บ้านเรียน (Homeschool) การเรียนที่บ้านแต่ไม่ได้หมายความว่าต้องเรียนแต่ที่บ้านอย่างเดียว

Start
440 views
8 mins read

“ตอนอยู่ในโรงเรียน หนูเรียนและทำข้อสอบได้ดี ซึ่งครูหลายคนก็บอกว่าเราน่าจะไปเรียนต่อสายวิทย์ ไปเรียนต่อหมอได้แน่ๆ ซึ่งตอนนั้นเราอายุแค่ 9 ขวบเอง ไม่ได้คิดอะไร จนวันหนึ่งแม่มาบอกว่าจะให้ออกจากโรงเรียนมาเรียนที่บ้านเป็นเพื่อนน้อง หนูก็ดีใจนะ เพราะไม่ต้องตื่นเช้าไปโรงเรียนแล้ว (หัวเราะ)

แต่เอาเข้าจริง อึดอัดมากๆ ค่ะ เพราะเราเรียนอยู่บ้าน ก็ย่อมขี้เกียจเป็นธรรมดา ต้องใช้เวลาปรับตัวอยู่สักพักเพื่อให้เรารับผิดชอบต่อบทเรียน เรียนคือเรียน พักคือพัก ซึ่งต่อมาหนูพบว่าจริงๆ การเรียนที่บ้าน ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเรียนแต่ที่บ้านอย่างเดียว หลายครั้งแม่ก็พาเราไปร่วมกิจกรรมนั่นนี่ ไปห้องสมุด ไปจนถึงเข้าห้องทดลองวิทยาศาสตร์ของโรงเรียนด้วย เพราะแม่เห็นว่าเราสนใจวิทย์ ก็ไปขอให้ครูหรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัยช่วยสอน ก็ได้ทดลองจนหายอยากเลย

จุดเปลี่ยนจริงๆ ตรงที่หนูพบว่าเราชอบเรียนศิลปะ ซึ่งไม่ใช่แค่การวาดรูปให้เหมือน แต่เป็นการใช้จินตนาการ หรือการเอาความคิดในหัวออกมาเป็นภาพ ซึ่งหนูชอบที่จะได้คิดและพบว่าพอได้เรียนวิชานี้แล้วหนูไม่เบื่อเลย อยู่บ้านเฉยๆ ไม่อ่านหนังสือก็วาดรูป เวลาทำโครงงานกับเพื่อน เราก็อาสาเพื่อนว่าจะวาดรูป ทำงานออกแบบ หรือจัดองค์ประกอบศิลป์ให้ ก็ค้นพบตัวเองว่าจริงๆ เราชอบทำงานศิลปะ

ไม่ได้มองว่าตัวเองจะเป็นศิลปิน หรือจะเรียนจบเพื่อเป็นศิลปินเลยนะ เราแค่อยากใช้ศิลปะในการทำงานมากกว่า ซึ่งความที่เราสนใจเรื่องไอทีหรือการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย เลยคิดว่าน่าจะไปทางนี้ เราชอบใช้โปรแกรม Blender ทำงานสามมิติ อยากทำงานพวกออกแบบเกมหรือแอปพลิเคชั่นอะไรแบบนี้ พอเรียนจนเทียบชั้น ม.6 ได้ หนูก็เลยตัดสินใจจะไม่สอบเข้ามหาวิทยาลัย แต่สมัครคอร์สเรียนออนไลน์พวกทักษะหรือหลักสูตรเฉพาะด้านนี้เพื่อเก็บ certificate ไปพร้อมกับพัฒนาทักษะ และสะสมพอร์ทฟอลิโอ หนูคิดว่างานด้านนี้ต้องการทักษะและความเชี่ยวชาญที่หลากหลาย แนวทางนี้จึงน่าจะตอบโจทย์กว่าการเรียนปริญญาค่ะ”

อเล็กซ์ – อเล็กซานดร้า วรรษชล ชลอร์

#WeCitizensTh #LearningCity #ChiangMai

หมายเหตุผู้เรียบเรียง: ช่วงปี 2563 อเล็กซ์ได้ร่วมกับเพื่อนๆ ที่เป็นเด็กบ้านเรียนด้วยกันทำโปรเจกต์ Ancestral Lens แอปพลิเคชั่นส่งเสริมการเรียนรู้ระดับนักเรียนในด้านประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่ผ่านการทำ AR แลนด์มาร์คทางประวัติศาสตร์อย่าง วัดเชียงมั่น วัดเจดีย์หลวง และวัดพระสิงห์ ซึ่งอเล็กซ์รับหน้าที่เป็นดีไซน์เนอร์ปั้นโมเดลสามมิติของสถาปัตยกรรมในวัดทั้งสามแห่ง ทั้งนี้โครงการดังกล่าวได้เข้ารอบชิงชนะเลิศ การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย