“ชุดโครงการวิจัย “การสร้างกลไกและเครือข่ายการยกระดับระบบนิเวศเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) เพื่อพัฒนาเมืองต้นแบบแห่งการเรียนรู้ด้วยนวัตกรรมดิจิทัล อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี” มีสองโครงการวิจัยย่อย หนึ่ง. คือการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและเกษตรอำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี และ สอง. การพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์ม พื้นที่การเรียนรู้เทศบาลเมืองขลุง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งผมรับหน้าที่หัวหน้าโครงการฯ โดยรวบรวมข้อมูลพื้นฐานต่างๆ จากโครงการย่อยที่หนึ่ง ซึ่งทีมดร.ลัญจกร สัตย์สงวน และผศ.ดร.ปัทมา ศรีน้ำเงิน ทำการลงพื้นที่เก็บข้อมูล สัมภาษณ์เชิงลึก แล้วนำมาวิเคราะห์ พัฒนาการเชื่อมโยงการไหลของข้อมูลโลจิสติกส์ด้านการท่องเที่ยว อาหารพื้นถิ่น วัฒนธรรมท้องถิ่น การเกษตรและวิสาหกิจชุมชนของอำเภอขลุง เพื่อสร้างศูนย์รวบรวมข้อมูลการเรียนรู้ ในรูปแบบของดิจิทัลแพลตฟอร์ม
เราสร้างเว็บไซต์ขึ้นมา มีการเอาประวัติที่ทีมวิจัยลงไปเก็บข้อมูลกับปราชญ์ชาวบ้านที่น่าสนใจ เช่น ลุงต้อย (สุทธิเดช กฤษณะเศรณี) สวนเกษตรอินทรีย์, เจ๊โปร่ง (ทองใส สมศรี) ผู้ดูแลศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตสินค้าการเกษตร (สพก.) ระดับอำเภอ, กำนันบ๊วย (สงัด เมธวัน) ซึ่งจะทำบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้ทางด้านการเกษตรและหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผนวกกับทีมผมที่ลงพื้นที่ไปถ่ายทำวิดีโอเพื่อเป็นสื่อประชาสัมพันธ์และเอาขึ้นสู่เว็บไซต์ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า มนุษย์เรายังไม่มียาวิเศษที่จะสามารถสตัฟฟ์ใครเอาไว้ได้ การนำองค์ความรู้พื้นฐาน หรือเป็นตัวช่วยประชาสัมพันธ์ ขึ้นสู่ระบบคลาวด์ หรือระบบอินเทอร์เน็ต ให้ทุกคนสามารถเรียนรู้และเข้าถึงได้ตลอดเวลา แต่วิดีโอที่ทำเป็นลักษณะเชิญชวน ใครที่ต้องการองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ การเลี้ยงไก่แจ้ เกษตรสวนผสม ศูนย์บัญชีครัวเรือน ปราชญ์ชาวบ้านแต่ละท่านค่อนข้างพร้อมถ่ายทอด พร้อมเปิดเป็นศูนย์อยู่แล้วสำหรับผู้สนใจ ผมก็ดึงจุดแข็งของแต่ละจุดขึ้นมาประกบไว้ในแพลตฟอร์ม เผื่อวันหนึ่งคนค้นหาว่าขลุงมีอะไร ก็จะขึ้นสถานที่เหล่านี้ แล้วก็พยายามทำลิงก์ เบอร์ติดต่อ เฟซบุ๊กเพจของแต่ละท่าน ไว้ที่ท้ายวิดีโอ เพื่อที่วันหนึ่งผมจบโครงการนี้ แต่คนที่ดูและสนใจสามารถติดต่อไปยังปราชญ์ท่านต่างๆ ได้
ทางบพท. (หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่) ได้ให้คำแนะนำว่า ประเทศไทยเรามีวิสาหกิจชุมชนเยอะมากๆ ในหลายเทศบาล หลายตำบล แต่เขาไม่มีแชนเนลในการขาย แพลตฟอร์มตัวนี้ก็จะมีแชนเนลหนึ่งในการโชว์ผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าสร้างเป็นเดโมไว้สำหรับผลิตภัณฑ์ชุมชนที่มีความพร้อม ยกตัวอย่าง คุณต้องการขายของของวิสาหกิจชุมชน อาจจะเป็นน้ำพริก ตุ๊กตา น้ำจิ้มสุกี้รสมังคุด ก็ส่งข้อมูลภาพ รายละเอียด ช่องทางในการติดต่อ เข้ามาทางอีเมล์ เราทำระบบหลังบ้านเอาไว้ ผมเป็นตัวกลางช่วยประชาสัมพันธ์ แต่ยังไม่ถึงขั้นแพลตฟอร์มระดับช้อปปี้หรือลาซาด้า ที่เป็นตัวกลางในการรับชำระเงิน เป็นแค่คนที่ทำแชนเนลไว้ให้มันลอยขึ้นไปอยู่ในอากาศ ในอินเทอร์เน็ตซะมากกว่า ปฏิเสธไม่ได้ว่า การตลาดออนไลน์เป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย เป็นข้อดีสำหรับคนที่เห็นโอกาส แต่เป็นข้อเสียสำหรับการทำธุรกิจแบบเดิมๆ เพราะปัจจุบันคู่แข่งมีทั่วประเทศ เมื่อก่อนเขาอยู่ในอำเภอขลุง คู่แข่งก็มีเพื่อนบ้านไม่กี่ตำบล แต่ทุกวันนี้คู่แข่งคือทั่วประเทศไทย เต็มไปหมด เพราะเรามีโลจิสติกส์ มีช่องทาง ในการกระจายสินค้า สั่งของจากกรุงเทพฯ มาจันทบุรี ถ้าด่วนหน่อย วันเดียวก็ถึงแล้ว หรือเดินทางไปซื้อเองก็ต้องยอมรับว่าถนนหนทางสะดวกมากขึ้น แพลตฟอร์มนี้จะเป็นตัวช่วยเขาได้ในระดับหนึ่ง ไม่มากก็น้อย เพราะถ้าเราไม่พัฒนา ไม่ปรับตัว เราจะกล้าการันตี หรือกล้ามั่นใจได้อย่างไรว่า น้ำพริกของเราอร่อยที่สุดในตำบล แต่วันนี้เราอาจไปโดนน้ำพริกของจังหวัดอื่น จากอีสาน จากทางเหนือ เข้ามาตีก็ได้ เพราะลูกค้าสามารถซื้อได้จากตลาดอื่น ที่ดีกว่า อร่อยกว่าได้ และอาจจะถูกกว่าด้วย
เว็บไซต์ตอนนี้เขียนเป็นเดโมไว้เรียบร้อยแล้ว กำลังประสานงานต่อ ว่าจะไป plug in กับหน่วยงานไหนได้บ้าง เพื่อที่จะถอดตัวเองออกมา กรณีโดนไวรัส เซิร์ฟเวอร์ล่ม เกิดบั๊กอะไรขึ้นมา ทีมเขียนเว็บไซต์จะดูแลให้ 1 ปี แล้วก่อนส่งมอบก็มีขั้นตอนกระบวนการถ่ายทอดความรู้สำหรับผู้ดูแล เช่น มีวิสาหกิจเจ้าใหม่มา คนที่ดูแลจะอัปโหลดขึ้นยังไง ก็จะมีคู่มือการทำงานให้ 1 เล่ม อาจจะมีการสอนวิธีการทำเบื้องต้นผ่าน vdo conference ก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่หวังว่ามันจะไม่ตายเมื่อโครงการปิดลง จะไปต่อได้ ถามว่าทำไมผมต้องหาเจ้าภาพรับช่วงต่อ อาจจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่น เช่น พวกพัฒนาวิสาหกิจชุมชน คือผมมองภาพแบบ worst case สุดๆ อาจจะเป็นอี-แค็ตตาล็อก ตำบลมีอะไรบ้าง น้ำพริก เสื่อ ผลไม้แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป นั่นคือความคาดหวังครับ คืออย่างน้อยเราเริ่มแล้ว มีแชนเนลให้ สอนวิธีว่าจะใช้ยังไง ถ้าหน่วยงานเห็นคุณค่า หน่วยงานก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มแล้ว เราวาดกรอบ ทำเป็นสมุดขึ้นมาเป็นอี-แค็ตตาล็อก 1 เล่มแล้วเขาแค่ใส่ข้อมูล ใส่ภาพ เพิ่มไปเรื่อยๆ เมื่อมีเจ้าใหม่ขึ้นมา เขาก็มีผลงานเพิ่มขึ้นมา ดูดีขึ้นไปอีกตั้งเยอะ แล้วผมก็มองว่ามันก็ดีกว่าไม่มี ที่จริงผมสามารถเช่าเซิร์ฟเวอร์หรือทำเองก็ได้ แต่มันก็ไม่ยั่งยืน ไม่สามารถตอบโจทย์แหล่งทุนบพท.ได้
การจะทำให้ดิจิทัลแพลตฟอร์มดูน่าสนใจก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างยาก ของผมก็เน้นมีทีมลงไปถ่ายภาพ มีการตัดต่อวิดีโอ คือต้องยอมรับว่าคนเราขี้เกียจอ่าน อย่างน้อยที่สุดได้ฟัง ได้เห็นภาพ ว่าน่าไป สวยจริงๆ ทุกวันนี้คนติดยูทูบ ติ๊กตอก ดูวิดีโอคลิปสั้นๆ ผมเลยทำเป็นวิดีโอสั้นประมาณ 5-7 นาทีโดยเฉลี่ยที่คนเราจะ concentrate ผมว่าภาพวิดีโอยังไปได้อีกนาน ปัญหาของผมอยู่ที่การหาเจ้าภาพมารับช่วงต่อ เราพยายามบอกข้อดีข้อเสียในการมี หรืออย่างน้อยที่สุด เก็บข้อมูลไว้ในอินเทอร์เน็ตก่อน โยนขึ้นไปไว้บนก้อนเมฆ อยากดูเมื่อไหร่ก็ดูได้ ดิจิทัลแพลตฟอร์มนี้ผมต้องการให้เป็นเหมือนแพลตฟอร์มกลาง มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ ของปราชญ์ชาวบ้านทางเกษตรกรรมและวัฒนธรรมต่างๆ เหมือนเป็นห้องสมุดของชุมชนอำเภอขลุง แล้วแต่ละเพจ แต่ละชุมชน ก็เอาลิงก์มาแปะ คือบางทีเราก็มองได้หลายมิติ เขาเป็นเอกชนก็จริง แต่เอกชนก็เกิดการจ้างงานเหมือนกัน เกิดการกระจายรายได้ของคนโดยรอบอยู่ดี มันก็เกิดการช่วยเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเหมือนกัน”
จาตุรันต์ แช่มสุ่น
หัวหน้าโครงการวิจัยย่อยที่ 2
อาจารย์สาขาการจัดการโลจิสติกส์และการค้าชายแดน คณะวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…