ถึงแม้ว่าย่านกะดีจีนเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี แต่มีรากเหง้าความเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา การที่เราจะอยู่กับย่านเก่า ถ้าไม่มีการปรับตัว การมีชีวิตชีวาของย่านก็จะสูญสลายไปโดยเร็ว

“คำว่า ย่าน คือพื้นที่ที่เป็นจิตสำนึกของคนใน แต่เนื่องจากพื้นที่การบริหารการปกครองเปลี่ยนตั้งแต่อำเภอ ตำบล เขต ทำให้พื้นที่ทางวัฒนธรรมของคนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา รัตนโกสินทร์ เลือนหายไป เลยคิดว่าเราควรสร้างสำนึกชุมชนของความเป็นย่านขึ้นมา ที่จะใช้ต่อรองกับฝ่ายปกครองได้ ซึ่งทำให้มีโอกาสเจอกับอาจารย์แดง (ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง – UddC) ที่มาทำงานในย่านนี้กว่าสิบปี ต้องบอกว่าอาจารย์มาทางสายสถาปัตย์ฯ แล้วขยายไปทางการผังเมือง ทิศทางการพัฒนาเมือง ก็เป็นองค์ความรู้ที่บ้านเราเพิ่งตื่นเรื่องการวางผังเมืองสักยี่สิบปีมานี้ แต่สิ่งหนึ่งที่เราต้องเข้าใจคือ สมัยก่อน งานทางด้านสถาปัตย์ฯ วิศวะฯ กฎหมาย รัฐศาสตร์การปกครอง แยกออกเป็นส่วนๆ แต่เดี๋ยวนี้เป็นพหุหมดเลย ส่วนผมศึกษางานทางมานุษยวิทยา ซึ่งต่างประเทศให้ความสำคัญมานานเกือบๆ ร้อยปี แต่ของเราเพิ่งจะตื่น แล้วงานทางนี้ไม่ทำเงิน แต่เป็นเครื่องมือที่บูรณาการกับองค์ความรู้อื่นๆ เช่น งานการเมืองการปกครองต้องรู้จักคน งานสถาปัตยกรรมก็ต้องเรียนรู้ผู้คน อย่างจะออกแบบบ้านให้คน ต้องศึกษาว่าแวดล้อมเขาเป็นคนประเภทไหน อยู่แบบไหน ชอบอะไร เข้าไปทั้งหมดเลย เสื้อผ้าหน้าผม การแต่งกาย อาหารการกิน นี่คืองานทางด้านมานุษยวิทยา ตรงนี้เลยเป็นจุดบรรจบที่ได้มาเจออาจารย์แดง

ชุมชนเก่าแก่ของฝั่งธนที่มีรากยึดโยงต่อเส้นทางคมนาคมของแม่น้ำเจ้าพระยา คือย่านฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา 4 ย่าน ประกอบด้วยย่านกะดีจีน ทางตอนใต้เป็นคลองสาน ขึ้นไปตอนเหนือมีย่านวังเดิม และย่านวังหลัง พ้นจากนี้ไปก็จะเบาบางทางรากเหง้าของผู้คน อาจารย์ทำพื้นที่แรกคือย่านกะดีจีน ถามว่า เราใช้คำว่า ย่านกะดีจีน ถูกหรือเปล่า ผมบอกถูก คือไม่ได้ไปแย่งกับใครเขา เพราะคำว่า ย่าน คนเลิกใช้แล้ว ยิ่งคำว่า กะดีจีน คนก็ลืมไปละ พระยาอนุมานราชธนบอกว่า กะดี ที่แปลว่า เรือนที่อยู่ของสงฆ์ รากความมาจากภาษามคธคือภาษาสันสกฤต ถูกใช้มาอย่างสับสนในวัฒนธรรมจีน แขก ฝรั่ง ฉะนั้นผมเลยเอาคำที่เขาไม่ได้ใช้ คือคำว่า กะดี ที่แปลว่า โรงประชุมของศาสนา แล้วมาบวกกับคำว่ากะดีจีน จะได้ไม่ทับซ้อนกับพื้นที่ตรงโบสถ์ซางตาครู้ส ที่ใช้ว่า กุฎีจีน เป็นย่านฝรั่งที่มาอยู่ชุมชนชาวจีน แล้วเราก็มาบูรณาการร่วมมือกับอาจารย์จากย่านกะดีจีนไปย่านคลองสาน ตอนแรกเราทำย่านกะดีจีนก็ว่าโอเคแล้วเพราะเป็นย่านแรกที่ตื่นรู้ สมัยที่มีปัญหากับคนที่ชายแดนภาคใต้ กรณีตากใบ กรือเซะ ท้ายที่สุดเราก็วิ่งมาดู หาโมเดลว่าที่ไหนเขาอยู่รวมกันได้ ก็เอาวาทกรรมว่า อยู่ร่วมกันโดยสันติ เอาคำนี้มายัดในพื้นที่ย่านนี้เพื่อที่จะไปแสดงพื้นที่เบียดขับอีก แต่เราคิดว่า เราไม่ดูว่าสันติไม่สันติไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องพหุวัฒนธรรม

คำว่าพหุวัฒนธรรมคุณไปที่ไหนก็เจอ มันผสมกันมาอยู่แล้วตั้งแต่สมัยอยุธยา เอาเข้าจริงๆ เลือดของคนสยามก็ระคนปนกัน ซึ่งพอมาศึกษา อาจจะไม่ใช้แค่ดีเอ็นเอทางเลือดเท่านั้น แต่ใช้ดีเอ็นเอทางวัฒนธรรมร่วมด้วย ทำให้เราเข้าใจตัวตนของเราได้มากขึ้น เช่น คุณไปเจออาหารหนึ่ง ยกตัวอย่าง มัสมั่น คุณต้องตั้งข้อสงสัยแล้วว่ายีนตัวนี้คืออะไร มาจากไหน ความหมายของมัสมั่นแปลว่าอะไร ใครเป็นคนทำ อะไรบ้างเป็นตัวบ่งบอก แต่สังคมเรายังคงป๊อปกับวัฒนธรรมอาหาร ได้รางวัล Best of the World ก็เฮ แต่ไม่รู้ว่าคืออะไร อย่างสลิ่ม ขนมฝรั่งกุฎีจีน ก๋วยตั๊ส กุสรัง นี่คือดีเอ็นเอทางวัฒนธรรมทั้งหมด กุสรัง คือคำว่า ตรุษฝรั่ง แล้วใครคือฝรั่ง ก็คือชาวโปรตุเกสที่เข้ามาบ้านเรา ลักษณะอาหารของเขาคือวัฒนธรรมฝรั่ง กุสรังก็คือขนมที่ใช้ในเทศกาลคริสต์มาส หรือตรุษฝรั่ง

การขับเคลื่อนของโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูในพื้นที่ย่านกะดีจีน-คลองสานที่ต่อยอดโครงการขับเคลื่อนย่านกะดีจีน-คลองสาน สู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ คือ UddC ใช้งานทางสถาปัตยกรรมผังเมืองและเครื่องมือศิลปะ บูรณาการเข้ากับเรื่องของประวัติศาสตร์ อาหาร การสร้างงานศิลปะ ซึ่งย่านกะดีจีนกลายมาเป็นพื้นที่ที่กรุงเทพมหานครเลือกให้ความสนใจและถือเป็นต้นแบบสำหรับพื้นที่เขตต่างๆ ในกรุงเทพมหานครอีกกว่า 20 เขต แต่เวลาสำนักงานเขตมาเอาโมเดลเราไป เราก็ดีใจ แต่ก็ต้องเข้าใจ ต้องศึกษาแล้วปรับให้เข้าโมเดลของพื้นที่คุณ แล้วดึงคาแรกเตอร์นั้นขึ้นมา ไม่ควรเอาสำนึกหรือความรู้สึกของพื้นที่ย่านกะดีจีนไปครอบกับพื้นที่อื่น

ถึงแม้ว่าย่านกะดีจีนเป็นชุมชนที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงธนบุรี แต่มีรากเหง้าความเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยา การที่เราจะอยู่กับย่านเก่า ถ้าไม่มีการปรับตัว การมีชีวิตชีวาของย่าน ก็จะสูญสลายไปโดยเร็ว ปัจจุบันคือการปรับตัวรับกระแสการท่องเที่ยว รับการศึกษาทางมิติของประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม อย่างตอนนี้มีรถไฟฟ้าเข้ามาหน้าบ้าน ก็เป็นพื้นที่สาธารณะที่ทุกฝ่ายให้เกียรติซึ่งกันและกัน คิดว่าชุมชนเราน่าจะมีพื้นที่มิตรภาพของการเยี่ยมเยือน ซึ่งต้องสร้างไปพร้อมกับสร้างสำนึกจิตสาธารณะ อย่างเราไปดูชุมชนสามชุก เขาถูกเทรนมาอย่างดี คุณจะเข้าห้องน้ำนะ ขอเข้าบ้านไหนก็ได้ ไม่มีห้องน้ำสาธารณะ พอเราไปขอ เราก็ต้องมีการอ่อนน้อมถ่อมตน เราไปใช้บริการเขา เราก็เลยมาทำบ้านเรา ใครผ่านไปมาขอเข้าห้องน้ำได้ โรงพักบุปผารามที่อยู่ด้านหน้าเขาทำก่อน โรงพักมี บ้านผมมี มัสยิดมี วัดกัลยาณมิตรมี นั่นหมายความว่าเราพร้อมจะต้อนรับคนที่เข้ามา ผมบอก ตำรวจ พยาบาล อสม. ชุมชน เข้ามาเถอะ เมื่อไหร่ก็ได้ จะเข้ามาประชุม ปรึกษาหารือได้ บ้านเราถ้าไม่ปรับตัวก็ตาย หรือทิ้งขายไปมันก็จบ แต่ของเรากลับรู้สึกว่า บูรณะ สร้างสำนึก ค้นคว้า ให้ความรู้ การที่คนเข้ามาในนามของการท่องเที่ยว เรามีแต่จะให้ความรู้กับเขา ไม่ใช่เพื่อรางวัล มันคือการกระจายความรู้ไป

บ้านหลังนี้เป็นบ้านคุณย่า ท่านเป็นแม่ค้าธรรมดา ผันตัวเองจากสังคมชาวนามาเป็นสังคมการค้าในพระนคร ใช้ชีวิตอยู่ทั้งตลาดท่าเตียนกับตลาดปากคลอง เดิมอยู่บริเวณปากคลองมอญ พอโดนเวนคืนที่ ท่านก็เอาเงินที่สะสมมาซื้อบ้านหลังนี้แล้วบูรณะ ก็อยู่กันหลายชีวิต ผมก็เกิดบ้านนี้แหละ จนโตก็มาสืบค้นข้อมูลว่าเป็นบ้านของพระยาราชานุประดิษฐ์ ขุนนางวังหน้าในสมัยรัชกาลที่ 5 ท่านอยู่จนเสียชีวิต และลูกหลานอยู่บ้านนี้ประมาณสามสิบปี พอบ้านร้าง จนคุณย่ามาเจอแล้วซื้อไว้ ทาสีบ้านก็ยกเสาเรือนทั้งหมด 30 กว่าต้น คุณย่ามีลูกสามคนก็ปลูกบ้านไว้สามหลัง ลูกกระจัดกระจายไปอยู่ต่างพื้นที่ จนพื้นที่ดินตกมาเป็นของคุณพ่อ ถ้าใช้วิธีคิดแบบเดิมก็เหมือนขนมชั้นนะ บ้านนี้มีแปดคน ลองคิดดู ที่ 60 ตารางวา แบ่งยังไง ผมเลยคิดกับพ่อว่าไม่อยากแบ่งที่ดิน ทำยังไงให้เกิดประโยชน์ แล้วเกิดประโยชน์กับคนตายที่เราไม่รู้จักท่านเลยเช่นพระยาราชานุประดิษฐ์ด้วย ก็ซื้อกลับมาเป็นผืนเดียว มาบูรณะบ้านแต่ยังไม่แล้วเสร็จ เปิดพื้นที่ข้างล่างให้ลึกและโล่ง คนไปนั่งได้ ทำกิจกรรมได้ สามารถรองรับได้ 70-100 คน และใช้พื้นที่ตรงนี้ทำแบรนด์ชื่อ ฬ.จุฬา มาจากนามสกุลพระราชทานอหะหมัดจุฬาในสายของผมที่สัมพันธ์กับสายสกุลบุนนาค มีกิจกรรมเชิงมิติประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องเตรียมคนในย่าน สอนให้น้องๆ ทำด้วย อย่างมากินอาหารกลางวัน ก็เอาอาหารของคนในย่านมารับรองและได้เรียนรู้ไปด้วย เพราะเราอยู่ในวัฒนธรรมอาหารที่มีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์”

ธีรนันท์ ช่วงพิชิต
ประธานมูลนิธิประชาคมย่านกะดีจีน-คลองสาน
ประธานศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

5 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

2 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

2 months ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago