“พิพิธภัณฑ์สิรินธรคือห้องสมุดทางธรณีวิทยาขนาดใหญ่ ที่เปิดให้เด็กๆ เข้ามาอ่าน มาเรียนรู้ และมาค้นพบแรงบันดาลใจ”

“หลังจากที่พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัดสักกะวัน ค้นพบกระดูกไดโนเสาร์ที่ภูกุ้มข้าว อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อันนำมาซึ่งการสำรวจขุดค้นอย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการโดยเจ้าหน้าที่กรมทรัพยากรธรณี ในปี พ.ศ. 2537 ผู้คนจากทั่วสารทิศก็ต่างมาที่นี่ รวมถึงที่อื่นๆ ในภาคอีสานที่มีรายงานการค้นพบ เพื่อร่วมสำรวจการขุดค้น โดยบางส่วนยังลักลอบนำกระดูกไปเป็นของส่วนตัว บางคนนำไปบูชาประหนึ่งเครื่องลางของขลัง บางคนก็เอาไปฝนทำยาด้วยความเชื่อผิดๆ ว่าจะเป็นยาอายุวัฒนะ ซึ่งนั่นล่ะครับ ต่อมาบางคนก็เป็นนิ่วเพราะเหตุนี้

ภายหลังที่ทางกรมทรัพยากรธรณีได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว ก่อนจะพัฒนามาเป็นพิพิธภัณฑ์สิรินธร เมื่อปี 2551 นอกเหนือจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นที่รวบรวม ศึกษาวิจัย และจัดแสดงข้อมูลด้านธรณีวิทยาและไดโนเสาร์ที่ค้นพบในประเทศไทย พิพิธภัณฑ์ของเราก็ตั้งใจจะสื่อสารด้วยว่าซากฟอสซิลและกระดูกไดโนเสาร์ที่มีการค้นพบเป็นสมบัติชาติ และเป็นต้นทุนในการศึกษาวิจัย ที่มีส่วนช่วยยกระดับเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในจังหวัด

นักธรณีวิทยาค้นพบว่าพื้นที่ในภาคอีสานเคยเป็นที่ราบลุ่มน้ำขนาดใหญ่เมื่อหลายล้านปีก่อน ซึ่งเป็นที่อยู่ของไดโนเสาร์หลากสายพันธุ์ เมื่อกาลเวลาผันผ่านมาถึงปัจจุบัน เราจึงค้นพบซากไดโนเสาร์ในภูมิภาคนี้มากกว่าภาคอื่นๆ

สำหรับการขุดค้นซากไดโนเสาร์ในประเทศไทย มีการค้นพบครั้งแรกที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น เมื่อปี 2519 จนนำมาสู่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์แห่งแรกของประเทศไทย (พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง) หลังจากนั้นก็เป็นที่ภูกุ้มข้าวของเรา ซึ่งค้นพบกระดูกมากถึง 700 ชิ้น เป็นแหล่งขุดพบซากไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดของไทย

ในพื้นที่ 333 ไร่ พิพิธภัณฑ์สิรินธรแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรกคืออาคารจัดแสดง นำเสนอเรื่องราวทางธรณีวิทยาตั้งแต่การกำเนิดโลก 4,600 ล้านปีก่อน กระทั่งการกำเนิดสิ่งมีชีวิตบนโลก จนมาถึงยุคไดโนเสาร์ ตามมาด้วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จนมาถึงยุคสมัยของมนุษย์ ผ่านวัตถุจัดแสดงที่เป็นฟอสซิลและกระดูกไดโนเสาร์ที่มีการค้นพบจริงๆ รวมถึงกระดูกไดโนเสาร์จำลอง

อีกส่วนของพิพิธภัณฑ์คือหลุมขุดค้น ที่มีการพบกระดูกไดโนเสาร์ของจริงบริเวณภูกุ้มข้าว ปัจจุบันเรายังเก็บซากไดโนเสาร์ที่ขุดพบภายในหลุมขุดค้น เพื่อให้ผู้มาเยือนได้รับชม

เรามักพูดเสมอว่าพิพิธภัณฑ์สิรินธรคือห้องสมุดทางธรณีวิทยาขนาดใหญ่ ที่เปิดให้เด็กๆ เข้ามาอ่าน มาเรียนรู้ และมาค้นพบแรงบันดาลใจ ขณะเดียวกัน เรายังมีคลังตัวอย่างซากไดโนเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ สำหรับอ้างอิงสายพันธุ์ไดโนเสาร์ที่มีการค้นพบใหม่ ซึ่งจนถึงทุกวันนี้ ทีมงานของเราก็ยังคงขุดค้นซากไดโนเสาร์ในหลายภูมิภาคของประเทศไทย

ในฐานะที่ผมเป็นนักสื่อความหมายประจำพิพิธภัณฑ์ ซึ่งมีหน้าที่นำข้อมูลยากๆ ที่นักวิจัยค้นพบมาเล่าให้คนทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ผมจึงมักได้ฟังคำถามที่เด็กหลายคนสงสัยอยู่เสมอว่า ใครคือนักขุดค้นไดโนเสาร์ หรือต้องเรียนอะไรมา ซึ่งนั่นเป็นคำถามที่ดีมากเลยนะครับ เพราะหมายถึงเด็กๆ เขาอาจจะสนใจที่จะเป็นแบบนั้นบ้าง

คำตอบคือนักขุดค้นไดโนเสาร์มีชื่ออาชีพว่า นักบรรพชีวินวิทยา ซึ่งหมายถึงผู้ศึกษาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในยุคโบราณ โดยพื้นฐานการศึกษาของอาชีพนี้ คือธรณีวิทยาและชีววิทยา ในประเทศไทยยังถือว่าขาดแคลนนักบรรพชีวินวิทยาอยู่ เพราะคนเรียนเรื่องนี้โดยเฉพาะค่อนข้างน้อย อาจจะติดภาพว่าจบมาแล้วหางานยาก แต่จริงๆ เรามีทุนวิจัยทั้งในและต่างประเทศพอสมควร

ส่วนบทบาทของผม นอกจากการสื่อความหมายแล้ว ยังทำค่ายเยาวชนด้วย โดยโครงการนี้เริ่มมาจากที่โรงเรียนต่างๆ มาทัศนศึกษาที่พิพิธภัณฑ์ และคุณครูก็มักถามเราว่าไม่รับทำค่ายเหรอ ผมก็เลยเริ่มบริการด้านองค์ความรู้ด้านนี้ ด้วยการจัดค่ายทั้งแบบหนึ่งวัน สองวันหนึ่งคืน และสามวันสองคืน แล้วแต่ความสะดวกของสถานศึกษา

ถ้ามาร่วมค่ายโปรแกรมหนึ่งวัน เราก็นำชมพิพิธภัณฑ์ทั้งสองส่วนตามปกติ พร้อมมีกิจกรรมให้เด็กๆ ได้ร่วมสนุก ส่วนถ้าเป็นสองวันหนึ่งคืนเราก็มีที่พักให้ และเปิดให้เด็กๆ ร่วมฐานกิจกรรมต่างๆ พร้อมนำชมพิพิธภัณฑ์แบบ night museum เปลี่ยนบรรยากาศมาชมตอนกลางคืน ส่วนสามวันสองคืน จะเพิ่มเติมตรงที่ชวนเด็กๆ ออกภาคสนาม ได้ทดลองขุดซากไดโนเสาร์เองเลย 

นอกจากทำค่ายแล้ว เรายังมีโครงการส่งต่อองค์ความรู้ โดยร่วมกับเด็กๆ เยาวชน รวมถึงผู้เกษียณอายุในอำเภอสหัสขันธ์ เพื่อมาร่วมกิจกรรมกับเรา ไม่ว่าจะเป็นการอบรมอาสาสมัครมัคคุเทศก์ ให้คนในชุมชนรอบๆ นำชม เป็นต้น

และอย่างที่ผมเล่าไว้ตอนต้น นอกจากการเป็นห้องสมุดด้านธรณีวิทยาที่สำคัญของประเทศ พิพิธภัณฑ์สิรินธรยังมองตัวเองเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของอำเภอสหัสขันธ์และจังหวัดกาฬสินธุ์ ผมจึงมักบอกว่าการเอาซากไดโนเสาร์ไปไว้ที่หิ้งพระที่บ้าน หรือเอาไปทำยา มันไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะสิ่งเหล่านี้มันคือหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่เปิดโลกของการเรียนรู้ให้แก่คนอื่น ที่สำคัญ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็ช่วยยกระดับเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวได้ แทนที่คุณจะเอาซากไดโนเสาร์กลับไปเป็นของส่วนตัว คุณเอาสัญลักษณ์ของความเป็นเมืองไดโนเสาร์ไปทำเป็นของที่ระลึกขายนักท่องเที่ยวดีกว่า ซึ่งเมื่อเราสื่อสารไปแบบนั้น หลายคนก็นำซากไดโนเสาร์ที่เก็บไว้มาคืน 

และมันก็ไม่ใช่แค่การเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งอยู่ในจังหวัด กาฬสินธุ์ยังเป็นอุทยานธรณีวิทยาระดับประเทศ ซึ่งสามารถต่อยอดไปจนถึงระดับโลกผ่านองค์กรยูเนสโกได้ด้วย โดยการไปถึงจุดนั้น มันไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์ของเราอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือกับชุมชนไปจนถึงความเข้มแข็งของจังหวัด ผมจึงย้ำเสมอว่า ซากไดโนเสาร์ที่ขุดพบได้ มันไม่ควรเป็นของใคร แต่เป็นสมบัติของทุกคนในประเทศ”  

เฉลิมชัย จิตราช
เจ้าหน้าที่กิจกรรมและนักสื่อความหมายประจำพิพิธภัณฑ์สิรินธร
http://www.sdm.dmr.go.th/website/

กองบรรณาธิการ

Recent Posts

อ่านเสียงแก่งคอย เสียงของเมืองที่ก้าวข้ามบาดแผลประวัติศาสตร์มาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

WeCitizens ชวนผู้อ่านเรียนรู้เมืองแก่งคอย เมืองประวัติศาสตร์ที่มีบาดแผลจากสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ในวันนี้ แก่งคอยเปลี่ยนบาดแผลแห่งประวัติศาสตร์เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอ่านความคิด วิถีชีวิตผู้คนแก่งคอยได้ที่ WeCitizens : เสียงแก่งคอย, สระบุรี - WeCitizens Flip PDF…

1 year ago

ฟังเสียงนครสวรรค์ เมืองศูนย์กลางแห่งภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน

WeCitizens ชวนผู้อ่านเดินทางไปจังหวัดนครสวรรค์ เมืองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างภาคเหนือและภาคกลาง เมืองที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางทางน้ำในอดีต นครสวรรค์จึงเป็นเมืองสำคัญอีกเมืองหนึ่งในฐานะของเมืองที่เป็นศูนย์กลาง (Hub) ทั้งด้านการค้า การคมนาคม และนำมาซึ่งความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนหลากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเล E-book ฉบับเสียงนครสวรรค์ฉบับนี้ จะพาผู้อ่านทุกคนไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวนครสวรรค์ วัฒนธรรมชาวจีนและเทศกาลตรุษจีนที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับประเทศและนานาชาติ และไปฟังเสียงผู้คนชาวนครสวรรค์ที่มองบ้านเมืองของตนเองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน…

1 year ago

แก่งคอย…ย้อนรอยสงครามโลกเปลี่ยนบาดแผลประวัติศาสตร์สู่เมืองเรียนรู้ตลอดชีวิต

นอกจากจะถูกจดจำจากเพลงดังที่มีชื่อเดียวกับชื่ออำเภอของ ก้าน แก้วสุพรรณ และเพลงฮิตของคาราบาว ซึ่งสื่อถึงที่มาของชื่อ ‘แก่งคอย’ อย่าง ‘แร้งคอย’ หากไม่ใช่คนในพื้นที่ อาจนึกภาพไม่ออกว่าอำเภอของจังหวัดสระบุรีที่เป็นปากทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และประตูสู่ภาคอีสาน มีความสำคัญอย่างไร? ไม่เพียงเป็นเมืองท่าที่สำคัญในการขนส่งสินค้าผ่านแม่น้ำป่าสักและทางรถไฟ อำเภอแก่งคอย ยังเป็นจุดเริ่มต้น (ต่อจากอำเภอเมืองสระบุรี)…

1 year ago

ขอนแก่นโมเดล
The Legacy of City Development

เพราะเมือง คือ ผู้คน และผู้คน คือ ตัวแปรสำคัญที่สุดในการพัฒนาเมือง ความเจริญงอกงามทางวัฒนธรรมหรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมาตรฐานคุณภาพชีวิต จึงขึ้นอยู่กับศักยภาพ ความสามารถ และความร่วมมือร่วมใจของคนในเมืองเป็นฐานสำคัญ กว่าทศวรรษที่ ‘ขอนแก่นโมเดล’ เป็นโมเดลการพัฒนาเมืองที่ได้รับการยอมรับ และพูดถึงในฐานะแนวคิดและปฏิบัติการการพัฒนาเมืองที่ก้าวหน้ามากที่สุด…

1 year ago

“ขอนแก่นเราไม่ใช่เป็นเมืองที่นั่งรอคนเข้ามาทำนู่นนี่ให้”

เมืองขอนแก่น ผู้คน กับการเรียนรู้เพื่อก้าวต่อไป           ไม่มีภูเขา ไม่มีแม่น้ำสายใหญ่ อยู่ไกลโพ้นจากชายทะเล แหล่งท่องเที่ยวมีชื่อ หรือทรัพยากรธรรมชาติสำคัญก็น้อยนิด แต่มีคนที่เอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเมืองกลุ่มใหญ่ที่กล้าคิดกล้าฝัน พยายามทำทุกลู่ให้ความหวังเป็นจริงได้ นี่คือปัจจัยที่ทำให้ช่วงเวลาเพียงกึงศตวรรษนำพาเมืองขอนแก่น เติบโตได้อย่างก้าวกระโดด  ‘ผู้คน และความร่วมมือ…

1 year ago

“สำนึกรักท้องถิ่น ถือเป็นหัวใจสำคัญของจิตสำนึกของคนขอนแก่น”

“เมื่อพูดถึงเรื่องเมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่รับผิดชอบของเทศบาลนครขอนแก่น เราดำเนินงานตามวิสัยทัศน์ที่ว่า ‘พัฒนาเมืองสู่สากล สร้างสังคมแห่งความสุข’ การที่เมืองจะพัฒนาได้และสร้างสังคมที่เป็นสุข ต้องเริ่มที่ ‘คน’ คนที่เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันพัฒนาเมือง ยกตัวอย่างในกรณีที่เปรียบเทียบง่าย ๆ เช่น ถ้าเราจะพัฒนาขอนแก่นเป็นเมือง…

1 year ago