“ถ้าเป็นผู้หญิงในครอบครัวพี่จะทอผ้าได้ทุกคนค่ะ ตอนเด็กๆ เราจะรวมตัวกันตรงใต้ถุนบ้าน มียายซ้อน (ยายซ้อน กำลังหาญ) คุณยายของพี่เป็นจุดศูนย์กลาง หลานๆ จะมากองรวมกัน และทอผ้าแข่งกัน ตื่นมาลงจากบ้านก็เจอกี่ทอผ้า เราโตมาแบบนั้น ตอนเด็กๆ ชอบไม่ชอบไม่รู้ แต่เริ่มทอเป็นตั้งแต่อายุ 15 ปีแล้ว
พี่เป็นลูกสาวของยายพิมพ์ (พิมพ์ ชมพูเทศ) ได้เรียนทอผ้ามาจากทั้งยายซ้อน แม่ และคุณป้า (ยายทองอยู่ กำลังหาญ) ซึ่งทั้งสองท่านก็เรียนต่อมาจากยายซ้อนอีกที ยายซ้อนเคยทอผ้าซิ่นตีนจกถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ที่วังสวนจิตรลดา หลังจากนั้นพระองค์ท่านก็ทรงเสด็จมาเยี่ยมยายซ้อนที่บ้านหลังนี้ และก็เคยทรงให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปรับท่านและยายทองอยู่ มาสาธิตการทอผ้าตีนจกที่พระราชวังไกลกังวลด้วย
และตอนปี 2534 พี่ยังเป็นตัวแทนกลุ่มทอผ้าตีนจกของที่บ้านไปประกวดการทอผ้าที่วัดแคทราย เป็นผู้เข้าประกวดที่เด็กที่สุด และได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 โดยรับรางวัลจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ดีใจและภูมิใจมากๆ
ทุกวันนี้บ้านคูบัวไม่ค่อยเหลือช่างที่ทอซิ่นตีนจกเท่าไหร่แล้ว ส่วนใหญ่จะทอผ้าฝ้ายทั่วไป เพราะขายได้ง่ายกว่า จะมีของแม่พี่ที่ยังทำอยู่ แรกๆ พี่ก็ทอด้วย จนพักหลังหันมาทอผ้าไหมตรานกยูงเป็นหลัก นกยูงทอง นกยูงสีน้ำเงิน และนกยูงสีเขียว เราใช้ไหมย้อมสีธรรมชาติ ได้อารมณ์ สีสัน และสัมผัสแบบธรรมชาติ ผ้าทอชนิดนี้หาคนทำยาก และกำลังเป็นที่ต้องการของนักสะสม งานพี่จึงมีคนจองซื้อกันตั้งแต่อยู่ในกี่
หลักๆ พี่ทอที่บ้านที่ลาดพร้าว 101 กรุงเทพฯ แต่เสาร์อาทิตย์ก็จะขับรถกลับมาหาแม่ที่คูบัว หรือถ้าวันไหนมีสื่อมาถ่ายทำที่คูบัว แม่ก็จะโทรเรียกให้พี่มาช่วยนั่งทอสาธิตหน่อย คุณป้าพี่ ยายทองอยู่ ซึ่งทอผ้ามาด้วยกันกับแม่ตั้งแต่เด็ก เพิ่งเสียชีวิตไป พี่ก็กำลังคิดจะกลับมาอยู่เป็นเพื่อนแม่ที่นี่
พี่มีลูกสาวสองคน คนโตได้ทุนจากรัฐบาลกำลังเรียนต่อปริญญาโทที่รัสเซีย คนเล็กเรียนปริญญาตรีปีสุดท้ายอยู่กรุงเทพฯ ลูกคนโตดูจะสนใจการทอผ้า และก็ทอได้อยู่ แต่เราไม่ได้คาดหวังให้เขาต้องมาทอผ้าเหมือนเรานะ ก็อยากให้ลูกทำในสิ่งที่พวกเขาสนใจหรือพวกเขารักจริงๆ
เหมือนกับพี่ตอนแรกๆ ที่เรียนจบมา ก็ทำงานอย่างอื่นอยู่พักใหญ่ ไม่คิดจะทอผ้าเหมือนแม่เลย แต่สุดท้าย เราก็ใช้ทักษะที่ติดตัวมาแต่เด็กประกอบอาชีพจนถึงทุกวันนี้ ลูกเราก็เหมือนกัน พี่ไม่ปิดกั้นอะไรเขา แต่ถ้าท้ายที่สุดเขาค้นพบว่าเขารักการทอผ้า และเลือกจะเป็นช่างทอ นั่นก็เป็นการตัดสินใจของเขา”
สายชล กระทู้
ช่างทอผ้าไหมตรานกยูง
ผู้สืบทอดรุ่นล่าสุดของกลุ่มทอผ้าตีนจกยายซ้อน กำลังหาญ
บ้านคูบัว อำเภอเมือง ราชบุรี