“ที่ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ย้ายออกจากเมือง ก็เพราะเมืองมันไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิต”

Start
250 views
14 mins read

“ผมทำบริษัททัวร์ต่างประเทศอยู่ที่กรุงเทพฯ ครอบครัวฝั่งพ่อเป็นคนพิษณุโลก ป้าไม่มีลูกหลาน พอป้าเสีย พ่อจึงรับช่วงดูแลตึกแถวหลายคูหาบนถนนสุรสีห์ก่อนถึงศาลเจ้าพ่อปุ่นเถ่ากง-ม่า ในย่านตลาดใต้ พิษณุโลก ก่อนจะมาเป็นรุ่นผม

ความที่พ่อเป็นข้าราชการ แกจึงไม่ได้มองเรื่องการค้าขายอะไร จึงปล่อยตึกให้เขาเช่า บางส่วนก็ปิดไว้ ซึ่งความที่เรามีตึกติดกันหลายหลัง ผมเลยมีความคิดที่จะรีโนเวทเพื่อสร้างย่านการค้าที่มีลักษณะเฉพาะตัวร่วมกัน แต่ความที่งานที่ทำประจำอยู่ค่อนข้างรัดตัว จึงผัดวันประกันพรุ่งเรื่อยมา

กระทั่งมีโควิด-19 นี่ล่ะครับ ที่ทำให้เราเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ ผมจึงเบรกบริษัททัวร์ และกลับมาเริ่มธุรกิจที่พิษณุโลก

ผมเปิดร้านอาหารชื่อ ‘บ้านก๋ง ตลาดใต้’ บริเวณหัวมุมเยื้องกับศาลเจ้าก่อน พร้อมกับคาเฟ่ชื่อ Brown ซึ่งอยู่ติดกัน โดยกับบ้านก๋งผมนำบริบทเดิมของอาคารและย่านที่เป็นชุมชนเก่าของคนจีนมานำเสนอ แต่ก็มีความร่วมสมัยที่ตอบโจทย์กับคนรุ่นใหม่ ส่วน Brown จะเป็นคาเฟ่สไตล์มินิมัล เรียบๆ ตามเทรนด์ ก็ตั้งใจให้ทุกคนเห็นว่าเราสามารถเก็บอาคารเก่าไปพร้อมกับการเปลี่ยนฟังก์ชั่นข้างในให้สอดรับกับยุคสมัยได้ โดยหลังจากนี้ก็มีแผนรีโนเวทตึกแถวที่มีอยู่ให้เป็นร้านอาหาร รวมถึงร้านขายสินค้าประเภทไลฟ์สไตล์ต่อไป

ผมตั้งชื่อโปรเจกต์นี้ว่า ReAlive โดยเปิดเป็นบริษัทเลย คือนอกจากทำธุรกิจ ผมอยากทำโปรเจกต์นี้นำร่อง ให้เห็นว่าธุรกิจของคนรุ่นใหม่มันอยู่ในย่านเก่าได้ และมันช่วยฟื้นฟูบรรยากาศของย่านได้ด้วย ขณะเดียวกัน อาจจะเป็นที่ปรึกษาด้านการออกแบบและฟื้นฟูย่านให้กับโครงการอื่นๆ เพราะที่ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ย้ายออกจากเมือง ก็เพราะเมืองมันไม่มีพื้นที่ให้พวกเขาอยู่ คุณอยากให้คนรุ่นใหม่อยู่ในเมือง สิ่งสำคัญคือต้องมีพื้นที่ให้เขาได้ใช้ประโยชน์ มีพื้นที่ที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของพวกเขา 

ก่อนเริ่มโปรเจกต์ ก็มีความรู้สึกท้ออยู่เหมือนกัน เพราะเคยไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ กับพิษณุโลกอยู่หลายครั้ง และเห็นว่าพิษณุโลกมันค่อนข้างเงียบ เมืองมันแห้ง เหมือนไม่รู้ว่าคนรุ่นใหม่เขาใช้ชีวิตกันที่ไหน จึงเกิดความลังเลอยู่พอสมควร แต่มีวันหนึ่งผมมีโอกาสแวะไปที่ Ruma Café & Coworking Space แล้วก็ต้องตกใจว่าเด็กๆ เขามาจากไหนกันเยอะขนาดนี้ แล้วก็มีโอกาสสำรวจพื้นที่เล็กๆ ต่างอย่างคาเฟ่ บาร์ และอื่นๆ ก็พบว่าจริงๆ คนเจนใหม่เขาก็อยู่ในเมืองเยอะนะ ถ้าเราทำพื้นที่ของเรา ก็น่าจะเป็นทางเลือกให้เขาได้ ก็เลยตัดสินใจลงมือทำ

ถ้าถามว่าหวังร่ำรวยจากธุรกิจนี้ไหม… ตอบได้ทันทีเลยว่าไม่ครับ เอาจริงๆ ผมทำทัวร์ต่างประเทศ ผลกำไรค่อนข้างดีอยู่แล้ว และถ้าผมอยากรวย ผมไม่ลงทุนกับธุรกิจนี้หรอก เพราะไม่รู้จะใช้เวลาอีกกี่ปีถึงจะคุ้มทุน แต่ในทางกลับกัน เรามีโอกาสเป็นเจ้าของอาคารในทำเลที่ดี มีย่านที่มี story ด้วย จะให้ปิดตึกไว้เฉยๆ และปล่อยทิ้งไว้กลางเมือง ไม่เพียงย่านนี้จะเสียโอกาส เมืองก็จะเสียโอกาสตามไปด้วย เพราะผมเชื่อว่านอกจากพื้นที่ คนรุ่นใหม่ก็ต้องการ story ที่มากับพื้นที่ ซึ่งสิ่งที่ผมทำมันน่าจะตอบโจทย์

นอกจากตึกแถวตรงนี้ อีกฝั่งของถนนบรมไตรโลกนาถ ผมมีตึกแถวอีก 3 คูหาอยู่ด้วย โดยตั้งอยู่ปิดทางสามแยกเข้าตลาดใต้เลย มีแผนไว้ว่าจะทำ Rooftop Café เปิดให้คนขึ้นมานั่งเล่นและชมทิวทัศน์ของเมือง แต่ลึกๆ ท้ายที่สุดแล้ว ถ้าธุรกิจผมมันอยู่ตัว ผมมีแผนที่จะทุบตึกแถวตรงนี้เพื่อทำเป็นพื้นที่สีเขียว เป็นสวนหย่อมเล็กๆ ให้กับเมือง อยากให้พื้นที่สีเขียวมันกลายเป็นสวนที่ใช้ประโยชน์ได้ เป็นแลนด์มาร์คเมืองไปด้วย และมีส่วนเสริมความงามให้ภูมิทัศน์ย่านและภาพรวมของเมืองไปพร้อมกัน

ซึ่งนั่นล่ะ ข้อดีของการเป็นเจ้าของตึกแถวครึ่งซอยคนเดียว คือการที่เราสามารถควบคุมการออกแบบและภูมิทัศน์ของย่านได้ ถ้าทำสำเร็จ มันจะกลายเป็นย่านที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะ และน่าจะช่วยทำให้เจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ในเมืองได้เห็นว่า ถ้าเราทำย่านของเราดี มันจะส่งผลต่อทัศนียภาพโดยรวมของเมืองได้จริง

แต่ถึงจะพูดแบบนี้ มันก็จะไม่มีทางประสบความสำเร็จ ถ้าเทศบาลไม่มาร่วมด้วย ร่วมยังไง? แค่คุณทำภูมิทัศน์เมืองให้เรียบร้อย หรือลำพังแค่ย่านเมืองเก่าพิษณุโลกที่ตึกเก่ามันสวยอยู่แล้ว คุณลงทุนนำเสาไฟฟ้าลงดิน เท่านั้นเลย สถาปัตยกรรมมันจะเด่นสวยขึ้นมา ดูน่าอยู่ และดึงดูดให้มีการลงทุนมากขึ้น แน่นอน การทำแบบนี้มันต้องใช้เงินเยอะ แต่หลายๆ โครงการที่ผ่านมา ก็ใช้งบประมาณมหาศาลกว่านี้ ก็ยังทำได้เลย ผมคิดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถของหน่วยราชการหรอกครับ หากเขาตั้งใจจริง”

ยอดพล อุทัยพัฒน์
เจ้าของบริษัททัวร์ ฟีลโซกู๊ด จำกัด และ ไปไหนมา
.com (www.painaima.com)
เจ้าของร้าน บ้านก๋ง ตลาดใต้ และ
Brown Café 

https://www.facebook.com/bankong.phitsanulok
https://www.facebook.com/BrownCafe2017

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย