ผมไม่ค่อยกังวลว่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาว่าจะเลือนหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย

“ตอนเด็กๆ ผมเป็นแฟนรายการวิทยุชื่อมรดกล้านนา ของอาจารย์สนั่น ธรรมธิ ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ทำให้ผมอยากทำงานด้านศิลปวัฒนธรรม พอเข้ามาเรียนต่อในเมืองก็เลยติดต่อไปหาอาจารย์สนั่น บอกว่าผมเล่นดนตรีพื้นเมืองเป็น อาจารย์ท่านก็เลยแนะนำให้ไปเล่นดนตรีที่ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่หารายได้เสริม จนเข้ามหาวิทยาลัยก็ได้รู้จักกับอาจารย์ชัชวาล ทองดีเลิศ ที่กำลังก่อตั้งโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาพอดี ก็เลยไปเป็นอาสาสมัครสอนดนตรีล้านนา กินนอนที่นั่นอยู่พักใหญ่

ช่วงที่ผมเรียนมหาวิทยาลัย (ภาควิชาศิลปะไทย คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่) คือช่วงไล่เลี่ยกับการฉลองครบ 700 ปีเมืองเชียงใหม่พอดี บรรยากาศในตอนนั้นจึงคึกคักไปด้วยการฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมล้านนา มีการศึกษาและค้นคว้าประวัติศาสตร์ และภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อกลับมาเผยแพร่ใหม่ รวมทั้งมีการนำเอาการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมล้านนามาเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยว ผมกับเพื่อนมีโอกาสเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว และค้นพบมิติที่น่าสนใจจากเทือกเขาแห่งนี้ นอกเหนือจากความงดงามทางทัศนียภาพ หรือความหลากหลายอันน่าทึ่งของทรัพยากรธรรมชาติ

พื้นเพผมเป็นคนอำเภอเชียงดาว บ้านอยู่เชิงดอยหลวง จึงได้ยินมาตั้งแต่เด็กว่าดอยหลวงเชียงดาวเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่สถิตของเจ้าหลวงคำแดง วิญญาณอารักษ์ที่ได้รับความเคารพศรัทธามากที่สุดของคนล้านนา ระหว่างที่พาเพื่อนๆ เดินขึ้นดอยหลวงก็เกิดความคิดว่าเราน่าจะจัดทริปนำคนขึ้นมาเดินดอยหลวง ศึกษามรดกธรรมชาติไปพร้อมกับซึมซับมรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาและความเชื่อความศรัทธาที่คนเชียงดาวมีต่อเทือกเขาแห่งนี้ เพื่อนๆ ก็เห็นด้วย เราจึงตั้งกลุ่มรักษ์ล้านนาขึ้น

กลุ่มรักษ์ล้านนามีเป้าหมายคือการเปลี่ยนทัศนคติของคนที่มาเยือนดอยหลวงเชียงดาว จากการพิชิตยอดดอย สู่การศึกษาธรรมชาติด้วยความเคารพสถานที่ พร้อมกับได้องค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมกลับไป ในแต่ละปี เราจึงกำหนดหัวข้อในการเยี่ยมชมต่างกันออกไป เช่น ‘ชมสวนดอกไม้ที่ปลายฟ้า’ ไปเยี่ยมชมดอกไม้หายากบนดอยที่คนเชียงดาวเชื่อว่านั่นคือสวนดอกไม้ของเจ้าหลวงคำแดง หรือ ‘9 สิ่งมหัศจรรย์บนดอยเชียงดาว’ เป็นต้น จากกลุ่มเล็กๆ ก็เริ่มมีคนเข้าร่วม หรือกลับมาเข้าร่วมรอบแล้วรอบเล่า จนเป็นกลุ่มใหญ่ที่กล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายมิตรภาพตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเพิ่งมาหยุดไปช่วงโควิด และพอเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาวออกมาตรการใหม่ ให้ผู้มาเยือนค้างคืนบนดอยได้คืนเดียว เราก็เลยหยุดกันก่อน

พร้อมไปกับการจัดทริปของกลุ่มรักษ์ล้านนา หลังเรียนจบ ผมก็มีโอกาสจากโฮงเฮียนสืบสานฯ ในการทำงานเกี่ยวกับการศึกษาและวัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น การประสานงานเครือข่ายการศึกษาทางเลือกภาคเหนือ งานค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับประเพณีสิบสองเดือนให้ศูนย์สารสนเทศภาคเหนือ สำนักหอสมุดกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การจัดทริปพาคนที่สนใจร่วมสืบค้นตัวตนคนล้านนาไปยังเมืองต่างๆ ตั้งแต่แม่แจ่มไปจนถึงสิบสองปันนา รวมถึงการจัดกาดหมั้วและอีเวนท์ทางวัฒนธรรม

งานที่โฮงเฮียนสืบสานฯ ไม่เพียงเปิดโลกทัศน์ในด้านการศึกษา แต่ยังทำให้ผมต่อยอดสู่งานอันหลากหลายที่ผมทำทุกวันนี้ ด้วยเหตุนั้น ผมจึงมองว่าแรงบันดาลใจและสภาพแวดล้อมมีส่วนสำคัญต่อการเรียนรู้ และผมโชคดีที่ได้อยู่ในเมืองเชียงใหม่ เมืองที่มีทั้งรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และมีผู้คนหลายต่อหลายรุ่นที่พร้อมจะสืบสานมรดกนี้ไว้

ผมจึงไม่ค่อยกังวลว่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมล้านนาจะเลือนหายไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยเท่าไหร่ แค่คิดว่าในอนาคต หากเราประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ มาเป็นเครื่องมือทำให้ผู้คนเข้าถึงศาสตร์เหล่านี้ได้มากหรือกว้างขวางขึ้น คุณค่านี้จะสร้างมูลค่าและความสง่างามให้เมืองของเรายั่งยืนสืบไป”

///

ประสงค์ แสงงาม

พ่อครูภูมิปัญญาและกรรมการมูลนิธิสืบสานล้านนา

#WeCitizensTh#LearningCity#ChiangMai

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

THE INSIDER : ณัฐธิยาภรณ์ อ้วนวงศ์ นักวิจัยโครงการเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ร้อยเอ็ด และนักวิเคราะห์นโยบายและแผน กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ เทศบาลเมืองร้อยเอ็ด

“หอโหวดเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่หลังจากนี้คือกลไกที่เทศบาลต้องทำงานร่วมกับภาคประชาชนและนักวิชาการ ในการกำหนดทิศทางเมืองให้ร้อยเอ็ดพร้อมรับการท่องเที่ยว และทำให้เมืองมีความน่าอยู่ สำหรับผู้คนในเมืองพร้อมกันไปด้วย” “เราเกิดที่ร้อยเอ็ด เรียนมัธยมที่นี่ ก่อนไปเรียนระดับมหาวิทยาลัยที่กรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สักเกือบ 10 ปีที่แล้ว เราไม่เคยมีความคิดจะกลับมาทำงานที่บ้านเกิดเลยนะ เพราะไม่เห็นโอกาสอะไรในชีวิตในภาพจำเดิมของเรา ร้อยเอ็ดเป็นเมืองผ่าน ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อ ไม่มีแหล่งธรรมชาติสวยๆ…

4 days ago

WeCitizens : The Concept

ชวนอ่าน เบื้องหลังแนวคิดการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองด้วยงานวิจัย องค์ความรู้ และนวัตกรรม ความร่วมมือ และบูรณการระหว่าง บพท. และสมาคมเทศบาลนครและเมือง ก่อเกิดโครงการ "โปรแกรมบ่มเพาะและเร่งรัดกระบวนการเพื่อมุ่งสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด (CIAP) ดำเนินการระหว่างปีพ.ศ. 2567-2568 กับผู้นำเมือง และเทศบาล…

6 days ago

WeCitizens เมืองร้อยเอ็ด : ก้าวสู่เมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด

WeCitizens : ร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด (ฉบับที่ 1) เปิดความคิด ความหวัง และโอกาสของการพัฒนาเมืองร้อยเอ็ดที่รัก นำโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด คุณบรรจง โฆษิตจิรนันท์ คณะทำงานเจ้าหน้าที่เทศบาล และหัวหน้าโครงการวิจัยร้อยเอ็ดเมืองน่าอยู่อย่างชาญฉลาด ผศ. ดร.ชัญญรินทร์…

1 month ago

City View : ๑๐๑ เมืองรองที่ไม่เป็นรองใคร

ร้อยเอ็ดอยู่ห่างจาก ‘สะดืออีสาน’ พื้นที่ที่ถูกปักหมุดให้เป็นจุดศูนย์กลางของภาคอีสานในอำเภอโกสุมพิสัย มหาสารคาม เพียง 60 กิโลเมตร ในตำนานอุรังคธาตุ (ตำนานพระธาตุพนม) กล่าวว่า ‘สาเกตนครร้อยเอ็ดประตู’ (ชื่อเดิม) เมืองนี้ มีประตูเท่าจำนวนเมืองขึ้น ‘ร้อยเอ็ดเมือง’ สะท้อนให้เห็นความรุ่งเรืองจากการเป็นศูนย์กลางอำนาจและการคมนาคมของภูมิภาคมาตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 21อีกทั้ง ส่วนหนึ่งของพื้นที่ยังเป็นที่ตั้งของทุ่งกุลาร้องไห้ ที่ราบขนาดใหญ่กว่า 2 ล้านไร่ ทำให้ในเวลาต่อมา ร้อยเอ็ดจึงเป็นอู่ข้าวที่ผลิตข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาที่ใหญ่ และมีผลิตผลที่ดีที่สุดในโลก แม้มีภูมิหลังที่รุ่งเรือง กระนั้น ตลอดหลายทศวรรษหลัง…

1 month ago

๑๐๑ สานพลังผู้คนเพื่อกำหนดทิศทางเมือง

สนทนากับ ผศ.ดร.ชัญญรินทร์ สมพรหัวหน้าโครงการวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาด ‘ร้อยเอ็ด’, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด “พื้นที่นี้จะเป็นเหมือนตัวกลางในการสร้างความพร้อมให้คนร้อยเอ็ดสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต” ผศ. ดร.ชัญญรินทร์ สมพร รองผู้อํานวยการสํานักส่งเสริมวิชาการและจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิต มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด และหัวหน้าโครงการวิจัย "โครงการเทศบาลเมืองร้อยเอ็ด ร้อยเอ็ดคนดี เชื่อมโยงโครงข่ายเศรษฐกิจ ด้วยการเดินบนความปลอดภัยและทันสมัย…

1 month ago

THE MAYOR : บรรจง โฆษิตจิรนันท์ : นายเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด และนายกสมาคมเทศบาลนครและเมือง

"เราให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเศรษฐกิจให้ร้อยเอ็ดเป็นทางเลือกใหม่ของตลาด MICE ที่ราคาย่อมเยา เดินทางสะดวก และมีอัตลักษณ์" เริ่มจากความคับข้องใจที่เห็นบ้านเกิดของตัวเอง (ร้อยเอ็ด) เป็นเมืองผ่านที่มักถูกมองข้าม เมื่อ บรรจง โฆษิตจิรนันท์ เข้ารับตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองร้อยเอ็ด เมื่อปี 2538 เขาจึงเริ่มโครงการพัฒนาเมือง ไปพร้อมกับการดึงเสน่ห์จากศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดึงดูดให้ผู้คนมาเที่ยว…

2 months ago