“การศึกษามันไม่ใช่เรื่องแค่ว่าคุณมีความรู้เพื่อเอาไปใช้ แต่เป็นที่คุณรู้จักตัวเองว่าถนัดหรือไม่ถนัดอะไร แล้วจะทำอย่างไรให้ตัวคุณสามารถทำหรือเข้าถึงในสิ่งที่ต้องการ” 

Start
281 views
15 mins read

“ผมเป็นนักธุรกิจที่ตระหนักอยู่เสมอว่าความสำเร็จทางธุรกิจ เกิดจากการที่คุณมีพื้นฐานการศึกษาที่ดี และไม่ยอมหยุดเรียนรู้เรื่องราวใหม่ๆ นั่นทำให้ผมสนใจเรื่องการศึกษาเป็นพิเศษ

แน่นอน รากเหง้าของปัญหาหลากหลายที่มีในประเทศนี้ คือผู้คนขาดหรือเข้าไม่ถึงการศึกษา โรงงานหลายแห่งในระยองก็ทำวิจัยกันถึงเรื่องการศึกษากับทรัพยากรบุคคล คุณเชื่อไหม ผลการวิจัยนี้ตรงกับสิ่งที่ผมคิดเลย ข้อสรุปคือโรงงานเขาไม่ได้ต้องการบุคลากรที่มีความรู้หลากหลายตามที่มีคนบอกให้คุณต้องฝึกฝนมา เขาต้องการแค่คนทำงานที่มีความรู้พื้นฐานในสิ่งที่ต้องทำ มีวินัย อดทน แก้ปัญหาเป็น และสื่อสารภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย เพราะทักษะที่เหลือ องค์กรแห่งนั้นๆ เขาพร้อมจะฝึกฝนให้

ทำไมเป็นแบบนั้น? เพราะทุกวันนี้โลกเปลี่ยนเร็วมาก องค์ความรู้จึงเปลี่ยนเร็วตาม พื้นฐานที่เราต้องการคือคนที่มีทัศนคติ (attitude) ทักษะ (skill) และความรู้ (knowledge) บวกเข้ากับความยืดหยุ่นในการเรียนรู้ และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ยกตัวอย่างธุรกิจผม (ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์) เดี๋ยวนี้ช่างซ่อมรถอายุมากหน่อย ถ้าไม่พัฒนาให้ใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็น เพราะรถรุ่นใหม่ๆ มันใช้คอมพิวเตอร์หมด แต่ถ้าช่างแก่ๆ เขาปรับตัวให้มีทักษะเรื่องนี้ได้อย่างชำนาญ เขาจะเก่งกว่าช่างรุ่นใหม่ทุกคน

ทุกวันนี้เวลาส่วนใหญ่ของฝ่ายบุคคลบริษัทผมหมดไปกับการพัฒนาเด็กๆ ที่เข้ามาใหม่ เขาแปลกใจว่าทำไมคุณภาพเด็กจบใหม่มันลดลง ความรับผิดชอบก็น้อย และทักษะการคิดวิเคราะห์ก็ไม่ค่อยมี เด็กที่จบเกียรตินิยมบางคนยังเป็นเลย

ที่พูดแบบนี้ผมไม่ได้โทษการศึกษาในระบบ เพราะผมก็เติบโตมากับการศึกษาในระบบเหมือนกัน และก็ไม่ได้หมายความว่าจะชวนคนรุ่นใหม่ทะเลาะด้วย เพราะอันที่จริงมันไม่มีอะไรดีไปหมด หรือแย่หมดทุกอย่าง ทุกอย่างมันปรับได้ ที่ระบบการศึกษามันไม่เวิร์ค ก็อาจมาจากที่มันเน้นด้านหนึ่งด้านใดจนเกินไป จนไม่ได้สนใจมิติอีกด้านหนึ่งไป หรือมันอาจจะมาจากการมีตัวชี้วัดที่ไม่ดี

ยกตัวอย่างให้ฟัง ชั้นเรียนหนึ่งจะมีเด็กหน้าห้อง กลางห้อง และหลังห้อง เราบอกว่าเด็กหน้าห้องสุดท้ายจะจบออกมาเป็นหมอหรือวิศวกร เด็กกลางห้องกลับเป็นผู้บริหารมาปกครองเด็กหน้าห้อง แล้วสุดท้ายเด็กหลังห้องกลายมาเป็นนักการเมืองปกครองเด็กพวกนี้ทั้งหมด เพราะเด็กหน้าห้อง knowledge เด่น เด็กตรงกลางห้อง attitude ดีเหมาะกับการบริหาร ส่วนพวกท้ายห้องนี่ skill ดี เลยไปเป็นนักการเมือง ฉะนั้นปัญหาคือที่ผ่านมาเราไม่ได้วัดจาก ASK (Attitude, Skill, Knowledge) ทั้งหมด แต่วัดเฉพาะแค่คุณมี knowledge (ความรู้) คุณก็ประสบความสำเร็จ เด็กหน้าห้องที่เป็นเด็กเรียนจึงโดดเด่นอยู่กลุ่มเดียว

ผมก็พยายามที่จะบอกว่าอย่าเพิ่งโจมตีว่าที่ผ่านมาไม่ดี แต่ตัวชี้วัดมันอาจยังไม่ชัดเจน สถาบันการศึกษาเขาก็ผลิตเด็กออกมาได้นี่ แต่ตอนนี้เรามาปรับใหม่ให้มันกระจาย K ขาดใช่ไหมก็เอา A และ S ใส่หน่อย คนจบมาเป็นหมอก็จะได้ไม่เครียดมาก คนที่มี A ดีอยู่แล้วก็เติม K และ S หน่อย เป็นต้น

ผมจะพยายามคุยกับนักการศึกษาอยู่เสมอว่าเราควร compromise (ประนีประนอม) ค่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ และให้มุมมองที่ต่างจากเขาว่านักการศึกษาคิดอย่างนี้ผมก็ไปในทางที่ผมเล่าให้ฟัง ว่าแนวคิดผมเป็นอย่างนี้อย่าไปคิดว่าทุกอย่างมันจะเลวร้ายหมด เช่น นักการศึกษาบอกว่าการศึกษาประเทศไทยต้องกระจายอำนาจ ต้องทำหลักสูตรตามบริบทของพื้นที่ แต่เวลาเอาไปพูดในระดับโลก เราก็เอาประเทศเราไปเปรียบกับฟินแลนด์ ไปเปรียบกับญี่ปุ่น เสียอย่างนั้น

ผมก็บอกว่าถ้าคุณคิดอย่างนี้คุณก็ผิดแล้วเพราะประเทศไทยมันก็คือ 1 ใน 195 ประเทศ คุณบอกว่าการศึกษาต้องยึดโยงกับบริบท ฉะนั้นประเทศไทยมันก็ต้องมีบริบทการศึกษาของมันเอง เหมือนกับระยองต้องมีบริบทของระยอง แม่ฮ่องสอนก็มีบริบทของแม่ฮ่องสอน แต่คุณจะไปลอกฟินแลนด์ที่มีบริบทไม่เหมือนของไทยเลย มันก็ย้อนแย้งไม่ใช่หรือ แสดงว่าคุณคิดว่าการศึกษาอีก 194 ประเทศมันต้องเหมือนกับฟินแลนด์อย่างนั้นหรือ?

ฉะนั้นอย่าไปโจมตีว่าการศึกษาของประเทศไทยมันไม่เหมือนฟินแลนด์ เพราะยังไงมันก็ไม่เหมือน แต่หากมาหาจุดดีจุดแข็งอย่างนี้ดีกว่า ต้องทำความเข้าใจ และทำให้เขาเห็นอีกมุมมองหนึ่ง แล้วจะไม่ทำให้ทะเลาะกัน เพราะลำพังแค่คนในกระทรวงศึกษาก็ทะเลาะกันอยู่แล้ว นักวิชาการก็มักโจมตีคนในกระทรวง คนในกระทรวงก็ตั้งป้อมบอกว่าพวกนี้ไม่เข้าใจพื้นที่จริงหรอก เก่งแต่ทฤษฎีแน่จริงมาทำเองสิ!

แต่นั่นล่ะ อย่างที่บอกผมเป็นนักธุรกิจ ผมเลยต้อง compromise พยายามหาจุดแข็งและจุดอ่อนของแต่ละส่วน เพื่อหาวิธีหนุนเสริม คุณมีความรู้ แต่ขาดทัศนคติ คุณก็เติม คุณมีทักษะ แต่ไม่มีความรู้ คุณก็เรียนรู้เพิ่ม การศึกษามันไม่ใช่เรื่องแค่ว่าคุณมีความรู้เพื่อเอาไปใช้ แต่เป็นที่คุณรู้จักตัวเองว่าถนัดหรือไม่ถนัดอะไร แล้วจะทำอย่างไรให้ตัวคุณสามารถทำหรือเข้าถึงในสิ่งที่ต้องการ” 


สมศักดิ์ พะเนียงทอง

กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด เอกกรุ๊ป จำกัด
ประธานมูลนิธิส่งเสริมการศึกษาจังหวัดระยอง

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย