“การชงกาแฟก็เป็นงานเมืองแบบหนึ่งเหมือนกัน แน่นอนมันอาจไม่ได้เป็น hot issue แบบที่ผมเคยทำ แต่นี่เป็นงานเชิงวัฒนธรรม และถ้าหลายคนร่วมๆ กันทำ มันจะประกอบร่างให้เมืองของเรากลายเป็นเมืองน่าอยู่”

“ก่อนมาขายกาแฟ ผมทำงานอยู่องค์การมหาชนที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาชุมชนในสำนักงานที่กรุงเทพฯ ผมทำที่นั่นอยู่ราว 10 ปี หลักๆ คือทำเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องเอกสารสิทธิ์ในที่ดินและที่ทำกินของชาวบ้าน หรือการทำให้เมืองยังคงพัฒนาต่อไปได้โดยที่ชุมชนไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

นี่เป็นงานที่ผมรัก เพราะได้อยู่กับชาวบ้าน ได้มีส่วนทำให้พวกเขาเข้าถึงและรักษาสิทธิ์ของตัวเอง รวมถึงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องชุมชนดีขึ้นผ่านการมีที่อยู่อาศัยที่ถูกต้องและมั่นคง 

แต่พอทำงานไปในช่วงหลังๆ อาจด้วยปัจจัยหลายอย่าง และนี่เป็นมุมมองส่วนตัวของผมนะ ผมเห็นว่าองค์กรที่ผมเคยทำงานด้วย จากที่เคยเป็นตัวกลางเชื่อมชาวบ้านกับภาครัฐ กลับกลายเป็นว่าองค์กรไปรับใช้รัฐมากกว่าจะอยู่ข้างชาวบ้าน ผมเชื่อเรื่องการกระจายอำนาจให้คนเล็กคนน้อย เชื่อว่าคนเล็กคนน้อยเหล่านี้คือเจ้าของเมือง ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ ก็เลยคิดว่าถ้าทำงานนี้ต่อไป เราคงไม่มีความสุข

ขณะที่อีกปัจจัยสำคัญคือผมมีลูกคนแรก ก็อยากมีเวลาอยู่กับเขามากขึ้น เลยตัดสินใจลาออกจากงาน กลับมาอยู่บ้านที่นครสวรรค์

นครสวรรค์ไม่มีงานที่ทักษะทางวิชาชีพที่ผมมีจะทำได้ แต่ในเมื่อเรากลับมาอยู่แล้วต้องมีรายได้ เลยคิดถึงการทำธุรกิจเล็กๆ ที่ทำให้ผมสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ คิดไปคิดมาว่าจะทำยังไงดี แล้วก็พบว่าราว 5 ปีที่แล้ว สมัยนั้นเมืองยังไม่ค่อยมีร้านกาแฟที่เป็นคาเฟ่จริงจัง ก็เลยตัดสินใจจะทำธุรกิจนี้

ผมไม่ได้เป็น coffee lover มาแต่ต้น พูดตามตรง ผมดื่มกาแฟกระป๋องเป็นหลักด้วยซ้ำ ก็พาตัวเองไปรู้จักกับคนที่เขาทำกาแฟมาก่อน ไปเรียนรู้ให้มาก ผมถือคติว่าถ้าเราอยากมีเงินเลี้ยงลูก เราต้องชงกาแฟให้อร่อย เพื่อทำให้ร้านอยู่ได้ ร้านกาแฟของผมมันไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยแพสชั่นของคนรักกาแฟแต่แรก แต่เป็นแพสชั่นของคนทำมาหากิน แต่นั่นล่ะ พอเริ่มเข้าสู่โลกกาแฟแล้ว ผมก็ค่อยๆ ดำดิ่ง จนทุกวันนี้พูดได้เลยว่ากาแฟมันมีความหมายกับชีวิตผมมาก     

Cup and Away ปีนี้ (2566) เป็นปีที่ 5 ล่ะครับ ช่วงแรกๆ ก็เหนื่อยหน่อย เพราะคนยังไม่รู้จัก แต่ก็ได้รับการบอกต่อและลูกค้าประจำ จนอยู่รอดมาได้ กระทั่งช่วงโควิด-19 ร้านเราก็ไม่โดนกระทบเท่าไหร่ เพราะมีฐานลูกค้าที่เป็นคนนครสวรรค์เป็นหลัก

แน่นอน เนื้องานชุมชนกับการทำกาแฟนี่ต่างกันเลย แต่มองอีกมุม นอกจากการทำกาแฟให้ดี ผมก็ได้ใช้ทักษะในงานเก่าที่มีกับธุรกิจนี้ได้ อย่างการพูดคุยกับลูกค้า การเป็นผู้ฟังที่ดี การอ่านความต้องการของเขา ไปจนถึงการผูกมิตรจนทำให้ลูกค้าวางใจ ลูกค้าประจำหลายคนกลายมาเป็นเพื่อนกัน และก็มีไม่น้อยที่เลือกเล่าปัญหาชีวิตส่วนตัวของเขาให้ผมฟังคนเดียว และผมก็รับฟังและให้คำแนะนำเท่าที่จะทำได้โดยไม่ตัดสิน

จริงอยู่ การทำร้านกาแฟทำให้ผมพบเจอแต่คนที่มีรายได้โอเค ชีวิตไม่ได้ต้องดิ้นรนอะไรนัก และถ้ามองในภาพรวมของเมืองนครสวรรค์ ก็จะเห็นว่าการค้าการขายค่อนข้างดี ผู้คนมีรายได้ แต่ความเป็นจริง ความเหลื่อมล้ำของเมืองเราก็ไม่ต่างจากกรุงเทพฯ นะครับ คนรวยก็รวยไปเลย ส่วนคนจนเขาก็ลำบากหนักจริงๆ โดยเฉพาะช่วงเวลานี้ และก็เป็นเรื่องยากสำหรับพวกเขาในการเข้าถึงโอกาส

อธิบายให้เห็นภาพ อย่างการมีพื้นที่สาธารณะ จริงอยู่เมืองเรามีสวนสาธารณะหรือมีอีกหลายพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าคุณมีลูกเล็ก และอยากให้ลูกเข้าถึงการเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือเสริมทักษะอื่นๆ การที่คุณไม่มีเงิน สิ่งนี้แทบเป็นไปไม่ได้เลยนะ หรือกระทั่งการใช้พื้นที่สาธารณะเอง ก็ใช่ว่าทุกครอบครัวจะมีเวลาพาลูกมาวิ่งเล่นหรือพักผ่อนในสวนได้เสียที่ไหน เพราะคุณต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงาน

ผมจึงเห็นว่าเมืองเรามีพื้นที่พร้อม แต่ยังขาดกิจกรรมที่เปิดให้เด็กๆ ทุกคนเข้าถึงโดยไม่ติดเพดานทางเศรษฐกิจ ถ้าเทศบาลหรือหน่วยงานท้องถิ่นขับเคลื่อนเรื่องนี้จะดีมากๆ

กับอีกเรื่องที่ผมเห็นว่าเมืองของเราขาดอยู่คือสุนทรียะ อาจเพราะคนในนี้ส่วนใหญ่ทำธุรกิจกัน พอมีลูกเขาก็จะส่งเสริมให้เรียนหมอหรือวิศวฯ พวกเขาจึงไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับการมีพื้นที่ทางศิลปะให้ผ่อนคลาย ซึ่งจริงๆ แล้วคนรุ่นใหม่ทั้งวัยเรียน หรือวัยทำงานที่กลับมาอยู่บ้านเขาโหยหามันมากเลยนะ

ร้านผมเคยจัดนิทรรศการภาพถ่ายให้เพื่อนช่างภาพรุ่นน้องคนหนึ่ง วันเปิดมีวงดนตรีแจ๊สเล็กๆ มาเล่นให้ กลายเป็นว่าคนให้ความสนใจกันมากๆ พ่อแม่พาลูกมาดูภาพถ่าย และคุยกันถึงสถานที่ในภาพ ลุงป้ามาดูภาพถ่ายแล้วรู้สึกอิ่มเอม หรือคนรุ่นใหม่ที่นำผลงานมาให้ผมดู เผื่อจะได้จัดแสดงงานบ้าง เป็นต้น

หรือที่ระยะหลังๆ เทศบาลจัดงานดนตรีในสวน และเห็นครอบครัวพาลูกหลานมานั่งฟังเพลงกัน ซึ่งผมว่าดีมากเลย เมืองเราต้องมีพื้นที่หรือกิจกรรมแบบนี้ มันไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปะจ๋าก็ได้ ขอแค่เริ่มมีสุนทรียะที่มันกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตของผู้คนก่อน แล้วหลังจากนั้นพื้นที่ทางศิลปะจะไปต่อของมันได้เอง

ถามว่ายังคิดถึงงานพัฒนาชุมชนอยู่มั้ย? บางครั้งก็คิดนะครับ แต่ผมรู้สึกว่าร้านกาแฟที่ทำอยู่ทุกวันนี้มันก็มีส่วนในการสร้างประโยชน์หรือร่วมพัฒนาเมืองของเราได้ อย่างที่เล่าว่าเราใช้พื้นที่ที่มีเป็นมากกว่าร้านกาแฟ เป็นพื้นที่ให้คนมาผ่อนคลายกับศิลปะได้ หรือที่เทศบาลจัดงานดนตรีในสวน ผมก็เอากาแฟไปชงเสิร์ฟในงาน ให้คนในร่วมงานได้ดื่มกาแฟดีๆ ดื่มด่ำไปกับดนตรี การชงกาแฟมันก็เป็นงานเมืองแบบหนึ่งเหมือนกันนะ แน่นอนมันอาจไม่ได้เป็น hot issue แบบที่เคยทำ แต่มันเป็นงานเชิงวัฒนธรรมน่ะ เป็นส่วนเสี้ยวที่ถ้าหลายคนร่วมๆ กันทำ มันจะประกอบร่างให้เมืองของเรากลายเป็นเมืองน่าอยู่”    

เสกสรร ป้อมโพธิ์
เจ้าของร้าน Cup and Away และ Cup and Away Hideout
https://www.facebook.com/cupandawaycafe
https://www.facebook.com/profile.php?id=100089482181483

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

อ่านเสียงแก่งคอย เสียงของเมืองที่ก้าวข้ามบาดแผลประวัติศาสตร์มาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

WeCitizens ชวนผู้อ่านเรียนรู้เมืองแก่งคอย เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในวันนี้ แก่งคอยเปลี่ยนบาดแผลแห่งประวัติศาสตร์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอ่านความคิด วิถีชีวิตผู้คนแก่งคอยได้ที่ WeCitizens : เสียงแก่งคอย, สระบุรี - WeCitizens Flip PDF…

1 year ago

ฟังเสียงนครสวรรค์ เมืองศูนย์กลางแห่งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน

WeCitizens ชวนผู้อ่านเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ เมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง เมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางทางน้ำในอดีต นครสวรรค์จึงเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งในฐานะของเมืองที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ทั้งด้านการค้า การคมนาคม และนำมาซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล E-book ฉบับเสียงนครสวรรค์ฉบับนี้ จะพาผู้อ่านทุกคนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนครสวรรค์ วัฒนธรรมชาวจีนและเทศกาลตรุษจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศและนานาชาติ และไปฟังเสียงผู้คนชาวนครสวรรค์ที่มองบ้านเมืองของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…

1 year ago

แก่งคอย…ย้อนรอยสงครามโลกเปลี่ยนบาดแผลประวัติศาสตร์สู่เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากจะถูกจดจำจากเพลงดังที่มีชื่อเดียวกับชื่ออำเภอของ ก้าน แก้วสุพรรณ และเพลงฮิตของคาราบาว ซึ่งสื่อถึงที่มาของชื่อ ‘แก่งคอย’ อย่าง ‘แร้งคอย’ หากไม่ใช่คนในพื้นที่ อาจนึกภาพไม่ออกว่าอำเภอของจังหวัดสระบุรีที่เป็นปากทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และประตูสู่ภาคอีสาน มีความสำคัญอย่างไร? ไม่เพียงเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำป่าสักและทางรถไฟ อำเภอแก่งคอย ยังเป็นจุดเริ่มต้น (ต่อจากอำเภอเมืองสระบุรี)…

1 year ago

ขอนแก่นโมเดล
The Legacy of City Development

เพราะเมือง คือ ผู้คน และผู้คน คือ ตัวแปรสำคัญที่สุดในการพัฒนาเมือง ความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมาตรฐานคุณภาพชีวิต จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความสามารถ และความร่วมมือร่วมใจของคนในเมืองเป็นฐานสำคัญ กว่าทศวรรษที่ ‘ขอนแก่นโมเดล’ เป็นโมเดลการพัฒนาเมืองที่ได้รับการยอมรับ และพูดถึงในฐานะแนวคิดและปฏิบัติการการพัฒนาเมืองที่ก้าวหน้ามากที่สุด…

1 year ago

“ขอนแก่นเราไม่ใช่เป็นเมืองที่นั่งรอคนเข้ามาทำนู่นนี่ให้”

เมืองขอนแก่น ผู้คน กับการเรียนรู้เพื่อก้าวต่อไป           ไม่มีภูเขา ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ อยู่ไกลโพ้นจากชายทะเล แหล่งท่องเที่ยวมีชื่อ หรือทรัพยากรธรรมชาติสำคัญก็น้อยนิด แต่มีคนที่เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเมืองกลุ่มใหญ่ที่กล้าคิดกล้าฝัน พยายามทำทุกลู่ให้ความหวังเป็นจริงได้ นี่คือปัจจัยที่ทำให้ช่วงเวลาเพียงกึงศตวรรษนำพาเมืองขอนแก่น เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด  ‘ผู้คน และความร่วมมือ…

1 year ago

“สำนึกรักท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญของจิตสำนึกของคนขอนแก่น”

“เมื่อพูดถึงเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่รับผิดชอบของเทศบาลนครขอนแก่น เราดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘พัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุข’ การที่เมืองจะพัฒนาได้และสร้างสังคมที่เป็นสุข ต้องเริ่มที่ ‘คน’ คนที่เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเมือง ยกตัวอย่างในกรณีที่เปรียบเทียบง่าย ๆ เช่น ถ้าเราจะพัฒนาขอนแก่นเป็นเมือง…

1 year ago