การทำงานวิชาการ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัย การทดลองต้นแบบ หรือการปฏิบัติการจริงบนฐานความรู้ร่วมกับชุมชน และหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ วิธีการนี้ถูกติดตั้งและใช้งานกันมาจนคุ้นเคยผ่านระบบของสภาเทศบาล การทำงานของกองยุทธศาสตร์ และแผนงบประมาณ รวมไปถึงกลไกของภาคประชาชน บรรดานักวิชาการ ภาคประชาสังคม และเอกชน ทุกฝ่ายจึงต่างใช้เครื่องมือวิชาการ และงานวิจัยเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินงานร่วมกับท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น
แต่ในยุคที่ความท้าทายทางด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ทวีความรุนแรงจนยากจะรับมือ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เมืองที่ภาพของผลกระทบนั้นแจ่มชัด การตอบสนองให้ทั้งเท่าทัน รอบด้าน และคาดการณ์ไปข้างหน้าอย่างมียุทธศาสตร์และวิธีการที่แยบคาย กลายเป็นโจทย์อันหนักอึ้งสำหรับคณะผู้บริหารเมือง ยิ่งทุกวันนี้โลกทั้งใบหลอมรวมและเชื่อมโยงกันเป็นเนื้อเดียวผ่านสื่อโซเซียลมีเดีย ไม่ว่าท้องถิ่นจะขนาดเล็กแค่ไหน หรืออยู่ไกลสักเพียงใด ก็ไม่อาจเล็ดลอดเรดาร์การจับผลกระทบนี้ไปได้
ปี 2567 – 2568 กรอบการวิจัยเพื่อพัฒนาเมืองด้วย ‘โมเดลใหม่’ ที่สนับสนุนบทบาทให้ ‘ท้องถิ่นเป็นแกนหลัก’เสริมทัพด้วยวิชาการและทีมวิจัย จากความร่วมมือของ สมาคมเทศบาลนครและเมือง (ส.ท.น.ม.) ร่วมกับ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้โครงการ ‘โครงการโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด’ จึงเป็นหนึ่งในโครงการวิจัยที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง
และนี่คือมุมมองของ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ นายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง (ส.ท.น.ม.) หนึ่งในผู้ริเริ่ม เป็นฟันเฟือง และผู้สร้างความเป็นไปได้ให้กับ ‘โมเดลใหม่’ ครั้งนี้
“ข้อมูล ข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ เมื่อประกอบกับจิตวิญญาณและความตั้งใจทำเพื่อบ้านเกิด
อันนั้นแหละคือองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่น”
“ผมเป็นนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ดต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2538 จนปัจจุบัน นี่ก็จะ 30 ปีแล้ว เป็น 30 ปีที่เห็นโอกาส ความเป็นไปได้ ได้ลองผิดลองถูก และก่อร่างสร้างบ้านเกิดของตนเองอย่างเต็มกำลัง ระหว่างการทำงานผมได้มีโอกาสรู้จักกับเพื่อนนายกจากเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ ไม่ว่าจะผ่านจากการประชุมสัมมนา หรือมีความสัมพันธ์นับถือกันเป็นส่วนตัว ทุกครั้งที่ได้หารือพูดคุย ผมพบว่าเราทุกคนมีความต้องการและคำถามที่เหมือนกัน คือ
“จะทำอย่างไรให้เมืองของเราดีขึ้น?” และต่างเห็นพ้องต้องกันว่า เพื่อให้เราได้ช่วยกันมากขึ้น เป็นรูปธรรม และมีตัวตนจับต้องแสดงออกได้ ก็ควรร่วมกันจัดตั้งสมาคม ฯ
ปัจจุบันสมาคมเทศบาลนครและเมืองมีสมาชิกอยู่ทั่วประเทศ จากเทศบาลที่มีอยู่ 225 แห่ง เป็นเทศบาลนครอยู่ 30 แห่ง และเป็นเทศบาลเมืองอยู่ที่ 195 แห่ง
การที่ผมได้มีโอกาสมาเป็นนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง เป้าหมายหลักของผม คือ ทำอย่างไรก็ได้ที่จะนํากระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่ได้คุยกันไว้ว่า “เมืองไหนมีปัญหาอะไร เมืองนี้ต้องการอะไร เมืองนั้นติดเรื่องไหน” นำมาหาลู่ทางแก้ไขผ่านการประสานงานและขับเคลื่อน ทั้งช่วยกันเองข้างใน กับประสานกับหน่วยงานองค์กรภายนอก
อย่างในปีนี้ เป็นปีแห่งหมุดหมายสําคัญ ทางสมาคมฯ เราได้ทําความร่วมมือกับ บพท. ซึ่งเป็นหน่วยวิจัยเชิงพื้นที่ มีบทบาทหลักในการสนับสนุนและส่งเสริมงานวิจัย งานวิชาการเพื่อการพัฒนาเมือง ซึ่งด้วยการประสานงานและหารือกันหลายครั้ง เราก็ได้สร้างโปรแกรมร่วมกัน เพื่อเป็นสะพานและการเชื่อมต่อให้พลังทางวิชาการได้เข้ามาช่วยท้องถิ่น มาช่วยเราดูข้อมูลเมือง มาร่วมวิเคราะห์วิจัยสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ แล้วมาสังเคราะห์ สรุปให้ได้หมุดหมายหรือเป้าหมายของแต่ละเมืองที่จะขับเคลื่อนไป ซึ่งตรงนี้สำคัญมาก เพราะว่านายกของแต่ละเมือง หรือผู้บริหารเมือง เขาก็จะมีจินตนาการ มีความรู้สึกร่วม เรียกว่าอินไปกับเมืองของตนเองในแบบของเขา เขาก็คิดฝันกันไปว่าอยากจะแก้ปัญหานี้ อยากจะทำตรงนั้น และเมืองควรจะพัฒนาเดินไปทางนี้ แต่บางทีน้ำหนักในเรื่องวิชาการ และข้อมูล ก็อาจจะเบาไปสักหน่อย การมาถึงของโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดฯ จึงเป็นเหมือนวาระใหม่ ๆ ที่มาเติมเต็มการทำงานของเราให้ไปได้ดี และไกลขึ้น
ผมขอยกตัวอย่างร้อยเอ็ดแล้วกัน เราคุยกับทาง บพท. ถกกันเรื่องการมองเมือง และข้อมูลเมือง เพื่อหาให้ได้ว่าทิศทางที่เราจะไปเนี่ยมันยังขาดอะไรบ้าง อย่างผมมองว่าเมืองร้อยเอ็ดโดดเด่นในเรื่องของวัฒนธรรมเมืองเก่า เราจะไปทางนี้ให้เมืองมันน่าอยู่น่าเที่ยว สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน อย่างพอจะคิดทำกิจกรรม หรือโปรแกรมอะไรขึ้นมา เราก็ทำสิ่งที่เรารู้หรือคุ้นเคย เช่นงานประเพณีท้องถิ่น ก็ขยับไปเป็นเรื่องงานระดับประเทศ งานนานาชาติ อันนี้ก็ต้องไปควานหา และเชื่อม Connection เป็นการมองจากมุมมองและวิธีการของผู้นำเมือง และทีมบริหาร คิดแล้วก็ไปถามชาวบ้าน ชวนมาช่วย ๆ กันทำงาน
แต่พอเราคิดแบบระบบวิชาการ เขาจะถามถึงศักยภาพพื้นที่ ถามว่าทํายังไงที่มันจะเกิดประโยชน์สูงสุด ทำยังไงเมืองจะสวยงาม ต้องคิดเรื่องผังเมือง เรื่องการวางระบบ ต้องตอบโจทย์สุขภาวะเมือง มีความสะดวกสบายพอสมควร มีสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมสุขภาพ เป็นเมืองที่ไม่แน่นเกินไป ตอบโจทย์เรื่องการเป็นเมืองเดินได้เดินดี แล้วก็ต้องคิดด้านมิติเศรษฐกิจด้วย ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้เศรษฐกิจมันโต เช่น ใช้การสัญจรอย่างการเดินให้ได้ทั้งสุขภาพ พร้อมกับชมภูมิทัศน์เมืองที่สวยงามไปด้วย แล้วเอาไปสร้างเศรษฐกิจได้ด้วย คิดถึงการเดินฟุตปาททางเท้า รูปแบบถนน การจัดการการจอดรถ แบบไหนเอื้อในการจับจ่ายให้เงินหมุนเวียน ตรงนี้แหละที่งานวิชาการได้เข้ามาช่วยเสริมร้อยเอ็ดในช่วงเวลาที่ผ่านมา และวันนี้ก็กำลังเดินหน้าอยู่กับทาง บพท. และมหาวิทยาลัยสารคาม เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการเชื่อมโยงเศรษฐกิจในเขตเมืองเก่าของเรา
อย่างไรก็ดี ในมุมมองของผม สิ่งที่เราทำอยู่กับ บพท. และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ คือ หนึ่งในองค์ประกอบสําคัญของการพัฒนาเมือง จริง ๆ ทุกงานของการพัฒนาเมืองนั้นไม่ง่าย ผมอยากจะให้กําลังใจเมืองต่าง ๆ ทุกพื้นที่ อย่าได้กังวล หรือกลัวไปก่อน อยากชวนคิดแบบนี้ว่า แต่ละพื้นที่แต่ละเมืองเรามีของดีอยู่แล้ว เรามีความแตกต่างไม่เหมือนกัน แต่เราก็ภูมิใจในเมืองของตัวเองเหมือนกัน เพราะมันคือ ‘บ้านเรา’ นั่นแหละ แล้วทีนี้เราจะทํายังไงให้มันดีขึ้น ที่สําคัญคือเราต้องค้นให้เจอว่าทีเด็ดของเราหรือจุดเด่นของเราคืออะไร เมื่อเราเจอแล้วฝ่ายการเมืองอย่างพวกเราก็มีหน้าที่จินตนาการ สร้างความคิด มีภาพฝันที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่แน่นอนว่าตัวความคิดความฝันมันเป็นเรื่องของนามธรรม แต่จะเกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้หรือไม่อันเนี้ยจะต้องมีเรื่องวิชาการเข้ามาช่วย การใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง และองค์ความรู้ เมื่อประกอบกับจิตวิญญาณและความตั้งใจทำเพื่อบ้านเกิด อันนี้แหละคือองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาท้องถิ่น
การที่ บพท. กับเราร่วมทำงานด้วยกัน มีอาจารย์มีนักวิจัยมาช่วยเก็บช่วยดูข้อมูลข้อเท็จเอามาประกอบกับจิตวิญญาณหรือความประสงค์ของเรา เอามาบูรณาการร่วมกันแล้วลองทำ เชื่อว่าด้วยวิธีการอย่างนี้ ความสำเร็จ หรือโอกาสที่จะเป็นไปได้นั้นก็มีสูงขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก็คือจากการบูรณาการแบบนี้ เราต้องนำพาให้ไปเชื่อมกับความร่วมมือของชุมชน และประชาชน เพราะตราบใดที่คนยังไม่เข้าใจแล้วก็ยังขัดแย้งกันอยู่ นั่นคือการเสียโอกาสของเมืองนั้น ๆ ที่ร้อยเอ็ดผมก็ประสบพบเจอมาแล้ว ในอดีตเรามีปัญหากันมาก แต่พอเราชัดเจน แปรภาพฝันเป็นแผนงานที่เชื่อมโยงกับหน่วยงาน ชุมชน และผู้คนเข้ามาช่วยกัน มาเป็นเจ้าของร่วมกัน อาศัยข้อมูลงานวิจัยและข้อมูลวิชาการเทคโนโลยีมาช่วย จึงทำให้เราสามารถทะลุทะลวงไปได้ แล้วเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับเมืองของเรา ตามที่เราออกแบบและคิดฝันเอาไว้
สุดท้ายผมอยากให้กําลังใจทุก ๆ เมือง ว่าอย่าท้อกับข้อปัญหาปลีกย่อย เรื่องงบประมาณ เรื่องข้อจํากัดกฎหมายอํานาจหน้าที่ ขอให้ใช้ความเป็นจิตวิญญาณมุ่งมั่นว่า “ฉันจะทํางานให้บ้านเมืองเราดีขึ้น” ถ้ามีปัญหาอุปสรรคอะไรก็ค่อยแก้ไขกันไป หาเพื่อนพันธมิตรมาร่วมทำงาน ช่วยเหลือกัน ก็จะประสบความสําเร็จได้ในที่สุด
สร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อบูรณาการคนรุ่นใหม่ภายใต้แนวคิดการมีส่วนร่วมของเขตพัฒนาเทศบาลเมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี WeCitizens (Vol.3) พนัสนิคมเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด เมืองพนัสนิคม เมืองที่ได้รับการยอมรับว่าพรั่งพร้อมด้วยศักยภาพความเป็นเมืองน่าอยู่ รับรองด้วยรางวัลจากหลากหลายสถาบัน กับความท้าทาย และการแก้โจทย์สำคัญของเมือง จากปรากฏการณ์ "เมืองหด" ด้วยแนวทางการฟื้นฟูย่านเก่า และพัฒนาเมืองเพื่อชวนคนรุ่นใหม่กลับบ้าน บอกเล่าเรื่องราวโดย…
รศ. ดร.ชนิษฎา ชูสุข คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ หัวหน้าคณะประสานงานโปรแกรม CIAP ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ การทำงานร่วมกับโปรแกรมฯ ในภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้ อาจารย์เข้าไปมีส่วนช่วยสนับสนุนใน…
ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหัวหน้าคณะประสานงานโปรแกรม CIAP ภาคเหนือ “ส่วนดีนอกจากงานวิจัยจะเข้าไปช่วยงานเทศบาลได้แล้วก็คือ เราสามารถเปรียบเทียบงานพัฒนาเมืองในปัจจุบันของแต่ละพื้นที่ว่ามีความท้าทายอะไร และผลลัพธ์เป็นไปตามที่คาดหมายหรือไม่” การทำงานโดยใช้โปรแกรม CIAP ในปีนี้ถือว่าเป็นรูปแบบใหม่ เรื่องหนึ่งคือ บริบท และโจทย์ของแต่ละเมืองไม่เหมือนกัน แต่จากประสบการณ์การทำงานวิจัยพัฒนาเมืองของ…
หัวหน้าโปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) และหัวหน้าคณะประสานโปรแกรมฯ ภาคอีสาน “4 เมืองในอีสาน ต่างมุ่งไปที่เรื่องพัฒนาเศรษฐกิจ เพราะผู้นำเมือง มองเห็นแล้วว่า เมืองรองของอีสานวันนี้มีโอกาส และเติบโตได้จริง” เมืองในภาคอีสาน “โปรแกรมนี้ เรื่องสำคัญ คือ โจทย์วิจัยเพื่อการพัฒนาเมืองต้องมาจากตัวเทศบาลเป็นหลัก…
สร้างเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดด้วยงานวิจัย : Livable and Smart City by Research ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กรหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในแวดวงงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย หลายคนจะคุ้นชินกับชื่อของ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม …
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…