ถ้าคุณไม่เจอมนุษย์เลย มันไม่จำเป็นต้องไปนอนโรงแรมหรอก การได้เจอพนักงาน เจอความรู้สึก มันช่วยได้

             “ผมเป็นคนกรุงเทพฯ จบรัฐศาสตร์ รามคำแหง ไม่ใช่สายโรงแรม แต่ทำงานโรงแรมมาตลอด เริ่มงานเป็นคนเปิดประตูหน้าโรงแรมคนแรกของโรงแรมรอยัล ออร์คิด เชอราตัน ทำอยู่ประมาณ 3 ปี แล้วก็ไปทำโรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพฯ 7 ปีจนเป็นผู้ช่วยฟรอนต์ออฟฟิศ แล้วก็เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฟรอนต์ออฟฟิศมาอยู่ที่โซฟิเทล เซ็นทรัล หัวหิน ย้ายไปทำโรงแรมบลูเวฟหัวหิน ไปเป็นผู้จัดการส่วนโรงแรมของสนามกอล์ฟ สปริงฟิลด์ รอยัล คันทรี คลับ ไปอยู่ที่รายา รีสอร์ต ชะอำ มีกลับไปทำโรงแรมที่กรุงเทพฯ พักนึง จนปัจจุบันเป็นผู้จัดการทั่วไปโรงแรม ซิตี้ บีช รีสอร์ท ถ้าอยู่พื้นที่หัวหินก็เกือบ 30 ปี เพราะฉะนั้นเห็นความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เข้าหัวหิน ผมย้ายถิ่นฐานมาอยู่นี่สบายกว่าเยอะ ที่กรุงเทพฯ ผมอยู่หนองแขมมาทำแชงกรี-ลา บางรัก เราเสียเวลาเรื่องการจราจร ไปกลับเสียเวลา 4 ชั่วโมงครึ่ง ทำอะไรไม่ได้ มาหัวหิน ทำงาน 8 โมงครึ่ง ตื่น 8 โมง ขี่มอเตอร์ไซค์ด้วย อากาศก็ดี แล้วผมมาจังหวะดี ในหลวงท่านแปรพระราชฐานมาที่วังไกลกังวล อยู่กรุงเทพฯ ไม่เคยเจอ อยู่หัวหินได้เข้าไปรับท่าน ได้ใกล้ชิด

               ตอนนั้นที่ออกจากแชงกรี-ลามาหัวหิน ประมาณปี พ.ศ. 2530 หัวหินมีห้องพักอยู่ 3,000 กว่าห้อง โรงแรมรถไฟที่เปลี่ยนมาใช้แบรนด์โซฟิเทลก็หรู ห้าดาว ข้างกันคือโรงแรมเมเลีย แล้วก็มีรอยัล การ์เด้น รีสอร์ทกับรอยัล การ์เด้น วิลเลจ ช่วงนั้นโรงแรมโซฟิเทลรถไฟเป็นที่นิยมของต่างประเทศ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวเยอรมัน มาโดยทัวร์โอเปอเรเตอร์ เขาชอบโรงแรมที่มีประวัติศาสตร์ ลอบบี้โอเพ่นแอร์ ตัวตึกเก่าสมัยเจ็ดสิบกว่าปี อุปกรณ์เก่าสมัยโรงแรมรถไฟ ตู้โทรศัพท์ ตู้เซฟ ทุกอย่าง โถฉี่แตกลายงาแล้วยังอยู่ สวิตช์ไฟยังเป็นดั้งเดิม เพดานสูงมีพัดลม ฝรั่งชอบ แต่คนไทยไม่ชอบ กลัวผี พื้นเดินตอนกลางคืนก็มีเสียง พอตอนหลังโซฟิเทลเป็นเชนโรงแรม ก็เปลี่ยนเชนกับเซ็นทรัลจนเซ็นทรัลมาทำเองเป็นเซ็นทารา แกรนด์ บีช รีสอร์ทและวิลลา หัวหิน โรงแรมก็ยังขายได้ มีสองสระว่ายน้ำ ติดทะเล อีกสระดำน้ำฟังเพลง Music in the Water ฝรั่งตอนนั้นที่เข้ามาก็เป็นเกรดดี ใช้จ่าย และอยู่ยาว 2-3 อาทิตย์ พวกเยอรมัน ยุโรปเยอะ ช่วงหน้าหนาวของเขา พอสักพัก เปลี่ยนกลุ่มไป พวกสแกนดิเนเวียเริ่มเข้ามา เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ แต่กลุ่มทางอเมริกา รัสเซีย ไม่นิยม เขาชอบเอนเตอร์เทน ตรงนี้เป็นเมืองที่เงียบ เพราะเขตพระราชฐาน บาร์เบียร์ที่เห็นนี่คือนั่งดื่มอย่างเดียว เลยกลายเป็นว่าแฟมิลี่มาสบาย แฟนมาสบายใจเดินออกไปไม่โดนดึงออกไปกลางทาง ก็กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับครอบครัว

               ชายทะเลแถบนี้เรียก Royal Coast เดี๋ยวนี้ทำโปรเจกต์เป็น Thailand Riviera ผมเองว่าไปเอาชื่อเขามาใช้ ชอบชื่อ Royal Coast มากกว่า พื้นที่ยาวตามทะเลตั้งแต่เพชรบุรี ประจวบฯ ชุมพร ระนอง ยาวหลายร้อยกิโลเมตร สำหรับประจวบคีรีขันธ์ 8 อำเภอ มีความหลากหลายมาก อำเภอหัวหินเจริญกว่าอำเภอเมือง อำเภอหัวหินเป็นอำเภอแรก อำเภอเมืองเป็นศูนย์ราชการ จะวุ่นวายวันธรรมดา เสาร์อาทิตย์จะเงียบเลย หัวหินมีความเจริญครบทุกอย่าง คนมาลงทุน ความเจริญพัฒนาโดยอสังหาริมทรัพย์ ทั้งๆ ที่สมัยเก่า หัวหินเขาเรียก กบาลถมอ สมอโพรง ลูกหลานรุ่นเก่ามอบมรดกที่ชายฝั่งทะเล ปลูกอะไรไม่ได้ ไม่เอา ไปเอาที่หลังเขา ปลูกสับปะรด แต่ปรากฏที่ชายฝั่งทะเลมรดกนี่รวยกว่าเพื่อน กลายเป็นรีสอร์ตไปหมดแล้ว คนหัวหินนามสกุลเก่าๆ ก็ยังมี โรงแรมเครือใหญ่ๆ โรงแรมริมทะเล โรงแรมสามดาว เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ แล้วก็มีโรงแรม ซิตี้ บีช รีสอร์ท โรงแรมหัวหินแกรนด์ เป็นการท่องเที่ยวระดับสามดาว การประชุม สัมมนา สำหรับนักท่องเที่ยวจากสแกนดิเนเวียก็เป็นพวกรีไทร์ 6 เดือนอยู่นี่ 6 เดือนกลับประเทศ เพราะค่าใช้จ่ายถูก เงินรีไทร์เขาสามารถอยู่ได้ ก็เลยเป็น Retire City

               แล้วหัวหินเป็นเมืองที่เขาเรียก Two Destinations คือผ่านอุโมงค์หัวหินมาคือชะอำ ตอนนั้นชะอำแทบไม่รู้จัก นักท่องเที่ยวรู้จักกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ หัวหิน กว่าจะดึงชื่อเสียงขึ้นมาให้คนรู้จักชะอำ เอาแบรนด์หัวหินไปขาย อย่างแต่ก่อน ดุสิต โปโล ชะอำ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น ดุสิตธานี เชอราตัน หัวหิน แต่ดูที่อยู่คืออำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี แต่ชะอำเป็นตลาดแมส ฉิ่งฉับทัวร์ ไปเช้าเย็นกลับ ไม่ค้างคืน นั่งชายหาด แต่ชายหาดหัวหินยาวไปถึงตะเกียบ สังเกตชายหาดทรายละเอียด ละเอียดจนบางคนเอาทรายไปทำที่เขี่ยบุหรี่

               โรงแรม ซิตี้ บีช รีสอร์ท เป็นโรงแรมสามดาวที่มีห้องประชุม สัมมนา ลูกค้าหลักคือคนไทย ต่างประเทศเป็นช่วงไฮซีซัน ฝรั่ง 60 ไทย 40 นักท่องเที่ยวชาวสแกนดิเนเวีย ของผมฟินแลนด์จะเยอะ โรงแรมเปิดปี พ.ศ. 2535 สไตล์การตกแต่งที่เห็นนี่คือไม่ได้ทำอะไรเลยนะตั้งแต่เปิด ช่างไม้เขาทำ เคาน์เตอร์นี่สามสิบกว่าปี ไม่เคยทำสีเลย เป็นสีเสี้ยน ทาแล้วขัดเข้าไปในเนื้อ ลอบบี้ก็ยังคงเดิม มีงานประดับทั้งด่านเกวียน อีสาน ภาพแกะสลักไม้ทั้งชิ้นจากห้าหกแสนตอนนี้เป็นล้านบาทแล้ว เจ้าของเขามิกซ์หมด ผมเป็นอุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ ตั้งมายี่สิบปีละ ผมก็อยู่มากับหลายนายกฯ แนวโน้มการท่องเที่ยวหัวหินยังไม่ได้เป็นเมือง Mice City, Wellness, Retire City แต่ความเจริญ สิ่งที่ตามมาคือมลพิษ ขยะ สิ่งแวดล้อม มันไม่ทันกันกับความเจริญของเมือง สาธารณูปโภคตามไม่ทัน เทศบาลฯ ก็จะปวดหัวเรื่องน้ำ จำนวนห้องพักมาก น้ำดิบมีไม่มากพอ แล้วปัญหาความปลอดภัย เดี๋ยวนี้ฝรั่งรีไทร์ไม่อยู่โรงแรมแล้ว ไปนอนคอนโดรายเดือน หลังๆ ก็ซื้อบ้านเลย แล้วเขาชอบสร้างบ้านที่ไม่อยู่ในบ้าน เอาเฟอร์นิเจอร์มาติดโอเพ่นแอร์ ทีวีไม่ตั้งในบ้าน พอไม่อยู่บ้าน ก็โดนยก โดนงัด กำลังตำรวจท่องเที่ยวไม่เพียงพอ ควบคุมไม่ได้

               วิกฤติโควิดนี้คือที่สุดแล้วของวงการท่องเที่ยวที่เจอมา ผมเจอตั้งแต่สงครามเปอร์เซีย วิกฤติต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจแย่ แต่การท่องเที่ยวยังอยู่ แต่โควิดนี่หนัก โรงแรมเราตอนนี้ยังอยู่ได้แต่คือขาดทุน เพราะเราไม่สามารถเล่นสงครามราคา อย่างโรงแรมห้าดาว ธุรกิจเชนมีมาร์เก็ตติ้งของเขา อัตราเข้าพักสูง เขาขายแพง อัตราเข้าพักต่ำ เขาขายถูกได้ เพราะถูกกำหนดโดยส่วนกลาง แต่เอสเอ็มอีคือว่ากันเอง โรงแรมเล็กๆ ถ้าตั้งราคาสูงก็ไม่มีใครใช้ ตั้งต่ำเกินไปพอจะขยับแขกก็ไม่มา แล้วราคาเดี๋ยวนี้ต้องดูกับโปรดักต์ด้วย บางที่ก็ไม่ตรงปก คือตั้งแต่รุ่นการโฆษณาทางสื่อ สิ่งพิมพ์ มันก็โอเค แต่ยุคโซเชียลเน็ตเวิร์ก มันเริ่มง่ายขึ้น เร็วขึ้น มันมีทั้งบวกทั้งลบ อย่างโรงแรมใหม่ๆ ที่ขึ้นมา คุณจะทำสิ่งอำนวยความสะดวกให้ไฮเทคยังไง มันก็อยู่ที่การบริการ คุณอยากเข้าไปโรงแรมหุ่นยนต์มั้ย ไม่ คุณอยากเห็นหน้าตายิ้มแย้ม สวัสดีครับ การบริการคนไทยดีที่สุด เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหาร ทำงานได้รวดเร็วขึ้น แต่ยังต้องใช้ manpower เครื่องมันให้ความรู้สึกไม่ได้ คุณจะมาเช็คอินออนไลน์ทั้งหมด แต่ถ้าคุณไม่เจอมนุษย์เลย มันไม่จำเป็นต้องไปนอนโรงแรมหรอก การได้เจอพนักงาน เจอความรู้สึก มันช่วยได้”

ศิราสิทธิ์ เติมพงศ์ธานิน

ผู้จัดการทั่วไปโรงแรม ซิตี้ บีช รีสอร์ท (City Beach Resort)

อุปนายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน-ชะอำ

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

5 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

2 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

2 months ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago