“สมัยที่นครศรีธรรมราชยังไม่มีร้านหนังสือที่เป็นเชนสโตร์ตามศูนย์การค้า คนนครส่วนใหญ่จะไปหาซื้อหนังสือที่ร้าน ‘สวนหนังสือนาคร-บวรรัตน์’ ตรงสี่แยกท่าวัง ใจกลางเมือง ที่นี่เป็นร้านหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้นักเขียนและนักอ่านรวมถึงผมอย่างมาก
ร้านหนังสือร้านนี้เป็นของนายแพทย์บัญชา พงษ์พานิช คุณหมอที่มีงานอดิเรกเป็นนักเขียน ซึ่งทางร้านก็มักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเชิญนักเขียนที่มีชื่อเสียงมาบรรยายหรือพบปะผู้อ่าน และนั่นมีส่วนทำให้เมืองนครและอีกหลายเมืองในภาคใต้เกิดกลุ่มหรือชุมนุมวรรณกรรมขึ้นมากมาย โดยเฉพาะกลุ่มนาครในยุคที่ กนกพงศ์ สงสมพันธ์ (นักเขียนวรรณกรรมซีไรท์ปี พ.ศ. 2539 – ผู้เรียบเรียง) ยังมีชีวิตอยู่
เมื่อย้อนกลับไปสักสิบหรือยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ผมก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าทำไมคนหนุ่มสาวในภาคใต้หลายคนถึงมีความฝันจะเป็นนักเขียนนัก อาจด้วยเพราะสื่อและบรรยากาศของเมืองส่งเสริมด้วยมั้ง ผมจำได้ว่าสมัยก่อนก็เคยไปร่วมกิจกรรมกับร้านหนังสือแห่งนี้อยู่หลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งร้านปิดตัวลงไปเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว
กล่าวได้ว่านาคร-บวรรัตน์ ทิ้งเชื้อไฟให้ผมอยากทำร้านหนังสือเป็นของตัวเอง ภายหลังที่ร้านหนังสือปิดตัวลงได้พักใหญ่ๆ ผมก็ได้คุณมิว-อธิชา กาบูล็อง เจ้าของสำนักพิมพ์กำมะหยี่ชักชวนให้เปิดร้านหนังสือ โดยคุณมิวก็ส่งหนังสือวรรณกรรมแปลที่เขาจัดพิมพ์ส่งมาให้ผมจัดจำหน่าย ผมจึงทดลองเปิดครั้งแรกโดยขอเช่าพื้นที่ ปารีทัส อาร์ต คลับ ของเพื่อนรุ่นพี่ (ปริทรรศน์ หุตางกูร – นักเขียน ศิลปิน และอาจารย์ศิลปะ) มาเปิดร้าน โดยตั้งชื่อร้านว่า Books Therapy นั่นคือเมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้วได้
แต่เดิม ปารีทัส อาร์ต คลับ นอกจากเป็นแกลเลอรี่ศิลปะของคุณปริทรรศน์ ที่นี่ยังเป็นเหมือนที่รวมตัวของนักเขียนในเมืองนครและที่อยู่ในภาคใต้ อีกอย่างคือพื้นที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยราชภัฏด้วย ก็เลยคิดว่าน่าจะมีนักศึกษาแวะเวียนเข้ามาซื้อหนังสือ ตอนนั้นไม่ได้คิดเลยว่าร้านจะมีลูกค้าเป็นใคร จะมีคนซื้อมากน้อยแค่ไหน คิดแค่ว่าเมืองนครควรต้องมีร้านหนังสืออิสระ และผมก็อยากขายหนังสือในแบบที่ผมชอบ พวกวรรณกรรมแปล วรรณกรรมร่วมสมัย และหนังสือทางสายสังคมศาสตร์ อาจไม่ใช่หนังสือในตลาดกระแสหลัก แต่ผมอยากแนะนำให้คนนครได้อ่าน แค่นั้นเลย
หลังจาก Books Therapy เปิดที่ปารีทัส อาร์ต คลับ ได้ประมาณหนึ่งปี ผมก็ย้ายร้านมาอยู่ในร้านขายของชำซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัวที่ชุมชนท่าช้างในตัวเมืองนคร แม้ด้วยพฤติกรรมการอ่านของผู้คนที่เปลี่ยนไป ร้านจะไม่ได้ขายดีมาก แต่ก็มีนักอ่านแวะเวียนมาซื้อหนังสือเรื่อยๆ จนมาช่วง 3-4 ปีหลัง ผมเพิ่มช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ด้วย ก็ทำให้สถานะดีขึ้นมา จนทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้
นอกจากนี้ ผมก็พยายามจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านแบบที่นาคร-บวรรัตน์ทำ เช่นการทำบุ๊คทอล์ค หรือเสวนาอื่นๆ แต่ด้วยความที่ผมทำคนเดียวและมีงบประมาณจำกัด และยังไม่มีเวลาในการหาแนวร่วมในการสนับสนุนกิจกรรม ก็เลยทำได้ไม่ต่อเนื่องนัก
ตั้งแต่มีโควิดมา Books Therapy ก็ปิดทำการชั่วคราวครับ โรคระบาดก็เรื่องหนึ่ง แต่ช่วงหลังมานี้คุณพ่อและคุณป้าของผมแกมีอายุค่อนข้างมากและสลับกันป่วย ผมจึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่มาดูแลท่าน แต่ก็มีแผนการจะรีโนเวทร้าน และกลับมาเปิดอีกในอนาคตอันใกล้
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองสายมูครับ นักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศรวมถึงต่างประเทศ เดินทางมาเยือนเมืองนี้เพื่อไหว้พระขอพรในวัดดังๆ หลายแห่งของเมือง ขณะเดียวกันในภาพรวมก็มีบรรยากาศของความเป็นอนุรักษ์นิยมค่อนข้างสูง แม้นี่จะเป็นจุดแข็งในด้านการอนุรักษ์ แต่อีกมุม ลักษณะพิเศษแบบนี้ก็ดูเหมือนจะกีดกันให้คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดใหม่ๆ รู้สึกไม่เป็นส่วนหนึ่งของเมืองไปพร้อมกัน
ผมสังเกตว่าช่วงหลังๆ มานี้ นครเริ่มมีคนรุ่นใหม่กลับบ้านมาทำธุรกิจ คาเฟ่ ร้านอาหาร หรือสร้างพื้นที่หรือกิจกรรมร่วมสมัยในเมืองหลายจุด จึงคิดว่าแม้หลายปีหลังมานี้คนอ่านหนังสือน้อยลง แต่ยังไงร้านหนังสืออิสระก็มีความจำเป็นต่อเมือง เพราะไม่ใช่แค่การคัดสรรหนังสือให้คนได้อ่าน แต่ยังหมายถึงการเป็นพื้นที่จัดกิจกรรม พื้นที่ของการเรียนรู้ และการบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ให้กับคนในเมือง และสิ่งนี้แหละที่สร้างมิติอันหลากหลายให้กับพื้นที่ที่เราอยู่ มิติที่ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนทุกวัย”
จิระ อุ่นเรืองศรี
นักเขียนและเจ้าของร้านหนังสือ Books Therapy
https://www.facebook.com/BooksTherapy