“ผืนป่า ภูเขา หรือทะเลอยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์ แต่มนุษย์จะอยู่ไม่ได้หากไม่มีสิ่งเหล่านี้”

Start
299 views
16 mins read

“ก่อนหน้านี้ผมเป็นหัวหน้าสถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี ความรับผิดชอบหลักคือการป้องกันปราบปรามการรุกล้ำพื้นที่ป่าชายเลนของกลุ่มทุนและชาวบ้าน หรืออีกนัยหนึ่งคือการบังคับใช้กฎหมายและไล่จับผู้ที่กระทำความผิดนั่นแหละครับ

ไม่ใช่งานที่สนุก แถมเครียดอีกต่างหาก เพราะในอีกมุม แม้เราจะคุ้มครองทรัพยากรไม่ให้นายทุนเข้ามาหาประโยชน์ เช่น การทำฟาร์มกุ้ง หรือการรุกล้ำพื้นที่ส่วนกลางมาเป็นส่วนตัว แต่ผมก็เข้าใจในฝั่งชาวบ้านที่เขาก็มีวิถีชีวิตและการทำมาหากิน หาปูหาปลาภายในพื้นที่ป่าชายเลนเหมือนกัน เราเข้าใจหัวอกเขา แต่ด้วยหน้าที่ เราก็จำต้องปราบปราม


ผมอยู่ที่นั่นสิบกว่าปี โดนมาหมดแล้ว ทั้งนายทุนเอาคนมายิงปืนขู่ จอดเรือทิ้งไว้ก็มีมือดีที่ไหนไม่รู้เอาทรายมาหยอดถังน้ำมัน เรือพังไปไม่รู้กี่ลำ จนมาคิดว่าจริงๆ ถ้าเราคุยกับชาวบ้านดีๆ ถึงกรอบการใช้พื้นที่ร่วมกัน พร้อมไปกับการให้เขาช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ไปด้วย เราสามารถเปลี่ยนศัตรูให้กลายมาเป็นมิตรได้

แนวคิดเรื่องการสร้างเครือข่ายความร่วมมือของผมจึงเริ่มที่ขลุง พอผมย้ายไปประจำที่ด่านเก่าในจังหวัดตราด ผมก็สานต่อวิธีการนี้ซึ่งก็เป็นไปด้วยดี กระทั่งปี 2557 รัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ผมก็พบว่าผมทำงานนี้ไม่ได้ เพราะมองกันคนละแบบ ผมไม่เชื่อในไม้แข็ง แต่เชื่อในการเจรจาและสานประโยชน์ร่วมกัน ก็เลยตัดสินใจย้ายงาน

ก็พอดีกับปี 2558 จังหวัดระยองตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ผมก็ไปคุยกับอธิบดี นำเสนอแนวคิดเรื่องการทำงานส่งเสริมความร่วมมือกับเครือข่ายชาวบ้าน รวมถึงการพิจารณาระเบียบในการตั้งชุมชนชายฝั่ง อธิบดีท่านก็เห็นด้วย จึงมีการริเริ่มหน่วยงานย่อยใหม่ นั่นคือ ‘ส่วนส่งเสริมการมีส่วนร่วม’ อย่างเป็นทางการ

สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 ทำหน้าที่ดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ครอบคลุมจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด จากอำเภอบ้านฉางไปจนถึงหาดเล็กในอำเภอคลองใหญ่ (ตราด) บทบาทของผมคือการรวมเครือข่ายชาวบ้าน และชวนให้เขามาเป็นแนวร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรในหมู่บ้านของพวกเขา ทั้งกลุ่มป่าชายเลน ทะเล กลุ่มท่องเที่ยว และประมงพื้นบ้าน ปัจจุบันมีด้วยกัน 85 เครือข่าย

หัวใจสำคัญของหน่วยงานนี้คือคนจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างไรให้ยั่งยืน คนอยู่ได้ และป่าก็ได้รับการอนุรักษ์ด้วย พอมีการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ก็ตกลงกันเรื่องการเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่รัฐ ตรวจสอบคนมากระทำความผิดในพื้นที่ ช่วยกันเก็บและคัดแยกขยะ เพาะพันธุ์สัตว์น้ำทดแทน ปลูกป่าฟื้นฟู รวมถึงการตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน สร้างรายได้เสริมให้กับคนในพื้นที่

ทั้งนี้ ผมมองว่าป่าโกงกางในตัวเมืองระยอง เป็นต้นแบบที่สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานร่วมกันของเครือข่ายชุมชนกับภาครัฐอย่างดี ขอย้อนกลับไปนิด ป่าโกงกางที่คุณเห็นเนี่ย แต่ก่อนไม่เป็นอย่างนี้เลยนะ ชาวบ้านเข้ามาตัดต้นไม้ มาจับปลา บ้างก็แบ่งพื้นที่ไปทำนากุ้ง กระทั่งปี 2560 รัฐบาลมีนโยบาย ‘ป่าในเมือง’ ให้คนอยู่ร่วมกับป่า ทางจังหวัดระยองก็เห็นว่าเรามีป่าชายเลนใจกลางเมืองถึง 300 ไร่ และที่ตำบลเนินพระอีก 200 ไร่ ซึ่งไม่มีจังหวัดไหนที่มีป่าชายเลนตั้งอยู่ใจกลางเมืองแบบนี้

เราก็เข้ามาฟื้นฟู มีการชวนชาวบ้านปลูกเพิ่ม และพัฒนาพื้นที่ให้กลายเป็นป่าในเมือง มีการก่อสร้างสะพานไม้ให้คนเข้าไปเดินชมพื้นที่ภายในได้ มีการทำประตูเชื่อมจุดต่างๆ ของเมืองเข้ากับป่าถึง 7 จุด โดยมีสำนักทรัพยากรชายฝั่งที่ 1 เป็นผู้ดูแลบริหารจัดการ 

เราเปิดป่าในเมืองเต็มรูปแบบเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมานี้เอง อย่างที่บอก พอผมทำงานเครือข่าย ก็มีการจัดตั้งกลุ่มชุมชนรวมถึงภาคธุรกิจซึ่งตั้งอยู่ตามพื้นที่ชายขอบของป่าให้มาช่วยกันดูแลป่าแห่งนี้ร่วมด้วย

ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูแม่น้ำระยองและป่าชายเลน ซึ่งเป็นชาวบ้านกลุ่มแรกๆ ที่เข้ามาร่วมสร้างสะพานไม้ในพื้นที่รวมถึงทำธนาคารปูตั้งแต่ก่อนมีโครงการป่าในเมืองด้วยซ้ำ กลุ่มร้านกาแฟเบลลินี่ ซึ่งเป็นตัวแทนภาคเอกชนที่พยายามขับเคลื่อนธุรกิจท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่ กลุ่มแม่ค้าแถวพระเจดีย์กลางน้ำ กลุ่มเก้ายอด และกลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำระยอง ที่ต่างทำประมงพื้นบ้านด้วย โดยทั้ง 5 กลุ่มล้วนเป็นจิตอาสา ที่ต่างสร้างข้อตกลงมาร่วมดูแลผืนป่าแห่งนี้ เพราะต่างก็ตระหนักดีว่าถ้าป่าสมบูรณ์ ปากท้องและวิถีชีวิตของพวกเขาก็จะยั่งยืนตามมา

จริงอยู่การอนุรักษ์ธรรมชาติกับการมีอยู่ของชุมชนในพื้นที่ธรรมชาติเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกัน อย่างที่นักอนุรักษ์บางคนเคยบอกไว้ว่า การอนุรักษ์ที่ดีที่สุดคือการที่มนุษย์ไม่ต้องไปยุ่งกับธรรมชาติเลย แต่นั่นล่ะ ในเมื่อชุมชนตั้งอยู่แล้ว พวกเขาใช้ชีวิตหากินกับทรัพยากรในพื้นที่มาหลายชั่วรุ่น เราก็ต้องออกแบบวิธีให้คนอยู่กับป่าให้ได้

เพราะผืนป่า ภูเขา หรือทะเลอยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์ แต่มนุษย์จะอยู่ไม่ได้หากไม่มีสิ่งเหล่านี้ นั่นล่ะครับ การหาวิธีทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืนร่วมไปกับเรา จะเป็นวิธีที่ทำให้สังคมมนุษย์เราสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้”  

วินัย บุญล้อม
ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมและประสานงานเครือข่ายทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 1 (ระยอง)

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย