ภายใต้โจทย์ในการแก้ปัญหาสภาวะ “เมืองหด” และทำให้เมืองที่น่าอยู่อยู่แล้วอย่างพนัสนิคม มีความน่าอยู่ที่ครอบคลุมถึงโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ เทศบาลเมืองพนัสนิคมจึงร่วมกับ บพท. ผ่านทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบูรพา และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ขับเคลื่อน โครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์และการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อบูรณาการคนรุ่นใหม่ภายใต้แนวทางการมีส่วนร่วมของเขตพัฒนาเทศบาลเมืองพนัสนิคม เพื่อย้อนกลับมาสำรวจต้นทุนของเมือง รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และร่วมกับเครือข่ายชุมชนในการรวบรวมและนำเสนออัตลักษณ์ของเมือง เพื่อสร้างแม่เหล็กดึงดูดให้คนรุ่นใหม่กลับมาช่วยกันฟื้นฟูเศรษฐกิจบ้านเกิด พร้อมบรรเทาปัญหาสังคมสูงวัยที่เมืองกำลังเผชิญ
WeCitizens พูดคุยกับ ดร.เอกลักษณ์ ณัถฤทธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา หัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าว ถึงกระบวนการในการขับเคลื่อนงานวิจัย และเป้าหมายของเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดที่เขาฝันถึง
อยากให้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโครงการนี้ก่อนครับ
โครงการนี้จะแตกต่างจากโครงการวิจัยที่เราได้รับทุนจาก บพท. อื่น ๆ พอสมควรครับ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่เจ้าภาพหลักของโครงการคือเทศบาล ซึ่งในโครงการนี้คือเทศบาลเมืองพนัสนิคม โดยเขามีโจทย์ที่จะแก้ปัญหาเมืองหดและสังคมสูงวัยอยู่แล้ว และความที่ผมเคยทำโครงการร่วมกับนายกฯ วิจัย (วิจัย อัมราลิขิต นายกเทศมนตรีเมืองพนัสนิคม) ตั้งแต่การประเมินเมืองน่าอยู่ที่ยั่งยืน ไปจนถึงการจัดทำตัวชี้วัดในการพัฒนาเมือง ท่านเลยชวนผมให้มาร่วมขับเคลื่อนโครงการนี้ไปด้วยกัน
ผมได้ชวนอาจารย์จักรพันธ์ นาน่วม ที่ดูเรื่องการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และอาจารย์อมร กฤษณพันธุ์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่ดูเรื่องผังเมือง มาเติมเต็มมิติต่าง ๆ ให้รอบด้าน ก่อนจะมาสำรวจกันว่า จริง ๆ แล้วผู้คนในเขตเทศบาลเมืองพนัสนิคมต้องการพัฒนาเมืองในรูปแบบไหน แล้วเราเชื่อมและสังเคราะห์ข้อมูลตรงนี้ให้กับทางเทศบาลฯ ได้อย่างไร
เช่นนั้นแล้วโจทย์จึงไม่ได้มาจากทีมนักวิจัย
โจทย์ในความต้องการแก้ปัญหามาจากทางเทศบาลเมืองพนัสนิคม ส่วนโจทย์ในการพัฒนาเมืองเป็นของประชาชนในเขตเทศบาลฯ ที่ทางของนักวิจัยคือการนำเครื่องมือมาเชื่อมร้อยข้อมูล เพื่อสังเคราะห์ออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายคืนกลับให้กับเมือง
เข้าใจว่าตอนที่สัมภาษณ์อยู่นี้มันยังเป็นช่วงต้นทางมาก ๆ (เดือนกันยายน 2567) แต่อยากให้เล่าขั้นตอนว่าโครงการนี้ทำอะไรไปบ้างแล้ว
เราเริ่มกันเมื่อช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 ซึ่งเป็นการคัดสรรเครื่องมือพัฒนาเมืองที่สามารถตอบโจทย์เทศบาลฯ ให้ได้มากที่สุด พร้อมกันนั้นเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทีม บพท. ก็ส่งนักวิจัยมาช่วยสแกนเมือง (City Scan) รวบรวมความคิดเห็นของผู้คนในเขตเทศบาลเมืองว่าของดีของพนัสนิคมคืออะไร ใครคือคนเด่น คนดัง ไปจนถึงข้อมูลพื้นฐานต่าง ๆ
ในขณะที่ทีมของเราก็ลงพื้นที่คุยกับตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ เริ่มจากกลุ่มแรก ตัวแทนของ 7 ย่านพนัสฯ ที่เป็นย่านที่สะท้อนจุดเด่นของเมือง (ได้แก่ 1. ย่านประวัติศาสตร์พนัสนิคม 2. ย่านวิถีชีวิต ภูมิปัญญาและงานฝีมือ 3. ย่านตลาดจักสาน 4. ย่านตลาดเก่า 5. ย่านเอ็งกอ 6. ย่านพนัสชวนชิม และ 7. ย่านพนัสสร้างสรรค์บันดาลใจ) ไปพูดคุยว่ากลุ่มต่าง ๆ เคยทำโครงการอะไรไปบ้าง ผลสำเร็จมากน้อยแค่ไหน กลุ่มที่สองคือกลุ่มผู้บริหารเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพื่อให้ทราบถึงกลไกของเมืองที่ผ่านมา และแน่นอน กลุ่มที่สามคือกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีอายุ 40 ลงไป จนถึงเยาวชน เพื่อให้ได้ทราบถึงความต้องการในการพัฒนาเมือง
พอมองเห็นภาพของสองกลุ่มแรก แต่กลุ่มคนรุ่นใหม่ในพนัสนิคม ไม่ทราบว่าเขามีการตั้งเครือข่ายในการร่วมพัฒนาเมืองหรือเปล่า
จริง ๆ กลุ่มย่อยในกลุ่มที่หนึ่งอย่างกลุ่มย่านพนัสสร้างสรรค์บันดาลใจ ก็มีคนรุ่นใหม่เข้ามาบ้างครับ แต่ถ้าเฉพาะเจาะจงในกลุ่มที่สาม ส่วนใหญ่จะเป็นเครือข่ายที่เชื่อมกันด้วยความสนใจ เช่น กลุ่มผู้ประกอบการร้านกาแฟและอาหาร กลุ่ม YEC (ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ – Young Entrepreneur Chamber of Commerce) กลุ่มงานอดิเรก กลุ่มที่เล่นเอ็งกอด้วยกัน หรือกลุ่มนักกีฬามากกว่า
ยังไม่มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนประเด็นเมือง
คนรุ่นใหม่ทุกคนอยากเห็นการพัฒนา และหลายคนก็อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองของเขา เพียงแต่ที่ผ่านมา มันอาจจะยังไม่มีพื้นที่กลางให้พวกเขาได้ทำงานร่วมกัน เป้าหมายหนึ่งในโครงการวิจัยนี้คือการทำพื้นที่ตรงนั้นด้วย ผ่านกิจกรรมนำร่องต่าง ๆ ซึ่งเราหวังให้เป็นเช่นนั้น
แล้วเราจะสร้างพื้นที่ให้พวกเขาอย่างไร
เราก็ต้องมาดูกันว่าคนรุ่นใหม่ต้องการอะไร เทศบาลฯ จะสนับสนุนอะไรให้พวกเขาได้บ้าง รวมถึงภาคเอกชนจะมีส่วนในการส่งเสริมการลงทุนอย่างไรได้บ้าง ซึ่งผมมองว่าสองเงื่อนไขหลังนี้ ทั้งเทศบาลฯ และเอกชนมีความพร้อมจะทำให้เกิดอยู่แล้วล่ะ ซึ่งก็ต้องมาดูกันต่อว่าธุรกิจหรือกิจกรรมอะไรที่ทำให้คนรุ่นใหม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน
หลังจากที่คุยกับกลุ่มต่าง ๆ ในเบื้องต้น เราต่างมองตรงกันว่าเราน่าจะใช้ทุนทางวัฒนธรรมที่เรามี และเราอาจเสริมเรื่องการออกแบบหรือแบรนด์ดิ้งที่ทำให้ภาพลักษณ์ร่วมสมัยของพนัสนิคมสมบูรณ์ขึ้น เรามี 7 ย่านพนัสฯ ที่เป็นเครือข่ายของทุนทางวัฒนธรรมแล้ว เช่น เครือข่ายคนทำงานประเพณี เครือข่ายคนทำเครื่องจักสาน คนทำอาหารท้องถิ่น และอื่น ๆ เราก็หาวิธีร้อยเรียงกัน ซึ่งก็ต้องอาศัยมุมมองของคนพนัสฯ เองว่าจะทำออกมาแบบไหนได้บ้าง และให้คนรุ่นใหม่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เพราะเขาคืออนาคตของเมืองนี้
เข้าใจว่าผลลัพธ์ของงานมันจะเกิดขึ้นหลังกระบวนการวิจัยเสร็จสมบูรณ์ แต่ในเบื้องต้น คุณพอจะมีภาพในใจไหมว่ามันจะออกมาเป็นอย่างไร
ผมมองเรื่องการนำเสนอพื้นที่กับสินค้าเชิงสร้างสรรค์ อย่างที่คุณเห็นว่าหลัง ๆ พนัสนิคมเริ่มนำสตรีตอาร์ตเข้ามาใช้เล่าเรื่องทุนทางวัฒนธรรมของเมืองเราแล้ว และคนในเมืองก็ชอบกัน เราอาจจะทำสักพื้นที่ที่ไม่ใช่แค่การมีภาพเล่าเรื่อง แต่เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมของคนรุ่นใหม่ในเมืองได้ อาจเป็นการสร้างแลนด์มาร์กใหม่เป็นการนำร่อง มีกิจกรรมหมุนเวียนของคนรุ่นใหม่กลุ่มต่าง ๆ ในเมือง เปิดเวทีสาธารณะ เวิร์กช็อป หรืออื่น ๆ เพื่อสร้างภาพจำใหม่ให้พนัสนิคม
มองไว้หรือยังว่ามันควรเป็นที่ไหน
สำหรับผมและนายกฯ วิจัย เห็นตรงกันว่าน่าจะเป็นวงเวียนหอนาฬิกา ตรงนั้นจะมีการจัดเทศกาลคริสต์มาสทุกปีอยู่แล้ว เราน่าจะต่อยอดให้กิจกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ เกิดขึ้นได้ อาจมีโชว์เอ็งกอที่เทศบาลฯ กำลังโพรโมต เป็นเวทีแสดงความสามารถ เป็นตลาดงานคราฟต์ร่วมสมัย หรือขายสินค้าที่เป็นแบรนด์ดิ้งของเมือง ใครจะรู้ว่ามันอาจเป็น Art Toy เอ็งกอก็ได้
ส่วนในเชิงกายภาพ เราอาจเอาศิลปะเข้าไปแต่ง เอาพื้นที่สีเขียวเข้าไปเติม แต่นั่นล่ะ นี่เป็นภาพคร่าว ๆ ที่เราคิดไว้ ท้ายที่สุด มันจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการการมีส่วนร่วมของคนพนัสฯ เอง
ทำไมต้องเป็นวงเวียนหอนาฬิกา
เราเห็นตรงกันว่าตรงนี้คือพื้นที่ตลาดใหม่ที่อยู่ใกล้กับย่านการค้าเก่า และมันเริ่มมีกิจการของคนรุ่นใหม่เข้ามาเปิดบ้างแล้ว ขณะเดียวกันพื้นที่ก็เอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมด้วย เราเลยมองว่าถ้าอย่างนั้นให้หอนาฬิกาเป็นศูนย์กลางของเมืองไหม หรือกิจกรรมการพัฒนาของเมืองหรืออะไรก็ตามที่เกิดขึ้น ก็น่าจะเกิดขึ้นตรงนี้
ประกอบกับพนัสฯ เนี่ยกิจกรรมเยอะนะ แต่เป็นกิจกรรมในเชิงอิเวนต์ ซึ่งเวลาเมืองจัดงานครั้งนึง ถ้าร้านรวงต่าง ๆ จะเข้าร่วม ต้องปิดร้านตัวเอง แล้วยกของร้านตัวเองมาขาย มาจัดวันสองวันเลิกกลับ เราจึงมองว่าถ้าเราเอาอิเวนต์ เอางาน เอากิจกรรมเข้าไปอยู่ตรงย่านนั้นเลย ทุกคนอยู่กับบ้านตัวเองไม่ต้องจัด แลนด์มาร์กอยู่ตรงนั้น นักท่องเที่ยววิ่งไปตรงนั้น ทุกคนเปิดร้านของตัวเองเหมือนเดิม ให้มันเป็นกิจกรรมเชิงเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทุกวัน ๆ นักท่องเที่ยวมาทุกเสาร์อาทิตย์ ทุกคนเปิดร้านตัวเองเหมือนเดิม ไม่ต้องโยกย้ายไปทุกครั้งที่จัดงานเหมือนตลาดนัด มันก็ช่วยกลับมากระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองได้ประมาณหนึ่ง
แต่ทั้งหมดก็อยู่ที่กระบวนการสำรวจความคิดเห็นของชาวพนัสฯ
ใช่ครับ ไม่ว่าจะออกมาในรูปแบบใด หรือสถานที่ไหน เราก็จะทำให้เกิดเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด
#เมืองพนัสนิคม #CIAP #บพท #คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…