“บ้านหลังนี้เคยเป็นบ้านของครอบครัวและสำนักงานบริษัทรับเหมาก่อสร้างของพ่อ พอผมขึ้นมัธยมที่มงฟอร์ต เราก็ย้ายบ้านไปอยู่นอกเมือง อากงอยู่ที่นี่ต่อไปอีกสักพัก ก่อนจะเปลี่ยนเป็นโกดังเก็บของ และบ้านพักพนักงานของบริษัทพ่อ มาราวสิบปีสุดท้าย เราก็ปล่อยให้เป็นบ้านร้าง จนน้องสาวเรียนจบกลับมา ประมาณปลายปี 2563 เราก็เปลี่ยนให้บ้านหลังนี้เป็นคาเฟ่ที่เสิร์ฟบรันซ์ ตั้งชื่อว่า มิทเทอ มิทเทอ (Mitte Mitte) โดยเอาชื่อมาจากย่านหนึ่งในเบอร์ลิน ย่านที่น้องเคยใช้ชีวิตสมัยไปเรียนที่เยอรมนี
ก่อนจะตัดสินใจเปิดร้าน เราคุยกันอยู่นานในเรื่องทำเล เพราะแม้เราจะอยู่ในย่านการค้าอย่างช้างม่อย
แต่ความที่ร้านเราอยู่ลึกเข้ามาบนถนนสิทธิวงศ์ ซึ่งเป็นชุมชนเก่าที่ค่อนข้างหนาแน่น แถมในตอนนั้นกลุ่มลูกค้าที่เรามองว่าน่าจะมาร้านเราก็ยังนิยมไปย่านนิมมานเหมินท์มากกว่า อย่างไรก็ตาม พอมีบริวกินนิ่งคาเฟ่เปิดก่อนตรงปากซอย มีร้านคราฟต์เบียร์ชื่อมายเบียร์เฟรนด์มาเปิด ตามมาด้วยร้านลูเปอร์บนถนนราชวงศ์ และระหว่างที่เรารีโนเวทอาคาร ก็มีร้านใต้ถุนบ้านเปิดตรงกลางซอยช้างม่อยเก่า และทั้งหมดได้รับเสียงตอบรับที่ดี จึงพบว่าเราไม่ได้โดดเดี่ยวเสียทีเดียว
กล่าวได้ว่าร้านรวงเหล่านี้เป็นเหมือนโฉมหน้าใหม่ของย่านการค้าเก่าแก่ย่านนี้ก็ว่าได้ เพราะก่อนหน้านั้นวัยรุ่นหรือนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ๆ แทบไม่เคยแวะเลยนะครับ ส่วนใหญ่จะเป็นคนมีอายุที่มาซื้อของที่ร้านประจำในย่าน หรือเป็นทางที่นักท่องเที่ยวใช้ผ่านไปกาดหลวง ต้องยกเครดิตให้กระแสการกลับมาฟื้นฟูอาคารในย่านเก่าที่เกิดขึ้นในหลายๆ ที่ ช้างม่อยก็ได้รับอานิสงส์ตรงนี้ ซึ่งมันไม่ใช่แค่การฟื้นฟูเฉพาะอาคารหลังใดหลังหนึ่ง แต่ยังรวมถึงการย้อนกลับมาทบทวนมรดกหรือความเป็นมาของย่าน ก่อให้เกิดการเชื่อมร้อยระหว่างคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ อันทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
มิทเทอ มิทเทอ ของเราก็เช่นกัน ความที่ผมและน้องสาวเคยเติบโตมาในย่านนี้ และพ่อแม่ก็ยังคงไปมาหาสู่กับเพื่อนบ้านเดิมอยู่ ร้านเราจึงค่อนข้างเปิดกับชุมชน อย่างการสนับสนุนวัตถุดิบจากคนในชุมชน การเข้าร่วมกิจกรรมกับชุมชนตามวาระโอกาส หรือที่ส่วนตัวผมสนใจงานออกแบบก็ร่วมกับ TCDC ทำกิจกรรมกับชุมชนในช่วงงานดีไซน์วีค เป็นต้น
พูดถึงงานดีไซน์วีค จำได้ว่าปีแรกที่ผมเข้าร่วมงาน ผมก็เอาโครงการศิลปะชุมชนไปเสนอป้าดา (พิมลดา อินทวงค์) ประธานชุมชนช้างม่อย ป้าดาก็เห็นดีเห็นงามด้วย แต่ก่อนกลับ แกบอกว่าเห็นพวกผมยังหนุ่ม อยากขอแรงไปกวนข้าวในงานกวนข้าวยาคู้ที่กำลังจะจัดที่วัดชมพูเสียหน่อย กลายเป็นว่างานนั้นเหมือนเป็นการแลกเปลี่ยนของคนสองรุ่น ทางผู้ใหญ่ในชุมชนตกลงให้ความร่วมมือกับโปรเจกต์ดีไซน์วีค ส่วนพวกผมที่เป็นคนจัด ก็ไปช่วยลงแรงกวนข้าวให้ชุมชน ซึ่งก็ทำต่อเนื่องมาอีกปี และก็คาดว่าน่าจะทำต่อไปอีกปลายปีนี้ (หัวเราะ)
หลังจากนั้น พอมีโอกาสได้ทำงานที่มีส่วนพัฒนาย่านช้างม่อยนี้ได้ ผมก็ยินดีร่วมอย่างไม่ลังเล เพราะคิดว่าเรามาทำมาหากินในชุมชนนี้ อะไรที่ช่วยได้ก็ควรช่วย หรือถ้ามองในมุมผู้ประกอบการ การทำให้ย่านที่ร้านเราเปิดอยู่มีความน่าอยู่มากขึ้น สะดวกสบาย และเป็นมิตร ก็ย่อมส่งผลดีกลับมาต่อกิจการของเราโดยตรง
ผมคิดว่าช้างม่อยมีเสน่ห์ตรงนี้ เสน่ห์ที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างสิ่งใหม่และสิ่งเก่า เสน่ห์ของการแลกเปลี่ยนความรู้และเกื้อกูลกันระหว่างคนสองรุ่น เสน่ห์ที่เกิดจากการปะทะสังสรรค์ของความหลากหลาย ซึ่งสิ่งนี้แหละที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ และมีส่วนขับเคลื่อนให้เมืองพัฒนาอย่างไม่สิ้นสุด”
///
วีรธัช พงศ์เรืองเกียรติ
เจ้าของร้าน Mitte Mitte
“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…
“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…
“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…
“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…
“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…
“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…