“บทบาทของหนูคือนักดิจิทัลพัฒนาเมือง เป็นตัวกลางที่เชื่อมระหว่างเทศบาลเมืองแก่งคอยกับทางสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa) ในการขับเคลื่อนเมืองแก่งคอยให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ก็ทำทั้งเขียนโครงการที่พยายามใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยพัฒนาเมืองหรือทำให้เมืองน่าอยู่ หรือถ้าทาง Depa เขามีทุนสนับสนุนที่น่าจะสอดคล้องกับเมืองของเราได้ หนูก็จะนำเสนอไปที่เทศบาล เป็นต้น
พอมาอยู่ตรงนี้ก็เห็นโอกาสหลายอย่างเลยค่ะ อย่างการทำสมาร์ทบัส (smart bus) เส้นทางรถสาธารณะที่คอยรับส่งผู้คนในเมือง เพราะที่ผ่านมาเมืองเราไม่มีรถสาธารณะวิ่งในเมืองเลย หรือการทำป้ายรถเมล์อัจฉริยะสำหรับเส้นทางรถประจำทางที่วิ่งระหว่างอำเภอหรือวิ่งเข้าตัวอำเภอเมืองสระบุรี เป็นป้ายที่แจ้งข้อมูลรถแบบเรียลไทม์ว่ารถถึงจุดไหนแล้ว เป็นต้น
อีกเรื่องที่พยายามทำอยู่คือ CDP หรือ City Data Platform แพลทฟอร์มข้อมูลกลางของเมือง เช่น ข้อมูลประชากร สถิติด้านอาชีพ ข้อมูลนักท่องเที่ยว เป็นข้อมูลกลางที่ง่ายต่อการสืบค้นและนำไปวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเมืองต่อไป เพราะต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา แก่งคอยเราขาดการเก็บข้อมูลตรงนี้ โดยเฉพาะข้อมูลของประชากรแฝง พอจะขับเคลื่อนโครงการอะไรที นักวิจัยเขาก็ต้องเข้ามาทำข้อมูลใหม่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
หรือแก่งคอยเราเป็นเมืองผู้สูงอายุ จึงมีความคิดของหลายภาคส่วนที่จะนำสมาร์ทโพล (smart pole) หรือเสาไฟอัจฉริยะ ที่เป็นทั้งเสาไฟ ที่ติดตั้งกล้องวงจรปิด ลำโพงสำหรับเสียงตามสาย ไปจนถึงปุ่มแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุหรือคนในเมืองมาใช้ ให้เสานี้กระจายไปตามจุดต่างๆ ของเมือง เพื่อเชื่อมไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบหรืออาสาสมัครดูแลเมือง ซึ่งก็จะช่วยดูแลผู้คนในพื้นที่ได้ดีมากๆ
ที่ผ่านมา หนูได้เขียน proposal ให้กับทางเทศบาลเพื่อยื่นไปทาง Depa เพื่อให้ได้ตราสัญลักษณ์เขตส่งเสริมเมืองอัจฉริยะแล้ว ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระบุว่าแก่งคอยกำลังขับเคลื่อนสาธารณูปโภคให้รองรับกับการเป็นสมาร์ทซิตี้อยู่ เราได้ตราสัญลักษณ์นี้มาสักพักแล้ว เพียงแต่ตรานี้ไม่มีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาว่ามีข้อกำหนดกี่ปี และต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา เทศบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาพื้นฐานเป็นหลัก เช่น เรื่องปากท้อง รวมถึงปัญหาน้ำประปา ทางเทศบาลจึงยังมองว่าสมาร์ทซิตี้ยังเป็นเรื่องรอง โครงการที่เล่ามาข้างต้นจึงยังคงอยู่ในระดับแนวคิดและข้อเสนอ ไม่ได้คืบหน้าเท่าที่ควร
ซึ่งก็เข้าใจได้ค่ะ เพราะถ้าเรื่องพื้นฐานของเมืองยังไม่พร้อม เรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ เขาก็อาจจะยังไม่มีเวลาให้ความสำคัญนัก แต่ในอีกมุม หนูก็คิดว่าสองเรื่องนี้ทำพร้อมกันได้ หลายๆ โครงการของสมาร์ทซิตี้ ก็สามารถนำมาแก้ปัญหาขั้นพื้นฐานของเมืองได้ อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังๆ หนูก็เห็นว่าเป็นแนวโน้มที่ดีที่ทางเทศบาลเริ่มรับฟังข้อเสนอจากหน่วยงานเอกชนที่เข้ามา และรับเข้ามาอยู่ในแผนของเมืองแล้ว ก็อยากให้มีการขับเคลื่อนร่วมกันจนเกิดเป็นรูปธรรมได้ในที่สุด
ถามว่าทำไมคนรุ่นใหม่อย่างหนูถึงเลือกมาทำงานแก่งคอย? หนูเป็นลูกคนเล็ก และเป็นลูกหลงด้วยค่ะ (หัวเราะ) พ่อแม่อายุมากแล้ว พอเรียนจบ (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ) เลยกลับมาช่วยกิจการของครอบครัวก่อน แล้วพอดี Depa เขาเปิดรับสมัครงานนี้ก็เลยมาทำ นอกจากนี้ หนูยังเขียนนิยายออนไลน์เป็นอาชีพเสริมด้วย เลยไม่ได้คิดว่าจะต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ หรือที่อื่น อยู่บ้านเราที่นี่ก็สบายดี แล้วได้ดูแลพ่อแม่ด้วย (ยิ้ม)
ถามว่าเหงาไหม? ก็นิดหน่อยค่ะ เพราะเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เจอกันในเมืองมีอยู่แค่ 3 คนเอง ถ้าคนรุ่นใหม่ที่ทำงานโรงงาน เขาก็จะไปพักที่พักใกล้โรงงาน ไม่มีใครอยู่ในตัวเมืองเลย ถึงอยากให้มีเพื่อนในเมืองเยอะกว่านี้ แต่ก็เข้าใจข้อจำกัดของเมืองที่ไม่ได้เอื้อให้คนรุ่นหนูสามารถทำงานอยู่ที่นี่ได้นัก
ก็อยากเห็นแก่งคอยพัฒนามากกว่านี้ อยากให้มีโครงการที่ทำงานร่วมกันระหว่างรัฐกับภาคเอกชนเยอะๆ เพราะไม่เพียงโครงการจะดึงให้คนรุ่นใหม่มาทำงาน แต่ถ้าเมืองมันพัฒนา โอกาสใหม่ๆ ก็จะเกิด เพื่อนๆ ในแก่งคอยก็อาจจะเยอะขึ้นตามไปด้วย”
สุกัญญา ตรีสุนทรรัตน์
นักดิจิทัลพัฒนาเมือง
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…