“ผมรับราชการเป็นผู้บริหารของมหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตกรุงเทพ เมื่อเกษียณอายุราชการมาแล้วก็ใช้เวลายามว่าง จริงๆ ทำตั้งแต่ก่อนเริ่มเกษียณแล้ว คือปลูกต้นไม้ เพราะสิ่งที่เราได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กคือเรื่องการดูแลต้นไม้ ก็ทำให้เราติดเป็นนิสัย การปลูกต้นไม้ของผมเริ่มจากปลูกในบ้าน ทดลองปลูกไปเรื่อย ตั้งแต่ไม้ผล ไม้ทานได้ เห็ด ผักสวนครัว แรก ๆ ใช้ปุ๋ยเคมีเพราะเป็นสิ่งที่เราเห็นอยู่ทุกวัน เคมีทำให้ต้นไม้โตเร็ว แต่ข้อเสียเยอะ เราเริ่มเห็นแล้วว่าสภาพดินมันแข็ง ต้องมาคลุมดินใหม่ สารฆ่าแมลงก็ต้องใช้เคมี พอเราใช้ เริ่มเห็นอันตราย มันคันที่มือ มีอาการแพ้ ผื่นขึ้น แล้วพอเรามีความรู้เพิ่มขึ้น รู้แล้วว่าทุกวันนี้ความปลอดภัยในการปลูกต้นไม้หรือปลูกผัก มันมีอันตรายเยอะ เพราะสารเคมีมันเข้ามาใช้ในสวน ใช้กับชาวบ้านเยอะ เห็นสารมะเร็งเกิดขึ้นในชุมชนเยอะมาก
เราก็เลยมาใช้สารอินทรีย์ในการดูแลต้นไม้ ศึกษาด้วยตนเองว่าอะไรที่ไม่ใช้เคมีกำจัดแล้วมันช่วยได้ ก็เริ่มจากการปรุงดิน ต้นไม้ต้องการ NPK (ธาตุอาหารไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม) ซึ่งเกิดจากพวกมูลสัตว์ ทำให้ดินโปร่งร่วนซุยใช้พวกแกลบดิน มะพร้าว มูลไส้เดือน เราเอามาปรุงดินก็เห็นความงอกงามเกิดขึ้น พอต้นไม้งอกงามแล้ว มาบำรุง พอดินเริ่มหมดสภาพ ไม้ไม่ค่อยโต เราก็มาศึกษาต่อ ว่าจะใช้อินทรีย์อะไรเข้าไปดูแล เช่น ทำปุ๋ยชีวภาพ ปุ๋ยฮอร์โมนนมสด ปุ๋ยฮอร์โมนไข่ พอต้นไม้งามก็ใช้น้ำส้มควันไม้มากำจัดแมลง ทดลองทำสารกำจัดแมลงโดยใช้สะเดา พริก เหล้าขาว น้ำส้ม ก็ทำให้ต้นไม้งาม ปลอดจากแมลงรบกวน ผักที่ปลูกก็ปลอดภัย เราเอามากินได้โดยไม่ต้องกังวล ผักหวาน กรอบ อร่อย
ทีนี้หลายหน่วยงานเห็นเราทำเกษตรอินทรีย์ มีองค์ความรู้ ก็ให้ช่วยไปถ่ายทอด เราเป็นครูอยู่แล้วเราก็ยินดีไปถ่ายทอดเรื่องการใช้ EM การปรุงดิน ดูแลต้นไม้ การใช้ฮอร์โมน การทำน้ำหมักชีวภาพ ให้ชุมชน ให้โรงเรียน ชาวบ้านได้ปลูกผักไว้กินโดยไม่เกิดอันตราย ถ้าเหลือใช้เหลือกินก็แจกจ่าย ถ้ามากจริง ๆ ก็ขายกัน นักเรียนปลูกผักไปทำอาหารกิน ก็เกิดประโยชน์ เด็กได้กินอาหารปลอดภัย แล้วผมเป็นวิทยากรให้สสส. เรื่องอาหารปลอดภัยด้วย ก็มีความคิดทำศูนย์เรียนรู้ชุมชน เป็นบ้านสวนครูตู่ อยู่ตรงหลังหมู่บ้านการ์เด้นโฮม คลอง 12 เป็นบ้านสวนที่เราคิดไว้ว่าจะเอาไว้ปลูกต้นไม้ ก็ทำเป็นแปลงผักยกแคร่ ให้ชาวบ้านมาเรียนรู้ มีพวกน้ำหมัก ฮอร์โมนขี้นก ใครไปใครมาก็แจกให้เขาไปใช้ พอเขาใช้ก็อยากทำเอง เราก็สอนเขา อย่างเช่นที่แคบ ๆ ในหมู่บ้าน เขามีแต่ปูน ไม่มีที่จะปลูก เรามีองค์ความรู้เรื่องการใช้ยางรถยนต์มาผ่า มาตัด เราก็จะสอนการกรีดยางเก่าทำเป็นภาชนะในการปลูกต้นไม้ แล้วศูนย์เรียนรู้ชุมชนก็จะไปเชื่อมโยงกับพื้นที่เรียนรู้ของเมืองสนั่นรักษ์ให้คนมาเที่ยวด้วย
ตอนรับราชการ เป็นผู้บริหารด้วย ต้องอยู่กับงาน อยู่กับคน มีแต่เรื่องเครียด พอเกษียณปุ๊บ มาอยู่กับต้นไม้ มันเถียงเราไม่ได้ฮะ แล้วมันเห็นความเจริญเติบโตขึ้นมา ก็เป็นความสุข กับชุมชนเราถ่ายทอดองค์ความรู้ เขารู้จักปลูกผักปลอดสารพิษกินเองแทนที่จะต้องไปซื้อ ทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น สิ่งที่เราได้กลับมาคือความสุข ได้มีการแลกเปลี่ยนกัน ได้ความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น แล้วย่านสนั่นรักษ์มันสงบดี ที่ทำงานอยู่คลอง 13 ย่านนี้อยู่แล้ว เราเห็นความสงบในชุมชน ไม่ค่อยมีอะไรหวือหวา ไม่ค่อยเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร แต่ในแง่นึงที่เขาทำสวนทำไร่ ทำเกษตรเคมีมาตลอด การจะไปเปลี่ยนความคิดของเขาก็ยากเหมือนกัน ผมเป็นประธานชุมชนทสม. (อาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม) ด้วย มีหน้าที่ดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมในชุมชน มันมีปัญหาเรื่องมลพิษจากการเผาหลังเกี่ยวผลผลิต เราจะไปให้ความรู้เขาเรื่องหมักฟางหญ้าเป็นปุ๋ย เขาบอก โอ้ย กว่าจะได้ใช้เป็นเดือน ไม่ทันหรอก เราก็พยายามแทรกซึม อย่างน้ำหมักชีวภาพ ทุกคนรู้จัก ทำใช้เอง เขาเห็นประโยชน์ ตอบโจทย์ได้ แต่ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงนี่ยาก เขายังต้องใช้อยู่ ก็ต้องใช้เวลาให้เขาเรียนรู้ไป”
ประกาศิต ทองอินศรี
บ้านสวนครูตู่ ปลูกผักปลอดสาร