“ที่ประเทศไทยเรามาถึงทุกวันนี้ได้
มาจากพงศาวดารความยาวแค่ 15 บรรทัดที่บอกว่าพระเจ้าตากมาตั้งค่ายรวบรวมไพร่พลอยู่เมืองระยอง”

Start
290 views
20 mins read

“ผมชื่อเฉลียว นามสกุลราชบุรี หลายคนเข้าใจว่าผมเป็นคนราชบุรี แต่จริงๆ ผมเกิดที่ตรัง ทำงานอยู่ระยองมาหลายสิบปี ตอนนี้เกษียณ ใครถามก็จะบอกว่าเป็นคนระยอง

ผมเคยรับราชการเขตพื้นที่ประถมการศึกษาระยอง ควบคู่ไปกับการทำงานสภาวัฒนธรรม พอทำงานด้านการศึกษาและศิลปวัฒนธรรมมากเข้า ก็พบว่าระยองยังไม่ค่อยมีการศึกษาด้านประวัติศาสตร์ของเมืองเท่าที่ควร หรือคุณไปหาอ่านเอกสารเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ จะพบเพียงข้อมูลเกี่ยวกับเมืองนี้สั้นๆ ถ้าไม่มีการบอกเล่าปากต่อปาก ลูกหลานคนระยองคงไม่มีใครได้รู้ประวัติศาสตร์บ้านเกิดตัวเอง

ด้วยเหตุนี้ผมจึงเริ่มรวบรวมข้อมูล ทั้งจากจดหมายเหตุ ประวัติท้องถิ่น ไปจนถึงการสัมภาษณ์ผู้เฒ่าผู้แก่ จนสามารถเรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยเขียนเล่มแรกเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมืองแกลง ผมทำงานนี้โดยใช้ทุนของตัวเอง ทำด้วยใจล้วนๆ จนเทศบาลเมืองแกลงมาเห็น เขาก็จัดพิมพ์ให้ในปี 2549

จากแกลง ผมย้ายมาประจำที่สำนักงานอำเภอเมืองระยอง ก็ทำแบบเดียวกัน คือเริ่มศึกษาระยองตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ผู้คนยุคแรกเขาอยู่มายังไง ยุคสมัยของอาณาจักรเปลี่ยนแปลงแล้วคนระยองตอนนั้นเป็นยังไง จนเกิดเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เมืองระยอง หนากว่า 500 หน้า จัดพิมพ์ในปี 2551 รอบนี้ได้ ปตท. มาสนับสนุนการจัดพิมพ์ 

พอหลังจากเขียนหนังสือเล่มที่สองจบ ผมก็ตั้งปณิธานว่าผมจะต้องเขียนหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับผู้คนในจังหวัดนี้ออกมาให้ได้อย่างน้อยปีละหนึ่งเล่ม ทำตั้งแต่นั้นมาจนเกษียณ และยังคงเขียนต่อไป ล่าสุดผมเพิ่งจัดพิมพ์หนังสือ ‘บ้านเพที่ไม่ทันได้เห็น’ เป็นหนังสือประวัติศาสตร์ของตำบลบ้านเพ เขียนร่วมกับ อาจารย์ฝ้าย-จิรพันธุ์ สัมภาวะผล (ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านเพ) และคุณพงศ์ปณต ใจยา (อาสาสมัครวัฒนธรรมจังหวัดระยอง) ขณะเดียวกัน ก็กำลังเขียนหนังสือเกี่ยวกับตำบลตะพง

ความที่เขียนแค่หนังสืออย่างเดียว องค์ความรู้อาจไม่แพร่หลายนัก ผมจึงมีความคิดที่จะเอาข้อมูลในหนังสือมาแปลงเป็นพื้นที่ที่จับต้องได้ ทั้งยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้อีก ก็เริ่มจากปี 2551 ที่เขียนถึงเมืองระยอง จนร่วมกับหน่วยงานต่างๆ และชุมชนเมืองเก่ายมจินดา จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เมืองระยองบนถนนยมจินดา ก็ได้การอนุเคราะห์จากหน่วยงานต่างๆ นำโบราณวัตถุและภาพถ่ายเก่าๆ มาจัดแสดง ส่วนผมก็เป็นผู้บรรยายด้วยตัวเองทุกครั้งที่มีแขกเหรื่อมาเยี่ยมชม หลายคนอาจไม่ทราบว่าจริงๆ แล้วระยองเป็นเมืองสำคัญในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาเชื่อมต่อกับยุคกรุงธนบุรี เนื่องจากพระเจ้าตากสินมหาราชมาตั้งค่ายรวบรวมไพร่พลที่เมืองนี้ก่อนเหตุการณ์ทุบหม้อข้าวเข้าตีจันทบุรี ผมศึกษาเรื่องนี้ และพบว่าพระเจ้าตากตั้งค่ายอยู่ที่นี่ถึง 4 เดือน 15 วัน น้อยกว่าตอนที่ท่านอยู่จันทบุรีเพียงหนึ่งวัน จึงคิดว่าน่าจะเผยแพร่ให้คนอื่นๆ ได้รู้กัน

ผมนำความคิดนี้ไปเสนอผู้ว่าราชการจังหวัด เรามีพื้นที่ว่างระหว่างวัดลุ่ม (วัดลุ่มมหาชัยชุมพล) และวัดเนิน ซึ่งเป็นบริเวณที่พระเจ้าตากเคยมาตั้งค่ายและสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์ น่าจะทำเป็นอนุสรณ์สถานให้ผู้คนจดจำ อย่างไรก็ตาม พอคิดๆ ไปแล้ว ก็ตระหนักว่าถ้าเป็นแค่อนุสาวรีย์ ก็คงจะเหมือนสถานที่แห่งอื่นๆ ทั่วไป เลยคิดจะทำศูนย์การเรียนรู้ขึ้น ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ก็เอาด้วย จึงนำงบยุทธศาสตร์จังหวัดมาจัดสร้างในพื้นที่ดังกล่าว

ก็เริ่มจากข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ผมไปค้นคว้า ทั้งเส้นทางการเดินทัพจากอยุธยามาระยอง การรวบรวมไพร่พล และกลยุทธ์ในการรบของพระเจ้าตาก เป็นต้น หลังจากนั้นก็ขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิด้านประวัติศาสตร์มาช่วยตรวจทานเนื้อหา และได้ ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นที่ปรึกษา

จากนั้นก็ไปคุยกับบริษัท รักลูก กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเชี่ยวชาญด้านการออกแบบศูนย์การเรียนรู้ นำข้อมูลไปออกแบบพื้นที่ แปลงเนื้อหาออกมาเป็นภาพยนตร์สั้น สื่อความรู้แบบแสง สี เสียง และนิทรรศการหลากรูปแบบ จนเกิดเป็น ‘อุทยานการเรียนรู้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จังหวัดระยอง’ เปิดทำการครั้งแรกในวันที่ 12 สิงหาคม 2561

 อุทยานการเรียนรู้แห่งนี้ดูแลด้วยรูปแบบมูลนิธิ โดยจังหวัดยกให้เทศบาลนครระยองรับผิดชอบเรื่องการจัดการ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงาน ตอนนี้กลายเป็นสถานที่ดูงานของจังหวัด และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่ถ้าใครมาระยอง จากนี้จะไม่ใช่แค่ไปเกาะเสม็ด เที่ยวป่าโกงกาง หรือเดินเล่นบนถนนยมจินดา แต่ต้องมาเยี่ยมชมอุทยานแห่งนี้ให้ได้ ซึ่งเรายังเปิดให้เข้าชมฟรี พร้อมมีมัคคุเทศก์นำชม

ว่าไปแล้ว อุทยานแห่งนี้เกิดจากการขยายเนื้อหาจากพงศาวดารที่ปรากฏเรื่องพระเจ้าตากกับเมืองระยองความยาว 15 บรรทัด บางคนอาจคิดว่าแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แค่นี้ ทำไมเราต้องศึกษาเรียนรู้ด้วย ผมจึงขออธิบายแบบนี้

พอตระหนักว่ากรุงศรีอยุธยาไม่สามารถรับศึกจากพม่าได้แล้ว พระเจ้าตากจึงนำไพร่พลราว 1,000 นายฝ่าด่านออกมาจากอยุธยา เดินทางมาทางทิศตะวันออก ท่านมาตั้งหลักที่ระยองเพราะเห็นถึงชัยภูมิที่ดี เมืองอยู่ติดทะเล น้ำท่าอาหารก็ดี ก็เริ่มจากสู้รบกับเจ้าเมืองระยองเพื่อยึดเมือง สถาปนาเป็นกษัตริย์ที่นี่ ก่อนจะวางแผนเข้าตีเมืองจันทบุรี

ทีนี้ลองมาคิดดูกำลังพลพระเจ้าตากมีแค่ 1,000 นาย แต่ถ้าจะไปตีจันทบุรีที่มีกองทัพและกำแพงเมืองแน่นหนา คุณคิดว่าท่านจะรบชนะไหม ซึ่งไม่อย่างแน่นอน พระองค์จึงรวบรวมไพร่พลและเสบียงที่นี่ อย่างน้อยๆ ต้องมีทหารเพิ่มขึ้นสัก 3-4 เท่า

ตรงนี้แหละประเด็นสำคัญ การเกณฑ์คนไปร่วมรบนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายนะ คุณอยู่บ้านดีๆ จู่ๆ มีคนมาเกณฑ์คุณไปร่วมรบ ซึ่งหมายถึงไปตายเอาดาบหน้า แพ้ก็ถูกฆ่า ยศถาบรรดาศักดิ์ก็ไม่มี เป็นคุณ คุณจะไปไหม? แต่พระเจ้าตากก็สามารถรวบรวมพลจากที่นี่ได้ถึง 4,000 นาย ได้ทั้งอาวุธ และเสบียงพร้อมสรรพ ซึ่งในที่สุดท่านก็สามารถนำกำลังไปตีเมืองจันทบุรีได้สำเร็จ ก่อนจะรวมกับไพร่พลที่นั่นย้อนกลับมาขับไล่พม่า และสถาปนากรุงธนบุรี   

เนื้อหาตรงนี้แหละที่ผมอยากสื่อสาร ถ้าไม่ได้บรรพบุรุษของคนระยองที่ยอมเสียสละเลือดเนื้อร่วมรบกับพระเจ้าตากจนไล่พม่าออกไปได้ ไม่แน่ป่านนี้ คนไทยอาจไม่มีแผ่นดินอยู่ นี่จึงเป็นหน้าประวัติศาสตร์ที่คนระยองควรภาคภูมิใจ ผมก็อยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาเที่ยวชม มาเรียนรู้ เพราะประเทศเรามาถึงทุกวันนี้ได้ ก็จากเนื้อหาในพงศาวดารแค่ 15 บรรทัด ซึ่งผมภูมิใจมากๆ ที่มีส่วนถ่ายทอดออกมาให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้กัน”

เฉลียว ราชบุรี
ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดระยอง นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเมืองระยอง
https://www.facebook.com/kingtaksinthegreatrayong/

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย