามารถเข้าไปดูได้จากเว็บไซต์ของโครงการได้ที่ http://www.phayaolearningcity.com/
https://www.facebook.com/profile.php?id=100064310160580
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…