ขายกับข้าวข้างพระธาตุหนองหล่มมานาน 25 ปี ช่วยเหลือชาวบ้านมาตลอดจนได้รับเลือกให้ทำหน้าที่เป็นประธานชุมชนช้างม่อย

Start
389 views
11 mins read

“ป้าขายกับข้าวมาตั้งแต่ปี 2540 ตรงนี้เคยเป็นที่ดินของวัดร้างชื่อวัดหนองหล่ม เจดีย์นี่ชื่อพระธาตุหนองหล่ม ป้าขายอยู่ข้างเจดีย์ ลูกค้าเลยเรียกร้านเราว่าร้านป้าดาตีนธาตุ

หนองหล่มคือชื่อของชุมชนแห่งนี้ ความที่ชุมชนอยู่ใกล้หนองน้ำหลังตึกแถวตรงนี้ (ชี้ไปทางตึกแถวตรงข้ามเจดีย์) เป็นหนองน้ำที่ถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็มสักที เลยเรียกกันหนองหล่ม เมื่อก่อนป้าทำลาดหน้า ผัดหมี่ และขนมเส้นจากที่บ้าน เดินข้ามคูเมืองไปเปิดร้านในกาดสมเพชร จนปี 2540 ชุมชนหนองหล่มไฟไหม้ ชาวบ้านต้องขนข้าวของหนีไฟ และเอามาพักไว้รอบๆ เจดีย์ และพวกเขาก็ไปขอหลวงพ่อนอนในวัดชมพู ป้าก็เลยอาสามาเฝ้าของชาวบ้านให้ ประกอบกับที่กาดสมเพชรเปลี่ยนเจ้าของและอยู่ระหว่างการปรับปรุงอาคารไม้เป็นตึกปูนแบบที่เห็นทุกวันนี้พอดี ป้าเลยย้ายมาทำเพิงเล็กๆ ขายกับข้าวข้างเจดีย์นี้แทน ก็ขายมาตั้งแต่นั้น

ตอนย้ายมาใหม่ๆ เราขายกับข้าวสองบาท ส่วนข้าวเหนียวบาทเดียว ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานในชุมชนนี้ ซึ่งยังไม่มีเกสท์เฮาส์เยอะแบบนี้หรอกนะ ส่วนมากเป็นสถานบันเทิง หรือที่รู้จักในชื่อบ้านสาว มีมากกว่า 20 หลัง ผู้หญิงที่ทำงานส่วนใหญ่มาจากฝางบ้าง ดอกคำใต้บ้าง เชียงรายบ้าง ลูกค้าร้านป้าส่วนมากจึงเป็นคนที่มาเที่ยวสถานบันเทิง และสาวๆ ที่ทำงานตามบ้าน

สมัยเมื่อยี่สิบถึงสามสิบกว่าปีก่อน ชุมชนที่ป้าอยู่นี่เงินสะพัดจากธุรกิจบ้านสาวมากเลยนะ บางบ้านทำอาหารขาย บางบ้านรับซักผ้า ขายของชำ คือบ้านไหนทำอะไรก็ขายได้หมด ขนาดคนเฒ่าว่างๆ อยู่บ้าน เขาเด็ดมะขามเปียกมาทำน้ำดื่มขาย ยังขายหมด หรืออย่างป้าที่แต่ละวันจะตื่นมาทำกับข้าวตอนเที่ยงคืน สักตีสองตีสามมีลูกค้ามารอซื้อกับข้าวถึงครัวไฟ ยังไม่ทันเปิดร้าน บางคืนได้สองสามพันบาทแล้ว

น่าจะสักราวสิบปีที่แล้วที่ธุรกิจนี้ค่อยๆ ซบเซา แทนที่ด้วยโรงแรมหรือเกสท์เฮ้าส์ นั่นทำให้รายได้จากการขายกับข้าวเราหายไปพอสมควร ป้าจึงหันมาทำอาชีพเสริม พอหลังจากขายกับข้าวเสร็จราวแปดโมงครึ่ง ก็มารับเย็บผ้าต่อช่วงสาย ตกบ่ายก็ไปเป็นกุ๊กประจำโรงแรมที่ห้องอาหารเจเจ โรงแรมมนตรี ก่อนที่เขาจะรีโนเวท และกลับบ้านมาเข้านอนสักสองทุ่ม เพื่อตื่นมาเตรียมอาหารขาย วนไปอย่างนี้ทุกวัน

แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้ทำแล้ว กลับมาขายกับข้าวอย่างเดียว เพราะต้องมาทำหน้าที่ประธานชุมชนช้างม่อยอีกตำแหน่ง อาจจะเพราะชาวบ้านเห็นว่าเราอยู่ที่นี่นาน เคยเป็นหูเป็นตาเฝ้าสมบัติให้พวกเขา ป้าเลยได้รับเลือก เป็นมาตั้งแต่ปี 2559

พูดตามตรงว่าเหนื่อยนะ เราไม่มีรายได้อะไรจากตำแหน่งนี้ แถมถ้ามีคนจากเทศบาลมาทำถนน พ่นยุง หรือตัดกิ่งไม้ เราก็จะต้องควักเงินเลี้ยงข้าวเลี้ยงน้ำเขาเป็นสินน้ำใจอีก แต่แม้จะเป็นงานที่เข้าเนื้อ พอเห็นว่าการที่เราเป็นตัวแทนชาวบ้านเรียกร้องขอปูพื้นถนน แก้ปัญหาต่างๆ ในชุมชน หรือจากที่เคยน้ำท่วม เราเรียกให้เทศบาลมาขุดลอกท่อให้ จนน้ำไม่ท่วมแล้ว ก็รู้สึกภูมิใจ ผลกำไรจึงออกมาในรูปแบบนี้

ป้าเป็นประธานมา 5 ปีแล้ว ปีนี้อายุหกสิบกว่า ก็บอกชาวบ้านว่าพอแล้ว ให้คนรุ่นใหม่ๆ มาทำบ้าง ที่ผ่านมาเราทำเต็มที่กับชุมชน เป็นปากเสียงให้ชาวบ้าน เป็นตัวกลางเจรจากับผู้ประกอบการที่เข้ามาอยู่ใหม่ รวมถึงเรียกร้องให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกนั่นนี่เพิ่มขึ้นมา จากนี้ป้าขอกลับไปขายกับข้าวอย่างเดียวแล้ว

อะไรคือความสุขในการขายกับข้าวของป้าหรือ? อาจเพราะมีลูกค้าขาประจำวนกลับมาฝากท้องกับเราอีกเรื่อยๆ มั้ง หรือบางคนเป็นลูกค้ามาตั้งแต่เราขายแกงถุงละสองบาท ทุกวันนี้เราขายถุงละยี่สิบ ก็ยังมาอยู่ รวมถึงลูกหลานพวกเขาที่ยังตามมากิน คิดว่านี่เป็นความสำเร็จนะ (ยิ้ม)”

///

พิมลดา อินทวงค์

ประธานชุมชนช้างม่อย

#WeCitizensTh  #LearningCity  #ChiangMai

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย