การศึกษาเรื่องการทำงานข้ามภาคส่วน ทำให้เข้าใจโครงสร้างของการทำงานร่วมกัน ระหว่างชุมชน ภาคเอกชน และรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นโมเดลในการขับเคลื่อนเมืองต่อไป

Start
348 views
12 mins read

“เชียงใหม่เป็นเมืองมหาวิทยาลัย เราจึงมีงานวิจัยเกี่ยวกับเมืองเยอะมากๆ ขณะเดียวกัน เมืองเรามีภาคประชาสังคมที่ทำงานครอบคลุมแทบทุกด้าน ก็เป็นเช่นที่หลายคนมองเห็นตรงกันคือ แม้เราจะมีบุคลากรและทรัพยากรที่พร้อมสรรพ แต่เราก็กลับขาดการทำงานร่วมกัน ต่างคนต่างทำงานในพื้นที่หรือศาสตร์เฉพาะของตนเองไป ซึ่งทำให้มีไม่น้อยที่เมื่อเราทำๆ ไปของเราฝ่ายเดียวเรื่อยๆ แล้วเราก็พบกับทางตัน

พออาจารย์สันต์ (รศ.ดร. สันต์ สุวัจฉราภินันท์) มาชวนเราทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ของเชียงใหม่ ทั้งอาจารย์และเราก็ต่างมองตรงกันว่าควรจะมีการศึกษากลไกการทำงานแบบข้ามภาคส่วน เพราะเชื่อว่าไม่ว่าเมืองจะพัฒนาเป็นอะไรสักอย่าง เป็นเมืองหัตถกรรม เมืองสร้างสรรค์ เมืองมรดกโลก หรือเมืองแห่งการเรียนรู้ สิ่งที่จะทำให้ไปถึงเป้าหมายได้คือการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน บุคคล หรือกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ได้อยู่ในแวดวงหรือภาคส่วนเดียวกัน

โดยคำว่าคนละภาคส่วนนี่ไม่ใช่หมายถึงแค่รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม หรือชาวบ้านเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำงานข้ามศาสตร์หรือองค์ความรู้กันระหว่างคนทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงงานด้านสังคม และรัฐศาสตร์ ซึ่งเราก็เข้าไปศึกษาว่าตลอด 30 ปีหลังมานี้ แต่ละกลุ่มทำงานอย่างไร เคยทำงานร่วมกันด้วยกระบวนการแบบใดบ้าง

การเลือกพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมของโครงการนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่คณะทำงานมองเห็นถึงความร่วมมือข้ามภาคส่วนดังกล่าว อย่างชุมชนควรค่าม้าที่ภาคชุมชนเป็นฝ่ายลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมเอง ก่อนที่ภาครัฐหรือภาคประชาสังคมมาร่วมสนับสนุน หรือที่ช้างม่อยที่มาจากการร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการรุ่นใหม่กับชาวบ้านในชุมชน ส่วนชุมชนป่าห้าจะแตกต่างจากสองพื้นที่หน่อย เพราะชุมชนเก่าแห่งนี้ได้รับผลกระทบโดยตรงของการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ความเป็นชุมชนจึงค่อยๆ เลือนหายไป พร้อมกับกายภาพของลำเหมืองซึ่งเป็นระบบชลประทานดั้งเดิมของเมือง เราจึงโฟกัสไปที่การข้ามภาคส่วนกันระหว่างวัฒนธรรมและความเชื่อของคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน กับแง่มุมด้านการเรียนรู้ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ซึ่งเราพบว่าหนึ่งในอุปสรรคสำคัญการทำงานข้ามภาคส่วนคือความต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสนับสนุนด้านงบประมาณ เพราะต้องยอมรับว่ากิจกรรมใดๆ ก็แล้วแต่ เราจำเป็นต้องใช้เงิน แต่เราไม่สามารถการันตีได้เลยว่าในทุกๆ ปีภาครัฐ หรือองค์กรต่างๆ จะร่วมสนับสนุนกิจกรรมภายในชุมชนได้ตลอดไหม อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคณะกรรมการชุมชนหลายแห่งที่มีระบบการจัดการกองทุนที่ดี หรือมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ดีมากๆ ก็เป็นเคสที่ดีที่จะนำมาศึกษากลไกการทำงานของพวกเขากันต่อไป

ผลจากการทำงานในปีแรก ทำให้เราได้ทราบว่าใครเป็นใครหรืออยู่ในกลไกความร่วมมือส่วนไหนของการพัฒนาพื้นที่ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละชุมชนหรือพื้นที่ก็ต่างมีบริบทเฉพาะเป็นของตัวเอง แต่การศึกษาเรื่องการทำงานข้ามภาคส่วน ก็ทำให้เราเข้าใจโครงสร้างของการทำงานร่วมกัน การเข้าใจความสัมพันธ์ภายในชุมชน หรือระหว่างชุมชน ภาคเอกชน กับรัฐ ซึ่งจะกลายเป็นโมเดลต่อการทำงานวิจัยหรือการขับเคลื่อนเมืองต่อไป

ก็เหมือนที่เราเกริ่นไว้ตอนต้น พอเราจะพัฒนาให้เมืองเป็นไปตามเป้าหมายอะไรก็ตามแต่ หลายคนก็อาจสงสัยว่า เออ เป็นแล้ว จะไปต่อยังไง หรือเราจะได้ประโยชน์จากเป้าหมายนี้อย่างไร การเข้าใจการทำงาน รวมถึงการทำให้ทุกคนเข้าใจกลไกของการทำงานข้ามภาคส่วน ทำให้เรารู้ว่า อืม… ต่อไปเราให้รัฐหนุนเสริมเรื่องนี้ได้นะ หรือชุมชนไหนอยากทำกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนเมือง เขาก็จะรู้ได้ว่าควรเริ่มต้นตรงไหนและอย่างไร

ซึ่งเมื่อความเข้าใจตรงนี้มันกระจ่าง มันยังทำให้เราสามารถกำหนดยุทธศาสตร์หรือทิศทางการพัฒนาเมืองต่อไปได้ ชาวบ้านหรือเครือข่ายชุมชนตกลงร่วมกันว่าอยากให้เมืองไปทางไหน นักวิจัย และภาคประชาสังคมร่วมขับเคลื่อน ส่วนรัฐก็พร้อมสนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าเชียงใหม่มีเป้าหมายจะเป็นเมืองอะไร ถ้าโครงสร้างตรงนี้เข้มแข็ง มันก็เป็นไปได้ทั้งนั้น”

///

อจิรภาส์ ประดิษฐ์

นักวิจัยโครงการโครงข่ายท้องถิ่นกับการเรียนรู้เมืองเชียงใหม่

#WeCitizensTh  #LearningCity  #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย