ช่วงหลังมานี่ ได้ยินคนถามกันบ่อยว่าทั้งที่กระทรวงศึกษาฯ ได้รับงบสูงสุดมากกว่ากระทรวงอื่นใดมากี่ปีก็จำไม่ได้แล้ว ทำไมผลการศึกษาเราจึงตกต่ำจนเป็นที่โหล่หรือเกือบจะเป็นที่โหล่ของอาเซียนไปเสียทุกวิชา นอกจากนั้นผลการสอบโอเน็ตทั่วประเทศของเรายังบอกเราว่าโดยเฉลี่ยแล้ว นักเรียนในบ้านเราสอบตกทุกวิชาหลัก (ไทย อังกฤษ สังคมศึกษา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์) แถมยิ่งช่วงชั้นสูงขึ้นไป คะแนนเฉลี่ยของโอเน็ตก็ยิ่งตกต่ำมากขึ้นจนมีคนพูดกันเล่นๆ ว่ายิ่งเรียนก็คงยิ่งโง่มั้ง
ฉันไม่ได้แปลกใจเรื่องผลการเรียนตกต่ำเพราะเท่าที่รับรู้มาเรื่องการศึกษา มันก็น่าจะตกต่ำจนน่าใจหายอยู่หรอก สิ่งที่ฉันแปลกใจคือดูเหมือนทุกคนจะเป็นห่วงแต่เรื่องผลการศึกษาในขณะที่ สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกเศร้าใจมากกว่าคือในทุกวิชา คะแนนสูงสุดคือเต็มร้อย ส่วนคะแนนต่ำสุดคือศูนย์ เราพูดกันเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมบ่อยมากจนเกือบจะกลายเป็นแฟชั่นไปแล้ว แต่ทำไมจึงแทบไม่ได้ยินใครพูดถึงการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากันอย่างจริงจังบ้างเลย แถมนโยบายที่เป็นข่าวอยู่ตอนนี้ก็ยิ่งทำให้ฉันกังวลเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก
เมื่อสองสามวันมานี้ มีนักการศึกษาออกมาพูดว่าจะเสนอนโยบายเรื่องการเปิดโอกาสให้นักเรียนมีเวลาค้นคว้าด้วยตัวเองมากขึ้น แทนที่จะเรียนรู้แต่ในห้องเรียน ฟังแล้วดูดีนะคะ เป็นปรัชญาการศึกษาที่ดี แต่การจะทำอย่างนี้ได้ มันต้องเพิ่มช่องทางในการค้นคว้าให้กับทุกคนด้วย ไม่ใช่เพิ่มเวลาเพียงอย่างเดียว (ซึ่งน่าจะแปลว่าลดจำนวนชั่วโมงเรียนให้น้อยลง) ไม่เช่นนั้นมันก็จะเหมือนนโยบาย child-oriented ซึ่งฟังแล้วดูดี แต่ในทางปฏิบัติคือครูเตรียมการสอนน้อยลงให้นักเรียนไปหาความรู้เองมากขึ้นจนเคยมีนักเรียนออกมาบอกว่ามันเป็น “ควาย-oriented” เสียมากกว่า ส่วนเพื่อนๆ ฉันที่มีลูกเรียกนโยบายนี้ว่า mother-oriented เพราะพวกแม่ๆ ต้องลงมาทำการบ้านให้ลูกเนื่องจากการบ้านหลายชิ้นมันยากเกินความรู้เด็กประถมหรือมัธยมจะทำได้
เพื่อนฉันคนหนึ่งเคยถามลูกว่าถ้าแม่ไม่มีเวลาหรือมีความรู้พอจะช่วยลูกเด็กคนนั้นจะเป็นอย่างไร ลูกเธอตอบอย่างเห็นเป็นเรื่องธรรมดาว่า “ก็ตก” ทำให้อดเกรงไม่ได้ว่านโยบายใหม่ที่ฟังดูดีนี้จะส่งผลให้มีเด็กตกเพิ่มขึ้นไปอีกหรือเปล่าโดยเฉพาะเด็กที่อยู่ตามโรงเรียนวัดและโรงเรียนที่ “ด้อยโอกาสทางการศึกษา” ทั้งหลายมีความเหลื่อมล้ำของ (ผล) การศึกษาที่เห็นได้ชัดระหว่างเด็กที่เรียนหนังสือในเมืองกับเด็กที่เรียนตามโรงเรียนในหมู่บ้าน (ฉันไม่ใช้คำว่าเด็กต่างจังหวัดเพราะความแตกต่างน่าจะอยู่ที่การเป็นโรงเรียนในเมืองหรือในหมู่บ้านมากกว่า ไม่ว่าจะสังกัดจังหวัดไหน รวมถึงโรงเรียนในสังกัด กทม. ด้วย แม้แต่ที่ที่ฉันอยู่ เด็กในหมู่บ้านที่เข้าไปเรียนหนังสือในตัวเมืองก็ดูมีพื้นฐานความรู้ที่ดีกว่าเด็กที่เรียนที่โรงเรียนในหมู่บ้าน) ความเหลื่อมล้ำนี้เกิดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าสาเหตุอื่นคือเด็กๆ ในหมู่บ้านมักไม่มีหนังสืออ่านนอกเหนือไปจากหนังสือเรียน หนังสือเด็กดีๆ นั้นแพงจนฉันเองยังซื้อแทบไม่ลง ดังนั้น เรื่องที่จะให้พ่อแม่ที่ยากจนซื้อหนังสือให้ลูกอ่านนั้นเลิกคิดไปได้
ห้องสมุดโรงเรียนควรจะเป็นคำตอบ แต่ในความเป็นจริงมันเป็นคำตอบที่ใช้แทบไม่ได้ คุณครูที่มาช่วยดูแลห้องสมุดมีงานยุ่งเกินกว่าจะใส่ใจ งบที่โรงเรียนจะเจียดมาซื้อหนังสือก็สำคัญสู้กิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นหน้าเป็นตามากกว่าไม่ได้ ผลก็คือห้องสมุดโรงเรียนส่วนใหญ่มีสภาพเป็นสุสานหนังสือเก่าที่มีผู้บริจาคให้โรงเรียนเสียมากกว่า
เคยคุยกับคนที่ไปประเมินห้องสมุดที่ผ่านการคัดเลือกส่งเข้าประกวดเป็นห้องสมุดโรงเรียนดีเด่นประจำภาคอีสาน (ซึ่งน่าจะแปลว่าเป็นห้องสมุดที่ดีกว่าห้องสมุดของโรงเรียนโดยทั่วไปแล้ว) เขาบอกว่าใจเขาไม่อยากให้ผ่านแม้แต่เกณฑ์พื้นฐานของการเป็นห้องสมุดที่ดีเลยสักแห่ง ฉันจึงคิดว่าเราคงหวังพึ่งห้องสมุดโรงเรียนไม่ได้ในการเป็นช่องทางให้เด็กมีหนังสือดีๆ อ่าน
จากประสบการณ์การทำห้องสมุดเด็กให้ อบต.ตาก้องมา 5 ปี ฉันคิดว่าห้องสมุด อบต. น่าจะเป็นทางออกที่ดีทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาและเพิ่มช่องทางในการค้นคว้าด้วยตนเองของนักเรียนนอกเขตเมืองได้ แทนที่เราจะทำที่อ่านหนังสือพิมพ์หมู่บ้านไปทั่วๆ ให้เป็นเบี้ยหัวแตก งบเหล่านี้น่าจะเอามารวมกันทำห้องสมุดเพียงแห่งเดียวในแต่ละตำบลให้เป็นที่ที่มีหนังสือดีๆ มีคุณภาพสำหรับชาวบ้านทุกคนได้อ่านกัน
ในระยะแรก ฉันเสนอว่าควรเน้นที่ห้องสมุดเด็ก ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่นั้นยุ่งกับการเลี้ยงชีวิตมากกว่าจะมีเวลาว่างมานั่งอ่านหนังสือ ขนาดศูนย์เทคโนโลยีการเกษตรในหมู่บ้านฉันตั้งมากว่า 2 ปีแล้วยังแทบไม่เคยเห็นผู้ใหญ่มาใช้คอมพิวเตอร์ค้นคว้าหรือทำอะไรเลย เห็นแต่เด็กเล็กๆ มานั่งเล่นเกมกันทั้งวัน ดังนั้นงบซื้อหนังสือจึงน่าจะทุ่มไปที่การซื้อหนังสือเด็กดีๆ มาไว้ให้เด็กอ่านมากกว่าจะกระจายไปซื้อหนังสือเผื่อสำหรับผู้ใหญ่ที่คงไม่ค่อยได้มาใช้สักเท่าไร ทั้งนี้เพื่อให้ห้องสมุดเป็นช่องทางที่เด็กสามารถมาใช้ค้นคว้าเสริมความรู้นอกห้องเรียนได้อย่างมีคุณภาพและมีหนังสือที่หลากหลายไว้สนองความต้องการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ของเด็กได้อย่างแท้จริง
อย่างไรก็ตาม ถ้าจะให้ห้องสมุดเด็กที่ อบต. สามารถช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้อย่างจริงจัง
ก็จะต้องกำหนดให้มีกิจกรรมส่งเสริมการอ่านตลอดเวลาเพื่อส่งเสริม (กึ่งบังคับ) ให้เด็กมาอ่านหนังสือกันจริงๆ ไม่ใช่ใช้ห้องสมุดเป็นที่เก็บหนังสือเพียงอย่างเดียว ดังนั้นจึงควรจะต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำที่ทำงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถติดตามพัฒนาการการอ่านของเด็กได้ ไม่ใช่หมุนเวียนกันมาทำหน้าที่แล้วแต่ใครจะว่างเมื่อไร
ปัจจุบันเท่าที่ทราบมา กรอบอัตราของ อบต. ทั่วไปไม่สามารถใช้บรรจุเจ้าหน้าที่ประจำห้องสมุดได้ มีแต่ อบต. (เทศบาล) ใหญ่ๆ เท่านั้นที่จะสามารถมีอัตราสำหรับเจ้าหน้าที่ห้องสมุด ดังนั้นถ้าเราจะใช้ประโยชน์จากห้องสมุดอย่างจริงจัง เราก็ควรจะต้องเพิ่มอัตราประจำสำหรับเจ้าหน้าที่ห้องสมุดในทุก อบต. เพื่อให้สามารถหาคนมาทำงานได้อย่างต่อเนื่องจริงๆ
จากประสบการณ์ ฉันเห็นว่าตำแหน่งนี้ไม่จำเป็นจะต้องจบบรรณารักษ์ งานจัดหมวดหมู่หนังสือไม่ใช่งานหลัก
กิจกรรมที่จะทำกับเด็กเพื่อให้เกิดความรักการอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญกว่ามาก อัตรานี้จึงควรเปิดกว้างให้ใครก็ได้มาสมัคร ถ้าถามใจฉัน ฉันคิดว่าคุณสมบัติที่สำคัญของเจ้าหน้าที่ตำแหน่งนี้อันดับแรกคือรักและมีความคิดสร้างสรรค์ที่จะทำกิจกรรมส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านหนังสือ ส่วนที่รองลงมาคือมีความรู้ภาษาไทยดีพอที่จะไม่สอนเด็กให้อ่านผิดๆ ดังนั้น ฉันจึงคิดว่าถ้าหากจบปริญญาตรีได้ก็ดี (เผื่อการใช้ภาษาจะดีขึ้นหน่อย)
แต่ก็ไม่ถึงกับจำเป็น
จึงอยากใคร่ขอเสนอให้ใครก็ตามที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ส่งเสริมให้ทุก อบต. เปิดห้องสมุดและมีอัตรากำลังที่จะทำงานด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ฉันขอยืนยันว่าการมีห้องสมุดเด็กประจำทุกตำบลและมีกิจกรรมที่ส่งเสริมการ
อ่านของเด็กๆ อย่างจริงจังเป็นทางออกที่เป็นไปได้ในการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างที่เป็นอยู่ ที่สำคัญมันเป็นเรื่องที่ทำได้ทันทีโดยใช้งบไม่มากเท่าไรนักด้วย
เรามาให้ความสำคัญกับการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากันบ้างเถอะนะคะ อย่ามัวแต่สนใจเรื่องเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนเพียงอย่างเดียวเลย