“คนในชุมชนเขาเรียกเรา อาโกว ก็เป็นลูกหลานชาวจีนที่อพยพมาอยู่ริมคลองรังสิต เมื่อก่อนเราเปิดร้านขายวัสดุ คือเป็นกงสีเนอะ มีสองร้าน อยู่คลองฝั่งตำบลประชาธิปัตย์ร้านนึง ตรงนี้ฝั่งบึงยี่โถอีกร้านนึง พอน้องชายเขาแยกครอบครัวไปตอนปี 2559 ร้านบึงยี่โถที่อาโกวดูแลก็ยุบ เราก็ได้มีเวลามาทำสวน มาดูแลศาลเจ้า (ศาลเจ้าปึงเถ่ากงม่า รังสิตคลอง 3) คือที่แปลงนี้เขาบอกขาย อาโกวก็ขออธิษฐานจิตกับท่าน บอกถ้าได้เป็นเจ้าของที่แปลงนี้จะมาเก็บขี้หมามากวาดใบไม้ แล้วก็ได้ คือชุมชนย้ายจะหมดแล้ว ถ้าเราไม่อยู่ตรงนี้ ใครจะดูแลศาลเจ้าอายุเป็นร้อยปีแล้วมั้ง ตั้งแต่เรายังไม่เกิด ทีแรกเป็นศาลเจ้าไม้ ลอยมาติดตลิ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่ก็เชิญให้มาอยู่บนตลิ่ง ตอนหลังศาลเจ้าไม้ผุพังก็สร้างเป็นคอนกรีต เช้าเราก็ไปเก็บกวาด วันพระจีนเราก็มาไหว้ ลูกน้องก็คอยไปกวาดอยู่เรื่อย
โชคดีที่ได้มาอยู่กับสวน อยู่กับวัสดุมีแต่ตัวเลขมีแต่เงิน ไม่เหมือนอยู่ตรงนี้ ชีวิตอิสระ สมองโล่ง เรามาทำสวน เปิดลานจอดรถ เก็บผักผลไม้มาขาย มีมะเขือ กุยช่าย ยอดมะกอก ยอดติ้ว ชะอม มะละกอ ที่แปลงนี้อยู่ติดรั้วโรงเรียนโชคชัยรังสิต ผู้ปกครองรู้ว่าผักเราปลอดสาร วางขายแป๊บเดียวหมด ช่วงโรงเรียนเปิดก็จะยุ่งนิดนึง ผู้หญิงขายผัก ผู้ชายเก็บผัก หลานมาช่วยเก็บค่าจอดรถ เสาร์อาทิตย์ก็เคลียร์พื้นที่ ตัดหญ้า ดายหญ้า ปลูกผัก ก็ไม่ค่อยมีเวลาทำขนมเท่าไหร่ ขนมกวงเจียงก็เอาเต้าหู้แผ่นมาห่อไชเท้าแล้วทอด ช่วงเทศกาลทำพวกขนมเข่ง ขนมบ๊ะจ่าง คือการทำของเราไม่ได้ทำขาย แต่ทำกิน คนเขารู้ก็จะมาให้ทำเผื่อ เช่นเราใช้ร้อยกว่าลูก ต้องทำบ๊ะจ่างเผื่อเขาสองร้อยกว่าลูก เวลาเราทำขายก็ขายดี แต่แม่ครัวที่ห่อเก่ง ๆ นี่เขาอยู่บ้านน้องชาย พอไม่มีคนห่อเราก็ไม่ค่อยได้ทำ
บ๊ะจ่างเราทำสูตรจีนแต้จิ๋ว ตั้งแต่รุ่นแม่ทำ ใช้ข้าวเหนียว ถั่วลิสง กุนเชียง หมู เห็ดหอม ไชโป๊ กุ้งแห้ง กระเทียม ไข่ เชือกสีขาว เมื่อก่อนแม่ใช้เชือกปอ เชือกต้องมาถักเป็นเปีย ฉีกเป็นเส้น ๆ ใบไผ่ก็ต้องมาตัดหัวตัดหางตัดใบแตกออกแล้วมาต้ม เวลาจะห่อก็ต้องมาล้างมาเช็ด ก่อนห่อก็ต้องต้มใบไผ่ หั่นหมูหมัก ต้มถั่วลิสง ไชโป๊มาล้างแล้วก็สับ ข้าวเหนียวก็ต้องแช่ตอนกลางคืน มาห่อตอนเช้า ถ้าไม่แช่แล้วต้มไม่สุก คือเตรียมเครื่องไว้วันนี้ พรุ่งนี้มาเอาเครื่องไปผัดแล้วเคล้ากับข้าวเหนียวแล้วใส่ห่อ ในห่อก็จะใส่กุ้งแห้ง ไข่ กุนเชียง ห่อแล้วมัดเป็นพวง เอาลงไปต้มในหม้อใหญ่ ๆ ประมาณ 30-45 นาที ถ้าต้มนานเกินไปก็แฉะ แกะออกมาเป็นยางข้าวเหนียวยืด ๆ ถ้าต้มน้อยไปก็ดิบ ข้างในจะกรุบ ๆ ถ้านึ่งคือเขาใช้ข้าวเหนียวสุก ดัดแปลง ห่อแล้วสวย แต่ของเราโบราณ เปื้อนน้ำมัน ต้มแล้วมันจะออกมากับน้ำ แต่ข้างในข้าวเหนียวจะไม่มัน ก็ค่อนข้างทำยาก สำคัญที่ตอนห่อ เราต้องห่อแบบนี้ ภาษาจีนเรียก “ซี๊กัก” สี่มุม หัวสองมุม ท้ายสองมุม มัดตรงกลาง จะไม่หลุด ถ้าห่อสามมุมก็จะแตก น้ำจะข้น ก็เสียเลย แต่ถ้าทำไม่ให้แตกก็ใช้วิธีนึ่งเอา ต้องทำให้เครื่องทั้งหมดสุกก่อน ห่อเขาก็จะไม่เยิ้ม ไม่เลอะมือ คือรุ่นใหม่ไง แต่แม่ครัวบอกว่าสูตรโบราณเราไม่เปลี่ยนอะไรอร่อยกว่า แม่ครัวเรานี่ห่อเก่ง เราสอนเขาทำเรายังห่อสวยสู้เขาไม่ได้ มีหลานชายอยู่คนนึงที่ห่อได้ก็มาช่วยทำ
ที่แปลงนี้อยู่ริมคลองชลประทานคลองซอยที่ 3 ฝั่งใต้ ดูสิ น้ำใส ไม่มีผักตบเลย มีไม่ได้นะ ถ้าเจอเรารีบเก็บเลย ไม่งั้นเต็มคลอง กรมชลประทานเดินมานี่เขายกให้สองนิ้วเลยที่เราไปทำความสะอาด จริง ๆ ก็เป็นที่ของเขานะ แต่เป็นความโชคดีของเราที่มันเป็นพื้นที่นิดเดียวแต่ยาวเป็นแนวติดกำแพงหมู่บ้านฝั่งโน้น แล้วแทนที่จะปล่อยรกเราเลยไปทำเป็นสวน ขุดดิน ปลูกต้นไม้ เก็บขยะ มันก็ดูสดชื่น ไปนั่งปิกนิกได้ สมมติมากันกี่คน ต้องการมากินอาหารกลางวัน เราก็ทำข้าวห่อใบบัวมาเสิร์ฟ นั่งเรือหรือเดินข้ามไปก็ได้ มีราวเกาะมันก็ไม่ตกหรอก เราก็ให้ลูกน้องมาเก็บทำให้สะอาด สวนก็จะมีดอกไม้หลาย ๆ สี แพงพวย ยี่โถ ทองอุไร ดอกบัวดินเวลาออกดอกจะเหมือนเราเดินบนดอกไม้เลย ถ้าคุณนายตื่นสายขึ้นเต็มก็จะเห็นสีสัน มันเป็นเรื่องจิตใจของเรา ตรงนี้อาโกวไปถางหญ้า ก็มีคนมาบอก ทำทำไม ? ให้คนหาปลามาเดินสะดวก อาโกวบอกก็ดีแล้วไง ให้ความสะดวกเขาไง หญ้าตรงหน้าถนนก็ให้ลูกน้องไปตัดให้โล่งเตียน ให้มันสวย เหมือนคำที่เขาบอกว่า ถางหญ้าให้คนเดิน สร้างท่าให้คนขึ้น เราก็ได้อานิสงส์
หมาก็เหมือนกันนะ ใครมาขอให้พาหมาจรไปทำหมันเราก็ทำหมด ถามว่า ทำทำไม ? คืนกำไรให้สังคมไง ถ้าหมามีลูกเยอะก็เป็นภาระ เวลาหมาตัวผู้มาหาตัวเมียก็จะแย่งกัน ทะเลาะกัน แล้วออกลูกมาครอกนึงเก้าตัวสิบตัว เผื่อมันไปกัดใครอีก เราก็ลดภาระของสังคม หมาโรงเรียนก็มาอาศัย เรามีอาหารให้กิน พาไปฉีดวัคซีน ชีวิตเราอิสระ มีรถตู้คันนึง จะไปไหนก็ไป เหมือนอาโกวจะไปปิดทองที่วัดป่าเจริญราษฎร์ ก็ชวนคนแก่เพื่อนฝูงขึ้นรถตู้ไปเที่ยวกัน ชีวิตบั้นปลาย หาเงินมานานก็ได้เวลาใช้ แล้วแต่คนว่าจะเลือกใช้ยังไง อาโกวก็หมดไปกับหมา ค่าทำสวนบ้าง ใครมานั่งตรงนี้ มันสงบ ร่มรื่น มีความสุข อาโกวก็ได้อานิสงส์แล้ว ชีวิตเราก็ต้องแบ่งปัน”
เอื้องมณี ศรีมงคลปทุม
ปราชญ์ชาวบ้านด้านอาหารและโภชนาการ อาหารพื้นถิ่นประกอบพิธีทางศาสนา
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…