ด้วยผมลงพื้นที่บ่อย สิ่งที่ผมเห็นคลองสานคือ ศาลเจ้าเยอะ ผมเคยคิดจะทำเส้นทางศาลเจ้า แต่ก่อนมีพิธีแห่เจ้าแล้วมันก็หายไป ซึ่งถ้าเอามาปั้นกันดีๆ มันโดดเด่นนะ

Start
401 views
16 mins read

“ด้วยพื้นที่เขตคลองสานแค่ 6.87 ตารางกิโลเมตร การเข้าถึงชุมชนง่าย เดินไปชุมชนนี้ก็สามารถต่อไปอีกชุมชนได้เลยโดยไม่ต้องใช้รถในการเดินทาง ประชาชนข้างนอกเวลาเดินทางมาในพื้นที่ก็ง่าย มีรถเมล์ รถไฟฟ้า เรือ แต่ในความเจริญมันก็ยังมีความแออัดของชุมชน ความยากจนที่เราเห็นอยู่แล้วยังแก้ไขในเชิงลึกไม่ได้ ได้แค่แก้ไขปลายทาง อย่างผมเป็นนักพัฒนาชุมชนดูเรื่องทุนประกอบอาชีพ เขามายื่นขอ เราช่วยสนับสนุนเขาไม่เกินห้าพันบาท สุดท้ายแล้วคนที่เคยมาขอทำอะไรไม่ได้เลย ขอแล้วก็จบกันไป ต่อยอดไม่ได้ เรามีกิจกรรมที่จะเอานักวิชาชีพมาสอนแต่ละชุมชนในทุกปี ซึ่งด้วยสังคมเริ่มเป็นสังคมเมือง ต่างคนต่างอยู่กันมากขึ้น การรู้จักกันน้อย อย่างเดินเข้าไปในชุมชนยังไม่รู้จักกันทุกคนเลย เวลาเรามีอบรมซักโครงการ การจะขอคนซัก 20-30 คน ยังเป็นเรื่องยากเลยนะ เราอยากให้เขามาด้วยใจที่เขาอยากมา ไม่ใช่การเกณฑ์มาอย่างที่เราเห็น

ผมไม่ใช่แนวข้าราชการจ๋า เราเข้าไปแนวคุยเล่นปกติ หมดยุคแล้วที่มองคนต่ำกว่าเรา ในส่วนของชุมชน คณะกรรมการ ประธานชุมชนเขาโอเคกับเรา เขาเต็มที่ คือผมทำงานกลุ่มสวัสดิการ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่กับประชาชน เวลาเราทำ เราเต็มที่ เราช่วยเขาเท่าที่เราช่วยได้ สำคัญเลยความจริงใจ เราจริงใจกับเขา เขาก็จริงใจกับเรา ที่ได้กลับมาคือเขาดีกับเรามากเลยนะ บางคนแบบทักเราเรายังจำไม่ได้เพราะเราอยู่กับคนเยอะ เขาเอาของมาให้กิน น้ำใจเขาแหละ แต่เราก็จะบอกเขาว่าพี่เก็บไว้ขายเถอะ ผมย้ายมาอยู่สำนักงานเขตคลองสานตอนที่ไอคอนสยามเสร็จแล้ว คือการสร้างตึกสูงๆ มันกระทบกับชุมชนอยู่แล้ว ผมดูแลชุมชนสุวรรณภูมิด้วย ซึ่งอยู่ติดไอคอนสยาม แต่เขาก็ดูแลคนในชุมชนดีมากเลยนะ คือชุมชนมีปัญหาอะไร ต้องการอะไร เขาจะมาช่วย การประสานงานกับเขต ทางห้างก็พร้อมให้ความช่วยเหลือ แต่ก็มีบางโครงการที่ไม่โอเคกับชุมชน แต่เราก็เข้าใจได้ มันมีทั้งดีและไม่ดี หัวหน้าชุมชนก็ต่อสู้โดยมีเขตสนับสนุน

ตอนที่ UddC (ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง) ทำลาน “สวนสานธารณะ” ครั้งแรกที่มีการจัดแข่งฟุตซอล ครั้งแรกที่เห็น คือไม่ใช่คนในชุมชนเลยนะ เป็นคนจากข้างนอก ก็เข้าใจว่าเป็นการแข่งกีฬา ต้องมีคนจากหลายๆ ที่ แต่เท่าที่ทำงาน เขาจะมาเป็นกลุ่มๆ ไปแล้วก็เวียนมา ผมว่าการประสานงานกับทางเขตยังน้อย แล้วการทำอะไรซักอย่าง ไม่ใช่การที่เราเอาโพรเจกต์มาวาง แล้วให้ชุมชนปรับตามโพรเจกต์ ผมมองว่าโพรเจกต์นั้นควรจะต้องเอื้อกับชุมชน ในบริบทชุมชน การอยู่ในถิ่นฐานเดิมมันยากที่จะปรับเข้าหาสิ่งใหม่ๆ อาจต้องเป็นการยืดหยุ่นในบางจังหวะ จังหวะนึง UddC 70 ชุมชน 30 บางจังหวะ ชุมชน 70 UddC 30 ไม่งั้นจะไม่ยั่งยืน ตรงนั้นที่ผมเห็นมาสองปี คือเมื่อจบโพรเจกต์ก็จบ ไม่มีอะไรต่อ ล่าสุดมีการระบายสีกำแพงที่สวนสานธารณะ คือเป็นแค่กระจุกแต่ไม่กระจาย ที่ตรงนั้นเป็นของชุมชนซอยช่างนาค-สะพานยาว แต่คนในชุมชนช่างนาคฯ แทบไม่รู้เลยนะ พื้นที่เหมือนเป็นชายขอบ ไปถามคนในชุมชนสวนสมเด็จย่าที่อยู่ต้นซอยเขาก็ไม่รู้ว่าอยู่ตรงนั้น ผมว่ายังเข้าไม่ถึงประชาชนตรงนั้น ต้องมีการทำการสำรวจเพื่อให้ชุมชนเขาได้จริงๆ การทำอะไรสักอย่างเพื่อชุมชนส่วนใหญ่มันไม่ถูกใจทุกคนหรอกแต่เขาได้ประโยชน์จริงๆ เขาพร้อมที่จะทำให้ เราอยู่กับชุมชนเราเห็นเลย สำคัญคือเรื่องรายได้ ตรงนั้นมันสร้างรายได้อะไรให้เขาล่ะ มันไม่มีรายได้ให้เขา เขาจะมาทำไม เมื่อตรงนั้นทำประโยชน์ ทำรายได้ให้เขาได้ เชื่อเหอะ มันจะมาเอง พื้นที่มีศักยภาพ อยากให้ยั่งยืนต้องมีความต่อเนื่อง น่าจะมีทีมที่คอยมาดู เหมือนปล่อยให้รกปุ๊บ พอมีงานทีก็มาพัฒนา งบมาก็ทำทีแล้วหายไป ไม่เห็นอะไรต่อ สุดท้ายก็จะหมดระยะเวลาที่เจ้าของที่ให้มาทำ

คือการไปทำพื้นที่สวนสานธารณะ ชุมชนก็เฉพาะบริเวณโรงเกลือกับใกล้ๆ สวนสานฯ ซึ่งเป็นแค่ชายขอบ มันไม่ได้เจาะเข้าไปถึงข้างในชุมชนจริงๆ ผมอยากให้มีการสำรวจจริงๆ ทำจริงๆ ว่าชุมชนต้องการอะไร แล้วเอาตรงนั้นมาปรับให้ตรงกับชุมชน แล้วก็จะยั่งยืนเอง ผมมองว่ากิจกรรมที่เขามาทำยังเข้าไม่ถึงเขา กลายเป็นคนนอกเข้ามาถ่ายรูปอะไรมากกว่า คือคนนอกเข้ามา ถ้ามีอะไรก็อาจเกิดรายได้ แต่ตรงนั้นไม่มีพื้นที่ในการค้าขายให้เขา ก็มีร้านขายของชำร้านสองร้าน ที่เหลือเขาก็ใช้ชีวิตปกติ อาจจะไม่ต้องให้เขามาขายประจำ ให้เป็นอาชีพเสริม วันว่างๆ มีกิจกรรมเอาของมาขายแบกะดิน หรือจัดกิจกรรมเดือนละครั้ง จริงๆ อยู่ในแผนของการจัดถนนคนเดินเสาร์อาทิตย์สุดท้ายของเดือนอยู่แล้ว แต่ยังติดด้วยงบประมาณ สภาพอากาศ ล่าสุดสำนักวัฒนธรรมมีงบประมาณเรื่องย่านสังสรรค์ให้ ซึ่งคลองสานเป็น 1 ใน 20 ย่านแนะนำ เขาจะทำครอบคลุมทั้งพื้นที่ซึ่งผมมองว่าก็มีพื้นที่ที่สวยอยู่แล้ว เช่นสวนสมเด็จย่า แต่คลองสานไม่ได้มีที่ตรงนั้นที่เดียว มีที่อื่นอีกที่จะกระจายได้ สามารถทำเส้นทางได้เยอะแยะ ด้วยผมลงพื้นที่บ่อย สิ่งที่ผมเห็นคลองสานคือ ศาลเจ้าเยอะ ผมเคยคิดจะทำเส้นทางศาลเจ้านะ แต่ก่อนมีพิธีแห่เจ้าแล้วมันก็หายไป ซึ่งถ้าเอามาปั้นกันดีๆ มันโดดเด่นนะ ถ้าเราเอาองค์ความรู้จากหลายหน่วยงานที่เข้ามาทำผนวกกันจะได้หลายเส้นทางท่องเที่ยว ก็จะดีมากเลย”

พีรพัฒน์ อนันต์ธนสาร
เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาชุมชนและสวัสดิการสังคม
สำนักงานเขตคลองสาน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย