“ก่อนหน้านี้อาจารย์ประภาภัทร (รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์) ได้เข้ามาร่วมกับ อบจ.ระยอง และเครือข่ายต่างๆ ในจังหวัด ทำเรื่องพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก่อน ในช่วงนั้นท่านก็คิดว่าต้องมี body หรือกลไกบางอย่างขับเคลื่อนการทำงานร่วมกัน จึงชวนให้ผมเข้ามาทำ social lab ร่วมออกแบบการทำงานเพื่อประสานเครือข่ายต่างๆ
พอระยองมีคณะกรรมการนวัตกรรมการศึกษาเป็นทางการ เราก็พบว่าลำพังแค่การพัฒนาหลักสูตรแต่เพียงในสถาบันการศึกษายังไม่พอ เมืองจำเป็นต้องมีเครือข่ายและแพลตฟอร์มการเรียนรู้นอกห้องเรียนสำหรับคนทุกเพศทุกวัย จึงเกิดการจัดตั้ง ‘สถาบันการเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย จังหวัดระยอง’ (RILA) ขึ้น
อันที่จริง อย่างที่อาจารย์ประภาภัทรบอกอยู่เสมอ สิ่งที่เรา (สถาบันอาศรมศิลป์) ทำ คือแทบไม่ได้ทำอะไรเลยครับ เราเพียงแค่เห็นว่าองค์ประกอบด้านการเรียนรู้ของระยองมีครบหมดแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมายังขาดพื้นที่กลางที่ประสานให้ทุกฝ่ายมาทำงานร่วมกัน และเราก็เข้าไปทำตรงนั้น หาวิธีเชื่อมกลุ่มคนที่ทำงานด้านพัฒนาเมือง และกลุ่มคนที่ทำเรื่องพื้นที่การเรียนรู้เข้ามาทำงานด้วยกัน หลังจากทำ social lab ในขวบปีแรกของงานวิจัย เราพบว่าคนระยองจำเป็นต้องเรียนรู้ 3 เรื่องหลักนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาคนให้เท่าทันการพัฒนาเมือง ได้แก่ หนึ่ง. การเรียนรู้ระดับเมือง ทำให้คนระยองเห็นภาพรวมและกลไกของเมือง สอง. เรียนรู้อัตลักษณ์คนระยอง กล่าวคือการรู้จักรากเหง้าและตัวตนของตัวเองเพื่อพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง และ สาม. ส่วนการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง
พอเราได้โจทย์ที่ชัดเจน พร้อมกับเครื่องมือขับเคลื่อนอย่าง RILA แล้ว ขณะที่เรากำลังขับเคลื่อนต่อ คุณสมชาย จริยเจริญ อดีตนายกเทศมนตรีตำบลเมืองแกลงได้ให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า การจะขับเคลื่อนการเรียนรู้ของจังหวัดในภาพใหญ่มันใหญ่ไป ทำไมเราไม่ลงไปทำในระดับท้องถิ่นหรือตำบลก่อน กล่าวคือก่อนที่จังหวัดจะจัดการศึกษาด้วยตนเอง ระดับตำบลก็ควรทำเสียก่อน
นั่นเป็นที่มาที่เรานำงบประมาณของ บพท. มาทดลองทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ระดับท้องถิ่นในปี 2564-2565 โดยเริ่มทำกับเทศบาลที่เราเห็นว่าล้วนมีอัตลักษณ์และบริบทของตัวเองที่ชัดเจน นั่นคือ เทศบาลตำบลเนินพระ เทศบาลตำบลปากน้ำประแส เทศบาลตำบลบ้านเพ และ อบต.กะเฉด
ทั้งนี้แต่ละพื้นที่ก็ต่างมีข้อท้าทายภายใน ที่เรามองว่าหากนำกลไกเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้เข้าไปจับ ก็น่าจะช่วยหนุนเสริมการพัฒนาของเขาได้ เช่น ที่เนินพระ ซึ่งเป็นรอยต่อของอำเภอเมืองกับนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่นี่เคยเป็นบัฟเฟอร์โซนที่มีผังเมืองเป็นสีเขียว แต่จู่ๆ ก็เกิดบ้านจัดสรรผุดขึ้นมากมาย ชาวบ้านที่นั่นเขาอยากรักษาพื้นที่เกษตรกรรมและธรรมชาติของเขาไว้ จึงตั้งเป้าให้ที่นี่เป็นชุมชนอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ
ส่วนปากน้ำประแสและกะเฉดซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอแกลง เขามีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการนวัตกรรมการศึกษาอยู่แล้ว ปากน้ำประแสพยายามนำเสนอจุดขายด้านการท่องเที่ยวหลังภาวะซบเซาของประมงพาณิชย์ แต่ขณะเดียวกัน จากการลงไปสำรวจและสัมภาษณ์ เราพบว่าประมงพื้นบ้านก็ยังเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังคงยั่งยืน เราจึงร่วมกับเครือข่ายชาวบ้านช่วยกันอนุรักษ์ไว้ควบคู่กับการท่องเที่ยว
ส่วนตำบลกะเฉดยังเป็นพื้นที่เกษตรซึ่งตั้งอยู่ช่วงปลายของแหล่งอุตสาหกรรมในตัวอำเภอเมือง ชาวบ้านเขาก็อยากรักษาอัตลักษณ์ดั้งเดิม โดยเฉพาะการใช้ภาษาถิ่นระยอง และที่สุดท้ายคือตำบลบ้านเพ ซึ่งเป็นที่จดจำจากการเป็นเมืองทางผ่านไปยังเกาะเสม็ด หากแต่สภาวัฒนธรรมที่นี่แข็งขัน และเพิ่งมีการฟื้นฟูผ้าทอพื้นถิ่นของจังหวัดให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ทาง RILA จึงเข้าไปหนุนเสริมเรื่องนี้
อาจารย์ปุ้ม (อภิษฎา ทองสะอาด) รับหน้าที่หลักในการประสานงานกับชาวบ้าน และร่วมออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ ส่วนผมเป็นฝ่ายนำข้อมูลจากการเวิร์คช็อปทั้งหมดมาคิวเรท และฉายภาพให้ชาวบ้านทั้ง 4 พื้นที่ได้เห็นถึงสถานการณ์ปัจจุบันของพื้นที่ เพื่อให้ทุกคนร่วมกันตัดสินใจในทิศทางของการขับเคลื่อนชุมชนต่อไป ในโครงการวิจัยของ บพท. ปีล่าสุด (2565-2566) ทางอาศรมศิลป์เราสโคปเข้ามาที่ตำบลปากน้ำประแส ตั้งเป้าว่าอยากให้สิ่งที่เราวิจัยมันขยับสู่แอคชั่นจริงๆ พร้อมกับทำ Urban Design สร้างจินตภาพให้ชาวบ้านเห็นว่าถ้าเราขับเคลื่อนร่วมกันแบบนี้ ชุมชนเราจะต้องการรูปธรรมเป็นอะไรบ้าง และมันเอื้อต่อการไปถึงเป้าหมายอย่างไร
นอกจากความพยายามสร้างพื้นที่หรือกลไกกลางในการทำงานร่วมกัน ผมมองว่าอีกบทบาทหนึ่งของ RILA คือการเป็นกระจกสะท้อนให้ชาวระยองเห็นตัวตนของพวกเขาเอง และเห็นถึงความเชื่อมโยงกัน
อย่างของประแสเองเนี่ย ทีมเราทำแผนที่ทางทรัพยากร ชาวบ้านเขารู้แหละว่ามันมี แต่พอมันถูกขีดอยู่ในแผนที่ เขาจึงเห็นความเกี่ยวโยงกัน และเมื่อหนุนเสริม 3 โจทย์ของการเรียนรู้ ภาพที่เขาเห็นก็ยิ่งชัด เช่น การเรียนรู้ระดับเมือง ซึ่งทำให้พวกเขาเห็นภาพที่ใหญ่กว่าตัวเอง เห็นถึงสมบัติของเมืองที่มีร่วมกัน ในด้านอัตลักษณ์ เขาก็จะตระหนักถึงตัวตนและคุณค่าที่ทุกคนมีร่วมกัน
และการเรียนรู้ทักษะใหม่เนี่ย จริงๆ แล้วถ้าพูดในภาษาชาวบ้านที่ไม่ต้องซับซ้อนอะไร ก็คือการตั้งสติครับ ตั้งสติเพื่อมาดูว่าตอนนี้เรากำลังเผชิญกับอะไรอยู่ และหาวิธีทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหา หรือใช้ชีวิตอยู่กับสิ่งที่เผชิญอย่างยั่งยืน”
ยิ่งยง ปุณโณปถัมภ์
นักวิจัยโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ระยอง
อาจารย์สาขาวิชาสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถาบันอาศรมศิลป์
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…