“โรงเรียนบ้านท่าช้าง เป็นการจัดการศึกษาขยายโอกาสคือมีตั้งแต่อนุบาลจนถึงม.3 ปัจจุบันนักเรียน 1,040 คน ข้าราชการครูและบุคลากรทั้งหมด 51 คน ถือเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครราชสีมาเขต 4 นโยบายโรงเรียนคือนำนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการพร้อมทั้งจุดเน้นของสพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) สู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัย ทุกมิติของนักเรียน ของโรงเรียน ลดความเสี่ยงลงให้ได้มากที่สุด ในเรื่องของโอกาสทางการศึกษา เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้กับนักเรียน ได้เข้าถึงการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีความเสมอภาคกัน ในเรื่องของประสิทธิภาพ การบริหารจัดการ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น สุดท้ายเรื่องคุณภาพของการศึกษา คือผลลัพธ์ของผู้เรียน
จุดเริ่มเข้าร่วมโครงการอาหารกลางวันกับเครือข่ายเกษตรอินทรีย์เขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม ต้องยกเครดิตให้พี่สมชาย (สมชาย กาญจนพงษ์พร) ท่านอยู่ติดกันกับบ้านผม ท่านเป็นเพื่อนกับคุณโอ๋และคุณแอน (ปรเมศวร์ – แอนนา สิทธิวงศ์ เจ้าของเขาใหญ่ พาโนราม่า ฟาร์ม) เป็นผู้ใหญ่ที่เมตตามาก อยากให้เด็กรับประทานอาหารปลอดภัย คือตัวท่านกินก่อน แล้วก็แนะนำผม ท่านก็เป็นผู้อุปถัมภ์โรงเรียนตั้งแต่สมัยผมอยู่โรงเรียนบ้านหนองอีเหลอ อำเภอปากช่อง ย้ายมาอยู่โรงเรียนบ้านนา-ประสิทธิ์วิทยาคาร อำเภอปากช่อง ก็มีการใช้บริการไข่ไก่อินทรีย์ พืชผักอินทรีย์ ทีนี้มาดูเรื่องของอาหารที่เด็กๆ รับประทานทุกวัน เป็นอาหารที่มีสารเคมี คือผมเข้าใจเกษตรกรนะ ว่าเขามีความจำเป็นต้องใช้ ถ้าไม่ใช้ก็มีศัตรูพืช ไม่สามารถเอามาขายได้ ประกอบกับถ้าเป็นอาหารอินทรีย์ ราคาสูง เราก็เข้าไม่ถึง งบของรัฐบาลที่จัดสรรอาหารกลางวันให้ ตอนนั้นหัวละ 20 บาท ตอนนี้ปรับเป็นหัวละ 22 บาท ตามขนาดของโรงเรียน ต้องมีข้าว มีกับข้าว ครบตามหลักโภชนาการ ถ้าจะกินพืชผักอินทรีย์ ก็เข้าไม่ถึงแน่นอน พี่สมชายก็เข้ามาดูแลส่วนต่างให้ พอผมได้โอกาสมารับตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าช้างวันที่ 25 กรกฎาคม 2565 ก็เอาโครงการฯ มาด้วย เพราะเป็นสิ่งที่ดี เมื่อเด็กรับประทานอาหารอินทรีย์ การได้รับสารเคมีในร่างกายลดลง อนาคตก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคน้อย คือถ้าเรากินทุกวัน ก็สะสมไปเรื่อยๆ ซึ่งปลายทางส่งผลแน่นอน แต่ ณ วันนี้ เราเริ่มจากจุดเล็กๆ ที่สามารถจัดให้เขาได้ เริ่มจากกินไข่อินทรีย์ ในงบประมาณที่เรามี ผักไร้สารเคมี ก็เริ่มเอาเข้ามา กินให้เป็นกิจวัตรก่อน ทำให้เด็กมีความปลอดภัย ซึ่งตรงกับนโยบายของสพฐ.ข้อแรกคือความปลอดภัย
