“ถ้าคนระยองเรียนจบด็อกเตอร์ แต่กลับหางานทำที่บ้านเกิดของตัวเองไม่ได้ ผมว่ามันไม่ใช่
ขณะเดียวกัน แม้เมืองของเราจะขึ้นชื่อเรื่องเศรษฐกิจที่ดี แต่เศรษฐกิจที่ดีที่ว่านี้ กลับถูกขับเคลื่อนจากคนทำงานจากจังหวัดอื่นๆ ที่ย้ายเข้ามาทำงานในเมืองเรา อันนี้ผมว่าก็ไม่ถูก
ออกตัวก่อนว่าผมไม่ได้ต่อต้านอะไรคนจากที่อื่นนะ เพียงแต่รู้สึกเสียดายที่คนระยองเราน่าจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบ้านเมืองเราให้มากกว่าที่เป็นอยู่ นั่นทำให้ผมกลับไปหาสาเหตุ จนมาพบว่าปัจจัยสำคัญคือการศึกษา ที่ผ่านมา คนระยองเรียนผิดทาง จบออกมาจึงต้องไปหางานที่อื่นหมด และนั่นทำให้ทุกภาคส่วนในจังหวัด เห็นตรงกันว่าถึงเวลาแล้วที่การศึกษาระยองต้องเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของเมืองจริงๆ เสียที
ระยองมีจุดเด่นอะไร? อุตสาหกรรม ประมง การท่องเที่ยว และการเกษตร แต่เพราะเด็กระยองยังเรียนในระบบแบบเดิม ไม่ได้ถูกหล่อหลอมให้มีทักษะที่รองรับจุดเด่นเหล่านี้เลย นั่นจึงเป็นที่มาให้ภาคส่วนต่างๆ นำร่องโครงการจังหวัดนวัตกรรมการศึกษา ปรับปรุงหลักสูตรการสอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ ให้สอดคล้องกับโจทย์ในพื้นที่ ซึ่งระยองเราทำก่อนรัฐบาลประกาศพื้นที่เขตนวัตกรรมการศึกษาเสียอีก
และพอรัฐบาลประกาศ มันก็สอดคล้องตรงกันพอดี ทำไปทำมา เราก็เห็นว่ามันมีอย่างอื่นต้องส่งเสริมอีก จึงมีการตั้งสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย (RILA) ขึ้นมา ให้คนของเราได้ reskill และ upskill ได้ตลอดไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่
ผมว่าไม่ใช่เรื่องผิดอะไรเลย ถ้าคนรุ่นใหม่ยังตอบไม่ถูกว่าโตขึ้นจะเป็นอะไร หรือมีความสนใจอะไรเฉพาะ สิ่งสำคัญก็คือเมืองเราต้องมีพื้นที่ แพลทฟอร์ม หรือโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงการเรียนรู้เพื่อที่จะพัฒนาและค้นพบตัวเองได้ตลอดเวลา เพราะอย่าลืมว่าเทคโนโลยีสมัยนี้มันเปลี่ยนแปลงเร็ว กับองค์ความรู้บางอย่างที่คุณมั่นใจหนักหนาว่ามันสามารถเลี้ยงชีวิตคุณไปจนตาย ก็ไม่แน่ว่าเดี๋ยวนี้จะเป็นแบบนั้น การเข้าถึงการเรียนรู้และการพัฒนา ขณะเดียวกันทุกคนก็มีความยืดหยุ่นและพร้อมจะปรับตัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ
แต่ขณะเดียวกัน การรักษาต้นทุนดั้งเดิมที่คุณมีอยู่แล้วก็เป็นเรื่องจำเป็น อย่างสมมุติคุณเป็นลูกชาวสวน คุณเป็นคนรุ่นใหม่ ที่ไม่อยากทำสวนเหมือนพ่อแม่ แต่หากคุณรักษาต้นทุนนี้ไว้ เรียนรู้เรื่องเทคโนโลยี เรื่องการตลาด หรือการขายสินค้าออนไลน์ก็ว่ากันไป ปรับให้สวนผลไม้ของพ่อแม่คุณเป็นสมาร์ทฟาร์ม หาช่องทางการขายให้พวกเขา คุณมีต้นทุนดีอยู่แล้วนี้ คุณเสริมเข้าไป มูลค่าก็มาเอง
ผมยกตัวอย่างสวนทุเรียนแห่งหนึ่งที่ตำบลนาตาขวัญ เขามีที่ดินไม่ถึง 10 ไร่ มีข้อจำกัดด้านการผลิต แต่คุณไม่มีโอกาสได้กินทุเรียนของเขาเลย เพราะทุเรียนทุกต้นมีคนจองเต็มหมดแล้ว มันถูกจองตั้งแต่ทุเรียนยังไม่ออกผลด้วยซ้ำ เขาเปิดขายออนไลน์ ให้คนจองต้นไปเลย โมเดลนี้คุณก็ไม่จำเป็นต้องเอาทุเรียนไปขายล้งให้โดนกดราคา พอสวนคุณถูกจองเต็มหมด คุณก็ไปดีลกับสวนทุเรียนเพื่อนบ้านให้เอามาขายได้อีก ตั้งกลุ่มไปเลย ใช้การตลาดนำ
ผมถึงบอกว่าถ้าคุณเข้าถึงเทคโนโลยีและไม่หยุดเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ก็จะเจอโอกาสในเมืองนี้อีกเยอะ คุณจะค้าขายทางออนไลน์และออนไซท์ก็มี อย่างคุณขายสินค้าเกษตร อบจ.เราก็ช่วยเรื่องการหาตลาดวางขายให้ด้วย หรืออีกหน่อยสนามบินเราเปิดนานาชาติ มีแอร์พอร์ทซิตี้ตามมา ช่องทางทำมาหากินตามมาอีกเยอะ
เอาเข้าจริง แต่ไหนแต่ไรผมมองว่าคนระยองมีข้อดี คือทุกคนพร้อมปรับตัวและคุยกันเข้าใจง่าย เพราะถ้าไม่เป็นแบบนั้น นิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อย่างทุกวันนี้มันเกิดขึ้นที่เมืองนี้ไม่ได้หรอก เหมือนกับคนลงทุนเขาก็ต้องศึกษาก่อนว่าภูมิศาสตร์ตรงไหนเหมาะแก่การลงทุน ทำไมโรงแยกก๊าซต้องมาขึ้นระยอง ปิโตรเคมี อุตสาหกรรม และอื่นๆ เมื่อสิ่งเหล่านร้พุ่งตรงมาที่ระยองแล้ว พอคนระยองคุยกันเข้าใจง่าย ทุกอย่างจึงเกิดขึ้น และคนระยองก็สามารถหาประโยชน์จากการพัฒนาที่เข้ามาได้
โลกยุคหลังจากนี้ก็เช่นกัน เมื่อระยองของเรามีพร้อมหมดแล้ว การศึกษาเราก็ปรับให้เข้ากับเมืองแล้ว จากนี้ก็อยู่ที่คนระยองยุคใหม่อีกเช่นกันที่มีความสามารถปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อจะสร้างความมั่นคงหรือมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเมือง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนอื่นๆ ในเมืองได้มากแค่ไหน ซึ่งถ้าถามผม ผมว่าคนของเรามีศักยภาพที่จะทำได้”
ปิยะ ปิตุเตชะ
นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง