ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านสื่ออย่างการทำละครเป็นเครื่องมือในการค้นหาศักยภาพของเยาวชนได้ เพราะนี่คือส่วนผสมระหว่างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการเล่าถึงข้อมูลที่ต้องการสื่อสาร

“ผมเรียนมาทางด้านบริหารงานบุคคล แต่มีความสนใจในด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ช่วงเป็นนักศึกษาจึงได้ทำกิจกรรมละครโรงเล็กและละครหุ่นกับเพื่อน ซึ่งพอได้เห็นเด็กๆ สนุกไปกับสิ่งที่เราทำ หัวใจเราเต้นแรงมาก เลยตั้งใจว่าพอจบออกมาคงจะทำงานด้านนี้

ที่สนใจเรื่องการพัฒนาเด็ก เพราะพบว่าการเรียนรู้ของเด็กที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์ศักยภาพของเขาจริงๆ ซึ่งหมายรวมถึงในช่วงที่ผมเป็นเด็กด้วย เราต่างเป็นผลผลิตของการศึกษาที่โตเพียงข้างเดียว พอเรียนจบมาก็เข้าสู่ตลาดแรงงานในโลกทุนนิยม ส่วนศักยภาพที่เด็กแต่ละคนค้นพบระหว่างนั้น เมื่อไม่ได้สอดคล้องกับตลาด ก็จะไม่ได้ถูกนำมาใช้ โดยเหตุที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งมาจากหลักสูตรการศึกษา และการขาดพื้นที่และกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน

ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ผ่านสื่ออย่างการทำละครเป็นเครื่องมือในการค้นหาศักยภาพของเยาวชนได้ เพราะนี่คือส่วนผสมระหว่างจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการเล่าถึงข้อมูลที่ต้องการสื่อสาร ขณะเดียวกันละครก็เป็นสื่อกลางเชื่อมให้เยาวชนเข้าใจในประเด็นต่างๆ ของชุมชนและสังคม

หลังเรียนจบ ราวปี 2544 ผมกับเพื่อนอีก 2 คน จึงตั้งกลุ่ม ‘มานีมานะ’ โดยเป็นกลุ่มคนทำละครเพื่อการศึกษา ใช้ละครโรงเล็กและละครหุ่นเป็นสื่อในการบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ขณะเดียวกันก็เปิดให้เยาวชนเข้ามาร่วมสร้างสรรค์ละครกับเรา โดยแรกเริ่มเราทำละครเพื่อพัฒนาเยาวชนในโรงเรียนก่อน จากนั้นก็ค่อยๆ ขยับมาสู่ประเด็นสังคมอื่นๆ เช่น โรงไฟฟ้าจะนะ ที่ใช้ละครเป็นกระบอกเสียงสะท้อนปัญหาของชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ และสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบทางอ้อมที่จะเกิดขึ้นแก่ผู้คนในพื้นที่อื่น รวมถึงชวนให้ทุกคนคิดถึงวิธีการที่วิถีชีวิตชาวบ้านจะอยู่ร่วมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นต้น

นอกจากเรื่องละคร เรายังสนใจเรื่องสื่อและการรับรู้ของผู้คนในสังคม ราวปี 2550 จึงขับเคลื่อนกิจกรรมให้ผู้คนรู้เท่าทันสื่อ ซึ่งก็เริ่มตั้งแต่ในยุคแรกที่สื่อโฆษณาพยายามกล่อมให้ผู้บริโภครู้สึกว่าตัวเองไม่สมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อกระตุ้นการบริโภคอย่างไม่สิ้นสุด ไปจนถึงการเท่าทันโซเชียลมีเดีย ความเป็นส่วนตัว ไซเบอร์บูลลี่ ไปจนถึงเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของสื่อที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เป็นต้น

และแน่นอน เมื่อเราสนใจเรื่องสื่อซึ่งหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนหรือเครือข่ายบุคคล จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะไม่สนใจเรื่องเมือง ในช่วงหลังเราจึงพัฒนาประเด็นจากการเท่าทันสื่อ สู่การเท่าทันเมือง มองเมืองให้เป็นสื่อสื่อหนึ่ง และถอดรหัสเมืองผ่านพื้นที่ สถานที่ และประเด็นทางสังคม ให้ผู้คนเห็นถึงความหลากหลาย โดยมีเป้าหมายให้หาดใหญ่เป็นเมืองสำหรับทุกคน (Inclusive City)

ควบคู่ไปกับการทำละคร และการรณรงค์เรื่องสื่อและการพัฒนาเมืองผ่านกิจกรรมและเสวนาต่างๆ กลุ่มมานีมานะ ก็พยายามเชื่อมกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ตั้งใจอยากพัฒนาหาดใหญ่ เช่นที่ร่วมขับเคลื่อนโครงการริทัศน์ (RTUS – Rethink Urban Spaces) และเชื่อมกลุ่มเยาวชนริทัศน์หาดใหญ่ เข้ากับหน่วยงานต่างๆ ของเมือง โดยทางกลุ่มเขาจะมีโปรเจกต์แก้ปัญหาและพัฒนาเมืองต่างๆ ตั้งแต่การทำสื่อดิจิทัล การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ไปจนถึงแนวทางการแก้ปัญหาจราจรและขยะ ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังของเมือง จัดทำเป็นข้อมูลและข้อเสนอเชิงนโยบายให้หน่วยงานรัฐต่างๆ นำไปพิจารณาต่อไป

อย่างที่บอกผมมีเป้าหมายอยากให้หาดใหญ่เป็นเมืองสำหรับทุกคน ผมเกิดและโตที่นี่ ได้เห็นเยาวชนหลายคนที่เรียนหนังสือและถูกฟูมฟักในเมืองเมืองนี้ แต่เมื่อจบการศึกษาออกมา เมืองกลับไม่มีงานหรือกระทั่งพื้นที่ให้พวกเขาได้ใช้ชีวิต คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จึงต้องออกไปหางานที่อื่น ไปเป็นแรงงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ที่อื่น

แต่ถ้าเราสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมกับเมืองตั้งแต่ระดับเยาวชน ขณะเดียวกันพร้อมไปกับที่ภาครัฐพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน อย่างทางเท้า ขนส่งมวลชน พื้นที่สีเขียวและอื่นๆ ภาครัฐก็ควรต้องรับฟังเสียงเยาวชนในการกำหนดทิศทางการพัฒนาของเมืองเมืองนี้ ออกแบบเมืองไปด้วยกัน เมืองเรายังขาดอะไร ก็ช่วยกันหามาเติมให้เต็ม หาดใหญ่จะกลายเป็นเมืองที่ไม่ทิ้งคนรุ่นเก่าแถมยังดึงดูดคนรุ่นใหม่ เป็นเมืองที่มีอนาคตสำหรับทุกคน”

โตมร อภิวันทนากร
ผู้ก่อตั้งกลุ่มมานีมานะ และผู้เชี่ยวชาญโครงการริทัศน์
https://www.facebook.com/maaniimaana

หมายเหตุ: โครงการริทัศน์ (RTUS – Rethink Urban Spaces) เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย มูลนิธิการศึกษาเพื่อพลเมืองไทยและมูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวคิดที่นำโดยเยาวชนในการมองพื้นที่เมืองในประเทศไทยด้วยมุมมองใหม่ เพื่อสร้างสรรค์เมืองที่นับรวมทุกคน (Inclusive Cities) ให้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเมือง ได้มามีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของตนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

5 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

2 months ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

2 months ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago