“ผมเกิดและโตที่ย่านตลาดใต้ พิษณุโลก ในบ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นบ้านที่สร้างมาตั้งแต่รุ่นทวดเมื่อราวปี พ.ศ. 2480 ชั้นล่างเคยเป็นร้านโชห่วย ชั้นบนใช้อยู่อาศัย ผมเป็นรุ่นที่ 4 ความที่ที่นี่เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวผมมา 4 ชั่วรุ่น มันจึงเป็นมวลรวมของความทรงจำและวัฒนธรรมที่สั่งสมกันมา
ผมเกิดในยุคที่รุ่นพ่อแม่เขาเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเต็มตัว คือ ตื่นเช้ามาพวกท่านก็เปิดร้าน ทำงานเลย ตกเย็นก็ปิดร้าน กินข้าว คุยกัน และเข้านอน พ่อแม่จึงอาจไม่ได้มีเวลาซึมซับเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประเพณีได้เท่ากับเด็กอย่างผม ที่นอกจากเรียนหนังสือก็ไม่ได้มีหน้าที่อะไรต้องทำมากนัก และนั่นทำให้ผมมีโอกาสได้คุยกับอากงและอาม่า ก็ฟังเขาเล่าถึงประวัติศาสตร์ ประเพณี รวมถึงมีโอกาสติดตามไปไหว้เจ้าตามศาลต่างๆ อยู่บ่อยๆ
นอกจากผมโตมาเป็นคนสนใจประวัติศาสตร์ ยังสนใจในศิลปะเชิงประเพณีจีนเป็นพิเศษ ผมเริ่มหัดปั้นประติมากรรมเทพเจ้าต่างๆ ตั้งแต่เรียนมัธยมต้น จนเข้ามอปลายก็มีคนมาเห็นเข้า และจ้างให้ผมปั้นให้ด้วย เป็นรายได้เสริมนิดๆ หน่อยๆ ตอนแรกคิดจะเรียนศิลปะ โดยเข้าเรียนมัธยมปลายที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร กะว่าน่าจะเรียนต่อที่ศิลปากร แต่ไปๆ มาๆ พบว่าผมไม่ได้เป็นศิลปินขนาดนั้น ออกไปในทางช่างศิลป์ที่ชอบงานโบราณหรือหยิบเอาเชิงช่างโบราณมานำเสนอใหม่เสียมากกว่า สุดท้ายเลยไม่ได้สอบเข้าที่ศิลปากร ก็ประกอบกับแม่อยากให้กลับมาช่วยกิจการที่บ้าน ผมเลยเลือกสอบเข้าสาขาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร แทน
ตอนนี้เรียนใกล้จะจบล่ะครับ อยู่ระหว่างฝึกงาน ส่วนงานประติมากรรมก็ยังทำอยู่ มีทั้งงานจ้าง และทำเป็นงานอดิเรก แต่ที่เพิ่มเติมเข้ามาจากความสนใจส่วนตัว คือการได้มาเป็นนักสื่อความหมายทางประวัติศาสตร์ หรือคนที่รวบรวมเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มาบอกเล่า หรือทำสื่อให้คนเข้าใจง่ายขึ้น
บทบาทนี้มันเริ่มจากที่ร้านซุ่นฮะฮวด บ้านของผมเอง อย่างที่บอกแต่เดิมชั้นล่างเราเป็นร้านโชห่วย แต่พอยุคสมัยเปลี่ยนไป พ่อกับแม่ผมก็ตัดสินใจเปลี่ยนมาทำร้านอาหาร โดยเอาสูตรมาจากอาม่าที่เรียนมาจากอาเหลาม่าอีกที พอเปิดเป็นร้านอาหาร นอกจากขายอาหาร เราก็อยากขายสตอรี่ของบ้านที่เชื่อมร้อยไปกับย่านตลาดใต้และชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนในพิษณุโลกด้วย ผมจึงรับหน้าที่รวบรวมข้อมูล ไปสัมภาษณ์อาม่า และคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน ทำเป็นชุดข้อมูลที่บอกรากเหง้าของครอบครัว และผู้คนในย่านแห่งนี้
และจากที่ทำแต่ข้อมูลไว้เผยแพร่ในร้านและเฟซบุ๊คส่วนตัว พออาจารย์ธนวัฒน์ ขวัญบุญ เข้ามาทำโครงการเมืองแห่งการเรียนรู้ในย่านตลาดใต้ ผมจึงมีโอกาสเผยแพร่ข้อมูลที่ค้นคว้ามา
จริงๆ มันเริ่มจากที่ทางโครงการเขาจ้างร้านผมให้ทำเบรกให้ก่อนครับ (หัวเราะ) พร้อมกันนั้นก็ชวนคนจากร้านเราไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ผมก็ไปในฐานะคนรุ่นใหม่ที่พอจะรู้เรื่องราวจากคนรุ่นเก่าๆ ก็ไปช่วยเล่าให้ผู้ฟังเห็นภาพว่าย่านตลาดใต้เป็นยังไง หรือมีศักยภาพเชิงศิลปวัฒนธรรมยังไงในวงเสวนา ‘จิบชาชวนคุย’
ผมมองย่านตลาดใต้เหมือนไข่ดาวครับ ตัวตลาดเป็นไข่แดง ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีนคือไข่ขาว เพราะมันคือตลาดที่ทั้งคนไทย คนจีน และคนที่อยู่ในพิษณุโลกที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ก็มาใช้ประโยชน์ร่วมกันหมดเลย แต่ว่าบริบทแวดล้อมทั้งหมดเป็นชุมชนจีนที่ควบรวมกับความเป็นไทย บางทีพอไปเล่าประวัติตลาดใต้ปุ๊บ จะเล่าในมุมมองของเถ้าแก่ร้านคนจีนไปหมดทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะเราจะละเลยพ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ใช่คนจีนแต่ขายสินค้าแบกับดินอยู่ในตลาดมาหลายรุ่นไม่ได้ ก็เลยรู้สึกว่าพอมาทำตรงนี้ปุ๊บ มันก็ค่อยๆ เติมเต็มภาพมากขึ้น แต่ก็ถือว่าเป็นการนับหนึ่งที่ดี
ขณะเดียวกันตลาดใต้มันมีความเป็นของดั้งเดิมจริงๆ ไม่ใช่ตลาดที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อให้ดูย้อนยุค มันเป็นตลาดที่คนทำมาขายตั้งแต่ไหนแต่ไร และสืบทอดจากรุ่นปู่มารุ่นพ่อและหลาน ไม่ใช่เพิ่งถูกฟื้นฟู บางทีจะเจอคนแก่ทำต้มหวานต้มเค็ม มีขนมแดกงา ขนมขี้หนู ด้วง พอพูดไปเดี๋ยวนี้เพื่อนๆ งงกันหมด มันยังมีขนมพวกนี้เหลือให้กินด้วยหรอ แต่ที่นี่ยังเหลืออยู่มากครับ
ที่สำคัญมันเป็นตลาดที่มีผังเมืองแบบเดิมอยู่ เป็นตลาดที่แวดล้อมด้วยร้านค้าพาณิชย์ จะมีลักษณะเหมือนเยาวราช คือคุณซื้อของสดภายในใจกลางตลาดเสร็จ อยากได้ของใช้ในบ้านอันไหนให้ไปเดินวนรอบอาคารพาณิชย์ มีหมดเลย เครื่องใช้ไฟฟ้า สังฆภัณฑ์ อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์ทำสี ฯลฯ
ผมมองว่าการทำพื้นที่เรียนรู้ในตลาดใต้มันเป็นการช่วยสร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้เมืองเราอย่างดีเยี่ยม ย่านนี้มันชี้ให้เห็นว่าพิษณุโลกมีทรัพยากรด้านประวัติศาสตร์สูงมาก แต่มันไม่ค่อยถูกหยิบมานำเสนอ เพราะอย่างที่ทราบกันว่าเมืองแห่งนี้ผูกเข้ากับเรื่องราวของสมเด็จพระนเรศวรมาช้านาน ประวัติศาสตร์ของชาวบ้าน หรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจริงๆ มันจึงไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญ จนหลายคนมองว่านอกจากพระนเรศวรหรือพระพุทธชินราช เมืองก็ไม่มีอัตลักษณ์อะไร
แต่จริงๆ พิษณุโลกนี่มีศักยภาพมากนะครับ ภูมิศาสตร์เมืองเป็นแอ่งกระทะ คนเหนือเดินทางลงมา คนภาคกลางก็เดินทางขึ้นไปอยู่อาศัย และความที่เป็นทางแยกในระดับภูมิภาคอินโดจีน ที่นี่จึงมีคนหลายชาติพันธุ์มาอาศัยอยู่ทั่วจังหวัด ส่วนที่ติดกับประเทศลาวยังมีชุมชนคนเวียงหลวงพระบางอยู่ด้วยซ้ำ ผมเลยรู้สึกว่า ถ้าเรามีการศึกษาและเผยแพร่ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองให้มากกว่านี้ มันจะช่วยกระตุ้นท้องถิ่นให้ลุกขึ้นมามีบทบาทในสังคมบ้าง และเมืองจะมีสีสันด้านการท่องเที่ยวและความน่าอยู่อาศัยมากกว่านี้”
พสิษฐ์ พุทธิธนาเศรษฐ์
ทายาทร้านซุ่นฮะฮวด ประติมากร และนักสื่อความหมายประวัติศาสตร์
พลังคน พลังโคมลำพูน: เมืองเล็ก ๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังสร้างสรรค์ แม้ ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์ เป็นคนเชียงใหม่ เธอก็หาใช่เป็นคนอื่นคนไกลสำหรับชาวลำพูนเพราะก่อนจะเข้ามาขับเคลื่อนงานวิจัยเมืองน่าอยู่ที่ชาญฉลาดกับเทศบาลเมืองลำพูน เธอได้ทำวิจัยเกี่ยวกับเมืองแห่งนี้มาหลายครั้ง โดยเฉพาะโครงการขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นพลเมืองของเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ในปี 2566-2567 - นั่นล่ะ…
“เป็นสิ่งวิเศษที่สุด ที่ผ้าไหมของจังหวัดลำพูนได้ปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งในและต่างประเทศ ทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้การส่งเสริม และทรงฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ และกระทั่งในปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 10 ก็ทรงส่งเสริมผ้าไหมไทย และฉลองพระองค์ด้วยผ้าไหมยกดอกลำพูนในพระราชพิธีสำคัญเช่นกัน ดิฉันเป็นคนลำพูน มีความภูมิใจในงานหัตถศิลป์การทอผ้าไหมยกดอกนี้มาก ๆ และตั้งใจจะรักษามรดกทางวัฒนธรรม ทำหน้าที่ส่งต่อถึงคนรุ่นต่อไป…
“ความที่โตมาในลำพูน เราตระหนักดีว่าเมืองเรามีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่สูงมาก ทั้งยังมีบรรยากาศที่น่าอยู่ อย่างไรก็ดี อาจเพราะเป็นเมืองขนาดเล็ก ลำพูนมักถูกมองข้ามจากแผนการพัฒนาของประเทศ เป็นเหมือนเมืองที่มีศักยภาพ แต่ยังไม่ถูกปลุกให้ตื่นความที่เราเคยทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (ปัจจุบันคือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA - ผู้เรียบเรียง) ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของกระบวนการพัฒนาย่านด้วยกรอบพื้นที่สร้างสรรค์ในหลายพื้นที่…
“ผมเป็นคนลำพูน และชอบทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นประธานสภาเด็กและเยาวชนจังหวัดลำพูน ควบคู่ไปกับกำลังศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จากประสบการณ์การทำงานในสภาฯ ทำให้ผมเห็นว่า เยาวชนลำพูนมีศักยภาพที่หลากหลาย แต่สิ่งที่ขาดไปคือเวทีที่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้แสดงความสามารถและพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากการสนับสนุนจากโรงเรียนหรือโครงการของภาคเอกชน ปี 2567 พี่อร (ดร.สุดารัตน์ อุทธารัตน์…
“อาคารหลังนี้แต่ก่อนเป็นที่ประทับของเจ้าราชสัมพันธวงษ์ลำพูน (พุทธวงษ์ ณ เชียงใหม่) น้องเขยของเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงองค์สุดท้ายของลำพูน อาคารถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2455 หลังจากนั้นก็ถูกขายให้พ่อค้าชาวจีนไปทำเป็นโรงเรียนหวุ่นเจิ้ง สอนภาษาจีนและคณิตศาสตร์ โรงเรียนนี้เปิดได้ไม่นานก็ต้องปิด เพราะสมัยนั้นรัฐบาลเพ่งเล็งว่าอะไรที่เป็นของจีนจะเกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์ แต่หนูก็ไม่รู้หรอกว่าโรงเรียนนี้เกี่ยวข้องหรือเปล่า (ยิ้ม) จากนั้นอาคารก็ถูกเปลี่ยนมาเป็นโรงเรียนมงคลวิทยาในปี…
“เราโตมากับวัฒนธรรมของคนลำพูน ชอบไปเดินงานปอย ร่วมงานบุญ ก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานรับจ้างทั่วไป จนเทศบาลฯ มาส่งเสริมเรื่องการทำโคม โดยมีสล่าจากชุมชนศรีบุญเรืองมาสอน เราก็ไปเรียนกับเขา ตอนนี้อาชีพหลักคือการทำโคม ทำมาได้ 2 ปีแล้ว สำหรับเรา โคมคืองานศิลปะ เป็นสัญลักษณ์และมรดกที่ยึดโยงกับวัฒนธรรมของคนบ้านเรา ตอนแรกเราไม่มีความคิดเลยว่ามันจะกลายมาเป็นอาชีพได้…