“พวกเราเป็นกลุ่มช่างตัดผมชายมีอยู่ทั่วประเทศไทย เราเริ่มโครงการคนดีจิตอาสา ตัดผมฟรี ทำดีเพื่อพ่อร.๙ ได้ทำกิจกรรมจิตอาสาตัดผมฟรีให้คนที่มาร่วมถวายความอาลัยในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ท้องสนามหลวง แล้วผมก็สานต่อกิจกรรมตรงนั้นมาจนถึงทุกวันนี้ อย่างวันนี้ที่เรามาทำกิจกรรมออกหน่วยให้กับประชาชนชาวหัวหินและบุคคลทั่วไปที่หน้าสถานีรถไฟหัวหิน ผมก็จะลงในเพจพลเมืองหัวหินนะครับ บางคนเขาตามเรา ถ้าอาจารย์ป้อมมา จะมารอเลย เอาน้ำ ขนมมาให้เวลาเราทำงาน เรามีรอบออกหน่วยบริการตัดผมฟรีอาทิตย์ละ 4 วัน วันจันทร์ อังคาร พฤหัส ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 9.00-15.00 น. แต่เราไม่ได้อยู่ที่นี่ (หน้าสถานีรถไฟ) ที่เดียว เรากระจายไปตามชุมชน ตามโรงเรียนชนบทด้วย โรงเรียนที่ยากจนในเขตพื้นที่หัวหิน เพชรบุรี เช่น โรงเรียนป่าเด็ง ป่าละอู ในเขตหมู่บ้านกะเหรี่ยง มีครูบางคนที่เขาเป็นลูกค้าเรา ก็ขอความอนุเคราะห์จากเรามาว่าไม่เคยมีช่างตัดผมไปบริการตัดผมให้เด็กเลย เราก็คิดว่าเราน่าจะไป โรงเรียนที่เรายังไม่ได้ไปก็คงจะมีอีกเยอะ แต่อย่างน้อยที่เราออกหน่วยไปมากกว่า 30-40 โรงเรียน เดือนนึงก็ไม่พออยู่แล้ว บางโรงเรียนต้องการให้เราไปเดือนละครั้งด้วยซ้ำ แต่เราไม่สามารถทำได้
แต่ละครั้งที่ออกหน่วย ลูกศิษย์ผม รุ่นพี่รุ่นน้องรวมกัน อย่างน้อยก็ประมาณ 10-12 คน มากสุด 20 คน ตามความสมัครใจของเด็กๆ ที่จะไปด้วย ผมเป็นช่างตัดผม และเป็นอาจารย์สอนด้วย ก็ปลูกฝังนักเรียนของเรา ให้เป็นคนที่มีจิตอาสา ทำอะไรเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กับคนที่เขาลำบากกว่าเรา ความคิดนิสัยของเด็กที่มาเรียน จากเด็กที่เกเร บางทีก็เล่นยา ติดเกม เขาเปลี่ยนเป็นคนใหม่เลย มีน้องอายุ 15 ความรู้สึกของพ่อแม่เขาก็เปลี่ยนว่าทำไมลูกดูเปลี่ยนไป จากเป็นเด็กติดเกม นอนตีสามตีสี่ กลายเป็นนอนห้าทุ่ม ดูคลิปตัดผมในยูทูบ แต่ที่นี่เราจะห่างไกลยาเสพติด ถ้าคนที่ติดยา เราจะไม่รับ แต่ถ้าเขาติดยาแล้วอยากเปลี่ยนตัวเอง อยากมีอาชีพ เราต้องดูว่าใจเขามาร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนพ่อแม่อยากให้ลูกห่างจากยาเสพติดแต่กลายเป็นมาสร้างความเสียหายให้โรงเรียนเรา อันนี้คือสิ่งสำคัญเลย แล้วเด็กที่มาเรียนกับเราหลายคนไม่มีอาชีพประจำ บางคนลาออกจากงานเพื่อมาเรียนอาชีพนี้แล้วไปเปิดร้าน เราก็เน้นคุณภาพการเรียนกับเขาว่าเรียนกับเราประกอบอาชีพได้เลย ไม่ใช่ว่าไปเรียนที่นี่ก็ไม่จบ ที่โน่นก็ไม่จบ มันก็ไม่โอเค เขาเสียเงินด้วย เพราะงั้นเราอยากให้เงินก้อนนี้ของเขามีค่าที่สุด อยากให้เขาประสบความสำเร็จตามฝันเขา
ตอนนี้เรามีนักเรียนที่เรียนอยู่ประมาณ 12 คน คอร์สหนึ่งผมรับแค่ 5 คน เรียนสามเดือนไปเปิดร้านได้เลย มีที่ฝึกงานให้ด้วย เพราะมีร้านตัดผมสาขาในหัวหินอยู่แล้ว เด็กบางคนก็ฝึก บางคนไม่ฝึก อยากเปิดร้านเลย ไฟแรงสูง ก็แล้วแต่เขา แต่ต้องประเมินผลงานจากอาจารย์ก่อน เราไม่อยากให้เขาไปแล้วต้องเจอปัญหา ตัดครั้งแรกลูกค้าไม่ถูกใจ ครั้งหน้าไม่เจอแล้ว นั่นคือเขาต้องผ่านการบ้านและเรียนรู้ตั้งแต่ตอนนี้ เพื่อเขาจะบินได้ ปีกแข็ง มาเรียนกับผมไม่มีทางว่าตัดผมไม่เป็น ตัดผมเป็นแน่นอน แต่ยังไม่เก่งแค่นั้นเอง เราก็มีเวลาให้เขาเก็บประสบการณ์ ชั่วโมงบินต่อไป ก็คือฝึกงานและมาออกหน่วยสมทบกับรุ่นน้องต่อไปเรื่อยๆ ได้ จนกว่าเราจะพอใจ เราไม่ลอยแพให้เขาหาความรู้เอง เราอยากให้เขาได้ความรู้แน่นจากที่เราแล้วพร้อมจะเปิดร้านเลย ลูกศิษย์ผมที่สอนมาแต่ละรุ่นส่วนมากเปิดร้านได้ 90% เยอะมากนะครับ เรียนที่นี่ที่เดียว ไม่ต้องไปเก็บประสบการณ์ที่อื่นเลย
ตัวผมเองปฏิญาณตนไว้ว่าเราจะทำกิจกรรมจิตอาสาที่ตอบแทนสังคม คนที่มีรายได้น้อย เราจะทำต่อไปจนหมดลมหายใจ แล้วผมได้รับใบประกาศคนดีจิตอาสามาแล้ว จากสมาคมข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย การมาทำตรงนี้ผมไม่มีความคาดหวังว่าจะมีสิ่งตอบแทนกลับมา ผมทำงานเหมือนปิดทองหลังพระ เพราะมีคนน้อยที่เห็นการทำงานของเรา อยู่ที่ว่าผู้หลักผู้ใหญ่ผ่านทางมาเห็นแล้วเจออะไร อย่างท่านนายอำเภอก็เล็งเห็นความสำคัญของเรา ท่านก็มอบใบประกาศมา หน่วยงานต่างๆ ผ่านไปผ่านมาเห็น มาทำข่าวกันบ่อย แต่ที่ผมหวังเลยคือความสำเร็จของเด็กๆ มันเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เขาไปฝากพ่อแม่และครอบครัว และเขาก็ได้ผลดีให้กับสังคม เด็กบางคนไม่เคยทำ ผมต้องการให้เขาได้ซึมซับว่าการทำความดีให้กับผู้อื่นมันมีผลดียังไง ผลเสียไม่มีเลย เราต้องการปลูกฝังให้เขาเป็นคนดี มีจิตใต้สำนึกที่ดี เพราะตัวผมเองก็เคยลำบากมาก่อน พ่อแม่ยากจน เราก็ดิ้นรนด้วยตัวเอง เพราะงั้นเราจะสอนเขาให้มีความเข้มแข็ง ดิ้นรนสู้ด้วยตัวเอง เราจะพึ่งพ่อแม่ตลอดชีวิตไม่ได้
ผมเป็นคนหัวหิน พี่สาวผมก็เป็นอาจารย์สอนตัดผมเหมือนกัน ก็ได้รับการปลูกฝังมาตั้งแต่อายุ 20 แล้ว พ่อแม่ไม่ได้เป็นช่างตัดผม แต่น้องสะใภ้ พี่สาว ญาติๆ กันเป็น เหมือนเขาส่งเสริมว่าอาชีพนี้หาเงินได้ทุกวัน พี่สาวก็ไม่อยากให้น้องชายลำบาก ลูกค้าทั่วไปที่มาตัดกับเราแม้กระทั่งคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวฝรั่ง เดินมาเห็นเขาก็พร้อมที่จะตัด แต่บางครั้งเราต้องมองบุคลิกของคนด้วยว่าคนนี้เขาพร้อมจะเป็นนายแบบให้เราไหม เพราะมันต้องใช้เวลาเกือบๆ หนึ่งชั่วโมง บางคนเขาไม่โอเค เราต้องชี้แจงรายละเอียดเขาก่อน ส่วนมากจะแฮปปี้ทุกคน เขาชอบในผลงานที่เด็กๆ ทำ เหมือนตัดที่ร้านเลยครับ เพราะอาจารย์ก็ดูแลความเรียบร้อยจนจบงาน รุ่นพี่ก็ดูแลรุ่นน้อง เหมือนเป็นสังคมย่อยที่แบ่งปันกัน สร้างสังคมที่ดีขยายออกไปได้”
เจริญพร ศรีตระการ
เจ้าของร้าน ป้อม ตัดผมชาย หัวหิน
ช่างตัดผม จิตอาสา
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…