“สมัยก่อนเราจะเรียกหมู่บ้านที่อยู่ริมแม่น้ำวังฝั่งนี้นำด้วย ‘ท่า’ ซึ่งมาจากท่าน้ำ และตามด้วยต้นไม้ที่ขึ้นชุมบริเวณนั้น อย่างบ้านป้าเป็นบ้านท่าเก๊าม่วงซึ่งมาจากต้นมะม่วง ถัดไปเรียกบ้านท่าเก๊าไฮมาจากต้นไทร หรือท่ามะโอก็มาจากส้มโอ จนปี 2542 เทศบาลนครลำปางก็จัดตั้งชุมชนขึ้น ก็เลยเรียกรวมย่านนี้ทั้งหมดว่า ‘ท่ามะโอ’ เพราะคำคำนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายแล้ว
ศูนย์กลางของชุมชนท่ามะโอคือวัดประตูป่อง ซึ่งเป็นวัดที่มีศรัทธาเป็นคนท้องถิ่น ส่วนอีกวัดในชุมชนคือวัดท่ามะโอ สร้างโดยชาวพม่ายุคสัมปทานไม้ เป็นที่ทราบกันว่าชาวพม่านี่มีฝีมือทำไม้เก่งที่สุดในเอเชีย ที่ไหนค้าไม้ คนพม่าก็จะไปอยู่ทุกที่ ทีนี้เนื่องจากการทำไม้ เขาจะต้องตัดต้นไม้ขนาดใหญ่ พวกเขาก็เชื่อเรื่องการไปรุกล้ำรุกขเทวดา ชาวพม่าก็เลยทำบุญทดแทนด้วยการสร้างวัดไว้ที่นี่ สมัยก่อนจึงเรียกวัดนี้ว่าวัดม่าน
ป้าเกิดและเติบโตที่นี่ แต่เดิมก็ไม่รู้หรอกว่าชุมชนแห่งนี้มันพิเศษยังไง เพราะเราคุ้นชินกับบ้านไม้สัก บ้านเราก็เป็นบ้านไม้สัก และก็ยังทันเห็นแพที่บรรทุกท่อนซุงในแม่น้ำวัง จนหลังจากเราเออร์ลี่รีไทร์จากอาชีพครูและกลับมาอยู่บ้าน ก็เริ่มสังเกตว่าทำไมมีนักท่องเที่ยวฝรั่งแบกเป้มาเดินเที่ยวแถวบ้านเราบ่อยจัง จนมาสังเกตดีๆ ก็พบว่าตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ชุมชนเราแทบไม่ได้เปลี่ยนไปไหนเลย คือในขณะที่ชุมชนอื่นๆ เขาอาจทุบตึกเก่าสร้างตึกแถวที่ทันสมัยแทน แต่ท่ามะโอยังมีบ้านไม้เก่าๆ ที่เราเห็นตอนเด็กๆ เหมือนมันถูกหยุดเวลาไว้เมื่อร้อยปีก่อนเลย ซึ่งนี่แหละคือเสน่ห์ที่หาที่ไหนไม่ได้
ประกอบกับการที่เรามีโอกาสไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยด้วย ก็เห็นว่าในยุโรปเขามีการอนุรักษ์อาคารเก่าไว้สวยงามมากๆ ตรงนี้จึงทำให้ป้าย้อนกลับมาคิดที่จะก่อตั้งเครือข่ายของผู้คนในชุมชนเพื่อรองรับการท่องเที่ยว ในชื่อ ‘กลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนท่ามะโอ’ ด้วยความที่เราเป็นคณะกรรมการชุมชนอยู่แล้ว ก็ชวนบ้านนั้นบ้านนี้มาคุยกันว่า ชุมชนเรามีของดีอะไรบ้าง บ้านไหนพร้อมจะเปิดรับนักท่องเที่ยวบ้าง ไปขอความร่วมมือกับเจ้าอาวาสของวัดทั้งสองแห่ง และก็ทำเส้นทางท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อหวังสร้างรายได้ให้คนในชุมชนไปพร้อมกัน
ป้าคิดว่าการมีกลุ่มหรือมีเครือข่ายชุมชนนี่มันช่วยให้เราต่อรองกับหน่วยงานต่างๆ ได้มากนะ อย่างที่ผ่านมามักจะมีหน่วยงานการท่องเที่ยวหรือโครงการวิจัยเข้ามาให้การสนับสนุนชุมชนในโครงการต่างๆ เช่นการเปิดเส้นทางท่องเที่ยว หรือการจัดเสวนา ประเด็นก็คือ ส่วนมากเวลามีโครงการอะไรมา เขาก็จะขอทำป้ายชื่อโครงการมาติดไว้ตามที่ต่างๆ ในชุมชน พอติดเยอะก็รก หลังๆ มาเลยบอกเขาว่าถ้าจะทำป้ายชื่อโครงการ ขอเป็นป้ายบอกชื่อพันธุ์ต้นไม้ให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวได้ทราบดีกว่า หรือเอาเงินที่จะทำป้ายมาจัดกิจกรรมในชุมชนดีกว่า ซึ่งทางผู้สนับสนุนเขาก็ยินดี เลยได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย
หรืออย่างการบูรณะบ้านหลุยส์ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ขององค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ถ้าไม่ได้การรวมตัวกันของพวกเราชาวชุมชนไปคุยกับท่านผู้ว่าทรงพล สวาสดิ์ธรรม (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2560-2562) ของบประมาณมาบูรณะบ้านหลังนี้ เพื่อเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยว เราก็อาจไม่มีสถานที่ที่เป็นเหมือนแลนด์มาร์คสำคัญของชุมชนอย่างทุกวันนี้ ซึ่งผู้ว่าท่านก็เต็มที่กับพวกเรามาก มีการขอใช้สถานที่จัดเทศกาล ‘ท่ามะโอเรโทรแฟร์’ ต้นปี 2561 บริเวณสวนหน้าบ้าน ทำให้เป็นที่รับรู้ในวงกว้างด้วย
กระทั่งต่อให้ไม่มีงบประมาณจากหน่วยงานไหนมาให้ก็เถอะ แต่เมื่อเราสามารถรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่นแล้ว การฮอมแรงหรือฮอมเงินคนละน้อยเพื่อจัดกิจกรรมกันเองในชุมชน ก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างไม่ยากเย็น อย่างวันก่อนที่น้องจะมาสัมภาษณ์ป้า ตรงบ้านหลุยส์ก็เพิ่งมีการจัดดนตรีในสวน ต้อนรับการเปิดเมืองหลังโควิดไป เราทำเท่าที่กำลังจะเอื้อ เป็นงานเล็กๆ แต่เห็นชาวชุมชน คนลำปางในย่านอื่นๆ และนักท่องเที่ยวมาร่วมงานกับคับคั่ง ป้าก็รู้สึกปลาบปลื้ม เนี่ย… ถ้าคนในบ้านเราคนใดคนหนึ่งทำ มันไม่มีทางสำเร็จหรอก แต่คนตัวเล็กๆ อย่างพวกเราร่วมกันทำน่ะ มันมีพลังจะทำให้ภาพที่เราฝันไว้ร่วมกันเป็นจริงได้
ส่วนคำถามที่ว่ามองไปข้างหน้าอย่างไร ขอตอบใกล้ๆ ก่อน ป้ากำลังคุยกับสมาชิกในกลุ่มกันว่าจะจัดตั้งเป็นวิสาหกิจการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อความสะดวกในการบริหารงาน พร้อมกันนี้ก็เริ่มส่งงานให้กับคนรุ่นใหม่มาช่วยทำต่อ ซึ่งเป็นเรื่องดีมากที่ทางกลุ่มมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาร่วมพัฒนาชุมชนด้วยกันกับเราแล้ว เพราะถ้าให้คนแก่ๆ อย่างรุ่นป้าทำเนี่ย ก็อาจได้มุมมองเดิมๆ โซเชียลมีเดียก็เล่นกันไม่เก่ง แต่คนรุ่นใหม่มานี่ เขาทำประชาสัมพันธ์ได้เร็ว เชื่อมโยงนั่นนี่ได้เก่ง แถมยังมีความคิดสร้างสรรค์ คำถามนี้จึงน่าจะไปถามคนท่ามะโอรุ่นใหม่ๆ มากกว่าว่าจะมองไปข้างหน้าอย่างไร แต่เท่าที่ป้าเห็น ป้าก็รู้สึกวางใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ หรือกำลังจะเกิดขึ้นมากแล้ว”
สดศรี ขัตติยวงศ์
ประธานกลุ่มท่องเที่ยวโดยชุมชนท่ามะโอ