“ผมเป็นคนนครปฐม ย้ายมาตั้งครอบครัวที่กาฬสินธุ์ อยู่ที่นี่มาสามสิบกว่าปีแล้ว สมัยก่อนผมเป็นผู้จัดการบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต พออายุ 55 ก็เกษียณก่อนกำหนด และมาทำงานจิตอาสา
จริงๆ ก็เริ่มงานจิตอาสามาก่อนเกษียณด้วยซ้ำ ที่ทำงานนี้เพราะครั้งหนึ่งผมเคยป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับปอด น้ำหนักลดเหลือไม่ถึง 50 กิโลกรัม ตอนนั้นคิดว่าเราอาจจะตายได้ แต่ก็ยังรอด ก็เลยคิดว่าเราอาจตายอีกทีเมื่อไหร่ไม่รู้ งั้นเอาเวลาที่เหลือไปช่วยคนอื่นดีกว่า ก็เลยไปทำงานมูลนิธิ ปรับปรุงรถกระบะตัวเองให้มีเครื่องอำนวยความสะดวก สำหรับรับส่งผู้ป่วยหรือคนชราที่ไม่สามารถเดินทางเองได้ไปโรงพยาบาล
ไม่รู้เพราะเราช่วยคนอื่นบ่อยๆ ด้วยเปล่านะ อาจเป็นกุศลที่สุดท้ายอาการป่วยที่ผมเป็นอยู่ก็หายไปเอง ทุกวันนี้ผมทำงานนี้มาเกือบ 20 ปีแล้ว ควบคู่กับงานนี้ก็เป็นเลขาธิการสมาคมพ่อค้า และโครงการตรวจสอบการเลือกตั้ง คือมีอะไรที่ผมทำหรือช่วยเมืองได้ ผมก็ทำ
พอทำงานจิตอาสาบ่อยเข้า คนในเขตเทศบาลกาฬสินธุ์ก็คุ้นเคย และนายกเทศมนตรีก็มาชวนว่าไหนๆ ก็ทำงานเมืองแล้ว มาเป็นสมาชิกสภาเทศบาลด้วยกันเลยดีกว่า ซึ่งตอนนั้นนายกฯ มีนโยบายสายด่วน 1132 ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินของเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ ผมเห็นว่าเป็นนโยบายที่ดี ก็เลยมาช่วย นี่ก็เพิ่งมาเป็น สท. สมัยแรก
ทุกวันนี้ก็ยังขับรถรับส่งผู้ป่วยและคนชราอยู่ในบทบาทของ อปพร. (อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน) ก็จะมีเจ้าหน้าที่คอยรับสายว่าบ้านไหนต้องการบริการจากเราบ้าง เช่นคุณยายบ้านนี้จะไปฟอกไต เขาก็โทรมา ผมก็ไปรับเขาที่บ้าน และขับไปส่งโรงพยาบาล จากนั้นก็ไปรับคนอื่นต่อ พอคุณยายฟอกไตเสร็จเขาก็โทรมา ผมก็ขับไปรับและไปส่งแกที่บ้าน เป็นต้น
รถเป็นของผมเอง จะมีค่าแรงจากเทศบาลวันละ 300 บาทให้ ผมก็เอาไปเติมน้ำมัน แต่ก็มีสิทธิ์เบิกได้ และก็มีห้างร้านในเขตเทศบาลช่วยสนับสนุนสวัสดิการต่างๆ เช่น ซ่อมรถ เปลี่ยนยาง ถ่ายน้ำมันเครื่อง บางองค์กรเขาก็ให้เงินสนับสนุนเรามา ผมไม่เก็บไว้เองหรอก ก็ให้ลูกน้องที่มาช่วยแบ่งกัน ปีนี้ผม 61 แล้ว ไม่ได้ลำบากเรื่องเงินอะไร ที่ทำ เพราะอยากช่วยคนมากกว่า
นอกจากรับส่งผู้ป่วย ในฐานะ สท. ผมก็จะลงพื้นที่ 41 ชุมชนในเขตเทศบาล ไปสำรวจความเดือดร้อนของชาวบ้าน และจัดทำแผนเยียวยาไปเสนอเข้าสภาเทศบาล เพื่อจัดสรรงบประมาณมาขับเคลื่อนไป เรื่องไหนเร่งด่วน เขาก็จะหางบจัดสรรมาให้เลย บางเรื่องที่ยังไม่เร่งด่วนนัก ก็จะรองบประมาณรอบถัดไป
กาฬสินธุ์เป็นเมืองเล็กๆ ที่เงียบสงบ อยู่แล้วเหมือนอยู่หมู่บ้านมากกว่า ผู้คนจะรู้จักกันเกือบหมด จริงอยู่ เมืองเราอาจไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ในทางกลับกันค่าครองชีพก็ต่ำ ถ้าชีวิตไม่ฟุ้งเฟ้อก็อยู่ได้สบาย ขณะเดียวกัน พอเมืองมีปัญหา มันก็สื่อสารถึงกันได้หมด เทศบาลก็สามารถเข้ามาแก้ได้ตรงจุด และความที่เมืองมันไม่ได้หวือหวาอะไรมากนัก จึงมีการจัดตั้งชมรมหรือสมาคมเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันหลายกลุ่ม อย่างกลุ่มผู้สูงอายุเขาก็ชวนกันไปออกกำลังกาย หรือตักบาตรทำบุญทุกเช้าวันเสาร์และอาทิตย์ มีกลุ่มแม่บ้านรวมตัวกันเต้นแอโรบิกตอนเย็น มีกลุ่มศิลปินที่ชวนเด็กๆ มาเรียนศิลปะที่หอศิลป์ ไปจนถึงการรวมกันทำถนนคนเดินเชิงวัฒนธรรม เป็นต้น
ทุกวันนี้ภรรยาผมเกษียณจากงานโรงพยาบาลแล้ว ไปทำสวนที่อำเภอนาคู ลูกสาวคนโตเป็นลูกจ้างที่กองช่างของเทศบาลฯ ลูกเขยทำ ธกส. ที่นี่ และมีหลานหนึ่งคน ส่วนลูกคนเล็กทำงานธนาคารที่นครปฐม ตกเย็น ผมทำงาน สท. กับรับส่งผู้ป่วยเสร็จ ถ้าภรรยาเข้ามาในเมืองก็จะกินข้าวด้วยกันทุกวัน ภรรยาก็ชอบแซวผมว่าอายุปูนนี้แล้ว ไม่อายเหรอที่ใส่เสื้อกู้ชีพอยู่ (หัวเราะ) เขาคงเห็นว่าส่วนใหญ่คนใส่ชุดนี้จะเป็นคนหนุ่มแน่นอยู่น่ะ”
จีระพงษ์ ชิ้นฮะง้อ
สมาชิกสภาเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์
“พื้นเพของครอบครัวผมเป็นนักการเมืองและนักธุรกิจ คุณตาของผม สันติ์ เทพมณี เป็นอดีตรัฐมนตรี สส. และ สว. ของจังหวัดลำพูน พ่อของคุณตา - สุข เทพมณี ก็เป็นอดีตนายกเทศมนตรีเมืองลำพูน (พ.ศ.…
“ตอนเด็ก ๆ เราแทบไม่ได้ผูกพันกับลำพูน บ้านเกิดเลยนะ เราถูกส่งไปเรียนที่เชียงใหม่ เรียนมหาวิทยาลัยที่ขอนแก่น จบมาก็ไปทำงานกรุงเทพฯ อยู่หลายปี ระหว่างนั้นก็กลับมาเยี่ยมแม่บ้าง ไป ๆ มา ๆ ก็เริ่มรู้สึกเป็นห่วงเขา สุดท้ายเลยตัดสินใจย้ายกลับมาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมที่ลำพูนถึงพ่อแม่เราจะรับราชการครู…
ความสําเร็จของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดบนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม บพท. คุณสมศักดิ์ ลามอ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครปากเกร็ด (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม 2567 - มีนาคม 2568) มุ่งยกระดับการบริการประชาชนด้วยนวัตกรรมและยุทธศาสตร์ทันสมัย เทศบาลนครปากเกร็ด ซึ่งเป็นเทศบาลขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ติดต่อกับกรุงเทพมหานคร มีประชากรในความดูแลกว่า 400,000…
ก้าวสู่ความสําเร็จของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดบนฐานงานวิจัยและนวัตกรรม บพท. | ดร.นิมิตร จิวะสันติการ นายกเทศมนตรีนครลำปาง (ดำรงตำแหน่ง มีนาคม 2564- มีนาคม 2568) “เทศบาลนครลำปางในปี 2567-2568 เราได้ร่วมงานกับ บพท. ในการทำงานร่วมกันเพื่อช่วยบริหารจัดการเมืองของเราให้เดินหน้าสู่การเป็นเมืองน่าอยู่ ซึ่งก็ตรงกับแนวทางที่เรากำลังทำกันอยู่ที่ ด้วยเป้าหมายสิ่งที่เราปรารถนาที่สุดคือ จะทำให้เมืองของเราเป็นเมืองที่สมบูรณ์แบบ…
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…