“ก่อนหน้านี้ผมเป็นพนักงานฉายหนังที่โรงหนังกิตติกรในตลาดใต้ สมัยที่เขายังพากย์เสียงอยู่นั่นแหละ หน้าที่ผมจะฉายฟิล์มจากห้องฉาย และเปิดเทปเสียงประกอบไปพร้อมกับที่นักพากย์พากย์หนังไป วันนึงหนังจะฉาย 4 รอบ ก็ดูเรื่องเดิมๆ ซ้ำๆ ประมาณ 10 วันแล้วค่อยเปลี่ยนเรื่องใหม่
ตอนนั้นได้ค่าแรงวันละ 50 บาท ก็โอเคอยู่ เพราะสมัยก่อนของยังราคาถูก และบ้านผมอยู่หลังศาลปุ่นเถ่ากง-ม่า เดินมาทำงานได้ ทำไปได้สักพักก็เริ่มมีอายุ ประกอบกับผมแต่งงานและเริ่มทำปาท่องโก๋ขายเป็นรายได้เสริม มีอยู่วันหนึ่ง หนังใกล้จะจบแล้ว ผมดันเผลอหลับ หนังมันเลยขึ้นจอขาว คนดูเลยโห่กันทั้งโรง วันนั้นแหละผมก็รู้สภาพแล้วว่าคงทำงานนี้ไม่ไหว จึงลาออกมา
ก็มาจริงจังกับปาท่องโก๋ โดยเริ่มด้วยกันกับน้องชาย พัฒนามาจากสูตรโบราณ ลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง จำได้เลยว่าสมัยก่อนต้องตื่นมานวดแป้งตั้งแต่ 5 ทุ่ม เพื่อจะได้ทันขายตอนเช้ามืด นวดด้วยมือเรานี่แหละ เล่นเอาเหนื่อยเหมือนกัน แต่มาตอนหลังมีเครื่องตีแป้งมาช่วยทุ่นแรง 2 นาทีก็เสร็จ
ตอนแรกผมขายอยู่ตลาดศาลพ่อปู่ดำและไนท์บาซาร์ ขายเช้าด้วย เย็นด้วย แต่ขายไปสักพักไม่ไหว พิษณุโลกตอนเย็นนี่ร้อน ยิ่งหน้าร้อนนี่ เอาแป้งไม่อยู่ ก็พอดีกับเจ้าของร้านปาท่องโก๋ที่ตลาดใต้เขาจะเลิกกิจการ ผมก็เลยย้ายมาขายที่นั่น แล้วก็ขายอยู่นั่นมาตั้งแต่ยังไม่มีลูกสาว ตอนนี้ลูกสาวอายุ 36 ปีแล้ว ขายมานานประมาณนั้น
ส่วนน้องชายที่พัฒนาสูตรกันมา เขาก็ย้ายไปขายที่เชียงใหม่ ชื่อร้านปาท่องโก๋ โกเหน่ง ในตลาดวโรรส ร้านที่เคยออกทีวีเพราะเขาทำปาท่องโก๋รูปไดโนเสาร์นั่นแหละ
ทุกวันนี้ก็ยังตื่นตอน 5 ทุ่มเพื่อเตรียมแป้งอยู่ เพราะจะมาขายที่นี่ตอนตีสอง เพราะเราทอดส่งร้านกาแฟต่างๆ ด้วย ขายโอเคเลย ใช้แป้งตก 50 กิโลกรัมต่อวัน ลูกค้าประจำเราเยอะ เพราะเขาชอบที่ปาท่องโก๋เรากรอบและไม่อมน้ำมัน ปกติจะขายเสร็จประมาณ 10 โมงเช้า เก็บร้าน และกลับถึงบ้านราวๆ 11 โมง กลับไปนอนก่อน และตื่นอีกทีบ่ายสองเพื่อทำน้ำเต้าหู้กับแฟน เพราะตกบ่ายจะมีรถพุ่มพวงมารับน้ำเต้าหู้เราไปขาย สมัยก่อนต้องทำเยอะ วันละประมาณ 4-500 ถุง แต่เดี๋ยวนี้ลดลงเยอะ เพราะรถพุ่มพวงก็ค่อยๆ หายไป
ขายแบบนี้ทุกวันครับ เดือนนึงจะหยุดแค่ 2 วัน เพราะมีนัดกับหมอ ปีนี้ผม 64 แล้ว ก็อยากหยุดมากกว่านี้ แต่หยุดบ่อยไม่ได้ เพราะมีลูกค้ากาแฟหลายร้านเขารอซื้อปาท่องโก๋เราไปขาย ถ้าเราหยุด เขาก็จะไม่มีขาย
ก็อยากส่งต่อเหมือนกัน แต่ลูกสาวผมเขาทำงานที่เทศบาล มีงานเป็นหลักเป็นแหล่ง เขากับลูกเขยที่ทำงานไปรษณีย์ก็จะมาช่วยเสาร์-อาทิตย์ ผมก็ขายเท่าที่ขายไหว ใครมาขอให้สอนก็สอนให้ ไม่หวงวิชาหรอก แต่จะถามก่อนทุกครั้งว่าคุณมีเวลาเรียนแค่ไหน ถ้าเขามีแค่วันสองวันหรือสัปดาห์เดียว ผมไม่สอนให้ เพราะมันครึ่งๆ กลางๆ เห็นทอดเหมือนง่ายๆ แบบนี้ แต่กว่าจะดูไฟเป็นมันต้องใช้ทั้งเวลาและประสบการณ์ ผมจะยินดีสอนถ้าคุณตั้งใจจริงและมีเวลามากพอ”
โกเล็ก-สุนทร มหาพราหมณ์
ร้านปาท่องโก๋โกเล็ก ตลาดใต้
https://www.facebook.com/profile.php?id=100057189470411&paipv=0&eav=AfbCMqEwipcKXY1gusexj65OxkPc6fjpbNyVwIZ9ese3wKwsGcVF-AcjwbU-2b1oHdo&_rdr
“เมืองอาหารปลอดภัยไม่ได้ให้ประโยชน์แค่เฉพาะผู้คนในเขตเทศบาลฯแต่มันสามารถเป็นต้นแบบให้เมืองอื่น ๆ ที่อยากส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนได้เช่นกัน” “งานประชุมนานาชาติของสมาคมพืชสวนโลก (AIPH Spring Meeting Green City Conference 2025) ที่เชียงรายเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา เน้นย้ำถึงทิศทางการพัฒนาเมืองสีเขียว…
“ทั้งพื้นที่การเรียนรู้ นโยบายเมืองอาหารปลอดภัย และโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยคือสารตั้งต้นที่จะทำให้เชียงรายเป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Wellness City)” “กล่าวอย่างรวบรัด ภารกิจของกองการแพทย์ เทศบาลนครเชียงราย คือการทำให้ประชาชนไม่เจ็บป่วย หรือถ้าป่วยแล้วก็ต้องมีกระบวนการรักษาที่เหมาะสม ครบวงจร ที่นี่เราจึงมีครบทั้งงานส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การรักษาเมื่อเจ็บป่วย และระบบดูแลต่อเนื่องถึงบ้าน…
“การจะพัฒนาเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณูปโภคแต่ต้องพุ่งเป้าไปที่พัฒนาคนและไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า การศึกษา” “แม้เทศบาลนครเชียงรายจะเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกแห่งแรกของไทยในปี 2562 แต่การเตรียมเมืองเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ว่านี้ เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นหลายสิบปี ในอดีต เชียงรายเป็นเมืองที่ห่างไกลความเจริญ ทางเทศบาลฯ เล็งเห็นว่าการจะพัฒนาเมือง ไม่สามารถทำได้แค่การทำให้เมืองมีสาธารณูปโภคครบ แต่ต้องพัฒนาผู้คนที่เป็นหัวใจสำคัญของเมือง และไม่มีเครื่องมือไหนจะพัฒนาคนได้ดีไปกว่า ‘การศึกษา’…
“ถ้าอาหารปลอดภัยเป็นทางเลือกหลักของผู้บริโภคเชียงรายจะเป็นเมืองที่น่าอยู่กว่านี้อีกเยอะ” “นอกจากบทบาทของการพัฒนาชุมชนและสังคมสงเคราะห์ กองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครเชียงราย ยังมีกลไกในการส่งเสริมเศรษฐกิจของพี่น้อง 65 ชุมชน ภายในเขตเทศบาลฯ โดยกลไกนี้ครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมในทางอ้อมด้วยกลไกที่ว่าคือ ‘สหกรณ์นครเชียงราย’ โดยสหกรณ์ฯ นี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2560 หลักเราคือการสนับสนุนเศรษฐกิจชุมชน…
“แม่อยากปลูกผักปลอดภัยให้ตัวเองและคนในเมืองกินไม่ใช่ปลูกผักเพื่อส่งขาย แต่คนปลูกไม่กล้ากินเอง” “บ้านป่างิ้ว ตั้งอยู่ละแวกสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย เราและชุมชนฮ่องลี่ที่อยู่ข้างเคียงเป็นชุมชนเกษตรที่ปลูกพริก ปลูกผักไปขายตามตลาดมาแต่ไหนแต่ไร กระทั่งราวปี 2548 สำนักงานเกษตรอำเภอเมืองเชียงราย มาส่งเสริมให้ทำเกษตรปลอดภัย คนในชุมชนก็เห็นด้วย เพราะอยากทำให้สิ่งที่เราปลูกมันกินได้จริง ๆ ไม่ใช่ว่าเกษตรกรปลูกแล้วส่งขาย แต่ไม่กล้าเก็บไว้กินเองเพราะกลัวยาฆ่าแมลงที่ตัวเองใส่…
“วิวเมืองเชียงรายจากสกายวอล์กสวยมาก ๆขณะที่ผืนป่าชุมชนของที่นี่ก็มีความอุดมสมบูรณ์จนไม่น่าเชื่อว่านี่คือป่าที่อยู่ในตัวเมืองเชียงราย” “ก่อนหน้านี้เราเป็นพนักงานบริษัทเอกชนที่ต่างจังหวัด จนเทศบาลนครเชียงรายเขาเปิดสกายวอล์กที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนดอยสะเก็น และหาพนักงานนำชม เราก็เลยกลับมาสมัคร เพราะจะได้กลับมาอยู่บ้านด้วย ตรงนี้มีหอคอยชมวิวอยู่แล้ว แต่เทศบาลฯ อยากทำให้ที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็เลยต่อขยายเป็นสกายวอล์กอย่างที่เห็น ซึ่งสุดปลายของมันยังอยู่ใกล้กับต้นยวนผึ้งเก่าแก่ที่มีผึ้งหลวงมาทำรังหลายร้อยรัง รวมถึงยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติบนภูเขา ในป่าชุมชนผืนนี้ จริง…