“ป้าขายกระชายมาก่อนคนจะนิยมดื่มกันช่วงโควิดอีก พอโควิดมา เลยขายดีมาก มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ นี่ถึงกับเดินไปที่สวนแงะดูเช้า-เย็น ลุ้นให้กระชายที่ปลูกมันแก่ได้ที่ ลุ้นทุกวันเลย”

“กระชายมันชอบขึ้นริมตลิ่ง สังเกตดูที่ดินริมแม่น้ำป่าสัก หมู่ 8 (บ้านช่องใต้ ตำบลบ้านป่า อำเภอแก่งคอย) เนี่ย จะมีกระชายขึ้นเองเยอะไปหมด ชาวบ้านแถวนี้เขาก็เก็บส่งขายพ่อค้าคนกลาง เป็นรายได้กันจริงจัง

จนมีอยู่วันหนึ่งสักสิบกว่าปีที่แล้ว ช่วงนั้นกระชายล้นตลาดและราคามันตก ชาวบ้านเขาก็เก็บกระชายมากองรวมกัน 3-400 กิโลกรัมได้นี่แหละ ปรากฏว่าพ่อค้าคนกลางเขาไม่มารับซื้อ ก็ไม่รู้จะทำยังไงกันดี

วันนั้นนั่นแหละที่ป้าเอากระชายที่กองไว้ส่วนหนึ่งกลับบ้าน เอาไปขัดล้างทำความสะอาด ที่บ้านป้ามีเครื่องบดอยู่ตัวหนึ่ง ก็เลยลองบดกระชายและคั้นออกมาเป็นน้ำ ตอนนั้นสามีป้าเขายังมีชีวิตอยู่ เขาเป็นผู้ใหญ่บ้านก็บอกให้เขาไปบอกเด็กๆ ให้ช่วยรวบรวมขวดเหล้าตามบ้านที่เขาจัดงานเลี้ยงให้หน่อย ได้ขวดมาป้าก็เอามาทำความสะอาด ฆ่าเชื้อด้วยน้ำร้อน ล้างแล้วล้างอีกจนสะอาด ก็เอาขวดพวกนี้มาบรรจุน้ำกระชายที่คั้นได้ ก็คิดว่าถ้าเราทำน้ำกระชายขาย ก็อาจจะช่วยแก้ปัญหากระชายล้นตลาดได้อีกทาง

ตอนแรกก็ยังไม่ขายหรอก ป้าก็ลองผสมน้ำผึ้งและน้ำตาล ลองสูตรอยู่หลายรอบ เวลามีแขกมาเยี่ยมผู้ใหญ่ฯ ที่บ้าน ป้าก็หยิบมาเสิร์ฟ หรือมอบให้เป็นของฝาก หลายคนชอบเขาก็ขอซื้อกลับไป ผู้ใหญ่ฯ แกก็ช่วยประชาสัมพันธ์ให้ โดยเอาไปฝากคนนั้นคนนี้บ่อยๆ

กระทั่งมีอยู่ครั้งหนึ่งทางอำเภอแก่งคอยเขาจัดกิจกรรมอำเภอเคลื่อนที่ เขาก็ให้หมู่ 8 ตำบลบ้านป่า ไปออกงาน ให้เอาของดีประจำหมู่บ้านไปจัดบูธที่ตำบลชะอม ชุมชนเราก็เอาหมอนวดไปนวดเท้าแขก ป้าก็ได้โอกาสเอาน้ำกระชายไปขายด้วย นั่นน่าจะเป็นการออกร้านครั้งแรก ก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเลย

จากนั้นก็มีงานเลี้ยงส่งนายอำเภอ เขาจะย้ายไปทำงานจังหวัด นายอำเภอท่านก็บอกให้ป้าเอาน้ำกระชายไปเลี้ยงแขกด้วย เลยเป็นที่รู้จักมากขึ้น ถึงตรงนี้ ก็เริ่มมีหน่วยงานมาช่วยส่งเสริม ออกแบบโลโก้ ทำบรรจุภัณฑ์ และหาช่องทางการตลาดให้ ก็ค่อยๆ ปรับมาจนเปิดเป็นแบรนด์ OTOP ชื่อ ‘เข็ม’ (KHEM) ทำในนามวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปกระชายบ้านช่องใต้ ในที่สุด

แบรนด์นี้ป้าทำมา 10 กว่าปีแล้ว แต่แรกก็เป็นน้ำกระชายเหลืองที่หาได้จากสวนเราอย่างเดียว มีลูกค้าถามว่าไม่มีกระชายดำหรอ? ก็เผอิญผู้ใหญ่ฯ แกไปประชุมที่สมุทรสงครามพอดี แกไปซื้อกระชายดำกลับมาโดยคิดว่ามันคือขมิ้น แกอยากเอาขมิ้นไปทำน้ำจิ้มข้าวมันไก่ พอกลับมา ป้าเห็นเป็นกระชายดำ ก็เลยลักมาลองคั้นทำเครื่องดื่มดู

ผู้ใหญ่กลับจากที่ทำงานมาก็ถามหาขมิ้นแกไปไหน ป้าก็บอกว่ามันไม่ใช่ขมิ้น และตอนนี้มันกลายเป็นน้ำกระชายดำแล้ว กินข้าวมันไก่มากๆ ก็จะอ้วนเข้าไปใหญ่ ดื่มน้ำกระชายดำดีกว่า (หัวเราะ) พอทดสอบสูตรแล้วมันเวิร์ค ป้าก็เลยหากระชายดำจากใกล้ๆ แก่งคอยมาทำเครื่องดื่มอีกตัว

ปัจจุบัน นอกจากมีน้ำกระชายเหลืองและน้ำกระชายดำ กระชายแช่อิ่ม และกระชายอบแห้ง รวมถึงกระชายสดจำหน่าย ก็เอากระชายมาจากสวนป้าเอง เพราะป้าทำแบบปลอดสารเคมี ถ้าช่วงไหนไม่พอก็รับซื้อจากเกษตรกรที่เรามั่นใจว่าเขาไม่ใช้สารเคมี

หลักๆ ก็ขายที่บ้านป้าเอง ก็ทำหน้าบ้านให้เป็นร้านขายจริงจัง ข้างๆ ร้าน ป้าก็ทำสวนผักออร์แกนิก ตั้งใจปลูกผักไว้กินเอง แต่กลายเป็นว่าพอมีลูกค้ามาซื้อสินค้าเรา เขาก็ขอซื้อผักเราด้วย ป้ามีเหลือก็ขายให้เขาถูกๆ แบ่งๆ กันไปกิน

นอกจากหน้าร้าน ก็มีออกร้านบ้างนานๆ ที และมีไปฝากขายที่ ปั้ม ปตท. หนองยาว ในอำเภอเมืองสระบุรี และร้านสวนริมเขา อยู่ใกล้ๆ กับโรบินสัน ที่เหลือก็จะเป็นการขายทางโทรศัพท์สำหรับลูกค้าประจำ และขายทางออนไลน์ในเฟซบุ๊คด้วย  

ป้าขายกระชายมาก่อนคนจะนิยมดื่มกันช่วงโควิดอีก ซึ่งพอโควิดมา ป้าเลยขายดีมาก มีเท่าไหร่ก็ไม่พอ นี่ถึงกับเดินไปที่สวนแงะดูเช้า-เย็น ลุ้นให้กระชายที่ปลูกมันแก่ได้ที่ ลุ้นทุกวันเลย

ทุกวันนี้ป้าก็แปรรูปคนเดียว โดยมีคนงานมาช่วยดูสวนให้ ป้าอยู่กับลูกสาว เขาทำงานในเมือง วันเสาร์-อาทิตย์ก็กลับมาอยู่เป็นเพื่อน ส่วนผู้ใหญ่บ้านแกเสียชีวิตไป 4 ปีแล้ว ก็คิดถึงแกแหละ สมัยแกยังอยู่ แกเป็นคนช่างเจรจา ก็ช่วยป้าขายของได้เยอะ เวลาไปออกบูธที่ไหน แกก็จะไปส่ง ช่วยตั้งบูธให้ และอยู่ช่วยขายช่วงแรกๆ จากนั้นแกก็ไปทำธุระของแก เสร็จงานก็มารับ

ทุกวันนี้ป้าก็ไม่ได้ลำบากอะไร ไม่มีหนี้สิน ลูกก็ทำงานมั่นคงแล้ว จริงๆ ไม่ทำแบรนด์นี้ก็ได้ แต่ที่ทำอยู่เพราะมันสนุก ได้ไปสวน ได้เจอผู้คน รวมถึงยังทำให้ป้านึกถึงผู้ใหญ่แกด้วย”

จรูญ จันทรครอบ
เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มกระชาย KHEM
https://www.facebook.com/profile.php?id=100054628141065

หมายเหตุ:
เครื่องดื่ม KHEM ของป้าจรูญยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรประเภทอาหารและเครื่องดื่ม การประกวดผลิตภัณฑ์สมุนไพรจังหวัดสระบุรี โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ในปี 2564

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

[ ผู้คน – การเดินทาง – การพัฒนาเมืองของเราทุกคน ] อ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม

สร้างเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดด้วยงานวิจัย : Livable and Smart City by Research ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กรหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในแวดวงงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย หลายคนจะคุ้นชินกับชื่อของ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม …

1 month ago

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

1 month ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

2 months ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

3 months ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

3 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

3 months ago