“ขยับฟันเฟืองให้ปทุมธานี หมุนสู่เมืองแห่งการเรียนรู้” สนทนากับ รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล ถึงความท้าทายในการขับเคลื่อน “กลไกความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านพื้นที่การเรียนรู้จังหวัดปทุมธานี”

               รศ.ดร.ภาวิณี เอี่ยมตระกูล ผู้อำนวยการศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหัวหน้าชุดโครงการ “กลไกความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านพื้นที่การเรียนรู้จังหวัดปทุมธานี” พูดคุยกับ WeCitizens ถึงแนวทางพัฒนาความเชื่อมโยงและกลไกขับเคลื่อนพื้นที่ต้นแบบ ปทุมธานี สู่เมืองแห่งการเรียนรู้

               โครงการ “กลไกความร่วมมือในการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นผ่านพื้นที่การเรียนรู้จังหวัดปทุมธานี” ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) เพื่อผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยสู่การพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) ซึ่งในฐานะอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ทำงานด้านการวางแผนพัฒนาเมืองกับโครงสร้างพื้นฐานเมืองมายาวนาน จึงตีโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่เชื่อมโยงการใช้ชีวิตประจำวันและการเดินทางเข้ากับพื้นที่อยู่คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และพื้นที่ปทุมธานี อันทำให้เห็นความเป็นเมืองรอยต่อ พื้นที่ชานเมืองรองรับการพัฒนาจากกรุงเทพมหานคร หากแต่การขยายเมืองและผู้คนรองรับไม่เพียงพอ ทำให้เกิดปัญหาเมืองที่สะสม ซับซ้อน ทับถม จนบั่นทอนคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่อาศัยและใช้ชีวิตชานเมืองที่ควรจะได้รับอากาศดี มีพื้นที่สีเขียว พื้นที่สาธารณะ กลายเป็นเพียงที่นอนพักตอนกลางคืน ตื่นมาตอนเช้ารีบออกไปทำงานในเมือง จนแทบไม่มีเวลาทำกิจกรรมอื่นกับครอบครัว เพื่อนบ้าน หรือแม้แต่กับตัวเอง ทั้งที่หากมองลึกเข้าไปถึงศักยภาพของพื้นที่ปทุมธานี ถือได้ว่ามีจุดเด่นหลายด้านทั้งประวัติศาสตร์พื้นที่ การเกษตรกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการ เครือข่ายความร่วมมือของคนในชุมชน ที่สามารถนำไปสู่การมีพื้นที่ที่ดีเพื่อให้ผู้คนมาใช้จ่ายได้ในทุก ๆ วัน จึงนับเป็นความท้าทายยิ่งของทีมนักวิจัยโครงการฯ ที่จะกะเทาะมิติชีวิต มิติทางสังคม มาสู่การขับเคลื่อนกลไกพัฒนาพื้นที่ต้นแบบของเมืองแห่งการเรียนรู้

สถานการณ์การพัฒนาเมืองปทุมธานี และการเรียนรู้ของคนในพื้นที่เป็นอย่างไร ?
           
ในความเป็นเมืองชายขอบที่กลายเป็นที่อยู่อาศัย ทุกหมู่บ้านจัดสรรเกิดขึ้นเพื่อรองรับการอยู่ แต่กลายเป็นแค่ที่นอน แต่ชีวิตไม่ได้มีแค่การนอน กับการทำงาน มันต้องมีด้านอื่น ด้านนันทนาการ พื้นที่สร้างโอกาสในการใช้ชีวิต คือเขาควรแค่ก้าวเท้าออกมานอกบ้าน แค่เขาเกิดความเครียด เขาควรจะได้รับสิ่งนั้นเลยด้วยซ้ำ แต่วันนี้เราไม่มีพื้นที่ลักษณะนั้นของเมือง ขณะเดียวกันความหลากหลายของปทุมธานีมีพื้นที่กิจกรรมหลัก ๆ ของเมืองเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ โรงงานอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย แต่ถามว่าคนหรือกลุ่มกิจกรรมเหล่านี้นำมาซึ่งการจ้างงาน เศรษฐกิจ แล้วมิติชีวิต มิติสังคมล่ะ? แล้วพอเกิดสถานการณ์โควิด มันชี้ชัดว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่เราโหยหา มันไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เพราะไม่ลงไปถึงรากหญ้า ไม่ลงไปถึงระดับปัจเจก เพราะฉะนั้นวันนี้เราต้องคิดถึงพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนสามารถเกิดอีเวนต์ เทศกาล การรักษาพื้นที่เพื่อสร้างขนบธรรมเนียม สร้างจุดร่วม สร้างโอกาสที่อาจเป็นที่สร้างงานที่ 2 ที่ 3 พื้นที่นัดพบ มีประเพณีที่เรามาแชร์ร่วมกัน ฉะนั้นลูกเล็กเด็กแดงเขาจะเกิดภาพ เกิดการใช้งาน เกิดประสบการณ์ พอได้ใช้บ่อยๆ วันหนึ่งเขาก็จะรู้สึกว่า ถ้าใครมาทำพื้นที่เขาเกิดปัญหา เช่น ทิ้งขยะ เขาคงจะรีบคิดว่าทำไงจะต้องเก็บ แต่ ณ วันนี้เราไม่ได้เปิดให้ทุกคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ได้รู้สึกว่าการเป็นเจ้าของต้องอยู่ร่วมอย่างไร? ขณะเดียวกัน ปัญหาเมืองที่ต้องลงมือทำ หลายๆ อย่างเราพยายามยัดเยียดบทบาทให้กับคนบางกลุ่ม เช่น เราก็คิดว่าเดี๋ยวผู้บริหารคงจะทำ นักการเมือง ภาครัฐ ภาควิชาการ หรือภาคเอกชนจะทำ ปรากฏว่าทุกคนก็คิดว่าจะทำในบทบาทของตัว แต่หลายเรื่องเป็นเรื่องของตรงกลาง เพราะฉะนั้น Learning City ตรงนี้ เราก็ตีความว่าเป็นพื้นที่ที่ทำให้ทุกคนรับรู้ร่วมกัน เกิดความเข้าใจเมือง เป็นส่วนหนึ่งของเมือง มีความรู้สึกเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ เกิดสำนึกรัก ความผูกพันที่ค่อยสะสม มันบ่มเพาะ มันคือการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งสิ่งพวกนี้คือการใช้เวลา เป็นสิ่งที่ต้นทุนถูกมากเลยนะคะ มันมีอยู่แล้ว ทำไงให้มันเกิดขึ้น? ให้ทุกคนเข้ามาร่วมมือกัน

อาจารย์เลือกพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างไร ?

               เราเลือกพื้นที่อำเภอธัญบุรี ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่ง เทศบาลนครรังสิต เทศบาลเมืองบึงยี่โถ เทศบาลตำบลธัญบุรี และเทศบาลเมืองสนั่นรักษ์ ซึ่งความน่าสนใจคือทั้งอำเภอถูกคลองรังสิตประยูรศักดิ์พาดผ่านเป็นแนวยาว คลองนี้มีมานานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถามว่าคุณค่าของความยาวนานตรงนี้คืออะไร? ทำให้คนตระหนัก รับรู้ ได้ใช้สอย ได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาจริงหรือเปล่า ? แล้วสายน้ำกับชีวิตเป็นเรื่องของวิถีไทยด้วยซ้ำ คลองพวกนี้ควรเป็นประโยชน์มากกว่าการระบายน้ำ พื้นที่นันทนาการ วันข้างหน้าอาจกลับมาเป็นทางสัญจร วันหนึ่งเขาได้ใช้ประโยชน์ เขาก็จะรู้สึกว่าเขาไม่จำเป็นต้องมีรถ ไม่จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมาก แล้วเขาก็สามารถทำเวลาในการไปทำงาน ไปพบปะเพื่อนฝูง ไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้ในเวลาที่น้อยลง แล้วเรือก็จะพาเข้าไปยังพื้นที่ตำบล พื้นที่วิสาหกิจชุมชน พื้นที่การเข้าถึงที่จะทำให้เกิดความถี่บ่อยในการใช้กิจกรรม ถ้าเราทำเมืองเราให้ดี เราก็จะเรียกคนเข้ามาชมเมืองเราได้ เขาจะมาเห็นพิธีที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมชาวมอญ วิถีชีวิตชุมชน หรือย่านบ้านริมน้ำแบบเก่า เพียงแต่วันนี้ คนรู้สึกว่ามายากจังเลย การเดินทางไกลเป็นอุปสรรคของทุกกิจกรรม ฉะนั้นการส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ก็คือจะทำอย่างไรให้คนสามารถเข้าไปยังพื้นที่ที่มีข้อดี มีจุดเด่น เช่น เทศบาลนครรังสิตมีประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ มีอาคารอนุรักษ์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ต้องสร้างให้คนไหลไปสู่ภาคประชาชน หรือภาคประชาสังคมที่เขาทำวิสาหกิจชุมชนอย่างเข้มแข็ง เพื่อทำให้เขาต้องพัฒนาตัวเอง วัฏจักรตรงนี้ก็จะเกิดขึ้นอัตโนมัติหากเราส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมต่อที่ดี ทำให้เกิดความง่าย ความสะดวก สุดท้ายคือต้องปลอดภัย แล้วก็จะทำให้รายได้คนในชุมชนฟื้นกลับมา หรือแม้แต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็สามารถเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในพื้นที่เยอะมาก เข้าไปให้ความรู้ ความช่วยเหลือ มหาวิทยาลัยก็จะได้ในส่วนขององค์ความรู้ที่มาจากตำราแล้วได้ใช้จริง แล้วกลับมาพัฒนาองค์ความรู้ให้ต่อยอด คิดนวัตกรรมที่เป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นที่สร้างร่วมกันไปได้อีก

ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์

ความร่วมมือของคนในพื้นที่อำเภอธัญบุรีเป็นเช่นไร?

               พอเข้าไปในพื้นที่ก็รู้สึกว่า มีของที่มีคุณค่า มีอัตลักษณ์อยู่เยอะ ชาวบ้านมีความพยายามทำกิจกรรมเยอะมาก หรือแม้แต่ท้องถิ่นเองก็ทำอยู่ แต่การทำหลายเรื่องต้องบูรณาการ เนื่องจากว่าภารกิจท้องถิ่นมีทั้งจัดสรรงบประมาณ จัดสรรกิจกรรม แต่ก็เป็นกิจกรรมที่ดำเนินการในห้วงเวลาหนึ่ง แล้วชาวบ้านพอเป็นชุมชนชานเมือง กลางวันก็อาจไปทำงานอื่น เย็นก็กลับมาทำอันนี้เป็นงานอดิเรก หลายเรื่องมีความซับซ้อนในบริบทเชิงเศรษฐกิจสังคมอยู่ เราต้องมาถอดแครักเตอร์ที่เกิดขึ้นแต่ละชุมชน จัดกลุ่มกิจกรรม เชื่อมโยงมาสู่ผู้มีองค์ความรู้หรือเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ได้ ก็น่าจะเสริมกำลังเพื่อทำให้เขามีความอยากขยับมากขึ้น เพราะทุกครั้งเขาบอกว่ามีความต้องการอยากจะทำ อยากจะก้าวไปอีกขั้นในเชิงธุรกิจ แต่ก็มีอุปสรรค มีข้อจำกัด ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณ เวลา ซึ่งถ้าเขามีเทคนิคหรือกระบวนการอื่นไปช่วย หรือเราอาจจะเอานักศึกษาเข้าไปช่วย ลิงก์กับมหาวิทยาลัยอื่นในพื้นที่เพื่อเอาไปช่วยทำกิจกรรม เราเชื่อว่าการสร้างบรรยากาศร่วมกัน อาจทำให้จากที่รู้สึกมีความอยากทำอยู่ 1 หรือ 2 ก็จะเพิ่มเป็น 3-4-5 พลังของทุนเหล่านี้ทุกคนต้องมาช่วยกันว่าควรมาอยู่ในรูปแบบกิจกรรมไหน? หรือเชิงวัฒนธรรมประเพณี เราอาจไม่ได้แค่โฟกัสอยู่กับชุมชนเล็กๆ แต่ดึงภาคส่วนเข้ามา เช่นชุมชนชาวจีนโบราณ มีงิ้ว มีศาลเจ้า สิ่งพวกนี้มาสร้างเป็นอีเวนต์ได้ มีการไหว้พระ มีกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม ภาคมหาวิทยาลัยมีนวัตกรรมที่อาจจะมาทำแสงสีเสียง ถ้าเราเชื่อมต่อสิ่งเหล่านี้ อาจจะเป็นการเดินจากสถานีมาในพื้นที่ ก็เป็นกิจกรรมส่งเสริมการเดินด้วย หรือการใช้กิจกรรมสัญจรทางน้ำก็สร้างอาชีพใหม่ แล้วก็ให้คนสัมผัสธรรมชาติได้ดีขึ้น เพราะวันนี้เรามีพื้นที่กลางแจ้งที่มีศักยภาพ อย่างริมคลองรังสิต ก็น่าจะใช้สิ่งพวกนี้เชื่อมจุดสนใจต่างๆ แล้วสร้างเครือข่ายอีกชั้นในการร้อยเรียงพื้นที่กิจกรรม เศรษฐกิจ ชุมชน เข้าด้วยกัน พร้อมไปกับการส่งเสริมทักษะ ความรู้ หรือช่องทางการช่วยเหลือต่างๆ ที่สังคมจะเกิดการแบ่งปัน คือเราไม่ได้มองว่าเราไปช่วยเขาอย่างเดียว องค์ความรู้ที่ได้ก็สะท้อนกลับมาในหลายมิติ หากเราขยับฟันเฟืองเหล่านี้ให้หมุน เราก็เชื่อว่าจะช่วยขยับชุมชนและสังคมตรงนี้ได้ด้วย

อาจารย์ถอดบทเรียนเมืองแห่งการเรียนรู้ เพื่อหาเครื่องมือที่เหมาะกับบริบทของการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ปทุมธานีด้วย

               ทีมงานวิจัยพยายามเก็บข้อมูลมาจากทั้งในและต่างประเทศ เห็นได้ว่าเครื่องมือในการประกอบให้เกิดความสำเร็จมีเยอะมาก เรื่องของทุน อันนี้แน่นอนอยู่แล้ว แต่ก่อนหน้านั้นคือเรื่องของเครือข่าย การร่วมมือ การขยับกิจกรรม ความเข้าใจ ซึ่งเราก็พยายามถอดสิ่งนั้นแหละเพื่อเอามาใช้และสร้าง จริงๆ อาจจะพอมีอยู่บ้าง แต่พออยู่กันคนละจุด คนละส่วน ไม่เกิดการเชื่อมโยงกัน แล้วการที่ทำให้เห็นว่าภาครัฐมีความจริงใจสะท้อนในความต่อเนื่องของกิจกรรมในส่วนของการให้พื้นที่แก่ชาวบ้านมาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เขาอาจจะเป็นคนขยับกิจกรรมด้วยตัวเอง ทำให้เขาเกิดความโดดเด่น ความมีตัวตน และเกิดการสร้างรายได้แก่เขา สิ่งนี้จะทำให้เขาเข้ามาในระบบแล้วก็อยู่กับระบบนั้น นอกจากเครือข่ายก็ต้องมาจัดในเชิงของพื้นที่ เพื่อทำให้พื้นที่ตอบรับกับคนในและคนนอก และเชื่อมต่อกับการสัญจร การเดินทาง ที่ผ่านมาเราก็เห็นว่าทั้ง 4 ท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและขยันมากในการจัดลักษณะนี้ แต่ก็ยังสะท้อนกลับไปว่าชาวชุมชนก็ไม่ได้เกิดความตระหนัก ไม่ได้เกิดการรับรู้อย่างแท้จริง มันก็จะเหมือนกับจุดพลุ เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นแล้วหายไป แต่การสร้างการเป็นส่วนหนึ่งว่าอยากมาช่วย มาทำ มาคิด อันนี้ยังไม่เกิดเลยในพื้นที่ชายขอบตรงนี้ แต่เรามองว่าสร้างได้ไม่ยาก หากพ่อเมืองเห็นตรงนี้ ถ้าเราฝังเข็มถูกจุด มันอาจพลิกกลับจากสิ่งที่เราพบเห็นและเป็นโอกาสที่ดีมากเลยก็ได้ ซึ่งเราก็มองว่ามหาวิทยาลัยนี่แหละ หน้าที่สำคัญที่เป็นตัวประสานให้เจอกันระหว่างองค์กรปกครองท้องถิ่นกับภาคประชาชน ต้องเข้าไปแบบมีกลยุทธ์เชื่อมพวกเขาเข้าด้วยกัน แล้วคุณต้องทำแบบต่อเนื่อง ไม่หยุด เพราะตอนนี้เรามองว่างานวิจัยที่เกิดขึ้นในระดับชาติ ปัญหาที่สำคัญคือพอมันจะดี หยุดทำ หมดงบประมาณ พอไม่มีโจทย์แบบนี้มาให้ ก็เปลี่ยนโจทย์ตามวาระ แต่เรามองว่าบพท.ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ให้โอกาสนักวิชาการได้ทำเฟส 2 ถ้าไม่เช่นนั้นสิ่งที่คิดวางแผนต่อ อยากจะดำเนินการ อยากจะทดสอบกิจกรรมต่อ มันก็ยากที่จะทำให้สำเร็จ เพราะต่อให้ทำ ยังบอกไม่ได้ด้วยว่าจะสำเร็จขนาดไหน? เพราะไอเดียที่ดี หลายครั้งนักวิชาการมักตกม้าตาย เพราะเราคิดไปเองว่าที่เราเห็นเขาแบบนี้ดี แต่เรายังไม่ได้ลงไปช่วยเขาขยับ ให้มีความเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง

การลงพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง? ความต้องการแต่ละพื้นที่เป็นอย่างไร?

               เราเก็บข้อมูลทั้งหมด 700 ชุด ทำทั้งส่วนที่ไปคุยกับชาวบ้าน ส่วนวิสาหกิจชุมชน ทั้งคนที่อยู่ภายในอำเภอธัญบุรี และภายนอกอำเภอที่อยู่ในจังหวัดปทุมธานี ว่าเขาต้องการอะไร? เขาคิดกับเมืองอย่างไร? เขาเห็นในกระบวนการเรียนรู้ของเมืองเกิดอะไรขึ้นบ้าง? เป็นประโยชน์กับเขาอย่างไร? เพื่อให้เขาสะท้อนว่า วันนี้เขาได้ใช้เมืองในมิติใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน เรียนรู้เพื่อสร้างนันทนาการหรือประกอบกิจกรรมต่างๆ ก็ยังพบว่าในความเป็นเมืองปริมณฑลของกรุงเทพฯ ปทุมธานีได้รับอิทธิพลการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานพอสมควร แต่ไม่ได้ดึงองค์ประกอบส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้กับชุมชนจริงๆ ไม่ได้เข้าถึงการใช้งาน และไม่ได้ตอบชีวิตประจำวันของเขาอย่างแท้จริง ก็ยิ่งย้ำสมมติฐานที่เราเห็นตั้งแต่ต้นว่า การพัฒนาแบบเร่งด่วน การรองรับการพัฒนาที่มีลักษณะเป็นชายขอบเมืองมันเลยเป็นการกระโดดข้ามไป กิจกรรมต่างๆ อยู่ที่กรุงเทพมหานคร ข้ามไปอีกทีก็ไปอยู่ที่ความโดดเด่นของชุมชน เช่นเมืองประวัติศาสตร์ หรือเมืองที่พื้นที่สีเขียวอย่างนครนายก ปากช่อง โคราช ซึ่งแม้แต่คนปทุมธานี จะไปเที่ยววันหนึ่งก็ไปเมืองอื่นเลย แทบกลายเป็นว่าคนไม่ได้มองดูพื้นที่ตัวเองในแง่ส่งเสริมการรับรู้ การเรียนรู้ หรือการตระหนักถึงคุณค่า เราก็มองว่าอันนี้คือความไม่สำเร็จที่คุณไม่สามารถทำให้เขารู้สึกว่า ณ ที่ตรงนี้มีอะไรที่มีคุณค่าสำหรับเขา ต้นทุนทางสังคม ต้นทุนทางเศรษฐกิจของเขาไม่ได้ถูกผลักดันหรือสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม สุดท้ายปทุมธานีเหมือนเป็นเมืองผ่านไปทุกมิติเลย เราก็หวังว่า Learning City จะเป็นเหมือนเรากำลังฝังเข็มให้กับเมือง สกัดให้ถูกจุดว่าใครต้องการอะไร? ใครมาช่วยได้บ้าง? ดังนั้นในแผนงานนี้ก็พยายามสร้างกลไกให้เกิดการขยับ ปรับ เปลี่ยน คือไม่ได้เปลี่ยนแค่โครงสร้างทางกายภาพ แต่อยากจะปรับพื้นที่ที่เป็น Third Place หรือพื้นที่นันทนาการชุมชนที่คนจะรู้สึกว่าที่นี่เป็นที่ที่เขาออกมาทำกิจกรรม ให้เป็นสัญลักษณ์ที่สร้างกระบวนการรับรู้ อย่างน้อยให้คนคิดว่าถ้าไม่รู้จะทำอะไร? ที่นี่เป็นคำตอบ

แล้วเครื่องมือที่มาขยับกลไกให้ขับเคลื่อนคืออะไร?

               เราสร้างกลไกออกมา 2 โครงการย่อย หนึ่งคือโครงการพัฒนากลไกการขับเคลื่อนเมืองแห่งการเรียนรู้ในการส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นจังหวัดปทุมธานี ที่ดำเนินการโดย คณะวิจัยสังกัดศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการขนส่งเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สองคือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบในการส่งเสริมเมืองแห่งการเรียนรู้เพื่อคนทุกกลุ่มในจังหวัดปทุมธานี ดำเนินการโดยคณะวิจัยจากสังกัดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเน้นเรื่องการสร้างพื้นที่ที่เราวางแผนตั้งแต่ต้นว่า หากมีพื้นที่ตรงนี้ขึ้นมา ทำให้คนเห็นว่าแต่ละพื้นที่ย่อยที่เป็นเทศบาลมีจุดเด่นอะไร? ชี้ให้เห็นแม่เหล็กดึงดูดที่เข้มแข็ง สร้างภาพให้เกิดความง่ายขึ้น เกิดความเข้าใจมากขึ้น เช่นคุณนั่งเรือหรือนั่งรถไป มีชาวบ้านพร้อมทำเวิร์กช็อป สามารถเอาของกลับบ้านได้ เป็นทัวร์หนึ่งวันที่พาครอบครัวมา ให้เด็กที่ห่างไกลจากธรรมชาติได้ลองปลูกต้นไม้ ลงไปทำนาทำไร่กับชาวสวน สิ่งพวกนี้เป็นประสบการณ์ตรงที่หาไม่ได้ในตำรา เป็นความรู้ที่เรากำลังบอกว่าพื้นที่เรียนรู้มันคือของจริง ซึ่งทุกพื้นที่ย่อยมีของดีของเด่น แต่วันนี้คนไม่รู้ ดังนั้นในโครงการของเรา ก็พยายามสร้างกลไก สร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม เอาคำว่า “พื้นที่เรียนรู้” ให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจ คือถ้าไม่สร้างการรับรู้มันจะไปขั้นอื่นๆ ไม่ได้เลย แล้วการสร้างความรับรู้ก็เป็นเหมือนความเฉื่อยจากจุดเริ่มต้น มันต้องใช้แรงขยับ แรงผลัก ทำให้เขารู้จัก เขาเข้าใจ เอาตัวเองเข้าไปสู่เรื่องราวนั้นโดยผ่านกระบวนการกิจกรรมต่างๆ ซึ่งเราก็ขับเคลื่อนหลากหลายรูปแบบ มีการพูดคุยและทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมชน ทำให้เรารู้จักเขา ขณะเดียวกัน เขาก็รู้จักเรา ทำให้ช่องว่างที่เคยมีเริ่มลดลง ให้เขาเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งตรงนี้เราคิดว่าเป็นกลไกสำคัญสำหรับการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้

ภาคองค์กรท้องถิ่นและภาคประชาสังคมก็ทำกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้กันอยู่?

               เราเห็นว่าทุกคนพยายามทำกิจกรรมของตัวเอง พัฒนาเป็นส่วนๆ แต่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกัน และขาดจุดร่วมอย่างแท้จริง เราเห็นรัฐลงทุนเยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์เรียนรู้ หรือเอกชนทำสวนสนุกต่างๆ แต่ถามว่าการใช้สอยในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่การใช้เพื่อกิจกรรมต่างๆ ที่ตอบโจทย์ในเชิงไลฟ์สไตล์ทั้งคนรุ่นใหม่รุ่นเก่า กลับไม่มีการยึดเหนี่ยวตรงนี้เลย ซึ่งนี่ก็เป็นคำถามตัวใหญ่ๆ ว่าเราจะทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันได้ยังไง? เราเชิญนายกเทศมนตรีของทั้ง 4 เทศบาลมาคุยกัน บอกเขาว่าเมืองแห่งการเรียนรู้เป็นอย่างไร? เพื่อให้ในเชิงขององค์ความรู้ ให้ทั้งตัวอย่างและประสบการณ์พื้นที่สาธารณะอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จ เพื่อให้เขาเห็นว่าจริงๆ แล้วเราอาจจะมองเรื่องเดียวกันอยู่ แต่ภาครัฐมีวิธีการสื่อสารของภาครัฐ อาจจะไม่ได้เหนี่ยวนำให้เกิดความเข้าใจตรงนี้ด้วย คุณอาจสร้างพื้นที่ให้เกิดขึ้นในเมือง คิดว่าเดี๋ยวคนก็มาใช้ แต่ถ้าคุณไม่เอากิจกรรมมาให้เกิดการกระตุ้น อย่างวันนี้ ทำไมกทม.ต้องทำเทศกาลหนังกลางแปลง ต้องขยับมาทำหลายอย่าง เพราะมันต้องมีเทคนิคในการสร้างบรรยากาศ กระตุ้นบอกเล่าเรื่องราว ให้รู้สึกว่าเมืองมีความเคลื่อนไหว ซึ่งสิ่งนี้สำคัญมากที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ เหมือนเราสอนเด็ก การเปิดหนังสือให้เด็ก กับการสร้างกิจกรรมให้เด็กมามีส่วนร่วม มิติไม่เหมือนกัน

โครงการได้ขยับกลไกหรือเครื่องมือเพื่อให้เกิดรูปธรรมอย่างไรบ้าง?

               สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลที่มีเทคนิคของการสื่อสารที่ดี เราทำแผนที่ของ 4 พื้นที่เทศบาล เป็นโครงสร้างเมืองอย่างง่ายที่แสดงของดี ของเด่น บอกเล่าว่าอะไรจะเกิดขึ้น? แบบไหน? อย่างไร? เชื่อมเขาเหล่านั้นด้วยวิธีการเดินทางง่ายๆ ด้วยอะไร? ตัวรถไฟฟ้าสายสีแดงน่าจะเป็นกลไกสำคัญที่ดึงคนข้างนอกเข้ามาข้างใน แล้วสิ่งนั้นอาจจะกลับไปสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชาวบ้านได้ด้วย แล้วยังให้เขาเห็นในสิ่งที่เขาอาจจะไม่เคยเห็น อ้าว มีอยู่ใกล้บ้านเรานี่เอง ดังนั้นมันอยู่ที่วิธีการพลิกสถานการณ์ จัดสรรกิจกรรมให้เหมาะสม ต้องได้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน หัวหน้าท้องถิ่น นายกเทศมนตรี มาร่วมกันขับเคลื่อน เอาชาวบ้านเข้ามาดำเนินกิจกรรมร่วมกันให้เกิดปฏิทินกิจกรรมประจำปีของอำเภอธัญบุรี ให้เป็น Learning City สำหรับภายในและภายนอก คือเราไม่ได้ทำแผนที่กระดาษทั่วไป แต่เป็นแผนที่กิจกรรม แผนที่ความร่วมมือ แผนที่สร้างโอกาส สร้างงาน สร้างรายได้ สร้างทางเลือกให้คนที่เข้ามาท่องเที่ยวในปทุมธานี เห็นว่านอกจากพื้นที่พิพิธภัณฑ์ที่เป็นทางการอยู่แล้ว คุณสามารถมาเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณีชาวมอญ หรือดึงวิถีที่ซ่อนอยู่ในกิจกรรมเชิงประเพณี เช่น แข่งเรือ ตักบาตรพระร้อยรูป เราอาจจัดเวิร์กช็อปแล้วเอานวัตกรรมเชิงอาหารมาบอกเล่าเรื่องราวที่มีการสอดแทรกสิ่งเหล่านี้เข้าไปด้วย นำเสนอในรูปแบบที่บูรณาการมากขึ้น และทำให้ยั่งยืนด้วย ถ้าเราเข้าไปทำแล้วเขาเห็นว่าดี เราก็อยากจะถอดบทเรียนตรงนี้ถ่ายทอดให้กับทั้งนายกเทศมนตรี มีฝึกอบรมชาวบ้านว่ากิจกรรมทำอย่างไร? มีการสร้างเครือข่ายระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีอยู่กว่าสิบมหาวิทยาลัย ซึ่งชาวบ้านอาจไม่กล้าเข้าไป เพราะแต่ก่อนทุกคนมองว่ามหาวิทยาลัยคือสอนหนังสือ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เป็นพื้นที่ที่มีบุคลากรที่ทุกคนมาเชื่อมโยงกัน วิชาการจะมาช่วยเติมเต็มบางอย่างที่ชุมชนต้องการ ขณะเดียวกัน มหาวิทยาลัยก็มาเรียนรู้จากชุมชน เพื่อเอากลับเข้าไปสอนบุคลากรอีกที ตรงนี้เรามองว่าเป็นพลวัตที่จำเป็นของทุกสังคม ซึ่งก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่ปทุมธานีมีทรัพยากรตรงนี้อยู่ เราไม่ได้ยึดติดกับการเรียนรู้ที่เป็นรูปแบบเดิมที่เป็นทางการอยู่ในรั้วรอบขอบชิดอีกต่อไป มองเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นโดยเอามาทำให้สนุกสนาน ได้เรียนรู้ว่าฉันเป็นส่วนหนึ่ง ฉันมีส่วนร่วมทำให้ดีได้ แล้วพอได้นับ 1 เดี๋ยวจะ 2-3-4 นับต่อยอดได้ สุดท้ายทั้งสี่พื้นที่เทศบาลอาจไม่เท่ากันตามศักยภาพและรูปแบบของกิจกรรม ก็ต้องปรับกลยุทธ์ให้เป็นไปตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ เราอยากทำอะไรที่ Small Thing Deep Impact ถ้าเกิดจุดติดสักนิดนึง ท้องถิ่นเขาก็จะเห็นแนวทางทำให้เกิดขึ้นได้

แต่ประเด็นก็คือทำอย่างไรให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมาให้ได้?

               ใช่ เป็นเป้าประสงค์ที่จะต้องไปให้ถึงตรงนั้น ก็ต้องเรียนตามตรงว่า ความชานเมืองมันซับซ้อน แล้วก็สังคมที่ขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจแบบเดิม ที่ต้องหาเช้ากินค่ำ ปากท้องสำคัญ ทำให้ทุนทางสังคมตรงนี้ค่อนข้างจำกัด ฉะนั้น อะไรที่คุณบั่นทอนเขาไปแล้ว การจะเอากลับมาต้องใช้พละกำลังพอสมควร วันนี้ยังมองไม่เห็นความต่อเนื่อง และฟังก์ชันไม่ได้เกิดความชัดเจน ซึ่งเราไปเห็นคลองหลายประเทศ เห็นกิจกรรมเขามีทั้งกลางวันกลางคืน เขาตอบโจทย์ตั้งแต่สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม ทำให้น้ำเสียกลับมาเป็นน้ำดี ทำให้การระบายน้ำในช่วงน้ำหลากไม่ต้องกังวล ภูมิทัศน์โดยรอบกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถสร้างอัตลักษณ์ได้ เป็นที่ที่คนได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น คนไปจ็อกกิ้งได้ทุกวัน แต่สิ่งนี้ไม่เห็นเลยกับพื้นที่ของเรา ซึ่งเรามองว่าถ้าเราดึงตรงนี้กลับมาได้ จะเป็นอีกต้นแบบที่น่าสนใจของคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เราก็ได้มทร.ธัญบุรีที่เป็นเครือข่ายหลักของเราไปทำตรงพื้นที่ที่เป็นสวนสมุนไพร ทำให้คนเฒ่าคนแก่อยากจะไปที่นี่ มีสมุนไพร ที่นวด สปา ขายผลิตภัณฑ์ที่เป็นชีววิถีเชิงออร์แกนิกทั้งหลาย ตรงนี้จะเป็นที่สำคัญที่คุณแค่นั่งรถไฟฟ้าเข้าไปถึงได้เลย เหมือนเป็นโชว์เคส พื้นที่วิถีวัฒนธรรม การท่องเที่ยว เชื่อมตัวคลองให้ใช้งานได้ เช่นเดินเรือได้ ชาวบ้านเข้ามามีงานทำได้ เชื่อมไปยังรถไฟฟ้าได้ แต่วันนี้คนนั่งรถไฟฟ้าสายสีแดงมาแล้วยังไงต่อ? จะไปไหน? ทำอย่างไร? ทั้งๆ ที่มันควรจะหอบหิ้วคนเข้ามาวันละสองสามหมื่นคน กระจายสองสามหมื่นคนใช้ห้าบาทสิบบาทก็เป็นแสนแล้วนะคะที่ลงไปในปทุมธานี ซึ่งเราก็มีความหวังในแผนแม่บทของเราที่จะสร้างกิจกรรม จุดหมายตา ลิงก์การท่องเที่ยวที่จะคืนกลับมาให้คนในพื้นที่

ในแง่การยกระดับเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO เมืองปทุมธานีมีความพร้อมแค่ไหน ?

               พูดตรง ๆ ความพร้อมน่าจะต่ำกว่าค่ากลางเลย คือไม่ใช่ใครไม่เห็น ทุกคนเห็นแต่ไม่เกิดความร่วม ซึ่งเป็นปัญหาเมืองชายขอบ ไม่ใช่แค่ปทุมธานีด้วย อาจจะนนทบุรี สมุทรปราการ นครปฐม ก็เรื่องเดียวกัน และมันก็เป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของเรา

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

7 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

1 week ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

2 months ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

2 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

2 months ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago