“ราว 5 ปีที่แล้ว บริษัทด้านการเงินที่เราทำอยู่ที่ระยองถูกยุบรวมเข้ากับสำนักงานใหญ่ที่ชลบุรี เขาก็ให้พี่ย้ายไปทำงานที่นั่น แต่ความที่เราปลูกบ้านอยู่ระยอง และเป็นคนที่นี่ไปแล้ว ก็ไม่อยากย้ายไปไหน จึงตัดสินใจลาออกมา
ตอนออกมาใหม่ๆ ก็เคว้งนะ เพราะเราทำงานประจำมาทั้งชีวิต แต่ในอีกทาง เราก็อยากทำธุรกิจส่วนตัวด้วย ก็เริ่มจากทำวุ้นมะพร้าวส่งขาย พออยู่ได้ จนกระทั่งช่วงโควิด เราขายของสด พอมีสถานการณ์ที่การค้าขายแบบเดิมทำได้ยาก มันจึงไม่ตอบโจทย์ คิดอยู่พักหนึ่งเหมือนกันว่าเราจะทำอะไรต่อดี
รู้มาตลอดว่าตัวเองชอบงานศิลปะ แต่ความที่เราอยู่ระยอง ก็ไม่รู้ว่าจะเอาความชอบนี้ไปทำอะไร หรือจะไปหาความรู้เพิ่มเติมได้จากที่ไหน จนกระทั่งที่ Conversation (ร้านศรีประดิษฐ์เดิม) ในย่านยมจินดา เขาจัดเวิร์คช็อปด้านการทำงานผ้ามัดย้อม เราก็เลยไปเรียน และพบว่าใช่เลย เป็นงานที่สนุก ได้ทดลอง และมันไม่มีถูกผิด บางทีผิดของเราก็อาจสวยของคนอื่นก็ได้ หรือผิดของคนอื่นก็อาจจะสวยของเรา
พอจบเวิร์คช็อป พี่ก็เลยไปศึกษาเพิ่มเติม ซื้อหนังสือมาอ่านและดูยูทูปเรียนรู้ต่อด้วยตัวเองช่วงโควิด จนได้เทคนิคการย้อมผ้าบาติกมา แล้วเริ่มเปิดขายผ่านโซเชียลมีเดียก่อน ก็ขายเพื่อนๆ และคนรู้จัก ผ่านเพจ ARISA ผ้ามัดย้อม (www.facebook.com/HandmadeDesignbyArisara) ก็อาศัยการบอกต่อจนขยายกลุ่มลูกค้าเรื่อยๆ จนพอโควิดเริ่มซา พอดีกับรุ่นน้องที่รู้จักกันเขาเปิดร้านขายงานศิลปะของศิลปินและนักออกแบบระยอง เขาก็ชวนเรามาขายด้วย
Rayong Gallery คือชื่อของร้านที่ว่า เรารวมตัวกันทั้งหมด 7 คน ขายงานที่พวกเราทำกันเอง เช่น ผ้ามัดย้อมของพี่ งานดีไซน์จากไม้และป้าย งานจิตรกรรมทิวทัศน์เมืองระยอง เครื่องหนัง งานดีไซน์จากวัตถุดิบที่หาได้จากชายหาด เป็นต้น เราหารค่าเช่ากันเปิดขายทุกวัน วันเสาร์ที่นักท่องเที่ยวมาเดินถนนยมจินดาเยอะๆ เราก็ทำ Little Art Market ยกของไปขายหน้าร้าน วันศุกร์-อาทิตย์ต้นเดือน ก็แบ่งทีมกันเอาของไปวางขายที่ตลาดนัดบ้านค่าย หรือถ้าระยองมีอีเวนท์ด้านศิลปวัฒนธรรม เราก็ไปเปิดบูธ บางครั้งก็จัดเวิร์คช็อปที่ร้านบ้าง
อย่างไรก็ตาม โฟกัสหลักของเราก็ยังอยู่ที่ถนนยมจินดา เราคิดว่าย่านเมืองเก่านี้เป็นย่านที่มีศักยภาพ และอยากให้มีร้านค้าที่เอางานศิลปะและการออกแบบมาขายอีกเยอะๆ เพราะตอนนี้ยมจินดาก็เริ่มติดตลาด มีนักท่องเที่ยวมาเดินเล่น ถ่ายรูป หาของอร่อยๆ กิน รวมถึงซื้อของที่ระลึกกลับไป เพียงแต่ผู้ประกอบการในย่านเรายังรวมกันได้ไม่มาก
ส่วนแบรนด์พี่ พี่ก็อยากขยายไลน์การผลิตให้ได้มากกว่านี้นะ เพียงแต่เราผลิตงานคนเดียวทุกกระบวนการ ซึ่งก็พยายามเผยแพร่องค์ความรู้ให้คนอื่นๆ อยู่ อย่างเคยตั้งกลุ่มทำผ้ามัดย้อมในหมู่บ้าน ชวนแม่บ้านมารวมตัวกัน เราก็สอนให้เขาทำทุกกระบวนการโดยไม่กั๊กเลย เขาทำเสร็จ เราก็รับซื้อเขาเพื่อเอาไปขาย แต่ความที่แม่บ้านแต่ละคนเขาไม่ได้มีแพสชั่นกับมัน แล้วก็มีรายได้ดีอยู่แล้ว กลุ่มนี้เลยเติบโตไม่ได้เท่าที่ควร
พี่ว่างานผ้ามัดย้อมมันต้องอาศัยความอดทน และความรักในการทำจริงๆ ซึ่งก็เหมือนกับงานอื่นๆ ที่ขายใน Rayong Gallery เพราะสินค้าทุกชิ้นเป็นงานทำมือ ทำออกมาชิ้นเดียวอันเดียวแทบไม่มีการผลิตซ้ำ ตรงนี้จึงต้องอาศัยคนที่ใจรักจริงๆ และยิ่งถ้ามองเรื่องผลกำไรแล้วล่ะก็ อาจไม่ฟู่ฟ่าด้วย บางคนลองมาทำกับเรา เขาอาจเห็นว่ากระบวนการมันซับซ้อนไป ไม่คุ้ม แต่นั่นแหละ เราชอบงานนี้ คนอื่นอาจมองว่าได้กำไรไม่คุ้ม แต่เราชอบน่ะ เราก็ทำไป
พี่ว่างานพวกนี้มันมีช่องทางขายได้อีกเยอะ อย่างเมื่อก่อนเราขาย Shopee หรือ Lazada ก็มีคนซื้อ เอาไปขายกับต่างประเทศใน Etsy ยังได้ เพียงแต่ความที่เราทำคนเดียว ก็เลยทำส่งไม่ไหว จึงเบรกไว้ก่อน
จริงอยู่ระยองเป็นเมืองอุตสาหกรรม หลายคนอาจมองว่าการทำงานเชิงศิลปะไม่น่าจะอยู่รอดได้ แต่ก็อย่าลืมว่าเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมันไปไกล เราขายให้ใครที่ไหนก็ได้บนโลก และในทางกลับกัน จริงๆ แล้วระยองก็มีศิลปวัฒนธรรมเฉพาะตัวนะ มีคนระยองไม่น้อยสนใจศิลปะ แต่อาจเป็นเหมือนพี่เมื่อก่อนที่ไม่รู้จะเริ่มยังไง ไม่รู้จะเข้าถึง หรือหาความรู้ได้จากที่ไหนในเมืองนี้ ถ้าถามว่าอยากเห็นอะไรในระยอง ก็น่าจะเป็นการมีพื้นที่แบบนี้ให้คนที่สนใจเพิ่มมากขึ้น”
อริสรา ฉวนฉิม
ศิลปินผ้ามัดย้อม เจ้าของแบรนด์ ARISA ผ้ามัดย้อม
www.facebook.com/HandmadeDesignbyArisara
https://www.facebook.com/people/RayongGallery/100071640183414/
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…