พอคนมาใช้เครื่องมือกันเยอะ กลายเป็นหาไม่ได้เลย เพราะเครื่องมือมันกวาดไปหมด อยากกินหอย จึงต้องไปซื้อเขากิน เสียศักดิ์ศรีความเป็นชาวประมงหมด 

Start
471 views
13 mins read

“พวกเรามีทั้งลูกหลานชาวปากพูนดั้งเดิม อีกส่วนเป็นคนมุสลิม และลูกหลานคนเพชรบุรีที่อพยพมา เป็นชาวประมงเหมือนกัน แต่ก็มีวิถีที่แตกต่างกันเล็กน้อย

อย่างถ้าเป็นลูกหลานคนเพชรจะมีเครื่องมือจับปลาอีกแบบที่เรียกว่า ‘หมรัม’ เอาท่อนไม้มาร้อยต่อกันและล้อมเป็นทรงกลม ล่อให้ปลาเข้ามากินอาหาร และเราก็ขึ้นปลาจากหมรัมได้เลย ส่วนถ้าเป็นคนปากพูนแต่เดิมเลยก็จะใช้อวน ใช้ไซ รวมถึงโพงพาง ซึ่งอย่างหลังนี้เราเลิกใช้ไปแล้วเพราะผิดกฎหมาย

เมื่อก่อนคนปากพูนก็ใช้เครื่องมือผิดกฎหมายกันแหละครับ โพงพาง ไซตัวหนอน ไอ้โง่ หรือลากตะแกรง ก็จับปลากันได้เยอะ แต่เพราะเครื่องมือพวกนี้มันจับปลาได้หมด ไม่เว้นปลาเล็ก ปลาน้อย หรือลูกปลา ช่วงหลังๆ เราเลยจับปลาได้น้อยขึ้น เพราะสัตว์น้ำมันไม่มีโอกาสขยายพันธุ์

ยกตัวอย่างเช่นลากตะแกรงสำหรับจับหอย เครื่องมือนี้มันปักลงไปใต้ดินประมาณหนึ่งเมตร พอลากทีมันก็พลิกหน้าดินในลำคลอง ทำให้น้ำเสียด้วย สมัยที่เครื่องมือผิดกฎหมายยังไม่เยอะ พอน้ำแห้งๆ เราลงไปงมหอย ชั่วโมงหนึ่งจับมาได้ตั้ง 3 กิโลกรัม แต่พอคนมาใช้เครื่องมือกันเยอะ กลายเป็นหาไม่ได้เลย เพราะเครื่องมือมันกวาดไปหมด อยากกินหอย จึงต้องไปซื้อเขากิน เสียศักดิ์ศรีความเป็นชาวประมงหมด  

พอเราจับปลาได้น้อย ก็เลยมาคุยกัน และผู้ใหญ่บ้านกระจาย ชวาสิทธิ์ เขาก็เห็นปัญหาว่าที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะเครื่องมือผิดกฎหมายทั้งนั้น เลยมีการรณรงค์ให้เลิกใช้ และหันมาใช้อวนปู อวนกุ้ง หรือเบ็ด เหมือนเดิม เขาก็ช่วยเราหลายอย่าง ทั้งการให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำไปซื้อเครื่องมือ ส่งเสริมการแปรรูปเสริมรายได้ และการทำธนาคารสัตว์ทะเล เพื่อปล่อยให้สัตว์ได้ขยายพันธุ์ จนสุดท้ายประมงปากพูนก็ไม่มีเครื่องมือผิดกฎหมายอีก

พอไม่ใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ปริมาณปลาที่เราจับได้แต่ละวันก็น้อยลง แต่พอผ่านไปสักสามสี่เดือน ก็เห็นผล สัตว์น้ำในคลองปากพูนรวมถึงหน้าอ่าวกลับมาชุกชุมอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม ถึงเราไม่ได้ใช้ แต่คนข้างนอกมาหาปลาที่ปากอ่าวหน้าชุมชนเราโดยใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย ปลามันก็จะหมดอยู่ดี ผู้ใหญ่บ้านก็ร่วมกับพวกเราตั้งกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังการใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย แบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 4-5 เรามีกันประมาณ 70 กว่าคนก็แบ่งได้ 16 ชุด ผลัดเวรไปเฝ้าระวังที่แพของชุมชนที่เราร่วมกันทำ และจอดไว้หน้าอ่าว ถ้าเจอเรือจากข้างนอกเข้ามา แล้วใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย เราก็วิทยุไปแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาดำเนินคดี


แน่นอน ชาวประมงข้างนอกเขาไม่พอใจหรอก อย่างถ้าเราใช้อวนถูกกฎหมายหาปลาที เราจะได้เฉลี่ยคืนละ 500-600 บาท แต่ถ้าใช้เครื่องมือผิดกฎหมาย เขาทำคืนหนึ่งได้ 10,000-20,000 บาท เราไปบอกเขาไม่ให้ใช้ เขาก็ไม่ฟังอยู่แล้ว

เจอมาแทบทุกรูปแบบครับ เคยโดนเรือจากข้างนอก 10 ลำมาล้อมเราไว้ บางครั้งเขาก็มีสายคอยรายงานว่ากลุ่มพวกเราและเจ้าหน้าที่อยู่ตรงไหน มีเผชิญหน้ากันบ้าง ก็ด่ากันไปมา แต่ไม่ถึงกับใช้ความรุนแรง ปีนี้เจ้าหน้าที่จับได้ 20 กว่าลำแล้ว (สัมภาษณ์เมื่อเดือนสิงหาคม 2565 – ผู้เรียบเรียง) มีจับได้ทั้งคนทั้งเรือ บางรายก็โดดเรือหนี ทิ้งเรือไว้ โดยปกติถ้าจับได้ เจ้าหน้าที่จะมีอำนาจในการยึดเรือ ยึดเครื่องมือ ส่วนเจ้าของเรือจะโดนปรับ  

ทุกวันนี้ก็ยังพบเรือข้างนอกใช้เครื่องมือผิดกฎหมายอยู่เรื่อยๆ อย่างที่ว่า รายได้มันเยอะกว่ามาก แต่พอมีกลุ่มเฝ้าระวัง ทางนั้นเขาก็จะไม่ค่อยมาแถวปากอ่าวปากพูนเท่าไหร่ ทรัพยากรในลำคลองก็มีมากขึ้น อย่างพวกเราวันหนึ่งจับปลาขายได้ 500-600 บาท ก็อยู่ได้แล้ว บางวันได้ถึง 1,000 บาท นี่กลับบ้านมาฉลองเลย และพอช่วงกลางปี ผึ้งมาทำรังที่ป่าโกงกางอีก พวกเราบางคนก็เข้าไปเก็บน้ำผึ้งมาขาย มีรายได้เสริมเข้ามา น้ำผึ้งป่าโกงกางปากพูนรสชาติดีนะครับ ไม่เหมือนผึ้งป่าหรือผึ้งเลี้ยง เพราะมันเป็นธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเคมีในป่าโกงกาง

ถามว่าอยากรวยไหม ใครจะไม่อยากล่ะครับ แต่ถ้ารวยด้วยการจับปลาได้เยอะๆ และพบว่าในอนาคต ไม่เหลือปลาให้จับอีกแล้ว มันก็เปล่าประโยชน์ เราก็รวยได้แป๊บเดียว แล้วก็กลับมาจน ทรัพยากรบ้านเราก็ไม่เหลือให้ลูกหลานได้กิน สู้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ อยู่ร่วมกันยาวๆ จะดีกว่า   

เพราะถ้าปากอ่าวและลำคลองเราสมบูรณ์ ชีวิตเราก็สบายไปด้วยครับ วันไหนขี้เกียจออกเรือ แค่เอาเบ็ดมาตกในคลอง หรือลงไปงม ก็ได้ปลาและปูมากินแล้ว เหมือนมีครัวที่เต็มไปด้วยวัตถุดิบให้เรากินฟรีๆ อยู่หลังบ้านเลย”  

ประชา พวงมณี / ธนา มานพับ / สุนทร ธรรมรักษ์ / จรวย นาคเพง

ชาวประมงในตำบลปากพูน

กองบรรณาธิการ

ในปีพ.ศ.2563-2564 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้สนับสนุนและผลักดันการพัฒนาเมืองในประเทศไทยเพื่อพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ (Learning City) โดยเริ่มดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้วทั้งหมด 18 เมือง 20 ชุดโครงการ และ 41 ชุดโครงการย่อย