“เราเป็นอาสาสมัครแรงงานจังหวัดปทุมธานี ทีนี้ทางแรงงานจังหวัดอยากให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ที่เป็นแรงงานนอกระบบ เขาต้องการแกนนำให้ชุมชนได้เรียนรู้ อยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน ให้คนมีปฏิสัมพันธ์กัน ได้มีรายได้ เราไม่ได้ทำอะไร เป็นแม่บ้าน ก็เข้าไปทำ ในชุมชนมี 900 กว่าหลังคาเรือน ก็ขี่จักรยานถามกันในหมู่บ้านพรพิมานว่าใครอยากทำอะไร ซึ่งเขาต้องการฝึกอาชีพ ก็รวมกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2557 ไปร่วมอบรมแล้วมาทำพวกผลิตภัณฑ์ไล่ยุง มัดย้อม จากนั้นก็ไปขึ้นทะเบียนโอทอป เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่าถ้ามันขายได้ ขึ้นทะเบียนโอทอปได้ จะมีการพัฒนาต่อเนื่องจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาช่วย เพราะเมื่อเราไปเรียนแล้ว เขาก็อยากให้ต่อยอด เช่น สมาชิก 20 คนที่เข้าร่วมเรียน มีอย่างน้อย 1 คนที่ไปต่อยอด ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นโครงการที่เราไปเรียนเราถือว่าประสบความสำเร็จเพราะมีคนไปต่อยอดทุกโครงการ
สินค้าของกลุ่มผลิตภัณฑ์บ้านประดิษฐ์พรพิมานทุกชิ้นขึ้นมาตรฐานมผช. (ผลิตภัณฑ์ชุมชน) ของเราที่เด่น ๆ ก็มีเชือกร่ม ผลิตภัณฑ์สานจากผักตบชวา ซึ่งเป็นงานของ KBO (Knowledge – Based OTOP เครือข่ายองค์ความรู้ ของกรมการพัฒนาชุมชน) ด้วย งานผ้ามัดย้อมเราก็ทำสไตล์ไม่ฉูดฉาด เอามาต่อยอดเป็นกระเป๋า หมวก และเราจับงานตามสถานการณ์ อย่างช่วงปีแรกที่โควิดระบาด หน้ากากไม่พอ เราก็เย็บหน้ากากผ้าส่งหน่วยงาน เช่นกรมการพัฒนาชุมชนเขาก็สั่ง เราก็ขายได้ พอหน้ากากพอ เราก็คิดหาทำอะไรต่อ ได้รับแจกสเปรย์แอลกอฮอล์มา เป็นขวดเล็ก พกพา อยู่ในกระเป๋า เราเอาไปใช้ลำบาก ก็คิดว่าเรามีเชือกร่มอยู่ ถ้าเอามาคล้องคอล่ะ เลยทำเป็นสายคล้องคอใส่ขวดสเปรย์แอลกอฮอล์ขึ้นมา ก็ใช้งานสะดวก ได้รับการส่งเสริมจากนายกเทศบาลธัญบุรีท่านก็สั่งเป็นของแจก พอคนเห็น คนใช้ ก็มีออเดอร์เพิ่มเข้ามา
งานกระเป๋าสานจากผักตบชวา ก็ขายได้ ซึ่งผักตบเป็นอะไรที่หลายหน่วยงานต้องการส่งเสริม แต่ส่งเสริมแล้วเขาไม่ได้ขายให้เรา คือเขาพยายามขจัดผักตบ ไปที่ไหนก็ยังเห็นผักตบลอย ๆ คนทำของจากผักตบขายก็เยอะ ราคาก็จะมาเบียดกัน ซึ่งงานกว่าจะทำออกมาได้ ต้องเอาผักมาตาก เอามาเข้าเครื่องรีดเส้น กว่าจะมาขึ้นรูป กว่าจะถักเสร็จ ลงแวกซ์ มันหลายกระบวนการ แล้วคนซื้อก็อยากได้ของถูก มันต้องคนใจรักจริง ๆ เขาถึงจะซื้อ หรืองานมัดย้อม แรก ๆ ก็ดี แต่พอถึงจุดหนึ่ง ก็จะตัน แต่เราไม่ได้ทำอย่างเดียว ออกไปดูตลาดข้างนอกด้วย ไปตลาดโบ๊เบ๊ เขาขาย 99 บาท 120 บาท เราขาย 250 บาท ใครจะซื้อ มีโรงงานที่ทำแล้วถูกเพราะต้นทุนเขาถูก เราทุนสู้เขาไม่ได้ เรามองไปถึงอนาคตเลยว่า วันนึงเราขายดี อุตสาหกรรมเข้ามาแน่ เราก็เลยทำตามพรีออเดอร์ ไม่ได้ทำงานหน้าร้าน สินค้าที่ทำไว้ 1 2 3 4 ก็ไม่ได้ทิ้งหรอก แค่ปรับตัวตามสถานการณ์
แต่ปัญหาหลัก ๆ ก็คือ โดยรวมสมาชิกเราต่อยอดงานออกมา ฝีมือดีนะ แต่ช่องทางการขายมันตัน เพราะหนึ่งเป็นสตรีที่เป็นแม่บ้าน เขาก็ดูแลลูก ดูแลครอบครัว เขาไม่ใช่แม่ค้ามืออาชีพ แล้วก็เป็นผู้สูงอายุ ไม่สะดวกเดินทาง ก็เลยมาตกปัญหาว่า ใครจะช่วยเราขายได้ ซึ่งล่าสุดที่มีประชุมเราก็พูดตรง ๆ เลยว่าตอนนี้ไม่อยากได้ละ ฝึกอาชีพทุกปี ๆ เราได้อาชีพใหม่ที่คุณฝึกให้แล้ว เราก็ต้องการพัฒนาต่อยอด แต่เมื่อพัฒนาแล้ว ไม่มีการขายให้ เราอยากได้ช่องทางการตลาด สมมติว่าหน่วยงานคุณมีงบเท่านี้ คุณมาซื้อของเราแล้วเอาไปขายได้มั้ย ? ให้คนกลางที่เป็นอาสาสมัครขาย เขาก็มีรายได้ตรงนั้นด้วย กลุ่มก็มีรายได้ด้วย คือปัญหานี้ไม่ใช่แค่เรา ในเครือข่ายคุยกันก็ปัญหาเดียวกัน ซึ่งหลายหน่วยงานก็ช่วยแจ้งให้ไปออกร้านขายเวลามีงานหรือกิจกรรม แต่เราจะออกไปขายงานที่มีวันสองวัน ถ้างานสามวันเจ็ดวันเราไปออกไม่ไหว ไม่สามารถพาทีมไปได้ บางทีตลาดที่หาให้ก็พาเราไปเข้ามุมในหลืบ ก็ทำให้ผู้ประกอบการเข็ด เพราะไปแล้วขายไม่ค่อยได้ แต่เขามีค่าใช้จ่ายอย่างค่าเดินทาง ค่ากิน ค่าจอดรถก็วันละเป็นร้อย ผู้ประกอบการก็เวียนซื้อกันเอง เราก็พยายามแก้ปัญหาเองด้วย ถ้ามีโอกาสฝากของไปขายได้เราก็ฝาก เช่น กลุ่มโอทอปชบาพารวยให้เราไปฝากขายที่ตลาดไก่คู่ คลอง 14 หรือใครมีกำลังหน้าร้านสามารถซื้อเราได้ แต่เราก็ต้องคิดถึงเขาด้วยว่าเราไปเพิ่มภาระหน้าร้านให้เขาดูแลหรือเปล่า ? หรือเกิดของเราเสียหายขึ้นราขึ้นมาจะยังไง ? ขายออนไลน์ก็ช่วยได้ แต่ไม่ได้ปัง แล้วก็มีผู้ใหญ่ เจ้าหน้าที่กระทรวงช่วยซื้อ บางท่านก็ช่วยถือกระเป๋าถ่ายรูปประชาสัมพันธ์ให้
อีกปัญหาคือ โครงการอบรมเน้นผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่มาเรียนแล้วต้องจัดโต๊ะต้องอะไรบางคนเขาก็ไม่ไหว ก็พยายามผลักดันว่าผู้สูงอายุ เขาทำได้ แต่ขายไม่ได้ ขอเป็นผู้สูงอายุบวกลูกบวกหลาน เพราะลูกหลานจะช่วยต่อยอดได้ เขาจูงกันมาเรียน ก็ได้ความสัมพันธ์ในครอบครัว พอผู้สูงอายุทำชิ้นงานออกมา ก็ลูกหลานเขาเป็นคนโพสต์ลงเฟซบุ๊ก ไม่ใช่ตัวเขา บางท่านเก่ง โพสต์ได้เอง แต่ก็เป็นส่วนน้อยที่จะทำได้ ส่วนใหญ่ลูกหลานเป็นคนต่อยอด แต่ลูกหลานเข้าอบรมไม่ได้ตามเกณฑ์อายุ ก็จะไม่ได้ใบประกาศที่จะใช้ในการเป็นวิทยากร ต้องไปขวนขวายเรียนเอง มาฝึกทำ แล้วอีกปัญหาก็คือ ในอำเภอเดียวกันมีของขายเหมือนกัน ไปอบรมมาเหมือนกัน แล้วก็ไปขายด้วยกัน เราก็ต้องคิดให้แตกต่าง แต่ทีนี้ ครูสอนลวดลายเดียวกัน แบบเดียวกัน มีลายอื่นแต่เขาไม่สอน เพราะมันอาจจะใช้เวลานาน อย่างไปเรียน 20 คน อีกหมู่บ้านนึงก็ทวีไปทีละ 20 คน ๆ ก็เป็นร้อยคนแล้วที่เรียนลายเดียวกัน ถ้าอยากส่งเสริมอาจจะแบ่งลายนี้สิบคน ลายนี้สิบคน แล้วคนเก่งก็มาสอนกัน ก็น่าจะดี”
ญาณิศา จงปัญญานนท์
เลขากลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์บ้านประดิษฐ์พรพิมาน
“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…
“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…
“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…
“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…
“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…
“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…