ด้วยความที่โรงเรียนบ้านท่าช้างมีขนาดใหญ่ นักเรียนเป็นพันคน เราสามารถเดินโครงการฯ ของเราเองได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักเรียนซึ่งเป็นลูกๆ ของเราได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย พี่สมชายก็ไปดูแลโรงเรียนเล็กๆ ที่ขาดโอกาสในส่วนนั้น คือถ้าโรงเรียนที่มีเด็กเยอะ ก็ถัวเฉลี่ยกันได้ โรงเรียนที่มีเด็กร้อยกว่าคน ไหนจะซื้ออาหาร จ้างแม่ครัว ก็สามร้อยแล้ว งบหมดไปกับเรื่องพวกนี้ โครงการอาหารกลางวันนักเรียน ผมเข้าใจว่า หนึ่ง กระทรวงเรามีลูกเยอะ ดูแลกว่าสามหมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ เพราะฉะนั้น งบประมาณเยอะมากในแต่ละวัน สอง การเข้าถึงผลผลิต ซึ่งก็เป็นอีกหนึ่งความโชคดี คือนอกจากได้เจอพี่สมชายแล้ว โรงเรียนบ้านท่าช้างอยู่ใกล้เขาใหญ่ พาโนราม่าฯ ซึ่งเขามีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ สามารถผลิตและป้อนให้สถานประกอบการในละแวกอำเภอปากช่องได้ พอผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์รองรับได้ เราเข้าถึง ก็ตอบสนองการใช้ผลิตภัณฑ์ของเขาได้ ผมเชื่อว่าทั่วประเทศนะ คุณครูอยากทำอาหารปลอดภัยให้เด็กอยู่แล้วล่ะ เพียงแต่ว่าเขาเข้าไม่ถึงอาหารปลอดภัยตามสภาพแวดล้อมและราคา คือต้องมีผู้อุปถัมภ์ครับ เพราะอาหารปลอดภัยราคานึง อาหารตามตลาดสดอีกราคา ผักบางชนิด อย่างคะน้า ราคาแพงเท่าตัวเลย ซึ่งคุณโอ๋คุณแอนก็พยายามทำราคาให้ใกล้เคียงกับท้องตลาด เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงมากยิ่งขึ้น อย่างตอนผมอยู่โรงเรียนบ้านนา สั่งทั้งไข่ ผัก หมู แต่หมูอินทรีย์ผลิตให้ไม่ทัน ต้องรอออเดอร์ พออยู่ท่าช้าง เราสั่งไข่ เพราะใช้ปริมาณเยอะ ผักก็มาดูเป็นรายการๆ ไป คือเราวางแผนเมนูเป็นรายสัปดาห์ ดูให้สอดคล้องกับฤดูกาล เขาส่งให้เราได้ในปริมาณที่เพียงพอมั้ย ราคาในช่วงนั้นแพงหรือถูก ที่ใกล้เคียงกับท้องตลาด เพราะอาหารจากไหนก็ตาม คือเราจ่ายได้หัวละ 22 บาท และสำคัญคือนักเรียนต้องกินอิ่มนะครับ อาหารเพียงพอ ถูกหลักโภชนาการ และเด็กทุกคนต้องได้กิน ผมเชื่อว่าพอเขาอิ่ม สุขภาพเขาดี เสมอภาคกัน โอกาสเข้าถึงการศึกษา ได้คุณภาพ ก็มากขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการขององค์กรด้วย
ในการเปลี่ยนแปลง ถ้าจัดระบบได้จะลงตัวไปเอง ก็ทำความเข้าใจกับครูว่า ครูอาจจะต้องเหนื่อยขึ้นนะ แม่ครัวเป็นอีกหนึ่งทีมงานสำคัญ เพราะต้องมีความรู้ความเข้าใจในการปรุงอาหาร จากเมื่อก่อนเขาใช้แบบนี้ ตอนนี้ต้องเปลี่ยนละ แล้วก็การควบคุมปริมาณ ให้เด็กได้รับประทานอย่างเพียงพอ ในสัดส่วน น้ำหนัก อายุช่วงวัยของเขา คุณค่าโภชนาการ แล้วเราก็จะบอกเด็กว่าเป็นไข่ไก่อารมณ์ดีนะลูก ก็เกิดภาวะขอเบิ้ล (หัวเราะ) เด็กบอก ปลอดภัย อร่อยๆ อันนี้ต้องขอบคุณแม่ครัวและทีมงานด้วย คือถ้าอาหารสด สะอาด บางทีไม่ต้องทำอะไรมาก แล้วเราก็เพิ่มองค์ความรู้ แนะนำอาหารในเมนูวันนี้คืออะไร ได้โภชนาการอะไร แหล่งผลิตมาจากไหน บางทีเราต้องบูรณาการให้เห็น สมมติ วันนี้เราผัดคะน้าหมูกรอบ เราบอกต้นคะน้านี้มาจากไหน ปลูกกี่วัน ปลูกยังไง สภาพอากาศ รดน้ำ การดูแล ก็เหมือนสอนให้เขารู้ไปในตัว ผู้ปกครองเองก็ทราบ เขากลับบ้านไปเล่าให้ฟังว่าวันนี้คุณครูทำไข่อารมณ์ดีให้กิน ปลอดสารเคมี ซึ่งเป็นประชาสัมพันธ์ชั้นดีเลยครับ แล้วคุณครูก็คุยกับผู้ปกครองเวลามารับส่งนักเรียน บอกลูกไปเล่าให้ฟัง อาหารอร่อย ซื้อที่ไหน ยังไง ลูกบอกดีต่อสุขภาพเลยนะแม่ เราก็อธิบายเพิ่มเติมไป เราก็ใช้ตรงนี้แหละครับช่วยกันรณรงค์ บอกต่อ ถ้ามีโอกาส เข้าถึง ให้หันมารับประทานอาหารปลอดภัย ไร้สารเคมี เพื่อสุขภาพ
ความยั่งยืนของโครงการฯ ผมนำเรียนสองมิติ หนึ่ง นโยบาย เป็นเรื่องผู้บริหารในอนาคตที่จะมาสานต่อหรือไม่ สอง เรื่องของกลุ่มผลิต ทางเขาใหญ่ พาโนราม่าฯ และเครือข่ายของเขา เมื่อใดก็ตามที่ผลผลิตมีเพียงพอ ราคาที่ผู้คนเข้าถึงได้ และเป็นสิ่งที่ดี เกิดความยั่งยืนแน่นอน แต่ถ้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่บาลานซ์กัน ผู้บริหารท่านใหม่มา แต่ผลผลิตไม่พอ ก็ไม่ต่อเนื่อง สองอย่างต้องประกอบกัน ซึ่งอนาคตก็ไม่ทราบได้ แต่ในปัจจุบันที่ผมอยู่ พยายามสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อเป้าหมายเดียวคือนักเรียน คือโรงเรียนทำหน้าที่เตรียมคนให้พร้อมในอนาคต เราอยู่ในมิติของต้นน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กประถมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น ให้มากที่สุด แล้วเขาจะตัดสินใจเส้นทางตามศักยภาพ ความพร้อมของแต่ละครอบครัว กลางน้ำ ปลายน้ำ เรียนจบก็ไปประกอบอาชีพ พอทำงาน มีรายได้ ก็ย้อนกลับมาคุณภาพชีวิตที่ดีในการสร้างครอบครัว เมื่อหลายๆ ครอบครัวในชุมชนดี ก็ส่งผลให้ชุมชนนั้นดีตามไปด้วย โรงเรียนปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะเราอยู่ในพื้นที่ของชุมชน สิ่งหนึ่งก็คือเราต้องทำให้สภาพแวดล้อมในโรงเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงมีพูดกันว่า การจัดการศึกษาโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ”
วรเศรษฐ์ อรรถรวีวัฒน์
ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านท่าช้าง
“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…
ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…
WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…
ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…
สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…
"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…