“ก่อนจะกลับลำปาง ผมทำงานดูแลระบบไอทีให้โรงงานที่จังหวัดระยอง ทำอยู่สองปี แล้วอยากกลับมาอยู่บ้าน เลยลาออก มาสมัครทำงานแผนกไอทีของโรงพยาบาลเอกชนที่เชียงใหม่ แต่พบว่าในสายงานใกล้เคียงกัน เงินเดือนที่เชียงใหม่ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนือแล้ว ยังน้อยกว่าเงินเดือนที่ระยองหลายเท่า นับประสาอะไรกับลำปาง ผมเชื่อนะว่าถ้าฐานเงินเดือนในต่างจังหวัดมันดีกว่านี้ คนรุ่นใหม่ส่วนหนึ่งเขาก็ไม่อยากดิ้นรนในเมืองใหญ่หรอกครับ
ผมทำงานอยู่เชียงใหม่ได้พักหนึ่ง ก็ได้งานที่ธนาคารในลำปาง แต่ตอนนั้นเริ่มมีความคิดอยากทำธุรกิจของตัวเองแล้ว ซึ่งก็มีพี่คนหนึ่งไปชวนเรียนทำขนมเค้ก พอไปเรียนแล้วพบว่าเราสนุกกับมัน จากนั้นก็เรียนทำขนมปัง และขนมอื่นๆ จนชำนาญและเริ่มทำส่งขายตามร้านกาแฟในจังหวัด
ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าตัวเองจะเป็นคนทำขนม จากที่ทำสนุกๆ หารายได้เสริม ความที่ธนาคารต้นสังกัดเขาอยากให้ผมย้ายสาขาไปอยู่ต่างจังหวัด แต่ผมก็ต้องดูแลคุณตาและคุณยาย ก็เลยตัดสินใจลาออกมาทำขนมขายอย่างเดียว ตอนนั้นมีลูกค้าที่เราต้องส่งประจำพอสมควร ซึ่งก็ทำให้ผมมีรายได้พอจะเป็นอาชีพจริงจังได้แล้ว ทำอยู่ครึ่งปี คุณยายก็ชวนให้ผมมาเปิดร้านที่บ้านในชุมชนท่ามะโอ
ผมวิ่งเล่นในชุมชนท่ามะโอตั้งแต่เด็ก เพราะบ้านเดิมของผมก็คือบ้านหลังที่ใช้ทำร้านหลังนี้ ก่อนจะย้ายไปอยู่บ้านใหม่แถวโรงเรียนอนุบาลลำปางกับพ่อแม่ตอน ป.6 การได้กลับมาเปิดร้านตรงนี้ แม้จะรู้สึกอบอุ่นเพราะผมรู้จักเพื่อนบ้าน รู้จักคนในชุมชนส่วนใหญ่ แต่ก็มีความกังวลอยู่ เพราะไม่เคยทำธุรกิจแบบนี้มาก่อน แล้วก็ยังนึกภาพของลูกค้าตัวเองไม่ออกว่าจะเป็นกลุ่มไหน
แต่ปรากฏว่าพอมาเปิดร้านจริง ผมกลับได้รับการสนับสนุนจากผู้คนในชุมชนดีมาก มีคนในชุมชนมาซื้อขนม มานั่งดื่มกาแฟ รวมถึงเจ้าหน้าที่จากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ โดยหลักๆ จะได้ลูกค้าจากการบอกต่อ รวมถึงจากการที่คนในชุมชนชักชวนให้นักท่องเที่ยวให้แวะเวียนมาที่ร้าน กระทั่งช่วงโควิด-19 ระลอกแรกมาและทำให้ธุรกิจกระทบหนัก แต่พอมันเริ่มซา ก็ได้แรงสนับสนุนจากพี่ๆ ป่าไม้ และลุงๆ ป้าๆ ในชุมชนนี่แหละที่ทำให้ผมฟันฝ่าวิกฤตมาได้
ถามว่าจุดเด่นของร้านคืออะไร ผมว่านอกจากขนมปังบริยอชและขนมเค้กแบบโฮมเมด ก็คือบรรยากาศแบบบ้านๆ ร่มรื่นและผ่อนคลาย ผมชอบปลูกต้นไม้อยู่แล้ว บ้านหลังนี้เลยมีต้นไม้เยอะเป็นพิเศษ ซึ่งก็ดึงดูดคนที่ชอบต้นไม้ด้วย มีลูกค้าในชุมชนยังเคยเอาต้นไม้มาขอแลก หรือเวลาคนในชุมชนนัดประชุมกัน เขาก็เลือกมาประชุมที่นี่ อาจเพราะเขาเห็นว่ามานั่งนี่แล้วไม่เครียดดี
ทั้งนี้ เวลามีประชุมเกี่ยวกับโครงการต่างๆ ของชุมชน ถ้าไม่ติดธุระอะไร ผมก็จะร่วมเข้าไปฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นด้วยแทบจะทุกครั้ง คิดว่านอกจากที่ร้านเราเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแล้ว ในฐานะที่ผมเป็นคนรุ่นกลางด้วย ก็น่าจะช่วยเชื่อมประสานการทำงานระหว่างคนรุ่นใหม่และลุงๆ ป้าๆ ในชุมชนได้อีกแรง
ชุมชนท่ามะโอมีโครงสร้างที่แข็งแรงอยู่แล้วนะครับ เรามีผู้นำชุมชนที่เก่งและเชื่อมประสานกับกลุ่มต่างๆ ได้อย่างราบรื่น อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญของชุมชนตอนนี้คือเรายังไม่สามารถเปลี่ยนให้ชุมชนเป็นมากกว่าสถานที่ที่นักท่องเที่ยวแวะเวียนมาถ่ายรูปเช็คอินเฉยๆ ได้
เพราะที่จริงชุมชนของเราก็มีทรัพยากรทางวัฒนธรรมที่น่าเรียนรู้อีกเยอะ แต่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เขาก็จะรู้แค่ว่าต้องมาถ่ายรูปกับบ้านหลุยส์และบ้านเสานัก มาช้อปปิ้งที่กาดวัฒนธรรม หรือนั่งรถม้า ก็อาจต้องมีการสื่อสารเรื่องเส้นทาง การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น รวมถึงการออกแบบกิจกรรมที่ครอบคลุมกับผู้คนทุกรุ่นไม่เฉพาะแต่กิจกรรมเชิงประเพณีอย่างเดียว ซึ่งในฐานะที่ผมเป็นคนที่นี่ ก็จะร่วมประสานให้เกิดภาพที่คิดไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ครับ”
ภวัต อลงการาภรณ์
เจ้าของร้าน Yim: Café & Dessert Bar
“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…
“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…
“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…
“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…
“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…
“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…