“สามีเราเป็นคนออสเตรีย เปิดออฟฟิศด้านซอฟต์แวร์อยู่เชียงใหม่ เราเคยร่วมงานกัน ก่อนจะคบหาและใช้ชีวิตด้วยกัน พอมีลูกคนแรก สามีก็เปรยเรื่องการเรียนโฮมสคูลมาก่อนแล้ว แต่ตอนนั้นเราอยากลองให้ลูกเข้าโรงเรียนปกติดูก่อน
เรามีลูกสองคน อายุห่างกันสามปี พอเริ่มสังเกตว่ามิคาเอลลูกคนเล็ก ไม่ค่อยมีความสุขกับการเรียนในห้องเรียนเท่าไหร่ ซึ่งก็พอดีได้รู้จากพี่ชัช (ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ) เรื่องการจัดการศึกษาทางเลือกในครอบครัว เราก็เรียนรู้เรื่องนี้อยู่พักหนึ่ง ก่อนมาคุยกับลูกๆ ว่า เรามาเรียนหนังสือกันที่บ้านไหม เดี๋ยวแม่สอนเอง ลูกๆ ก็สงสัยว่าเราเรียนหนังสือแบบไม่ต้องไปโรงเรียนได้ด้วยหรือ แต่เขาก็รู้สึกโอเค ก็เลยเริ่มทำบ้านเรียนตอนมิคาเอลอยู่ ป.1 ส่วนพี่คนโต อเล็กซ์อยู่ ป.4 ตอนนี้ทำมาได้ 11 ปีแล้ว
บ้านเรียนหรือโฮมสคูล (homeschool) มันเป็นการเรียนรู้ร่วมกันนะ ไม่ใช่ว่าเราเป็นคุณครูให้ลูกอย่างเดียว แต่ลูกก็เป็นคุณครูให้เราด้วย เราก็เรียนรู้ไปจากเขาและทำการประเมินว่าขาดทักษะตรงไหน หาว่าเขาสนใจอะไร และค่อยเน้นย้ำไป แต่กว่าจะลงตัวก็ทดลองมาหลายวิธี ตอนแรกจัดการศึกษาตามโรงเรียนเลย วันละ 7 คาบ ซึ่งเราเองก็ไม่ไหว เพราะก็ต้องทำกับข้าว ดูแลบ้านด้วย ก็ค่อยๆ ปรับไป เอาที่ลูกๆ ได้เรียนไม่ตึงไป แต่ก็ไม่หย่อนไป ไม่ได้คำนึงว่าลูกจะทำคะแนนสอบได้เท่าไหร่ แต่เน้นว่าพวกเขามีพัฒนาการตรงไหน และเป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นไหม ไม่ใช่ว่าเด็กเรียนคณิตศาสตร์ไม่เก่ง แล้วจะไปตัดสินเขาว่าเป็นคนหัวไม่ดีหรือเรียนไม่เก่ง เราก็ต้องหาความชอบเขากันต่อไป และขณะเดียวกันเราก็คอยส่งรายงานให้เจ้าหน้าที่เขตการศึกษาด้วย เพื่อให้เขาเห็นว่าเราเรียนกันจริงๆ นะ ไม่ใช่ว่าเอาแต่เล่นอยู่บ้าน แต่เด็กๆ มีพัฒนาการจริงๆ
ตอนที่ทำโฮมสคูลกันใหม่ๆ แม่ๆ คนอื่นก็ไม่เข้าใจเราเยอะ การเรียนนอกโรงเรียน เด็กๆ จะรู้เรื่องหรือ ไหนจะไม่มีเพื่อนอีกนะ เราก็อธิบายว่าไม่ใช่ว่าเรามองว่าการศึกษาในระบบมันไม่ดี แค่คิดว่ามันอาจไม่เหมาะกับลูกเรา ขณะเดียวกันเราก็มองว่าสำหรับเราการเรียนรู้ของเด็กก่อนวัย 18 ปี คือการอ่านออกเขียนได้ รู้จักคิดวิเคราะห์ด้วยตัวเอง เพื่อค้นพบความสนใจที่แท้จริงเพื่อปูไปสู่การศึกษาที่สูงขึ้นต่อไป ที่สำคัญ 8 กลุ่มสาระแห่งการเรียนรู้ มันก็อยู่ในชีวิตประจำวันของเราอยู่แล้ว เรามีเวลาให้ลูกมากพอ จึงจัดการเรียนการสอนเองน่าจะตอบโจทย์กว่า
ส่วนเรื่องเพื่อน เราพบว่าไม่มีปัญหาเลย เพราะหลายคนอาจไม่ทราบว่าเชียงใหม่เป็นเมืองแห่งโฮมสคูล มีครอบครัวนับร้อยที่ทำบ้านเรียนเหมือนเรา และที่สำคัญคือแต่ละบ้านก็สร้างเครือข่ายทำกิจกรรมร่วมกันอยู่เสมอ มีการนัดกันชวนศิลปินมาเปิดคอร์สศิลปะให้เด็กๆ ได้เรียนด้วยกัน กิจกรรมปลูกผักปลอดสารพิษ เล่นกีฬา ทำเวิร์คช็อปต่างๆ นานา หรือมีการเรียนรู้ทางเลือกอย่างโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาที่เน้นเรื่องศิลปวัฒนธรรม เหล่านี้แหละที่ไม่เพียงเด็กๆ จะได้มนุษยสัมพันธ์ แต่เขายังค้นพบความชอบของตัวเองจริงๆ ด้วย
ยกตัวอย่างเช่นพี่อเล็กซ์ ลูกคนโต ก่อนออกจากโรงเรียน เขาสอบได้ที่หนึ่งของห้องตลอด ครูที่โรงเรียนก็มองว่าอเล็กซ์น่าจะเรียนต่อสายวิทย์แน่นอน ตอนแรกเราก็คิดอย่างนั้น แต่พออเล็กซ์มีโอกาสไปเรียนศิลปะตามบ้านที่เขาจัดกิจกรรม ครูที่สอนศิลปะก็บอกว่าอเล็กซ์เป็นคนมีจินตนาการนะ และเขาก็มีทักษะการวาดที่ดีมากๆ จนอเล็กซ์มาค้นพบว่าเขาอยากทำงานด้านศิลปะ เราก็ส่งเสริม แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่ให้เขาเรียนวิทยาศาสตร์หรือคณิตศาสตร์เลย เขาก็ยังเรียนต่อไป และทำได้ดี เพราะเขาเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้มันช่วยพัฒนาเขาด้านวิธีคิดหรือการคิดอย่างเป็นระบบ ส่วนมิคาเอล เขาจะเป็นคนเก็บตัว ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร แต่เขาก็มีความสนใจเฉพาะ เขาทำโครงการเพื่อจบมัธยมปีที่ 4 ด้วยภาษาเยอรมัน สนใจในโครงสร้างอย่างพวกเลโก้ หรือการวางแผนอย่างเกม Minecraft เราก็พอเห็นทางเขาแล้วว่าควรจะหนุนเสริมเขาตรงไหนต่อที่จะเอื้ออำนวยต่อวิชาชีพในอนาคต
เราคิดว่าการเรียนรู้มันอยู่ในทุกที่และเกิดขึ้นได้ทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องเกิดจากห้องเรียนอย่างเดียว และเชียงใหม่ก็เป็นเมืองที่มีพื้นที่แห่งการเรียนรู้อย่างหลากหลายและเปิดให้เข้าถึงได้ง่าย ปัญหาก็คือเราจะทำยังไงให้ทุกคนได้รู้ ได้เข้าถึงเหมือนๆ กัน ด้วยเหตุนี้จึงจัดตั้งเครือข่ายบ้านเรียนล้านนา (Lanna Homeschool Network) เพื่อให้คนที่ทำบ้านเรียนเหมือนกันได้แลกเปลี่ยนข่าวสาร ได้รู้ว่าที่ไหนมีกิจกรรมอะไรจะได้ให้เด็กๆ เข้าร่วมได้ รวมถึงการแบ่งปันบทเรียนหรืออุปสรรคร่วมกัน
สำหรับเราหัวใจสำคัญของบ้านเรียนคือการจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์ความสนใจของลูกๆ และให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรแห่งการเรียนรู้หรือกิจกรรมที่เขาสนใจให้มากที่สุด นี่เป็นงานที่คนเป็นผู้ปกครองต้องให้เวลาและทุ่มเทจริงๆ ซึ่งแน่นอน เป็นงานที่เหนื่อย แต่การได้เห็นว่าลูกๆ สามารถค้นพบตัวเองได้โดยที่เราช่วยส่งเสริมอย่างไม่บังคับ เราก็รู้สึกว่านี่เป็นความเหนื่อยที่คุ้มค่าที่สุดแล้ว”
///
ธารินี ชลอร์
เครือข่ายบ้านเรียนล้านนา
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครือข่ายบ้านเรียนล้านนา
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…