“หลายคนเข้าใจว่าการเป็นคนจัดตลาดจะต้องสวมเสื้อเชิ้ตผ้าลื่นๆ ถือกระเป๋าแบบอาเสี่ย และห้อยพระด้วยสร้อยทองเส้นโตๆ คอยเก็บเงินพ่อค้าแม่ค้าในตลาด ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เลยครับ (หัวเราะ) ผมก็แต่งตัวง่ายๆ เหมือนพ่อค้าทั่วไปแหละ ที่สำคัญ ผมเก็บค่าเช่าแผงแค่หลักสิบบาทเท่านั้น
ผมเรียนจบการตลาดมา แต่ไม่เคยมีความคิดว่าจบมาจะเป็นคนจัดตลาดเลย หลังเรียนจบผมไปทำงานบริษัทอยู่พักใหญ่ จนรู้สึกอิ่มตัว เลยกลับกาฬสินธุ์มาช่วยธุรกิจที่บ้าน ครอบครัวผมทำฟาร์มออร์แกนิก ชื่อสวนจารุวรรณ Organic พอกลับมา ก็ได้มีโอกาสรู้จักกับทางสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ซึ่งก็พอดีกับที่สำนักงานพาณิชย์ฯ ร่วมกับสำนักงานพัฒนาชุมชน เทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำถนนคนเดินในรูปแบบตลาดวัฒนธรรม บนถนนในย่านเมืองเก่าข้างวัดกลาง เขาก็ชวนให้ผมไปช่วยจัดการให้ โดยผมก็เข้าไปดูแลเรื่องการต่อไฟ การจัดล็อคขายสินค้า และเรื่องจิปาถะอื่นๆ ในทุกเย็นวันพฤหัสบดี
พอทำๆ ไปหลายครั้งเข้า เทศบาลเขาก็เห็นว่าผมดูแลพ่อค้าแม่ค้าดี และทางนั้นเขาได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ต้องการสร้างแม่เหล็กดึงดูดให้คนมาเที่ยวชมหอศิลป์เมืองกาฬสินธุ์ที่อยู่ในอาคารศาลากลางหลังเก่า จึงมีการจัดตลาดสร้างสุขขึ้นทุกวันอังคาร ซึ่งยังเป็นตลาดนัดที่เชื่อมกับถนนคนเดินของพาณิชย์จังหวัดที่จัดอยู่แล้วใกล้ๆ กัน เทศบาลเขาก็ชวนให้ผมมาดูแลตลาดแห่งนี้ต่อ
ซึ่งก็พอดีกับที่โครงการตลาดเมืองเก่าสิ้นสุด จึงมีการย้ายถนนคนเดินมาจัดในที่เดียวกันรอบหอศิลป์ในวันพฤหัสบดี กลายเป็นว่าในทุกวันอังคารและพฤหัสบดี ผมจะดูแลสองตลาดนี้
ตลาดรอบหอศิลป์ที่จัดสัปดาห์ละสองวันนี้ จะแตกต่างจากตลาดนัดแห่งอื่นๆ คือพ่อค้าแม่ค้าส่วนมากจะเป็นคนในชุมชนเอง ไม่ใช่พ่อค้าเร่ที่ขายเป็นอาชีพ โดยที่มาก็เพราะว่าเจ้าภาพอยากกระตุ้นเศรษฐกิจให้ชุมชน ก็เลยชักชวนผู้คนในชุมชนต่างๆ ทั้ง 41 ชุมชนในเทศบาล หาสินค้ามาขายที่นี่ บ้านไหนทำอาหารอร่อยๆ ก็มาขาย บ้านไหนมีงานหัตถกรรมก็เอามาขายได้ หรือกลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มศิลปินก็สามารถนำของมาวางขายด้วยกันได้ โดยจะแบ่งพื้นที่อีกส่วนสำหรับพ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพ ผสมกันไป รวมถึงยังมีพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน รวมถึงพื้นที่แสดงความสามารถของคนรุ่นใหม่อยู่ในตลาดด้วย
และเพราะพ่อค้าแม่ค้าส่วนใหญ่เป็นคนในชุมชน เราจึงแทบไม่เก็บค่าเช่าแผงเลย ก็จะคิดเงินหลัก 10-20 บาทต่อวัน ไว้เป็นค่าไฟและค่าจ้างคนทำความสะอาด อย่างที่บอกว่าพวกเขาไม่ใช่พ่อค้าแม่ค้ามืออาชีพ และทางเทศบาลก็อยากสนับสนุน ไปเก็บเขาวันละ 200-300 บาท พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่น่าจะได้กำไรเท่าไหร่ งานที่ผมทำมันจึงมีลักษณะกึ่งๆ จิตอาสาไปโดยปริยาย
ก็ดูแลหมดเลยครับ ตั้งแต่การจัดสรรล็อคขายของ ความสะอาด ความเป็นระเบียบ และการตบแต่ง เพื่อสร้างบรรยากาศให้น่าเดิน โดยคณะกรรมการตลาดจะมีอยู่ 5 คน ส่วนหนึ่งคือดึงประธานชุมชนเข้ามาด้วย กรรมการก็จะเป็นฝ่ายคัดสรรโควต้าของร้านค้าต่อจำนวนของชุมชน และส่งต่อให้ผมเพื่อจัดวางโซนนิ่ง
หลักๆ เลยผมจะไม่วางร้านขายสินค้าชนิดเดียวกันหรือใกล้เคียงกันไว้ใกล้กัน ก็จะเฉลี่ยรูปแบบของสินค้าให้ทั่วตลาด อีกอย่างคือจะวางผังแบบไม่ให้มีหัวและท้ายชัดเจน เพื่อดึงดูดให้คนเดินได้ทั่วและเลือกซื้อสินค้าได้ตลอดเส้นทาง
ตลาดสร้างสุขถือว่าได้รับเสียงตอบรับดี เป็นเพราะมีของที่ขายแตกต่างจากตลาดนัดคลองถมซึ่งเป็นตลาดนัดเอกชนเจ้าใหญ่ของเมือง ขณะเดียวกัน ในตลาดก็มีสีสันจากนักเล่นดนตรีเปิดหมวก การแสดงของเยาวชน ไปจนถึงวงเสวนาที่ชวนคนจากสาขาต่างๆ มาคุยแลกเปลี่ยนเรื่องเมือง หมุนเวียนไปทุกสัปดาห์ ตลาดมันจึงมีสีสันเฉพาะตัวที่น่าสนใจ
พ่อค้าแม่ค้าที่มีอยู่ตอนนี้มีเกือบ 100 รายได้แล้วครับ ส่วนหนึ่งไม่เคยขายของมาก่อน แต่พอเทศบาลชวน แล้วปรากฏว่าขายดี เขาก็เลยหันมาขายของจริงจัง อย่างล่าสุด เทศบาลร่วมกับจังหวัดและมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ จัดมหกรรมฟื้นใจเมือง ‘ภูมิถิ่น แก่งสำโรง โค้งสงเปือย’ พาพ่อค้าแม่ค้าในตลาดสร้างสุขไปจัดถนนคนเดินริมคลองปาว บริเวณศาลเจ้าพ่อโสมพะมิตร (4-6 มีนาคม 2566)
งานนั้นคึกคักมาก คึกคักถึงขนาดว่าเด็กนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาล 6 มาตั้งวงเล่นเพลงสตริงผสมกับโปงลาง พวกเขาได้เงินวันละเป็นหมื่นเชียวนะ และจากเดิมที่วางแผนไว้ว่าตลาดนี้จะจัดชั่วคราว 3 วัน ชาวบ้านมาบอกเทศบาลว่าอยากให้จัดต่อ เลยขยายเป็น 7 วัน หลังจากนี้ก็มีการคุยกันว่าอาจจะมีการจัดถนนคนเดินประจำสัปดาห์ที่นี่อีกแห่งด้วย
ผมปลื้มใจที่ได้จัดตลาดนัดที่ขับเคลื่อนโดยชุมชนแห่งนี้ คือไม่ใช่แค่ได้เห็นคนในชุมชนขายของได้ แต่พอเห็นชาวบ้านทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะคนชราในเมืองมาเดินเล่น ทักทายเพื่อนฝูง หรือนั่งกินขนม เห็นภาพที่พวกเขาได้พักผ่อนและมีความสุขร่วมกัน ผมก็ชื่นใจ อย่างงานตลาดนัดริมคลองปาวนี่ จริงๆ แผนการว่าเปิดเย็นและปิดหัวค่ำ สักสองทุ่มก็พอ ปรากฏว่าสามทุ่มครึ่งแล้ว พวกเขายังนั่งเล่น นั่งคุยกันอยู่ ผมถึงกับออกปากชวนให้เขากลับ เพราะผมก็อยากกลับแล้ว (หัวเราะ)
ทุกวันนี้ ผมมีอาชีพกลายเป็นนักจัดตลาดไปแล้ว วันจันทร์-พุธจะทำตลาดสินค้าโอทอป อังคารและพฤหัสทำตลาดสร้างสุขตรงหอศิลป์ และวันศุกร์-อาทิตย์ ก็ไปดูตลาดของพาณิชย์จังหวัดที่จัดหน้าบิ๊กซี ก็สนุกดีครับ แม้จะวุ่นๆ กับการจัดการหน่อย แต่เห็นว่าพ่อค้าแม่ค้าขายของได้ ผมก็ดีใจ”
สรรค์สกุล ถิตย์ผาด
นักจัดตลาดเมืองกาฬสินธุ์
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…