ผมเรียนจบด้านไอทีโดยทำงานอยู่กรุงเทพฯ ต่ออีกประมาณ 2 ปี แล้ววันหนึ่ง ผมก็บอกแม่ว่าอยากกลับมาทำธุรกิจร้านกาแฟที่บ้าน
แม่รีบปฏิเสธ เขาอยากให้ผมทำงานในสายที่เรียนมามากกว่า เพราะเห็นว่าเป็นงานที่มั่นคงดี จะกลับมาเสี่ยงดวงกับการเปิดธุรกิจที่เราไม่เคยทำที่นี่ทำไม แต่ผมก็ยังยืนยันคำเดิม จำได้ว่าช่วงที่ทำร้าน แม่ไม่เข้ามาดูเลย กว่าจะมาก็ตอนร้านเปิด
ทำไมจึงอยากกลับมาอยู่ที่นี่หรือครับ? ผมผูกพันกับแก่งคอย ความทรงจำดีๆ อยู่ที่ไหน เราก็อยากอยู่ที่นั่น และคิดว่าเมืองนี้มันยังมีโอกาสในการทำธุรกิจอีกพอสมควร ตอนที่ตัดสินใจจะกลับมาอยู่คือเมื่อ 9 ปีที่แล้ว แก่งคอยแทบไม่มีร้านกาแฟสด มีก็แค่โรงสีกาแฟของพี่ต้อม (นพพล ธรรมวิวัฒน์) คิดว่าถ้าเปิดในแบบของเราอีกร้านก็น่าจะมีลูกค้า และเอาจริงๆ ตอนนั้นค่อนข้างไฟแรง ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน อยากให้บ้านเรามีบรรยากาศแบบไหน ก็ลงมือทำให้มีแบบนั้น
Café 33 มาจากบ้านเลขที่ของอาคารหลังนี้คือ 33 ผมยังเกิดปี 2533 และมีชื่อเล่นชื่อเอ็ม (M) ที่เมื่อเอียงข้างก็ออกมาเป็นเลข 3 มันพ้องกันหมด ก็เลยตั้งชื่อนี้… ผมไม่ซื้อหวยครับ ไม่แน่ใจว่าเลขนี้ออกไปหรือยัง (ยิ้ม)
ตอนเปิดแรกๆ ก็เหนื่อยหน่อย อย่างที่บอกว่าร้านกาแฟเมื่อ 9 ปีที่แล้ว มันใหม่มากๆ คนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องกินกาแฟราคาสูงกว่ากาแฟที่สามารถชงเองที่บ้านได้ ไหนจะเรื่องความขม ความเปรี้ยวของรสอีก ก็ค่อยๆ ขายไป ดีหน่อยที่ได้ลูกค้าเป็นคนทำงานโรงงานรอบๆ แก่งคอย ก็เลยพอถูไถ จนขึ้นปีที่สามถึงลงตัว มั่นใจว่าอยู่ได้ล่ะ
อย่างที่บอกครับว่าลูกค้าหลักคือคนทำงานโรงงานรอบๆ ส่วนใหญ่เป็นคนเจนวายที่มองหาสถานที่พักผ่อนหรือนั่งเล่น นักท่องเที่ยวก็เยอะรองลงมา ซึ่งก็ได้มาจากโซเชียลมีเดียที่มีคนมารีวิวต่อๆ ไป หรือกลุ่มคนที่แวะพักแก่งคอยสักแป๊บนึงก่อนเดินทางต่อไปเขาใหญ่หรืออีสาน คนแก่งคอยเองยังถือว่าน้อยครับ แต่ก็พอมีลูกค้าประจำในเมืองบ้าง
ผมใช้เมล็ดกาแฟหลักจากจอมทอง เชียงใหม่ และก็มีของต่างประเทศอย่างเอธิโอเปียและบราซิลด้วย ตอนแรกก็รับกาแฟจากโรงคั่วมา จนราว 5 ปีก่อนก็ทำโรงคั่วของตัวเองไว้ที่ร้าน จะได้ควบคุมคุณภาพหรือลองทำอะไรใหม่ๆ บ้าง โดยนอกจากกาแฟก็มีขนมเค้กครับ ผมอยู่กับแฟนแค่สองคน เลยไม่คิดถึงการขายอาหาร เราถนัดกาแฟกับเค้กมากกว่า ร้านก็ไม่ได้ใหญ่มาก เท่านี้จึงเอาอยู่
คราฟท์เบียร์นี่เอาไว้ดื่มเองมากกว่าครับ (หัวเราะ) แต่เร็วๆ นี้ มีแผนจะเปิดบาร์ช่วงเย็น ร้านที่ติดกันนี้เลย กำลังก่อสร้างอยู่ ก็คิดว่าได้ลูกค้ากลุ่มเจนวายที่ทำงานโรงงานนี่แหละครับ เป็นที่ผ่อนคลาย ที่ฟังเพลงตอนเย็น
ทำไมคนรุ่นใหม่ในเมืองน้อย? เรื่องนี้เข้าใจได้ เพราะเมืองไม่มีงานหรือพื้นที่ให้เขาน่ะครับ แต่ถ้ารอบนอกเมือง ก็มีคนรุ่นใหม่ทำงานโรงงานอยู่เยอะนะครับ เพื่อนผมที่เรียนมัธยมด้วยกันที่แก่งคอย 4-5 คน เขาก็กลับมาทำงานที่นี่หมด ทำงานการไฟฟ้าบ้าง เครือซีเมนต์ไทยบ้าง หรือทำธุรกิจส่วนตัว เอาจริงๆ คนรุ่นใหม่ก็ไม่น้อยนะครับ เพียงแต่ในย่านตัวเมืองยังไม่ค่อยมีสถานที่ให้คนกลุ่มนี้ได้ใช้ประโยชน์หรือมีกิจกรรมอะไรให้พวกเขาทำมากกว่า
และเพราะย่านใจกลางเมืองไม่มีพื้นที่ คนรุ่นใหม่ก็ไม่อยู่กัน เมืองมันจึงขาดแรงผลักดัน ทั้งที่อันที่จริงเรามีต้นทุนที่สามารถขับเคลื่อนหรือต่อยอดไปได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม พักหลังๆ มาก็เห็นแนวโน้มที่ดีนะครับ มีภาคเอกชนที่รวมตัวกันพยายามโปรโมทเรื่องการท่องเที่ยว มีเทศกาลใหม่ๆ ขึ้นมาสร้างสีสัน ลูกค้าร้านกาแฟผมหลายรายเขามาจากที่อื่นเพื่อที่จะไปปีนเขาที่แก่งคอย หรือที่ตำบลชะอมก็กำลังเป็นจุดหมายใหม่ของกิจกรรมแคมป์ปิ้ง ซึ่งได้รับความนิยมมาก
สำหรับผม แก่งคอยมาเที่ยวได้เรื่อยๆ นะ ไม่ไปธรรมชาติ ก็มีบรรยากาศสงบๆ ริมแม่น้ำป่าสักในเมืองได้พักผ่อน อย่างร้านผมขายมา 9 ปี ก็ยังไม่เจอฤดูกาลไหนที่เป็นโลว์ซีซั่นจริงๆ บางช่วงอาจเงียบหน่อย แต่ก็พอจะไหลไปได้เรื่อยๆ ถ้าโลว์จริงๆ ก็น่าจะเป็นวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือนมากกว่า เพราะความที่ลูกค้าเป็นคนทำงานโรงงานเสียเยอะ ช่วงนั้นเขาอาจจะลุ้นรางวัลอยู่บ้านหรือที่ออฟฟิศ
มีหลายครอบครัวที่อยากให้ลูกหลานกลับมาอยู่ด้วยกันที่บ้านตอนที่พ่อแม่แก่ชรา แต่ผมก็เห็นหลายครอบครัว กว่าลูกหลานจะกลับมาได้ ก็อาจสายไปแล้วหรือมีเวลาอยู่ด้วยกันน้อยเกินไป ส่วนตัวของผม ไม่ต้องรอวันนั้นเลยครับ ทุกวันนี้ได้กลับมาทำงานที่รักและใช้เวลากับที่บ้าน ถ้าเกิดใครคนหนึ่งต้องจากไปก่อน ผมไม่เสียดายเลย เพราะได้กลับมาดูแลและใช้เวลาร่วมกันกับเขาตอนที่ยังแข็งแรงอยู่
ตอนนี้ผมมีลูกแล้ว คิดว่าจะให้เขาเรียนที่นี่ก่อน ส่วนในอนาคตเขาอยากเรียนต่อหรือทำงานที่ไหนก็เรื่องของเขา ไม่ได้จะบังคับอะไร แต่สำหรับผม ผมตั้งใจจะอยู่ที่นี่จนบั้นปลาย ไม่ไปไหนแล้ว”
ชวลิต โยธานารถ
เจ้าของร้าน Café 33
https://www.facebook.com/mycafe33
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…