“ผมเป็นหนึ่งในคณะนักวิจัยโครงการการออกแบบและพัฒนานวัตกรรม พื้นที่การเรียนรู้ เพื่อสร้างเสริมทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในเขตเทศบาลเมืองหัวหิน บทบาทผมคือพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลให้กับชุมชนที่เป็นพื้นที่วิจัย อบรมพัฒนาความรู้พื้นฐานให้บุคลากรในชุมชนสามารถเป็นคนที่นำเรื่องราว สินค้า หรือบริการ มาเล่า เพื่อให้เกิดมูลค่า พอเขามีความรู้แล้ว เราก็อยากเป็นต้นแบบของชุมชนที่ใช้แพลตฟอร์มของตัวเอง คือชุมชนอาจจะขายผ่านลาซาด้า เดลิเวอรี ช้อปปี้ หรือสื่อต่างๆ ที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมค่อนข้างสูง ซึ่งเขาก็บ่นว่าไม่เหลืออะไร เราเลยเขียนขอทุนหน่วยงานภาครัฐ ไปที่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงดิจิทัลฯ และที่ DEPA (สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล) ได้รับทุนมาสร้างแอปพลิเคชัน “หนูจวบ” เป็นแพลตฟอร์มของชุมชน ซึ่งก็เป็นเครื่องมือรองรับการเป็น Smart City ด้วย คือในชุดของผมนอกจากเป็นคณะวิจัยแล้ว ท่านนายกฯ (นพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน) ก็ตั้งเป็นคณะทำงานด้านการขับเคลื่อนหัวหินเมืองแห่งการเรียนรู้ ตามนโยบายให้เมืองหัวหินก้าวไปสู่เวิลด์คลาส โครงการนี้ก็บอกว่าประชาชนในพื้นที่เขาพร้อม ถึงแม้ว่าเขาจะไม่รู้เรื่องโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยี แต่เขาพร้อมเป็นคนเล่าเรื่อง เขาสามารถใช้ชีวิตแบบ Next Normal ด้วยซ้ำ ไม่ใช่ New Normal คือก้าวไปอีกขั้น แล้วพอทุกคนเรียนรู้ สิ่งที่เกิดขึ้นไปไกลกว่านั้นคือ ชุมชนตรงนี้แวดล้อมไปด้วยชาวต่างชาติทั่วโลก เขาสามารถคุยออนไลน์ได้ทั่วทั้งโลกเลย แล้วตอนนี้เขาหยิบอะไรก็ได้ ไม่เฉพาะแค่ของชุมชนเขา เอาไปขาย หยิบสินค้าจากทั่วประเทศ แต่ถามว่าแพลตฟอร์มหนูจวบไปสู้กับรายใหญ่ มันคงสู้ไม่ได้ สิ่งที่เราได้คือคนมาดูงาน อบต.จากทั่วประเทศ พออบต.มาหนึ่งคันรถบัส มันคือกำลังใจ เป็นการขับเคลื่อนชุมชนที่อยู่ตามเส้นทาง เขามาดูงานอย่างน้อยก็ต้องกิน ต้องใช้ ต้องช้อปของในชุมชน ก็เกิดความยั่งยืน
หนูจวบคือตัวตนของชุมชนพูลสุข ตัวร้านหนูจวบคือที่ศูนย์โอทอปหัวหิน ข้อดีคือทำเล อยู่ริมถนนใหญ่เพชรเกษม แต่ร้านหนูจวบเองถ้าไม่ได้นายกฯ มีวิสัยทัศน์ หรือเทศบาลฯ ให้ความสำคัญ ติดเส้นทางท่องเที่ยวไว้ มันก็เกิดขึ้นไม่ได้ ศูนย์โอทอปหนูจวบคือร้านค้าชุมชน ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกันทำเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนตามศาสตร์พระราชา ตอนนี้มีสมาชิกเครือข่ายฯ 190 คน คือแต่ก่อนทุกคนกระจัดกระจาย บางคนเป็นเกษตรกรอยู่ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ บางคนทำสับปะรดชีสเชก บางคนอยู่เกาะหลักทำปลาจิ๊งจ๊าง ตอนนี้ทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด แล้วมีความโดดเด่นตรงที่ หนึ่ง.เราอยู่เมืองท่องเที่ยว ความได้เปรียบคือเป็นร้านค้าโอทอปที่มีมาตรฐาน กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เห็นว่าร้านเราอยู่ในทำเลดี ชุมชนมีความเข้มแข็ง เขาก็เลือกเราเป็น Cluster Farm Outlet เอางบมาจัดบูทให้ฟรี เขาคัดเลือกจากทั่วประเทศมีแค่ 4 ร้าน เราเป็น The Best ของชุมชนคนตัวเล็ก เป็นตัวแทนของภาคกลาง คือจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ภาคเหนือคือจังหวัดน่าน ภาคใต้คือจังหวัดสงขลา ภาคอีสานคือจังหวัดสกลนคร สอง.เราได้โค้ชที่มีความเชี่ยวชาญระดับประเทศจากกระทรวงพาณิชย์ มาสอนชุมชนเรา สาม.เขามาจัดร้านให้ฟรี แล้วเขาก็ต้องพัฒนา ต่อยอดเราไปสู่ระดับ้สากล มีการปรับแพ็กเกจจิ้ง มาตรฐานต่างๆ ก็ขยายไป แล้วกรมพัฒนาชุมชนก็มองเห็น ให้เราเป็นต้นแบบร้านค้าชุมชนที่มีการบริหารจัดการทั้งออฟไลน์และออนไลน์ ท้ายสุด กระทรวงเกษตรก็เห็นว่าน่าสนใจ ก็ตั้งเป็น Fisherman Shop หมายความว่าเราได้รับความร่วมมือจากสามกระทรวง พาณิชย์ มหาดไทย เกษตร ก็เหมือนกับเราโตมากขึ้น
ในแง่นักวิจัย เราต้องใช้ความอดทน ตอนแรกคนในชุมชนก็คิดว่าเป็นไปได้เหรอ ทำไมต้องทำ เขาสะท้อนมาคำพูดหนึ่งว่า “คนที่นี่หาเงินง่าย” แต่ออนไลน์นี่มันเหมือนไม่ง่ายนะ บางคนอาจไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ คือไม่สามารถวัดได้ว่าจะประสบความสำเร็จเมื่อไหร่ แต่พอมีคนที่ทำแล้วสำเร็จ เขาก็เออ มันมีรายได้ แล้วตอนที่นักวิจัยทำงานเป็นช่วงที่ปิดเมืองช่วงโควิดพอดี มันไปไหนไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องเป็นออนไลน์ แล้วข้อดีของประเทศไทยคือระบบขนส่งโลจิสติกส์ไม่เป็นสองรองใคร ดังนั้นมันก็ไม่ได้ปิดเขา ต่อให้มีโควิด เขาก็ยังมีอีคอมเมิร์ซ ยังมีอาชีพใหม่ แล้วแอปพลิเคชันหนูจวบไม่จำเป็นต้องทำใหญ่ ทำให้ชุมชนเราอยู่รอด สมมติขายข้าวกล่องนึง โดนกินหมด เขาก็ไม่มีกำลังใจจะทำ เราสู้ขายให้พอเพียงดีกว่า เพราะคนที่นี่ บ้านของพ่ออะนะ ทุกคนรู้อยู่แล้วว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคือทำยังไงให้ไม่มีความทุกข์ เขาก็เลือกใช้ในสิ่งที่เขามีอยู่ แล้วเราก็ต่อยอดทำโครงการหนูจวบช่วยน้อง ทุกรายได้ที่ขาย 100 บาท เราแบ่ง 2 บาทให้กับนักเรียนที่ไม่มีรองเท้า ซึ่งเมื่อวันก่อนก็เอาเงินไปให้โรงเรียนวิทยาลัยการอาชีพปราณบุรี เด็ก 1 คนจะได้รับ 2,000 บาท ซึ่งเขาสามารถเอาไปใช้อะไรได้เยอะ เงินไม่เยอะแต่เกิดจากชุมชนช่วยกัน ทุกคนก็มีความสุข
ปัญหาที่เจอคือเจเนอเรชันที่เป็นปราชญ์ชาวบ้านกับคนรุ่นใหม่ มีคนที่เขารักในสิ่งที่เขาทำ และเขาก็เพียงพอกับรายได้ อย่างป้าอ้น ทำพัดใบตาล 60 บาท กว่าจะวาดพัดมาแต่ละตัว ขายหอยตัวละ 2 บาท ซึ่งคนรุ่นใหม่มองว่าฉันหาเงินได้ง่ายกว่า ฉันไปทำงานเซเว่นดีกว่า ฉันอยู่ห้องแอร์ ทำไมต้องมานั่งทำหอย มานั่งเขียนพัด มาทำขนมที่มันยาก แต่เขาไม่รู้ว่าถ้าเกิดคุณทำสักอย่างหนึ่ง แล้วคุณมีแนวคิดจะเป็นเวิลด์คลาสจริงๆ มันไปได้ ถ้าลองดูโอ้กะจู๋ ที่เชียงใหม่ เขาก็ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเหมือนกัน ห้างใหญ่ๆ ทุกคนรู้จักโอ้กะจู๋หมด คือก็มีคนที่คิดแบบนั้น กลุ่มที่เราโฟกัสว่าเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เขาประสบความสำเร็จในแง่ความสุข ซึ่งก็ตอบโจทย์ว่า ถ้าเรายื่นองค์การยูเนสโกในเรื่องเมืองแห่งความสุข ยูเนสโกต้องมาถามคนในชุมชน ซึ่งถ้ามา 30 วัน มาถามป้าอ้น 30 วัน ป้าอ้นก็จะบอกว่าเขามีความสุข ไม่ได้มีการจัดฉาก”
ดร.ธีรัตน์ โสดารัตน์
ทีมวิจัย