“ตอนนี้ผมมีหน้าที่หาหญ้าสด ลูกน้องรีด ทำด้วยกัน โตไปด้วยกัน ลูกพี่รวย เอ็งก็รวย พี่ซื้อรถกระบะใหม่ เอ็งก็ต้องมี”

“ผมคนปากช่อง โตที่นครปฐม ผูกพันกับวัวตั้งแต่เด็ก มีตาที่เลี้ยงวัวนม ผมก็ได้เดินเลี้ยงตามทุ่ง พ่อทำงานราชการ อยู่กรมประชาสงเคราะห์ พอเรียนจบปริญญาตรีราชภัฏ พ่ออยากให้เป็นตำรวจ ทหาร ผมอยากอิสระ ไม่อยากเป็นลูกน้อง แต่ก็ไปลองทำงานอยู่ 3 เดือน คิดว่าเงินเดือนน้อย กลับบ้านมาตั้งหลักทำในที่ของเราเองดีกว่า

ผมทำฟาร์มโคนมตั้งแต่ปี 2546 เริ่มต้นจากศูนย์เลย ศึกษา ดูฟาร์มที่ประสบความสำเร็จ จนคิดว่ามีความรู้พอ ก็กู้เงินซื้อวัวมาเลี้ยง 2 ตัว สมัย 20 ปีที่แล้ว วัวนมแพงนะ ตัวนึง 45,000-48,000 บาท เราเลือกซื้อวัวสาวท้อง อายุประมาณ 2 ปี เพราะมันมีลูก ไม่ต้องกลัวโดนหลอก ถ้าไปซื้อวัวที่เคยรีดมาแล้ว เขาบอกว่าดี แต่มาอยู่กับเราไม่ดี เขาบอกว่าท้องมันอาจจะไม่ท้องก็ได้ แต่ถ้าวัวสาวท้องมันขึ้นอยู่กับเราดูแลว่าจะดีไม่ดี มาปรับให้คุ้นเคยกับเรา เพราะวัวเขารู้เรื่อง คุยกันรู้เรื่อง มันแค่พูดไม่ได้ ถ้าคุณไม่เคยเลี้ยงเขา ไม่เคยให้เขากิน ไม่เคยสัมผัส เขาไม่เอาด้วย

การทำฟาร์มโคนม หลักๆ อยู่ที่ใจก่อน ชอบมั้ย เอาจริงมั้ย ถ้าอยากเลี้ยงวัว พรุ่งนี้ไปซื้อ เลี้ยงได้กี่วัน เพราะวัวไม่ได้เลี้ยงแค่เดือนสองเดือนโต ใช้เวลาอยู่ด้วยกันเป็นปี ต้องถามตัวเราก่อนว่าจะสามารถอยู่กับเขาได้มั้ย มันไม่ใช่เลี้ยงแล้วได้อย่างเดียว ปัญหาก็เยอะครับ ทั้งโรค ถ้าเราชอบ จะเกิดอะไรขึ้น ก็อยู่กับมันได้ สู้กับมันด้วยกัน 20 ปีอยู่กับวัวตรงนี้ ผมเองก็เริ่มจากเลี้ยงวัวปกติ จุดเปลี่ยนคือวิกฤติวัวนม อาหารแพง ทีนี้ได้ยินชื่อแดรี่โฮมนานแล้ว ก็มีความคิดอยากทำนมอินทรีย์ เพื่อนแนะนำให้ไปหาคุณพฤฒิ (พฤฒิ เกิดชูชื่น บริษัท แดรี่โฮม จำกัด) ก็ได้เข้าไปเรียนรู้ ศึกษาว่าเขาเลี้ยงแบบไหน ยังไง แล้วก็พาเขามาดูฟาร์ม ว่าอย่างเราพอทำได้มั้ย ทางแดรี่โฮมก็มาไล่ตรวจเป็นเดือนเหมือนกันนะ ตรวจวัวละเอียดทุกตัวเลย ตัวนี้ต้องคัดออก ตัวนี้เอาไว้ ดูวิธีการเลี้ยงว่าคุณเลี้ยงแบบไหน

มาเลี้ยงวัวนมอินทรีย์ต้องเปลี่ยนทุกอย่าง พลิกหน้ามือเป็นหลังมือเลย เปลี่ยนตัวเราด้วย ทำแบบเก่าไม่ได้แล้ว ตัววัวเราต้องดี คุณภาพต้องได้ สังเกตดู วัวผมเยอะแยะ ผมไม่มีฟาง เลี้ยงหญ้าสด วัวเราต้องไม่ขังคอก เดิมเราเลี้ยงแบบยืนโรง ปล่อยเดินแค่ในคอกเขา แต่ทุกวันนี้ รีดนมเสร็จก็มีที่ข้างหลัง ปล่อยให้เดินคลายเครียด เล็มหญ้า นอนตามร่มไม้ แดรี่โฮมเป็นบริษัทที่ตรวจเข้มเรื่องคุณภาพ ผมยอมรับ ผมเคยส่งศูนย์ทั่วไปมาก่อน ผมรู้ ใครบอกแดรี่โฮมเข้าไปใครๆ ก็อยู่ได้ ลองครับ เดี๋ยวก็รู้ เห็นออกกันเต็มเลย เขามีน้ำยาตรวจคุณภาพเพื่อจับความผิดปกติทุกอย่างของน้ำนม เข้าแล็บตรวจ รู้เลยว่านมไม่ได้คุณภาพ วัวเครียด วัวไม่ได้เดินเล่น มันส่งถึงน้ำนม

การเปลี่ยนคือเปลี่ยนอาหาร ต้องเปลี่ยนตอนเป็นวัวดราย คือวัวที่เคยรีดนมแล้ว พักท้อง 3 เดือน ถ้าเปลี่ยนตอนที่เรารีดอยู่ นมหดหมดเลย แล้วยากที่จะกลับมา คือวัวถ้าเราเคยให้กินแบบนั้น ก็ให้มันกินแบบนั้น นมจะได้ปกติ ถ้าอาหารเปลี่ยน มันมีเวลาปรับตัวครึ่งเดือนหรือเดือนนึง ยังส่งนมได้ปกติ เพียงแต่นมลดลง ต้องรับให้ได้ คือเดือนแรกปริมาณลดลงครึ่งนึงเลย เดือน 2 เริ่มขึ้น เดือนที่ 3 อยู่ได้ละ คุณพฤฒิบอกถ้าเผื่อเราทำไม่ได้เขาจะช่วย ทุกวันนี้เขาก็ช่วย ไม่เคยทิ้ง แต่เราพยายามสร้างของเรา ไม่ให้เป็นภาระเขา ระยะเวลา 3 เดือนเปลี่ยนได้แล้วนะ แต่คุณต้องบริหารจัดการตัวคุณเองให้ได้ ไม่ใช่เอาเงินไปใช้ทางอื่น แต่ไม่มาดูรายรับที่คุณทำอาชีพนี้ อย่าเอามารวมกัน ต้องแยกให้ออก และอยู่ที่ตัวเราด้วย ต้องจริงจัง ไม่ใช่อยากเป็นแต่ไม่ลงมือทำ มันก็เป็นไปไม่ได้ ตอนนั้นผมทำเองกับมือ ตัดหญ้าเอง รีดนมเอง ไม่ได้จ้างลูกน้อง ถ้าคุณไปนั่งสั่งให้ลูกน้องทำมันก็ขาดทุนอยู่นั่นแหละครับ

น้ำนมส่วนหนึ่งที่ผมส่งแดรี่โฮมเป็นนมเบดไทม์ ที่คุณพฤฒิไปจดลิขสิทธิ์นะ (Bed Time Milk มาจากงานวิจัยที่แดรี่โฮมร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยการสนับสนุนจากสวทช. พัฒนาจนได้นมที่อุดมด้วยเมลาโทนินจากธรรมชาติสูง ช่วยให้นอนหลับสนิทและพักผ่อนได้เพียงพอ) เป็นนมกลางคืน นมที่ไม่โดนแสงแดด รีดเสร็จวิ่งเข้าโรงงานเลยก่อนพระอาทิตย์ขึ้น เพราะฉะนั้น กิจวัตรประจำวันที่นี่คือ ตื่นตี 3 มารีดนม ช่วงลูกน้องมารีด ผมก็ตื่นตี 4-5 ลงไปดูทุกวัน ถ้าลูกน้องไม่อยู่ ผมกับแฟนผมนี่แหละ ตื่นมารีด ข้อตกลงคือรถจอดหน้าเราตี 5 ล้อหมุนออก ช่วงเวลาแค่ไม่เกิน 3-5 นาที ไม่ได้คุยกันหรอก นมของเรารีดเข้าบริษัทเอาไปผลิตก่อน แล้วรีดมื้อเย็นอีกมื้อ ตอนบ่ายสองโมงครึ่ง เป็นนมปกติ เวลามารับ ตรวจนมก่อน เก็บใส่ขวดเล็ก เทสต์หลอดแก้ว ตรวจเช้า ตรวจเย็น ใครโดนแบบนี้ทุกวัน มาลองกันดู ผมลองมาแล้ว 10 ปี คนที่อยู่ไม่ได้คือเขาเจอแบบนี้ทุกวันๆ ก็ถอดใจ

ความแตกต่างของนมแต่ละบริษัทอยู่ที่การบริหารจัดการฟาร์ม การคัดแม่วัว คัดเลือกน้ำนมวัว เราอยู่กับวัว ธรรมชาติ จะรู้ว่าตัวไหนเต้านมอักเสบ ตัวไหนจับมันดราย แม่วัวให้นมเป็นปี นมจะด้อยลงเรื่อยๆ ต้องถึงเวลาพัก รอกลับมาใหม่ ถ้านมทั่วไป ก็รีดกันจนนมมันหมด เนื้อนมมันต่างกัน ตอนนี้ผมมีหน้าที่หาหญ้าสด ลูกน้องรีด ผมเทรนลูกน้องเป๊ะเลย ไม่ให้หลุด ผมให้ใจลูกน้องก่อน ทำด้วยกัน โตไปด้วยกัน ลูกพี่รวย เอ็งก็รวย พี่ซื้อรถกระบะใหม่ เอ็งก็ต้องมี แล้วผมไม่ได้คิดว่าจะต้องมีนมเป็นตันๆ คิดแค่ว่าเท่านี้ ธุรกิจอยู่ได้ คิดอย่างอื่นต่อว่าเราจะทำอะไร

จากทำนม ทุกวันนี้ ผมทำขี้วัวชั่งกิโลขาย มีตัวตน คนพูดถึง ขี้วัวต้องมาเอาที่นี่ ใส่แล้วงาม เพราะเราปรุงขี้วัว ทำมา 3-4 ปี เมื่อก่อนก็ไหลทิ้ง ปล่อยไปตามท้องไร่ ตักมาใส่แปลง คือไม่ได้คิดว่าต้องมาสร้างมูลค่า ขี้ยังทำเงินได้ ไม่พอขายด้วย ผมไม่ได้คิดได้เอง ไปดูคนอื่น เอาด็อกเตอร์หลายๆ คนมารวมไว้ที่ผม เมื่อก่อนหมักขี้วัว เศษหญ้าเหลือเป็นกองๆ ก็คิดไปเรื่อยว่าเอาอะไรมาย่อยมัน ทำจนรู้ว่าไม่มีอะไรย่อยได้ไวนอกจากธรรมชาติ ให้มันทำงานกันเอง อะไรที่เป็นอาหารมันก็เอาให้มันกิน ตัวดีกินตัวไม่ดี ตัวไม่ดีกินตัวดี แล้วสรุปที่ผลแล็บครับ ส่งตรวจจะรู้เลยว่าเป็นยังไง ขาดอะไร ต้องเติมอะไร นมเนี่ย ขนาดเด็กกินยังโต คนแก่กินก็อ้วน หมักนมเลยทีนี้ ผมถึงไม่ซีเรียสไง นมที่ไม่สามารถส่งบริษัทได้ ผมไม่กลัว ผมเทใส่ถังเลย แล้วป้าผมทำองุ่น ทีนี้องุ่นเสียเยอะ ลูกไม่สวย ผมไปขนมาเป็นหัวเชื้อในการหมักเพราะองุ่นมีความเปรี้ยวในตัว เอาจุลินทรีย์ในผลไม้ไปกินนมเพื่อไม่ให้มันเหม็น ผลลัพธ์ก็ได้มาเป็นขี้วัว ชั่งกิโลขาย กิโลละ 2 บาท

อนาคตที่ผมคิดไว้ ยังไม่ได้คุยกับแฟนหรอก ผมอยากทำทัวร์รีดนมเบดไทม์ ให้คนมาเที่ยว ดูผมรีดนมตอนตี 3 ใครอยากตื่นมาดู คนกรุงเทพฯ ชอบอยู่แล้ว เราทำจริง ไม่ได้โกหกใคร รีดเสร็จก็มาต้มดื่มกัน มาเบรกฟาสต์ แต่เราจะไม่ทำที่พัก บริเวณนี้ ในหมู่บ้านผมมีรีสอร์ตเยอะเลย คนกรุงเทพฯ มาเยอะอยู่แล้ว นี่รอให้ขี้วัวอยู่ตัวก่อน อยู่ตัวคือไม่เป็นหนี้เรื่องนี้ วัวนมไม่เป็นหนี้แล้ว ถ้าเผื่อคิด ช่วงนี้วัวนมถูก เลี้ยงดีกว่า จบครับ เหมือนตอนนี้วัวนมถูก เขาเลิกเลี้ยงกันเยอะ เพราะอาหารแพง ต้นทุนสูง วัตถุดิบ อาหาร ก็ปล่อยเขา แต่เราทำไม่เหมือนคนอื่น ไม่ทำตามกระแส”

เจริญ อินรุ่งเรือง
เกษตรกรโคนมอินทรีย์ ฟาร์มเจริญ

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

4 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

1 month ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

1 month ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago