ผมหวังให้คนกินเขามีความสุขที่ได้กินของเรา แล้วราคาคนไทยต้องได้กิน ผมทำมังคุดอินทรีย์ สาวโรงงานต้องกินของผมได้

“ผมมาทำสวนทีแรก ลืมมองไปว่าเราไม่มีองค์ความรู้เลย มาเรียนรู้เอา แต่เกษตรกรที่เขาเป็นอยู่แล้วความรู้เขาระดับ advanced เราแค่พื้นฐาน เวลาเขาคุยว่าใช้ยาอะไร เราก็อึ้ง อย่างมีเพลี้ยไฟ เขาบอกให้ไปซื้อยาก็ซื้อตามเขา แต่เวลาช่วงฉีดพ่น มันมีระยะ จังหวะเวลาที่ใช้ ถ้าจะเอาผิวสวยจริงๆ คือช่วงระยะก่อนใบอ่อน จังหวะที่เริ่มแย้ม เขาเรียกว่า ปากนกแก้ว เราต้องฉีดพ่นตอนนั้น แล้วก็ต้องใช้ระยะนั้นจนมังคุดได้เดือนกว่าๆ การใช้ยาก็จะห่าง เพราะเวลาเพลี้ยไฟดูดน้ำเลี้ยงเปลือกมังคุด ผิวจะลาย พอผิวเป็นแผลก็เป็นตั้งแต่ลูกเล็กจนลูกโต เราใช้ยาช่วงที่มันเป็นแผลอยู่แล้ว ต่อให้ใช้ยังไง ผิวก็ลาย สุดท้ายมาคิดว่าเริ่มไม่ไหว ขืนทำอย่างนี้ มีแต่ทุนจะจม แล้วเราก็ไม่มีทักษะการใช้ปุ๋ยใช้ยา ก็เลยคุยกันว่า เริ่มต้นใหม่ตั้งแต่แรกดีกว่า

เราไม่ใช่คนพื้นที่ สมัยก่อนสองคนใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯ ผมเป็นเซลส์ขายรถยนต์ประมาณ 5-6 ปี พอวิกฤติปี 2540 ก็ต้องออก ตกงานอยู่ 1 ปี ก็มาเป็นผู้จัดการร้านนาฬิกา พอลูกชายอายุได้ประมาณหนึ่งขวบ ยายมีที่ดินอยู่ก็อยากให้กลับมา ให้เด็กโตที่นี่ และเป็นทรัพย์สินของลูก ผมก็กลับมาทำสวนก่อน อย่างน้อยยังมีรายได้สองทาง ภรรยาทำงานในกรุงเทพฯ สองปีถึงกลับมาอยู่ด้วย ช่วงสามปีแรกเรารู้สึกจะเฟล พอดีกระแสน้ำหมักชีวภาพมา ผมก็ไปอบรมเรื่องน้ำหมักกับ ดร.อรรถ บุญนิธิ อาจารย์จากม.เกษตร เราไปฟังเสร็จก็ เออ น่าจะทำได้ จุดหนึ่งที่ผมชอบคือ ไม่ต้องไปซื้อปุ๋ยเคมีมาใช้ เราไม่ต้องเสียตังค์ละ เขาบอกให้เอาผลไม้เอาอะไรก็ได้ที่หมักได้มาใช้ ผมก็เลยทำอย่างนั้น แล้วก่อนหน้านั้นผมก็ไปอบรมเรื่องการจัดการธาตุอาหารพืชของดร.สุมิตรา ภู่วโรดม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เสียเงินไปอบรมเองด้วยนะ ได้ใบประกาศฯ กลับมาแล้ว โห ภูมิใจ เรารู้ละ เข้าไปที่ร้าน ขอซื้อแม่ปุ๋ยตัวนี้ ตัวนี้ ที่ร้านบอก ไม่มีที่ไหนเขาขายหรอก คือร้านเคมีภัณฑ์เขาจะซื้อเฉพาะที่ตลาดต้องการ สั่งมาก็เงินจม ผมไปอบรมมาประมาณสามคอร์ส กลับมาก็เหมือนเดิม ร้านค้าไม่มีขาย จนปัจจุบันปุ๋ยเคมี ถึงหาได้ง่ายขึ้น สุดท้ายผมก็ต้องพับความรู้ที่เราอบรมมา การทำสวนคือการลองผิดลองถูก ต้องอยู่กับมัน ถึงจะได้รู้ปัญหา ต้องรักด้วย พอเรามาทำอย่างนี้ปุ๊บ เหมือนเราได้คิดตลอด อยากลองอะไรเราก็ลอง ลองแล้วอันนี้ไม่ได้ เป็นเพราะอะไร เราก็กลับไปหาที่ต้นเหตุ ลองปรับดู แต่ไม้ผลมันเสียเวลา อะไรที่เราลอง เราต้องรอผลไปอีกปีนึง

เกษตรกรรุ่นก่อนจะปลูกมังคุดคู่กับเงาะ ทีนี้ผมสงสัย ไปเจอมังคุดที่อยู่ใต้ต้นเงาะ ลูกสวยโดยที่เราไม่ได้พ่นยา เลยลองศึกษา ก็ไปเจอเรื่องของความชื้นสัมพัทธ์ มังคุดเองไม่ใช่พืชเชิงเดี่ยว ผมสังเกตว่ามังคุดที่ปลูกกันตามแนวชายเขากับปลูกที่โล่งจะแตกต่างกัน มังคุดที่โล่ง ใบจะเล็ก มังคุดชายเขา ลูกค่อนข้างกลม ผิวสวย ผมเลยใช้เทคนิคนั้นมา แล้วสวนผมเองมีปัญหาเรื่องน้ำไม่พอในแต่ละปี มีน้ำโครงการประชารัฐซึ่งเกษตรกรรวมตัวกันไปปั๊มมา ซึ่งผมมองว่าแก้ไขได้เฉพาะหน้า แต่ในระยะยาว ถ้าต้นน้ำขาด แหล่งน้ำธรรมชาติขาด มันก็เข้าปัญหาเดิม ผมก็ไม่เอาดีกว่า เผอิญหน่วยงานพาผมไปดูโครงการของในหลวงร.9 หลายที่ ท่านทรงบูรณะป่าเสื่อมโทรมเป็นป่ามีชีวิตขึ้นมา อย่างราชบุรี รอบๆ โครงการของพระองค์ท่านจะร้อน แล้ง เป็นไร่อ้อย ไร่มัน แต่พอเข้าไปในโครงการพระราชดำริ ชุ่มชื่น มีพืชหลากหลาย ผมเลยเอาแนวทางนั้นมาปรับใช้ในสวน

มีช่วงนึงหน่วยงานรัฐจัดคลินิกเคลื่อนที่ของร.10 พูดถึงไม้พวกสัตบรรณ ไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ จริงๆ มีประโยชน์นะ อย่างน้อยโลงจำปาก็จากต้นนี้ พระองค์ทรงให้สังเกตดู ไม้พวกนี้รักษาความชื้นได้ดี ใบเขาละเอียด มีแสงแดดส่องมาได้บ้าง เหมือนช่วยคลุมดิน ก่อนหน้าเอามาปลูก ผมเอาไม้ที่มีราคาและไม่มีราคามาปลูกเพื่อศึกษาดูด้วยว่าอันไหนเหมาะสมปลูกเป็นไม้ร่มเงาในแปลงเราได้ ผมจะเน้นว่าอะไรที่เราไม่ต้องไปซื้อ อย่างสัตบรรณ นกยูงฝรั่ง ก้ามปู เราไปเก็บเม็ดจากต้นที่มีอยู่มาเพาะเองแล้วมาปลูก กระถินเทพาก็นกมาปลูกให้ เขาก็แพร่ไปเอง เพียงแต่ว่าตรงไหนที่มีประโยชน์เราก็เก็บไว้ ตรงไหนที่จะไปเบียดไม้ผลเราก็ตัดออก แต่เกษตรกรจะรำคาญ ตัดออกไป เขาจะปลูกไม้ผลอย่างเดียว ไม้อย่างอื่นไม่มีเลย เชื่อว่าจะแย่งอาหารกันเอง ผมอยากพิสูจน์ว่ามันแย่งจริงมั้ย มีผลกระทบกับผลผลิตมั้ย มันก็ไม่มี ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความเชื่อความรู้สึก สุดท้าย เราก็ปลูกของเรา มุมมองแต่ละมุมมองแล้วแต่ว่าเราจะเอาประโยชน์อะไรจากเขา ถ้าเอาประโยชน์จากเนื้อไม้ พวกนี้ก็ไม่มีค่า แต่ถ้ามองมุมอื่น ก็มีประโยชน์หลากหลาย รักษาความชื้นในดิน ใบไม่หนาเกินไป แดดส่องถึง กันลมได้ พื้นที่ตรงนี้เป็นที่ลุ่มต่ำ เวลาฝนตก น้ำบ่ามา ตรงนี้จะแฉะ ก็ช่วยดูดซับ คนอื่นเขาก็อยากทำมังคุดผิวมัน แต่พอเราบอกวิธี เขาบอกไม่ไหว วิธีการที่เราบอก เขาไม่เชื่อ เหมือนกับเราบอกเขาไม่หมด เราบอกเราไม่ได้ใช้ยาใช้ปุ๋ย ใช้ความขยัน ตรงนั้นแหละ ผมถึงบอก เกษตรกรต้องอยู่ติดสวน วันทั้งวันคุณไม่ต้องไปไหน อยู่กับต้นไม้ ให้เขาคุ้นชินกับเรา เราคุ้นชินกับเขา สังเกตเขา สื่อสารกับเขารู้เรื่อง

ผมไม่เคยคิดมาเป็นเกษตรกร แต่การดูหนังดูละครก็มีความเพ้อฝันไปกับหนังว่า โห.. อาชีพเกษตรกรสวยหรู พอมาอยู่ได้ปีแรกต่างกันสุดขั้ว ผมเองไม่ยอมแพ้ ยิ่งมาเจอคำดูถูกด้วยซ้ำว่า คงอยู่ได้ไม่เกิน 1 ปี ทุเรียนนี่ก็เริ่มปลูกใหม่ มาศึกษาใหม่ ผมทำเป็นอินทรีย์เต็มร้อยเลย ต้องการพิสูจน์ เขาบอกว่าทุเรียนทำอินทรีย์ไม่ได้ ในเมื่อเราลองกับมังคุดแล้วทำได้ ผมตั้งเป้าอย่างนี้ ถ้าปลูกได้คุณภาพปุ๊บ จะขายเหมาเป็นต้นเลย สามหมื่น สี่หมื่นห้า เรามีหน้าที่ดูแลให้ สื่อสารกันว่าทุเรียนของคุณได้ขนาดนี้ๆ ช่วงระยะเวลานี้ตัดได้แล้วนะ เจ้าของก็มา คือเอาตั้งแต่ปลูกเลย ทุเรียนตามธรรมชาติประมาณ 7-8 ปี ปีแรกลงดิน ปีที่ 2 โรคเริ่มเข้า ถ้าคุณเอาอยู่ ปีที่ 3 คุณสบายตัว ปีที่ 4 โรคเริ่มมา พอปีที่ 7 ที่จะเอาผลผลิต ถ้าเกิดเป็นโรคนี่เขาจะช็อกไปเลย ยิ่งทำเป็นออร์แกนิกด้วย เคมีอะไรก็ใช้ไม่ได้ ผมก็อาศัยดูแลให้ถึง ป้องกันไม่ให้เกิดโรคก่อน งานก็จะหนักกว่าคนที่เขาทำเคมี เพราะหลังจากทุเรียนให้ผลผลิตแล้ว ต้องดูแลเยอะ วิกฤติในเรื่องของโรค ของแมลง จะโทรมง่าย ตอนนี้เขาคุยกันว่าทุเรียนเหมือนพืชล้มลุก ตายแล้วตายเลย บทเรียนของผม ปลูกแบบออร์แกนิก สองต้นแรก โอเค ปีหน้าเราเก็บผลผลิตได้แล้วนะ จู่ๆ ปีนั้นยืนต้นตายเฉยเลย รากเน่าโคนเน่า เป็นเพราะสภาพอากาศเมืองจันท์เองที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวชื้น พอชื้นหนักๆ หายจากชื้นก็ร้อนอีก ปรับตัวไม่ได้ก็ช็อก โรคเข้า แมลงรุม คือช่วงนั้นผมรับเป็นวิทยากรให้หน่วยงาน สำนักงานเกษตร เรื่องสารชีวภัณฑ์ เราก็คิดว่าเป็นถึงวิทยากรละ แม่นเรื่องโรค โรคเกิดในสวนเราเอาอยู่ ที่ไหนได้ เรากลับมา เรามารักษา ใช้เชื้อไตรโคเดอร์มา พอดูอาการดีขึ้นเราก็ปล่อย พออีกสองอาทิตย์โทรมเราก็รักษา อ้าว ดีขึ้น ก็ปล่อย หลังจากนั้นอีกสองอาทิตย์มาดู มันยืนต้นตายเฉยเลย แล้วต้น 7 ปีแล้วฮะ หลังจากนั้นผมเลยไม่รับงานนอกละ ทุ่มกับงานของเราให้เต็มที่

สวนนี้พื้นที่ 16 ไร่ ผลผลิตหลักคือมังคุด ประมาณ 80 ต้น เป็นผิวมันหมด เราทำกันสองคน ไม่มีแรงงานข้างนอก จะหนักตอนช่วงเก็บผลผลิต มังคุดค่อยๆ ทยอยออก ถ้าสามารถทำให้เก็บเสร็จได้ในเดือนเดียวหรือไม่เกินเดือนครึ่งจะประหยัดค่าจ้างเก็บ และได้ราคา ตามมาคือทุเรียน ที่ปลูกไปแล้ว หมอนทองประมาณ 48 ต้น ก้านยาว 10 กว่าต้น พันธุ์จันทบุรี 3 ที่เกิดจากก้านยาวกับชะนีผสมกัน ให้ได้รสชาติระหว่างชะนีกับก้านยาว จันทบุรี 4 เกิดจากก้านยาวกับหมอนทอง รสมันขึ้น ได้เนื้อครีมของก้านยาวเพิ่มเข้ามา แล้วผมมาเน้นพันธุ์สมัยก่อน อย่างกบทองคำ กบสุวรรณ เป้าหมายของผมคือ ไม่ได้ขายจำนวนมาก ผมขายคุณภาพ พันธุ์ที่มีจุดเด่นจริงๆ ขายแค่พอประมาณต่อปี ผมหวังให้คนกินเขามีความสุขที่ได้กินของเรา แล้วราคาคนไทยต้องได้กิน ผมทำมังคุดอินทรีย์ สาวโรงงานต้องกินของผมได้ ผมขายต่อปีกิโลหนึ่ง 50-60 บาท ขายกล่อง 5 กิโล 300 บาท ผมส่งของไปรษณีย์เป็นหลักเพราะมีระบบติดตาม มันเป็นความสุขอย่างหนึ่งด้วยที่เราได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยว่าเราติดตามให้เขาตลอด

ทำเกษตรอย่างเดียวอยู่ได้ครับ เพียงแต่เราต้องรู้เป้าหมายของตัวเอง และต้องไม่วอกแวก เห็นสวนนี้ขายดีทำบ้าง เพราะตัวนี้สำคัญว่าคุณจะอยู่ได้อยู่ไม่ได้ ปัจจุบันเกษตรกรเวลาคุยกันว่าปีนึงเขาได้เท่าไหร่ ซื้อรถอะไรบ้าง เขาจะแชร์กันอย่างนี้ ของผมยังขับปิ๊กอัพที่คนให้มา ยี่สิบกว่าปีล่ะ เราก็อยู่ของเรา เราพอใจอย่างนี้ แม้กระทั่งลูก แฟนผมบอกเหมือนกันว่า คุณต้องมองคุณค่าของเงินให้ออก ว่า 100 บาทเนี่ย คนมีเงิน เขาอาจจะไม่มีค่า แต่กับแรงงาน มีค่า แล้วเราจะใช้เงินกับคุณค่าหรือมูลค่า ถ้าใช้ที่คุณค่า 100 บาท 10 บาท มันมีคุณค่า แต่ถ้าเรามี 100 บาท แล้วไปใช้ตามมูลค่า ก็ไม่พอ แล้วจะสร้างปัญหาให้ตัวคุณเอง ความสุขของตัวเองจริงๆ ไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหน เราอยู่ในสวนเรามีความสุข คนอื่นเราก็ไม่ว่าเขา

คนที่เข้ามาทำใหม่ ผมจะบอกเขาว่า คุณอย่าทำอินทรีย์จ๋า ให้ทำอย่างมีเหตุมีผล เพราะว่า หนึ่ง. เราทำเราต้องขาย เราจะต้องรู้ด้วย ถ้าเราอยู่กึ่งกลางมันไม่มีอะไรที่เป็นอันตรายหรอก เพราะในความเป็นอินทรีย์คุณต้องทำเผื่อ แต่คุณต้องป้องกันรายได้ของคุณ คุณอาจจะใช้เคมีมาร่วมด้วย แต่ใช้แล้วคุณบันทึกไว้ ปีนี้ใช้แค่นี้ ปีต่อไปคุณลองดู พอคุณมีองค์ความรู้ คุณมั่นใจแล้ว ก็ค่อยปรับเปลี่ยน ค่อยๆ รู้แนวทางก่อน ช่วงปี 2548-49 ผมทำน้ำหมักแจกเลย เพราะทำที 2-300 ลิตร เขาก็บอกจะใช้ได้ผลเหรอ ดีเหรอ ผมบอกผมก็ใช้ตลอด เขาก็จะบอกว่าคุณบอกไม่หมด คือมันต้องปรับทีละนิด ต้องเข้าใจว่าเกษตรกรเองใจร้อน ใช้อะไรปุ๊บเขาจะหักดิบเลย อันนี้ใช้ดีเขาจะใช้เลย ต้นไม้ก็รอระยะเวลาเหมือนกัน อย่างที่ผมมาทำ มีบางช่วงที่รู้สึกท้อเหมือนกัน ว่าเราลงเวลามายี่สิบกว่าปี ได้แค่นี้เองเหรอ เราก้าวพลาดหรือเปล่า คิดผิดหรือเปล่า เพราะถ้าเราก้าวพลาด คนที่เดือดร้อนคือครอบครัว บางทีเราไปเจอคนทำออร์แกนิกเหมือนกัน โห.. เขายิ่งทำยิ่งดี แล้วเราทำไมกว่าจะก้าวได้ ยิ่งทำยิ่งเอ๊ะ เป็นเพราะอะไร สุดท้ายได้คำตอบจริงๆ ว่าสิ่งอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเป็นกระแส มันมีทั้งข้อมูลจริงและไม่จริง ต้องไตร่ตรองเยอะๆ อย่าเดินตามกระแส เดินยังไงก็ได้ให้รู้จักตัวตนของคุณว่าคุณพอใจอะไรตรงไหน”

ชนะพล โห้หาญ

ปราชญ์เกษตรท้องถิ่น
ประธานศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชนตำบลตรอกนอง

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

5 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

1 week ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

2 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

2 months ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago