ดร.ขวัญนภา สุขคร ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษานอกที่ตั้งลำปาง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต บอกเราว่าสาเหตุที่โครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ลำปางขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เพราะลำปางมีพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่มีศักยภาพเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากตัวสถาบันของเธอเองมีส่วนขับเคลื่อนความร่วมมือระหว่างหน่วยงานราชการกับเครือข่ายชุมชนมามากกว่า 20 ปี ก่อนที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า Learning City คืออะไรเสียอีก
“พันธกิจของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปาง คือการสกัดองค์ความรู้เพื่อร่วมพัฒนาชุมชนอยู่แล้ว ขณะเดียวกันเราก็มีส่วนร่วมในการทำแผนพัฒนาจังหวัดลำปางมามากกว่า 10 ปี อย่างไรก็ดี ปัญหาหนึ่งที่เราพบบ่อยครั้งก็คือ แม้หน่วยงานภาครัฐจะมีงบประมาณอยู่พอสมควร แต่กลับไม่สามารถนำไปสนับสนุนชุมชนให้เกิดเครื่องมือการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพได้จริงๆ ในทางกลับกันเครือข่ายภาคประสังคมของเมืองก็มีความเข้มแข็งมาก แต่เขาก็เชื่อมต่อกับรัฐไม่ได้ เพราะต่างคนต่างไม่รู้ต้องไปเจอกันตรงไหน เป้าหมายหนึ่งที่เราตั้งใจไว้จากการทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้นี้ คือการหาแพลตฟอร์มกลางเชื่อมสองส่วนนี้เข้าด้วยกัน” ดร.ขวัญนภา กล่าว
แพลตฟอร์มที่ ดร.ขวัญนภาว่า อยู่ในรูปแบบของโครงการ ‘การพัฒนาเมืองลำปางสู่เมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมและวัฒนธรรม’ ด้วยเชื่อว่าพื้นที่แห่งการเรียนรู้ หาใช่แค่พื้นที่ที่เปิดให้คนทุกเพศทุกวัยได้เข้าถึงการเรียนรู้ แต่ยังรวมถึงการเรียนรู้การทำงานของหน่วยงานต่างๆ เพื่อเชื่อมประสานการทำงานเข้าด้วยกันเพื่อผลลัพธ์คือ การยกระดับเศรษฐกิจท้องถิ่นและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โครงการของอาจารย์แบ่งออกเป็น 3 โครงการย่อย ใน 2 พื้นที่กลางใจเมืองลำปาง อย่าง สบตุ๋ย และท่ามะโอ ดังนี้
1) โครงการพัฒนาระบบและกลไกเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้จากฐานภูมิทางสังคมวัฒนธรรมโดยกระบวนการมีส่วนร่วม
2) โครงการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์มีชีวิตย่านสบตุ๋ย
3) โครงการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และกระบวนการสร้างคุณค่าจากทุนทางสังคมวัฒนธรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจด้วยเสน่ห์ทางการท่องเที่ยววิถีชีวิตย่านท่ามะโอ
WeCitizens สนทนากับ ดร.ขวัญนภา ถึงเบื้องหลังการทำงานในโครงการนี้ รวมถึงการต่อยอดที่ไปไกลกว่าขอบเขตของงานวิจัย เมื่อกระบวนการการเรียนรู้ทำให้คนลำปางเข้าใจในตนเอง สู่การพัฒนาแบรนด์ของเมือง ผ่านทรัพย์สมบัติคู่เมืองที่หลายคนมองข้ามอย่าง ‘ครั่ง’ จะเป็นอย่างไรบ้าง ขอเชิญติดตามกัน
อาจารย์เกริ่นตั้งแต่ต้นว่าจากการทำงานด้วยการใช้งานวิจัยขับเคลื่อนเมือง และพบปัญหาของการไม่เชื่อมโยงกันระหว่างงบประมาณของรัฐกับภาคประชาสังคม อยากทราบว่านอกจากเรื่องนี้ มีสิ่งใดน่าหนักใจอีกไหมครับ
จริงๆ มีหลายเรื่องมากค่ะ แต่ปัญหาอื่นๆ เกือบทั้งหมดล้วนเป็นผลกระทบมาจากความไม่เชื่อมโยงดังที่ว่าอย่างเห็นได้ชัดคือเมืองเรานี้ ซึ่งรวมถึงเมืองอื่นๆ ในประเทศเราด้วย มักจะทำงานในรูปแบบเดียวกัน หรือทำอยู่กับหัวข้อหรือ subject เดิมๆ ซ้ำๆ ด้วยวิธีต่างหน่วยงานต่างทำของตัวเองไป
ยกตัวอย่างเช่นการพัฒนาสินค้า OTOP เราจะเห็นว่าถ้าผู้ประกอบการคนไหนได้รางวัล OTOP 5 ดาว เวลาหน่วยงานใดก็ตามอยากส่งเสริม OTOP ก็จะไปสนับสนุนแต่ผู้ประกอบการคนนั้น อาจารย์ไปเช็คข้อมูลมา และพบว่าในลำปางเราเองมีผู้ประกอบการ OTOP นับ 100 ราย โดยมีผู้ที่ได้รับ 5 ดาว ไม่ถึง 2% จากนั้นหน่วยงานต่างๆ ก็จะมาพัฒนาผู้ประกอบการรายนี้ โดยที่เหลืออีก 98% ก็แทบไม่ได้รับการสนับสนุนเลย
ส่วนอีกเรื่องคือ การทำงานพัฒนาที่ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ซึ่งก็จริงอยู่ว่าจะพัฒนาอะไรก็แล้วแต่ เราจำเป็นต้องใช้งบประมาณ แต่บ่อยครั้งที่เราเห็นว่าหน่วยงานรัฐได้เริ่มโครงการอะไรไว้ ซึ่งหลายโครงการก็ดูจะมีศักยภาพในการต่อยอดได้ แต่พองบประมาณประจำปีนั้นหมด ก็ต้องเลิกไป เหมือนเอางบประมาณมาจุดประกายครั้งเดียว หมดแล้วก็จบเลย
ตรงนี้แหละที่ทำให้เราคิดว่า เมืองไม่ควรรองบประมาณ เราควรกำหนดทิศทางการพัฒนาและสร้างเครือข่ายความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ และทำเท่าที่จะทำได้ไปก่อน เมื่องบมาเราก็ใช้หนุนเสริมทิศทางที่เราวางไว้ การพัฒนามันจะไม่สะดุดและต้องมานั่งรองบประมาณใหม่ ซึ่งก็ไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะมาเมื่อไหร่
จึงมองถึงกระบวนการการแก้ปัญหานี้ผ่านเครื่องมือที่ชื่อ Learning City?
ไม่เชิงค่ะ จริงๆ Learning City เกิดขึ้นจากอุปสรรคอีกเรื่องคือ หลังจากที่เรามีโอกาสร่วมทำแผนพัฒนาจังหวัดมาสิบกว่าปี แล้วเราก็ได้ทำเครือข่ายภาคประชาสังคมและธุรกิจไว้ เช่น สมาคมท่องเที่ยวโดยชุมชน แต่เมื่อลงมือทำแผนไป ก็พบว่าในหลายพื้นที่ เรายังขาดองค์ความรู้เกี่ยวกับตัวเราเองที่ยังไม่ลึกซึ้งพอ อาจารย์มองว่าไม่ว่าจะพัฒนาอะไรก็ตามแต่ ถ้าคนในพื้นที่รู้จักตัวเองอย่างลึกซึ้ง พวกเขาจะสามารถกำหนดทิศทางในอนาคตของตัวเองได้ ตรงจุดนั้น เมื่อ บพท. เข้ามาสนับสนุนโครงการ Learning City สิ่งแรกที่เราทำคือเมื่อต้นปี 2564 คือการเปิด forum เวทีใหญ่ที่เชิญตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยนกัน มีผู้เข้าร่วมกว่า 300 ท่านจากทุกวงการตั้งแต่การเกษตร อุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อม สาธารณสุข ศิลปะ สังคม และอื่นๆ มาคุยกันเลยว่าจริงๆ แล้วเมืองลำปางยังขาดอะไร
แล้วลำปางยังขาดอะไรครับ
ในเวทีนั้นมี 2 เรื่องหลักๆ คือ หนึ่ง อย่างที่ตอบไปแล้วคือเรื่องขององค์ความรู้ คนลำปางส่วนมากรู้ว่าเมืองของเรามีประวัติศาสตร์ถึง 1,300 ปี เรามีศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญามากมาย แต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยถูกจัดเก็บอย่างเป็นระบบ พอสิ่งเหล่านี้ไม่ถูกจัดเก็บ คนส่วนใหญ่ก็เลยไม่รู้ว่าใน 1,300 ปีที่ผ่านมามีอะไรน่าสนใจบ้าง ยกตัวอย่างเช่น พอเราทำโครงการ Learning City ที่สบตุ๋ย ทีมงานของเราก็พบว่าแทบไม่มีเอกสารอะไรเลย ต้องมานั่งทำกันใหม่ ทั้งๆ ที่สบตุ๋ยนี่คือพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากๆ ของเมืองแห่งหนึ่ง ส่วนเรื่องที่สอง เราขาดระบบฐานข้อมูลในจังหวัดที่ระบุว่าใครทำอะไรอยู่ตรงไหน คล้ายๆ กับเรื่องแรก แต่เป็นในมุมของกิจกรรมที่เกิดกับเมือง อย่างโครงการบางโครงการหน่วยงานนี้เคยทำไปแล้ว หลังจากนั้นก็มีอีกหน่วยงานมาทำโครงการแบบเดียวกันเพราะเขาอาจไม่รู้ว่ามีโครงการนี้แล้ว เป็นต้น
พอพบสิ่งที่ขาดแล้ว อาจารย์เริ่มออกแบบโครงการนี้อย่างไร
อาจารย์วางอยู่ 4 เรื่องหลัก เรื่องแรกคือลำปางศึกษา หรือ local study เริ่มศึกษาจากตัวเราเองผ่านฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของเมืองก่อน เราแบ่งเป็น 5 ภูมิใหญ่ๆ ได้แก่ ภูมิหลัง ภูมิเมือง ภูมิวงศ์ ภูมิธรรม เเละภูมิปัญญา เรื่องที่สองคือการพัฒนาระบบและกลไกการขับเคลื่อนสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งก็ตรงกับสิ่งที่เราทำมาตลอดอยู่แล้ว เรื่องที่สามคือการเปิดพื้นที่การเรียนรู้เมืองลำปาง โดยเริ่มจากย่านสำคัญของเมืองที่เราเห็นว่ามีศักยภาพในการพัฒนาต่อ ได้แก่ สบตุ๋ย และท่ามะโอ และเรื่องสุดท้าย คือการสร้างแบรนด์ใหม่ให้แก่เมือง
เข้าใจว่ากิจกรรมหลักๆ ของโครงการที่มีต่อเมืองจะอยู่ในข้อที่ 3 คือการเปิดพื้นที่การเรียนรู้เมืองลำปาง อยากให้อาจารย์ช่วยขยายความหน่อยครับ
เริ่มจากสบตุ๋ยก่อน เรามองว่าสบตุ๋ยมีศักยภาพมากไปกว่าการเป็นที่ตั้งของศูนย์กลางทางเศรษฐกิจใหม่ของเมืองหลังการเข้ามาของรถไฟเมื่อศตวรรษที่แล้ว จึงเกิดร่องรอยทางประวัติศาสตร์สำคัญหลายด้าน ทั้งในด้านสถาปัตยกรรม พื้นที่การเรียนรู้ และร้านรวงเก่าแก่ สิ่งเหล่านี้ยังคงปรากฏอยู่ในวิถีชีวิตของเมืองในปัจจุบัน เราจึงมองพื้นที่ในกรอบของพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยซ้อนภาพของความเป็นพิพิธภัณฑ์ 3 ด้าน ได้แก่ ‘พิพิธภัณฑ์กินได้ อาหารในตำนานย่านสบตุ๋ย’ โฟกัสไปที่การเป็นแหล่งร้านอาหารเก่าแก่ขึ้นชื่อคู่เมือง ‘พิพิธภัณฑ์เปิดบ้านเก่าเล่าความหลัง’ คือการสกัดเอาความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และองค์ความรู้จากบ้านเก่าๆ ในย่านออกมา และ ‘พิพิธภัณฑ์ถนนความรู้’ ทำเป็นเส้นทางแหล่งเรียนรู้และพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในย่าน โดยเรายังพัฒนาเครื่องมืออย่าง AR Book เพื่อให้คนสามารถเข้าไปสแกนเพื่อค้นหาและเรียนรู้เกี่ยวกับเส้นทางนี้ได้
ส่วนพื้นที่ชุมชนท่ามะโอจะมีบริบทแตกต่างกัน เพราะพื้นที่นี้เด่นทางด้านศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่และความเป็นชุมชน หลักๆ คือเราทำแผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน ทำ AR Guidebook ในการเรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์สำคัญของย่านผ่านมุมมองแบบ 360 องศา และทำกิจกรรมเปิดชุมชน และผลักดันให้ชุมชนใช้พื้นที่ที่ถือว่าเป็นแลนด์มาร์คของย่านรองรับกิจกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะการเปิดบ้านหลุยส์
เห็นว่ามีกิจกรรมอย่างการชวนตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ไปนั่งรถม้าก่อนมานั่งจิบชาพูดคุยกันด้วย
ใช่ค่ะ อันนี้เรามองทั้งในส่วนของการสร้างความรับรู้ในคนลำปางถึงพื้นที่แห่งการเรียนรู้ที่เมืองเราผ่านการต่อยอดของดีที่เรามีอยู่แล้วอย่างรถม้า รวมถึงการเชื่อมประสานเครือข่าย เพราะอย่างที่บอกไปว่าเรามองว่าโครงการนี้อยู่ในฐานะแพลตฟอร์มเชื่อมโยงคนทำงานเพื่อร่วมขับเคลื่อนเมืองไปด้วยกัน
หรืออย่างการเปิดฟอรั่มในตอนแรกก็ใช่ที่เราเชิญตัวแทนจากทุกองค์กรของเมืองกว่า 300 คนมา มันก็ทำให้เราและทุกคนได้รับรู้ร่วมกันว่ากลุ่มไหนในเมืองนี้กำลังทำอะไรอยู่และมีเป้าหมายอย่างไร เช่นเครือข่ายรักษ์เมืองเก่าที่อยากเอาแนวคิดการอนุรักษ์เมืองเข้าไปอยู่ในยุทธศาสตร์เมือง สมาคมผู้สูงอายุของแม่จินดา โพธิ์ทอง อยากทำฐานข้อมูลเพื่อส่งเสริมกิจกรรมผู้สูงอายุ กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนอยากส่งเสริมเรื่องผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือเครือข่ายของศิลปินรุ่นใหม่อย่างกองคร้าฟต์ เป็นต้น พอรู้เป้าหมายของแต่ละกลุ่มแล้ว เราก็มาคุยกันว่าจะทำแผนอะไรร่วมกันได้บ้าง เอาปฏิทินมากางและกาด้วยกันเลยว่าถ้าจะจัดกิจกรรมอะไรวันไหน ประสานกันได้อย่างไร
แล้วนอกจากการประสานเรื่องนี้ Learning City ของอาจารย์จะทำอะไรได้อีกครับ
อาจารย์มีต้นทุนที่ดีข้อหนึ่งคือเราอยู่ในทีมทำแผนแม่บทพัฒนาจังหวัด งานวิจัยนี้นอกจากทำข้อเสนอให้หน่วยงานรัฐนำไปปรับใช้เป็นนโยบาย จึงสามารถสอดแทรกความต้องการของทุกกลุ่มเข้าไปอยู่ในแผนนี้ได้ ให้มันกลายเป็นวิสัยทัศน์ของจังหวัดที่สอดรับกับบริบทและทรัพยากรที่เรามี
พอได้วิสัยทัศน์ออกมา และทำให้ทุกคนรับรู้ร่วมกันว่าตอนนี้เราจะขับเคลื่อนลำปางเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เราก็ไปเสนอเทศบาล ซึ่งก็พอดีกับที่เทศบาลเขามียุทธศาสตร์เรื่องนี้อยู่แล้ว จึงตอบรับอย่างดีและร่วมขับเคลื่อนไปกับเราด้วยการสร้างกระบวนการพัฒนาคน การพัฒนาสถาบันการศึกษาในพื้นที่ และสนับสนุนให้มีการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้ ห้องสมุด และพิพิธภัณฑ์เพิ่มมากขึ้น
ในแผนการข้อสุดท้ายของโครงการคือการสร้างแบรนด์อัตลักษณ์ เห็นว่าอาจารย์เลือกใช้ครั่งมาเป็นองค์ประกอบหลัก อยากให้เล่าเรื่องนี้หน่อยครับ
เวลาเราพูดถึงภาพจำของคนลำปางเรามักนึกถึงชามตราไก่ รถม้า และอุตสาหกรรมเซรามิกใช่ไหมค่ะ ซึ่งสามสิ่งนี้ก็เป็นเศรษฐกิจฐานรากของคนลำปางที่ถูกนำไปต่อยอดมามากแล้ว แต่มีอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่าลำปางเรามีศักยภาพเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ และมีอัตราการส่งออกเป็นอันดับสองของโลกรองจากอินเดีย นั่นก็คือครั่ง เพราะลำพังในประเทศไทย โรงงานครั่งมีอยู่ทั้งหมด 6 โรงงาน จำนวน 5 ใน 6 นั้นล้วนอยู่ในลำปาง
การสร้างกระบวนการเรียนรู้เมืองของโครงการนี้ มันยังนำไปสู่การเรียนรู้ทรัพยากรที่เรามี ซึ่งทำให้พบว่าครั่งมีนวัตกรรมอีกมากมาย นอกจากการใช้กับงานไปรษณีย์ในภาพจำของใครหลายคน เช่น การเอาไปทำแว็กซ์เคลือบเมล็ดยา ผลไม้ และช็อคโกแลตในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดอย่างมาก หรือการสกัดสีส่งประเทศญี่ปุ่นให้เขาไปย้อมกิโมโน เป็นต้น พออาจารย์มาเจอตรงนี้ ก็คิดว่าเราน่าจะสร้างแบรนด์จากสิ่งใกล้ตัวที่หลายคนยังไม่รู้ได้
อาจารย์มองครั่งแบบเดียวกับหม้อฮ่อมของแพร่ หรือครามของจังหวัดสกลนคร ทำไมเราไม่ใช้สีของครั่งที่คนญี่ปุ่นเขาเอาไปใช้ย้อมกิโมโน มาพัฒนาเป็นสีอัตลักษณ์ของเสื้อผ้าที่ผลิตโดยคนลำปางเอง คือจากการทำแบรนด์อัตลักษณ์เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของโครงการ เราก็เล่นใหญ่ด้วยการไปเสนอจังหวัดเลย ทางวัฒนธรรมจังหวัดก็เอาด้วย
แต่ความที่งบในโครงการวิจัยเราไม่มีเรื่องนี้อยู่ ก็อาศัยเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชนมาร่วมประสานของบจากการท่องเที่ยวและกีฬาของจังหวัดมาพัฒนาต่อ จากนั้นก็ประสานกับโรงงานหรือผู้ประกอบการที่ทำผ้าย้อมสีธรรมชาติ ให้เขาเอาสีครั่งไปทำด้วย ในเมื่อเรามีเครือข่ายอยู่ทั่วจังหวัดอยู่แล้ว ทั้งสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ และภาคเอกชน กระบวนการจึงเป็นไปอย่างรวดเร็ว และผลิตภัณฑ์ก็ออกมาเร็วตามด้วย แล้วสีครั่งก็เข้าไปอยู่ในเสื้อผ้าของข้าราชการระดับสูง รัฐมนตรี กระทั่งเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี กลายเป็น soft power ของเมืองลำปางไป ตอนนี้แทบออเดอร์ไม่ทันแล้ว ซึ่งก็ย้อนกลับมาที่ Learning City เราก็ผลักดันให้เกิดการเรียนรู้เรื่องครั่งมากขึ้น ก็ไปทำเวิร์คช้อปที่มิวเซียมลำปาง ที่บ้านเสานัก และไปจนถึงบ้านหลุยส์ ซึ่งก็สามารถขายให้นักท่องเที่ยวได้ด้วย
กลายเป็นว่าไปไกลกว่าแผน Learning City อีก
เป็นผลพลอยได้ค่ะ คือถ้ามันไม่ใช่เพราะมหาวิทยาลัยสวนดุสิตทำงานกับเครือข่ายชุมชนไว้อยู่ก่อนแล้ว ก็อาจไม่เร็วเท่านี้ อาจารย์เลยมองว่าโครงการจาก บพท. อันนี้เป็นส่วนเสริมในสิ่งที่เครือข่ายคนลำปางทำไว้อยู่แล้ว พอโครงการมาเติม แล้วเราเจอศักยภาพอื่นที่อยู่นอกขอบเขตของโครงการ การที่เรามีเครือข่ายที่พร้อม มันก็ทำให้เราไปต่อได้ทันที
ในฐานะที่อาจารย์ทำงานพัฒนาเมืองลำปางมากว่า 20 ปี อาจารย์มีภาพฝันถึงเมืองเมืองนี้อย่างไร
อาจารย์อยากเห็นเมืองอยู่ด้วยความสุขค่ะ อยากให้เมืองเป็นเหมือนกับบรรยากาศที่เราพยายามสร้างภายในมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์ลำปางแห่งนี้ กล่าวคือทุกคนทำงานด้วยความสนุก แน่นอนเราทำงานหนักกันก็จริง แต่ก็ทำเพราะมีเป้าหมายที่ชัดเจนและมีทัศนคติในการทำงานและใช้ชีวิตที่สมดุล มีกาแฟให้ดื่ม มีฟิตเนสและสระว่ายน้ำให้ออกกำลังกาย และมีเพื่อนบ้านเป็นชุมชนโดยรอบมหาวิทยาลัย ที่สำคัญคือความเหลื่อมล้ำน้อยมาก และทุกคนต่างช่วยเสริมช่วยผลักดันกันและกัน
สิ่งที่อาจารย์พบอีกข้อหนึ่งเลยก็คือลำปางมีคนและสมาคมที่เก่งไม่น้อยเลยนะคะ แต่เขาเก่งกันหมด เขาก็ไม่ยอมทำงานด้วยกัน ทำร่วมกันเมื่อไหร่ก็มีเรื่องกัน เราก็พยายามจะใช้ศูนย์เรานี้เป็นตัวเชื่อมให้เขาเห็นผลลัพธ์ร่วมกัน ได้ประโยชน์ร่วมกัน เพื่อให้เขาทำงานด้วยกันอย่างมีความสุข
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…