นายกฯ แต่ละที่ก็นโยบายไม่เหมือนกัน ความต้องการของประชาชนก็ไม่เหมือนกัน

Start
509 views
12 mins read

“เทศบาลเมืองบึงยี่โถมีศูนย์กีฬาเทศบาลที่คลอง 4 อยู่แล้ว เป็นโรงยิม ที่ออกกำลังกาย ศูนย์แบดมินตัน สเกตบอร์ด สนามฟุตซอล สวนเฉลิมพระเกียรติ คนก็มาตีแบต เดินเล่น เล่นสเกตบอร์ดทุกวันอยู่แล้ว แต่พอช่วงโควิดนี่ปิดเลย นายกฯ(รังสรรค์ นันทกาวงศ์ นายกเทศบาลเมืองบึงยี่โถ) ก็จัดให้เป็นพื้นที่คัดกรองฉีดวัคซีน แล้วก็ข้ามไปฉีดวัคซีนอีกฝั่งถนนที่ศูนย์การแพทย์บึงยี่โถ ตอนแรกฉีดวันละพันคน ก็เพิ่มขึ้น ๆ เป็นสี่พัน ที่จอดรถไม่ค่อยมี เราก็เลยมาขีดเส้นตรงสนามฟุตซอลให้จอดรถ

ทีนี้ทางราชมงคล (มทร.ธัญบุรี) มาออกแบบพัฒนาเป็นพื้นที่การเรียนรู้ แบ่งนักศึกษาเป็น 2 กลุ่มตามพื้นที่ของศูนย์กีฬาที่มีสองส่วน คั่นด้วยอาคารอเนกประสงค์ สนามกีฬาสวนเฉลิมพระเกียรติหนึ่งกลุ่ม อีกกลุ่มก็ออกแบบโซนสวนเป็นสวนสมุนไพร อาจารย์นักศึกษาก็ถามตัวแทนประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ว่าเขาต้องการอะไร ? บางคนบอกต้องการลานขายของโอทอปวันเสาร์อาทิตย์ ลานกีฬาออกกำลังกาย เต้นแอโรบิก ที่ปลูกสมุนไพร ก็ให้นักศึกษาออกแบบมาเป็นแปลน ทางนายกฯ ก็พอใจนะ ส่วนกองช่างเราดูแบบ ดูโครงสร้างให้ถูกระเบียบ จุดประสงค์ก็ช่วยกันดู ต้องปรับแบบไปเรื่อย ๆ ตามโจทย์ที่ให้ไปคือการใช้งาน ทำไปแล้วใครจะเข้ามาใช้ ? ใช้เพื่ออะไร ? ที่จอดรถพอมั้ย ? ตอนนี้มีสวนอยู่ มีแท่นเหรียญรัชกาลที่ 9 อยู่กลางน้ำพุ ถ้ามองท็อปวิวจะเห็นลานน้ำพุโค้งเป็นเลข ๙ นะ ด้านหลังเป็นคลอง 4 แต่คนไม่ค่อยเข้ามาใช้ คนอยู่แต่ฝั่งสนามกีฬา จะดึงคนเข้ามาถึงสวนสมุนไพรยังไง ? ก็จะออกแบบให้มีทางเชื่อม ไม่งั้นทำเสร็จแล้วกลัวไม่มีคนใช้ ไม่มีคนได้รับประโยชน์ เดี๋ยวร้าง แต่เราต้องมีคนดูแลตลอด อย่างศูนย์การแพทย์มีคนใช้อยู่แล้ว มีสระว่ายน้ำทำกายภาพ ฟิตเนส คนมารักษาโรคสโตรก ในนี้ก็มีห้องพัก เพื่อที่ไม่ต้องเสียเวลาขับรถกลับบ้าน เขาลงมาทำกายภาพ ลงสระว่ายน้ำ หมอก็อยู่ใกล้ ๆ ฉุกเฉินก็ช่วยกันได้ทันที คนนอกพื้นที่ก็เข้ามาเยอะ เพราะกายภาพที่นี่ค่อนข้างดี

ส่วนของกองช่างดูงานก่อสร้างในพื้นที่เทศบาลเมืองบึงยี่โถตั้งแต่คลอง 3-4-5 ปรับภูมิทัศน์ริมคลอง ปลูกต้นไม้ ตอนนี้พื้นที่หน้าสำนักงานเทศบาลกำลังก่อสร้างแลนด์มาร์ก จ้างทางราชมงคลออกแบบมาเป็นรูปกลีบบัว เหมือนบัว สายน้ำ ปทุมก็เมืองบัวอยู่แล้ว มีน้ำพุกลางคลอง เปิดไฟสี ๆ อีกฝั่งมีทางจักรยานเลียบคลองอยู่แล้ว ที่อื่นไม่มี มีเฉพาะบึงยี่โถ นายกฯ ให้ทำ แต่ทางจักรยานมันสุดแค่เขตเราคลอง 3 ถึงคลอง 5 ที่วัดมูลจินดารามตรงทางขึ้นมอเตอร์เวย์ นายกฯ แต่ละที่ก็นโยบายไม่เหมือนกัน ความต้องการของประชาชนก็ไม่เหมือนกัน

ผมอยู่ในพื้นที่มา 25 ปี เมื่อก่อนไม่มีถนนนะ เลียบคลอง เป็นบ้านคนที่อยู่ริมคลองทั้งหมดเลย ตอนนี้ยังมีหลงเหลือบ้านอยู่ริมคลองนิดหน่อย ก๋วยเตี๋ยวเรือเมื่อก่อนขายฝั่งโน้น ทีนี้รถจอดกินเยอะ รถก็วิ่งเยอะ เขาเลยตบมาฝั่งคลองด้านในหมด ความเปลี่ยนแปลงของชุมชนที่เห็นชัดคือประชากรมากขึ้น ปัญหาก็เยอะขึ้น ขยะ น้ำเสีย แล้วก็ปัญหาชุมชนเมืองคือการจราจร หมู่บ้านเยอะมาก ถ้ารถประดังออกมาทั้งหมด ถนนเส้นรังสิต-นครนายกก็แน่น เช้า ๆ ต้องทำใจ ต่างคนต่างมุ่งหน้าเข้ากรุงเทพฯ ตอนแรกเขาลงโครงการถนนยก (ทางยกระดับสายปทุมธานี-รังสิต-อ.องครักษ์ จุดเริ่มต้นบริเวณโค้ง เมืองเอก ถึงคลองหนึ่ง สิ้นสุดที่แยกอ.องครักษ์ จ.นครนายก) แต่ก็ชะงักไป เขาออกแบบมาค่อนข้างดี ทำพื้นที่เกาะกลางเป็นฐานทางยกระดับ วิ่งไปได้ถึงคลอง 7 ทำทางลาดขึ้น มีที่กลับรถแล้วขึ้นไปทุกคลอง คือรถที่มาติดจริง ๆ ไม่ใช่รถวิ่งแต่ติดที่จ่อรอกลับรถ ทีนี้พอไปสร้างทางลาดมันค่อนข้างยาวเพราะถนนแคบ ก็ไปบังทางเข้า ร้านค้าก็จะเจ๊งเลย ไม่มีคนเพราะเขาขี้เกียจเบี่ยงรถเข้าไป ก็มีประท้วง โครงการเลยตกไป ถ้ามีทางยกระดับ เขาไม่เก็บตังค์ด้วย คนก็จะขึ้น ไม่ต้องไปติดกลับรถ น่าจะช่วยแก้ปัญหาจราจรได้”

รังสรรค์ ทางเณร

ผู้อำนวยการกองช่าง เทศบาลเมืองบึงยี่โถ

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย