การเรียนรู้ของกลุ่มคนก็แตกต่างกันไป ถ้าเด็กรุ่นใหม่ก็เป็นเรื่องของ enjoy life วัยรุ่นเขามี dynamic เร็วมาก เขาต้องการอิสระ ในฐานะภาครัฐเราก็เฝ้ามอง ส่งเสริม ปรับตัวเข้ากับพวกเขา เป็นการเรียนรู้เฉพาะตัวมากกว่า

Start
475 views
17 mins read

“พื้นที่เทศบาลเมืองบึงยี่โถไม่ใหญ่มาก ประมาณ 15 ตารางกิโลเมตร อยู่เขตปริมณฑลใกล้กรุงเทพฯ ก็เป็นพื้นที่รองรับที่อยู่อาศัยของคนกรุงเทพฯ ซึ่งในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา คนเพิ่มอย่างทวีคูณ ตอนนี้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่มีประมาณสามหมื่นสี่พันคน แต่ประชากรแฝงน่าจะมีประมาณเจ็ดหมื่น อย่างที่ใกล้เทศบาลฯ ก็มีโรงงานอุตสาหกรรม คนทำงานเป็นพันๆ คน ซึ่งเขาก็กลางวันมาอยู่ ทำงานในพื้นที่ กลางคืนกลับ ส่วนพื้นที่รองรับเป็นหมู่บ้านจัดสรรประมาณ 40 หมู่บ้าน บางหมู่บ้านเป็นพัน ๆ หลัง คนดั้งเดิมที่อยู่ก็ค่อย ๆ หดตัวตอนนี้เหลือ 5% คนใหม่เข้ามา คนเก่าย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ถ้าลองคิดดูหมู่บ้านมีราคาตั้งแต่หกแสนไปถึงสามสิบล้านบาทก็มี เพราะฉะนั้นช่องว่างก็มีเยอะ การเรียนรู้ของกลุ่มคนก็แตกต่างกันไป ถ้าเด็กรุ่นใหม่ก็เป็นเรื่องของ enjoy life วัยรุ่นเขามี dynamic เร็วมาก เขาต้องการอิสระ ในฐานะภาครัฐเราก็เฝ้ามอง ส่งเสริม ดูเป็นกิจกรรมไป เช่น จัดแข่งกีฬา เราปรับตัวเข้ากับพวกเขา เป็นการเรียนรู้เฉพาะตัวมากกว่า

ทีนี้ทางเทศบาลฯ เรามาดูว่า คนที่เคลื่อนย้ายมาเมื่อยี่สิบปีก่อน ปีนี้เขาเริ่มเป็นผู้สูงอายุละ ตั้งแต่ปี 2500-2510 เป็นยุคเบบี้บูม คนกลุ่มนี้เกิดมาปีละล้านคน พอถึงปี 2570 ผู้สูงอายุจะมาสิบล้านคน สังคมของประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บึงยี่โถประชากรสามหมื่นสี่ ผู้สูงอายุห้าหมื่นห้า เกือบ 20% ก็คิดว่าเราน่าจะเรียนรู้กลุ่มนี้ แล้วกลุ่มนี้ก็ต้องเรียนรู้ชีวิตตัวเองแล้ว

เราวางแนวทางเป็น Smart Health City – Active Aging Society ก็ได้นักศึกษาคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มาฝึกงานเข้าไปค้นหาว่ากลุ่มผู้สูงอายุต้องการอะไร ? ซึ่งก็คือสถานที่ในการทำกิจกรรมร่วมกัน กิจกรรมที่เขาทำ เขาน่าจะเป็นคนเลือก ไม่ใช่ราชการเลือกให้เขา ซึ่งเขาอาจไม่ชอบ ไม่ได้อยากทำ สถานที่เราก็ไปเอาสโมสรสระว่ายน้ำที่เสื่อมโทรมตามหมู่บ้านจัดสรร ไปขอเช่ามาปรับปรุงเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุเป็นคนกำหนดกิจกรรม ตารางเวลาเอง ให้เขามีอิสระในการคิด การแสดงออกเรื่องกิจกรรม แล้วให้เขามาทำกิจกรรมได้ตลอดเวลาตามที่เขาว่าง จัดตั้งกรรมการศูนย์ฯ ขึ้นมาบริหารกันเอง กิจกรรมไหนเอาต์ไปแล้วก็เปลี่ยน เขาจัดการได้เองเลย ทางเทศบาลฯ จัดการเรื่องคนทำความสะอาด ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารปภ.

ตอนนี้ก็มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ 3 แห่ง ซึ่งพอเขามีพื้นที่มาทำกิจกรรมกัน เขาก็มีความผูกพันกันค่อนข้างสูง มีการเรียนรู้ระหว่างผู้สูงอายุด้วยกันเอง ผู้สูงอายุกับลูกหลาน ผู้สูงอายุกับสังคมที่เปลี่ยนไป สังคมที่เคยมาอยู่อากาศปลอดโปร่งก็แน่นขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งที่ไม่เคยเกิด เช่น พาณิชยกรรม มีโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น เขาต้องเรียนรู้ชีวิตตัวเองว่าควรทำยังไงให้อยู่อย่างมีความสุข กิจกรรมพวกนี้ต้องตอบสนอง เขาอยู่หมู่บ้านจัดสรร เห็นหน้าแต่ไม่เคยคุยกัน มาวันนี้ คนนึงมีเพื่อนไม่ต่ำกว่าสองร้อยคน โยงใยกัน คุยกัน ไปเที่ยวด้วยกัน ใช้ชีวิตที่มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน การเรียนรู้ตรงนี้เขาสามารถดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความสุข เพราะการเรียนรู้มันเรียนรู้ตั้งแต่เด็กจนโต สูงอายุก็ยังอยากเรียนรู้มาก เพียงแต่แต่ละที่ไม่ได้ให้แสดงออก

กิจกรรมที่ทำส่วนใหญ่แรก ๆ ก็เป็นรำไทย ออกกำลังเบา ๆ พอร่างกายแข็งแรง ก็เริ่มมีเต้น สเต็ปแดนซ์ จิตใจเบิกบาน ก็กล้าแสดงออก เช่น เขียนคิ้ว ทาปาก ใส่เสื้อสี กางเกงยีนขาด รองเท้าผ้าใบ เขาไม่เคอะเขิน ทั้งสามศูนย์ฯ มีพื้นฐานของการออกกำลังเหมือนกันหมด แต่ว่าแต่ละศูนย์ฯ มีคาแร็กเตอร์ของเขาแตกต่างกัน อย่างศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุบ้านฟ้ารังสิต สไตล์สาวแซ่บ หนุ่มซ่า พอมาศูนย์ฯ ที่สอง เขาชอบเต้น แต่ก็ชอบศึกษาหาความรู้ด้วย เขาไปหาผู้สูงอายุของตำบลให้เล่าประวัติศาสตร์ของพื้นที่ แล้วเขียนพ็อกเก็ตบุ๊กออกมา เราก็ทำพ็อกเก็ตบุ๊กให้เขาเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ของบึงยี่โถ ศูนย์ฯ ที่สามสนใจเรื่องอาหารสุขภาพ พวกการปรุงอาหาร เลือกวัตถุดิบ เช่น กะทิไม่เอา ใช้นมถั่วเหลืองแทน คือเราเอาตัวผู้สูงอายุเป็นแกน ฟังว่าเขาต้องการอะไร ? แล้วเขาก็เรียนรู้ด้วยตัวเอง มันได้คุณค่าทางสังคม คุณค่าทางจิตใจ ทำให้เขามีร่างกายแข็งแรง จิตใจเบิกบาน ไม่เกิดโรคซึมเศร้า ไม่เป็นภาระของการสาธารณสุข

อัตลักษณ์ความเป็นเมืองบึงยี่โถจึงเป็นเรื่องสุขภาพของผู้สูงอายุ ในองค์กรท้องถิ่นด้วยกันทั่วประเทศจะรู้ว่าเรื่องสุขภาพผู้สูงอายุ ต้องที่นี่ ที่โดดเด่นเมื่อปี 2550 เราถ่ายโอนสถานีอนามัยมา พอคนไข้เยอะขึ้นจนแตะแสนคน ก็ย้ายมาสร้างที่ใหม่ เป็นศูนย์การแพทย์และฟื้นฟู บึงยี่โถ ให้อาจารย์จุฬาฯ ออกแบบอาคารสวยงาม เอื้อต่อผู้สูงอายุกับผู้พิการ เป็นอารยสถาปัตย์ มีตึกเดย์แคร์ ดูแลผู้สูงอายุในช่วงเวลากลางวันที่เขาอยู่โดดเดี่ยวที่บ้าน ลูกหลานไปทำงานกันหมด เราก็เอารถไปรับมาอยู่กับเรา มีอาหาร มีเบรก เย็นก็กลับไปส่ง คิดวันละสามร้อย ถ้าถามว่าคุ้มมั้ย ? ไม่คุ้มหรอก ขาดทุน แต่ก็ดีกว่า

คือเราเป็นสถานีอนามัยถ่ายโอน แต่มีแพทย์ 5 คน ทันตแพทย์อีก 3 เภสัชกร 2 นักกายภาพบำบัด 8 คน มีแพทย์แผนไทย แพทย์แผนจีน นักจิตวิทยา เงินที่สร้างอาคาร ที่ซื้อเครื่องมือแพทย์ ก็ภาษีของเขา คนในตำบลบึงยี่โถมีบัตรทองหรืออยู่ในเครือข่ายก็ไม่ต้องเสีย ถ้านอกเครือข่ายเราก็ตามไปเก็บเงินกับเขา ถ้าเป็นข้าราชการ คนในตำบล ค่าตรวจเราคิดร้อยเดียว คนนอกคิดสองร้อย อย่างฉีดวัคซีนโควิด วันนึงสี่ห้าพันคน จะมีเคาน์เตอร์เฉพาะของบึงยี่โถเลย เข้าไปก่อนได้เลย เขาก็มีความรู้สึกภูมิใจว่าภาษีที่เขาเสียไปเขาได้รับกลับมา”

รังสรรค์ นันทกาวงศ์

นายกเทศมนตรีเมืองบึงยี่โถ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย